คำสาปที่ราบสูง การสำรวจมิติทางสังคมการเมือง ผ่านเรื่องเล่าพื้นถิ่นอีสานและตำนานหลากวัฒนธรรม

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสไปดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า Arcane Plateau คำสาปที่ราบสูง โดย ธนวัฒน์ นุ่มเจริญ ศิลปินหนุ่มชาวศรีสะเกษโดยกำเนิด แต่อาศัยและทำงานในกรุงเทพฯ

เขาทำงานกับสื่ออันแตกต่างหลากหลาย ในการสำรวจมิติทางสังคมการเมืองและปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกรอบตัว

ในนิทรรศการครั้งนี้ ธนวัฒน์เล่าเรื่องความหลงใหลในความพิศวงของจุดกำเนิดของสรรพสิ่ง โดยผนวกจินตนาการส่วนตัวกับตำนาน, นิทานปรัมปรา, เรื่องเล่า และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ผ่านผลงานจิตรกรรม, ประติมากรรม

หรือแม้แต่หนังสือนิยายที่เขาเขียนเอง

“นิทรรศการ คำสาปที่ราบสูง เริ่มจากโครงการหนึ่งของ Speedy Grandma ชื่อ I know your Great Grand Auntie ที่มีภัณฑารักษ์ คุณน้ำหวาน วิรุฬห์วรรณ วิคตอเรีย พิทักษ์ทอง จากกลุ่มน้ำขึ้นคอลเลคทีฟ สนใจคัดเลือกผมมาแสดงนิทรรศการ ซึ่งผมก็มีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องเล่าของอาถรรพ์ในการสร้างทางรถไฟผ่านจังหวัดนครราชสีมาไปถึงดงพญาไฟในสมัยรัชกาลที่ 5 เกี่ยวกับภูตผีที่ทำให้ไม่สามารถสร้างทางรถไฟผ่านบริเวณนั้นได้สำเร็จ”

“ผมจินตนาการถึงเรื่องที่มีคนงานสามคนหนีออกมาจากพื้นที่ก่อสร้างทางรถไฟ แล้วก็ออกมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ความเชื่อพื้นถิ่น เรื่องราวในป่าต่างๆ เป็นแนวคิดคร่าวๆ ขึ้นมา”

“พอคุยกับภัณฑารักษ์และร่วมกันพัฒนาแนวคิดขึ้นมา เขาเห็นว่าผมเคยเขียนเรื่องสั้นมาก่อน ก็เลยแนะนำให้ผมเขียนเรื่องนี้ออกมาเป็นนิยาย งานชุดนี้ก็เลยเริ่มต้นด้วยการเขียนเป็นนิยายออกมาเรื่องหนึ่ง ผมตั้งเป้าให้เป็นนิยายแบบแฟนตาซี โดยได้แรงบันดาลใจจากนิยายอย่าง The Lord of the Rings ที่ผมชอบ”

“ผมก็นึกถึงองค์ประกอบของนิยายแฟนตาซี ซึ่งมีทั้งเรื่องเล่า ภาพประกอบ และแผนที่ ให้ตัวหนังสือสร้างฉากในหัวเราขึ้นมา แล้วผมก็พยายามดึงเอาองค์ประกอบของนิยายเหล่านี้ แยกออกมาเป็นผลงานในนิทรรศการครั้งนี้”

นอกจากผลงานศิลปะในรูปของนิยาย คำสาปที่ราบสูง ที่ถูกตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กให้ผู้ชมได้ซื้อหามาอ่านกันแล้ว

ผลงานหลักอีกอย่างที่โดดเด่นในนิทรรศการครั้งนี้ คืองานจิตรกรรมทั้งหลายที่เป็นเหมือนการแปรเปลี่ยนเรื่องราวในนิยายออกมาเป็นภาพวาดนั่นเอง

“งานจิตรกรรมเหล่านี้เป็นเหมือนเรื่องราวในนิยายที่เล่าด้วยภาษาภาพ ส่วนหนึ่งจะเป็นภาพที่พูดถึงคำทำนายเกี่ยวกับการเปลี่ยนของสิ่งต่างๆ ทั้งตำนานการเปลี่ยนรูปแปลงร่างของหนอนไหมที่กลายเป็นงู หรือช้างในถ้ำที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นสัตว์ชนิดอื่นๆ อย่างตัวนิยายผมก็ใช้เรื่องเล่าที่หยิบเอาตำนานที่มีอยู่แล้วหลายๆ เรื่องมาผสมปนเปกันเพื่อสร้างเรื่องเล่าใหม่ขึ้นมา ทั้งตำนานพื้นบ้าน รวมถึงประวัติศาสตร์การเมือง อย่างเรื่องการสร้างทางรถไฟในสมัยรัชกาลที่ 5 เรื่องกบฏผีบุญ”

“แต่กล่าวถึงแบบคร่าวๆ ที่น่าสนใจก็คือ พอผมไปค้นคว้าเกี่ยวกับตำนานเหล่านี้ ผมพบว่ามีตำนานหลายเวอร์ชั่นมาก อย่างเช่น ตำนานเรื่อง เครือเขากาด ซึ่งเป็นต้นไม้ที่สูงขึ้นไปถึงสวรรค์ ในตำนานหนึ่งบอกว่า แถน ซึ่งเป็นคำที่คนใน แถบอีสานกับลาวเรียกเทวดา เป็นผู้เนรมิตต้นเครือเขากาดขึ้นเพื่อเชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์ แล้วให้มนุษย์ปีนขึ้นไปรับเมล็ดข้าวลงไปปลูก แต่พอเวลาผ่านไปนานเข้า มนุษย์ก็เริ่มเกียจคร้าน ไม่ปีนขึ้นไป แถนจึงตัดต้นเครือเขากาดทิ้ง แต่ในอีกตำนานหนึ่งเล่าว่า มนุษย์เป็นคนตัดต้นเครือเขากาดเอง เพราะบังแสงดวงอาทิตย์จนอากาศข้างล่างหนาวเย็น ทำการเพาะปลูกไม่ได้ มนุษย์จึงต้องตัดทิ้ง”

“สิ่งนี้ทำให้เราเห็นว่า แม้แต่ตำนานเองก็มีการเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกันไปด้วย พอผมเขียนนิยาย ก็เลยตั้งเป้าว่า ในเมื่อเป็นนิยายแฟนตาซี ผมก็น่าที่แต่งเรื่องราวที่แตกต่างออกไปได้ด้วยเหมือนกัน”

“ผมก็เลยเอาตำนานเหล่านั้น รวมถึงประวัติศาสตร์ต่างๆ มายำใหญ่ หรือจะเรียกว่าล้อเลียนก็ได้ คล้ายกับที่ผู้กำกับ เควนติน ทารันติโน (Quentin Tarantino) ทำกับหนังเรื่อง Inglourious Basterds (2009) หรือ Once Upon a Time in Hollywood (2019) ที่บิดเรื่องราวในประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นเรื่องเล่าใหม่ขึ้นมา”

ที่น่าสนใจก็คือ ดูๆ ไป งานจิตรกรรมเหล่านี้ของธนวัฒน์นั้นมีลักษณะคล้ายกับจิตรกรรมฝาผนังในถ้ำยุคโบราณ หรือแม้แต่ผาแต้มของอีสานอยู่ไม่หยอก

“ผมพยายามทำให้งานออกมามีลักษณะแบบนั้น เพราะผมชอบความรู้สึกของจิตรกรรมฝาผนังถ้ำยุคโบราณ ก่อนหน้านี้ผมทำแต่งานสื่อผสม ผมจึงอยากกลับไปทำงานแบบพื้นฐานที่สุดอย่างการวาดภาพ งานปั้น ที่เคยทำมาตั้งแต่เด็กๆ เป็นการเข้าถึงศิลปะอย่างง่ายที่สุด รวมถึงการกลับไปหาเรื่องเล่าในยุค Primitive (ดึกดำบรรพ์) ก็เลยเลือกทำสื่อในลักษณะนี้ออกมา”

“อย่างในภาพวาดชิ้นหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับตำนานพื้นถิ่นของลาวที่ผมก็ไม่แน่ใจว่าเท็จจริงแค่ไหน แต่ก็น่าสนใจดี เขาบอกว่า คำว่า ‘คนลาว’ นั้นจริงๆ เพี้ยนมาจากคำว่า ‘คนดาว’ เพราะสมัยก่อนคนเหล่านี้เคยเป็นดาวอยู่บนท้องฟ้า แล้วตกลงมาเป็นคน รูปร่างห้าแฉกของดาวในภาพวาดเองก็ดูคล้ายกับรูปร่างของคนด้วย”

“บังเอิญว่าครอบครัวผมเองก็มีญาติฝั่งหนึ่งที่มีนามสกุลว่า ‘ดาวตก’ ซึ่งน่าสนใจว่าเขามีความผูกพันกับดาวจนตั้งเป็นนามสกุลขึ้นมา ในแง่หนึ่งเรื่องราวแบบนี้ก็คล้ายกับมหากาพย์ Paradise Lost ของ จอห์น มิลตัน (John Milton) ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้งานชุดนี้เหมือนกัน”

นอกจากงานผลงานจิตรกรรมแล้ว ภายในนิทรรศการยังมีงานประติมากรรมดินเผาขนาดเล็กที่ดูคล้ายกับประติมากรรมในยุคก่อนประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย

“ตอนทำงานในนิทรรศการนี้ ผมมองว่าตัวงานพอจะแยกออกไปเป็นอะไรได้บ้าง พอเริ่มจากนิยาย ผมก็พยายามกลับไปหาองค์ประกอบของความเป็นนิยายแฟนตาซี ซึ่งมีทั้งรูปเล่มหนังสือ เนื้อหาในหนังสือ ภาพวาด และแผนที่ ซึ่งตอนแรกผมวางแผนว่าจะทำแผนที่ขึ้นมา แต่ด้วยความที่พื้นที่แสดงงานจำกัด ผมเลยทำออกมาเป็นงานประติมากรรมแทน ซึ่งประติมากรรมเหล่านี้เป็นเหมือนตัวแทนของตัวละครในนิยายเรื่องนี้”

นอกจากตำนานพื้นถิ่นของภูมิภาคอีสาน กลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว และประวัติศาสตร์ของดินแดนสยามในอดีตแล้ว ธนวัฒน์ยังผสมผสานตำนานระดับสากลในวัฒนธรรมอื่นๆ อย่างตำนานทางศาสนาของชาวคริสต์และชาวยิว เทวตำนานฮินดูและพุทธตำนานของอินเดีย ไปจนถึงเรื่องราวของสัตว์ดึกดำบรรพ์ในโลกเมื่อหลายล้านปีที่แล้ว

“ผมมองว่าตำนานพื้นถิ่นในภูมิภาคนี้และตำนานของสากลโลกมีความล้ายคลึงกันบางอย่าง ผมสนใจเรื่องนี้ตั้งแต่ครั้งที่ทำงานในชุด Silkroad Monsters ในนิทรรศการกลุ่ม Crypto for Cryptids ที่ JWD Art Space โดยตอนนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสำรวจสัตว์ประหลาดบนเส้นทางสายไหม (Silk road) ซึ่งผมเจอความคล้ายคลึงกันของรูปลักษณ์ของสัตว์ประหลาดจากตะวันออกกลางกับสัตว์ประหลาดของเอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือของไทย”

“ทำให้เราพบว่าตำนานเหล่านี้มีการถ่ายเทแลกเปลี่ยนกันมานานแล้ว อย่างตำนานน้ำท่วมโลกก็มีทั้งในวัฒนธรรมยิว, คริสเตียน, อิสลาม, ฮินดู, เมโสโปเตเมีย, กรีกโบราณ, จีน หรือแม้แต่ในภูมิภาคอุษาคเนย์อย่างลาว, ไทย หรือตำนานเครือเขากาดเองก็คล้ายกับเทพนิยายแจ๊กผู้ฆ่ายักษ์”

“ผมสนใจว่าเรื่องเล่าจากหลากหลายวัฒนธรรมเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกันแบบไหนได้บ้าง ในนิยายของผมก็ไม่ได้มีแค่เรื่องตำนานพื้นถิ่นอีสาน แต่ผูกเอาเรื่องของดาวหางชนโลกในยุคไดโนเสาร์เข้าไปด้วย”

“หรือคำว่า ‘ที่ราบสูง’ เอง ก็เหมือนเป็นการกลับไปหาคำจำกัดความแบบพื้นฐานของภูมิประเทศในภูมิภาคนี้ เพราะปกติคำว่า ‘อีสาน’ เป็นการพูดถึงทิศมากกว่า ซึ่งก็คือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นเดียวกับ Middle Earth (มัชฌิมโลก) ที่เป็นโลกในนิยาย The Lord of the Rings ที่ผมได้แรงบันดาลใจมา”

“เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน (J.R.R. Tolkien) ผู้เขียนนิยายเรื่องนี้ก็เคยกล่าวทำนองว่า ‘ในแง่หนึ่ง โลกแฟนตาซีก็อาจจะจริงกว่าโลกในความเป็นจริงก็ได้’ ก็เหมือนกับผมพยายามแสวงหาความเป็นจริงบางอย่างผ่านเรื่องเล่าเหล่านี้”

นิทรรศการ Arcane Plateau คำสาปที่ราบสูง โดย ธนวัฒน์ นุ่มเจริญ และภัณฑารักษ์วิรุฬห์วรรณ วิคตอเรีย พิทักษ์ทอง จัดแสดงที่หอศิลป์ Speedy Grandma

ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม-13 ตุลาคม 2566

เปิดให้เข้าชมวันศุกร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 13:00-18:00 น.

หรือนัดหมายล่วงหน้าที่เบอร์โทรศัพท์ 08-9508-3859

หรืออีเมล [email protected]

สามารถซื้อหนังสือ คำสาปที่ราบสูง ได้ที่ หอศิลป์ Speedy Grandma, ร้าน House of Commons – BookCafe & Space, หอศิลป์ BANGKOK CITYCITY

หรือติดต่อสั่งซื้อได้ทางเพจเฟซบุ๊ก Speedy Grandma

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์