หลังพระราชทานอภัยลดโทษ “ทักษิณ” ลุ้นต่อ เข้าเกณฑ์ “พักโทษ” ไม่ต้องอยู่คุก 1 ปี

นับตั้งแต่ที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับประเทศไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี ในช่วงเช้าของวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้นำตัวนายทักษิณไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งศาลมีคำพิพากษาจำคุก 3 คดี นับรวมเป็นระยะเวลา 8 ปี จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้คุมตัวนายทักษิณถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เวลา 11.24 น. วันเดียวกัน

ต่อมากรมราชทัณฑ์เปิดเผยว่า เมื่อเวลาประมาณ 00.20 น. ของวันที่ 23 สิงหาคม 2566 กรมราชทัณฑ์ได้ส่งตัวนายทักษิณไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากนายทักษิณมีอาการนอนไม่หลับ แน่นหน้าอก วัดความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ

แพทย์ประจำทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้สอบถามอาการโดยละเอียดแล้ว ตลอดจนพิจารณาจากรายงานประวัติการรักษาของผู้ป่วย โดยแพทย์จากโรงพยาบาลต่างประเทศ (สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) พบมีโรคประจำตัวหลายโรคที่อยู่ระหว่างการรักษาติดตามอาการ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง พังผืดในปอด กระดูกสันหลังเสื่อม

โดยโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือโรคหัวใจ เนื่องจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ แพทย์จึงมีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิต เห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่า โดยแนวปฏิบัติกรณีมีผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อชีวิตจะมีการส่งตัวรักษาให้ทันท่วงที

นับระยะเวลาที่นายทักษิณอยู่ในเรือนจำ เพียงแค่ 13 ชั่วโมง

 

1 กันยายน 2566 ระหว่างพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ เว็บไชต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยลดโทษ นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ จาก 8 ปี เหลือโทษจำคุก 1 ปี

และยังมีความเป็นไปได้ที่นายทักษิณจะได้เข้าสู่กระบวนการพักโทษกรณีพิเศษของกรมราชทัณฑ์ ในโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งมีหลักเกณฑ์ ได้แก่ เป็นนักโทษเด็ดขาด ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษตามหมายแจ้ง

นายทักษิณที่มีโทษจำคุก 1 ปี จะต้องรับโทษ 1 ใน 3 คือจำคุก 3 เดือน ซึ่งตรงกับช่วงเดือนธันวาคม 2566 จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพักการลงโทษกรณีพิเศษ นำตัวออกจากเรือนจำ คล้ายกับอดีตผู้ต้องขังชื่อดังหลายคนที่ได้รับการพักโทษกรณีพิเศษไปก่อนหน้านี้

นอกจากการขอพักการลงโทษ นายทักษิณอาจพ้นโทษและได้รับการปล่อยตัวทันที ในกรณีมี พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปเนื่องในโอกาสสำคัญ ตามการถวายคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี แต่เรื่องนี้ถือเป็นพระราชอำนาจ

โดยวาระสำคัญที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุดขณะนี้ คือวันที่ 13 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ร.9) และวันที่ 5 ธันวาคม วันคล้ายวันพระราชสมภพของ ร.9

 

นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความประจำตัวของนายทักษิณ ชินวัตร กล่าวถึงความเป็นไปได้ที่นายทักษิณอาจได้รับการพิจารณาพักการลงโทษว่า เนื่องจากเป็นผู้ต้องขังสูงวัยและมีอาการเจ็บป่วยนั้น มีความคิดเห็นหลากหลายของบุคคลในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพูดถึงประเด็นนี้

อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์ก็จะต้องพิจารณาว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และเข้าเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 หรือกฎกระทรวงของราชทัณฑ์หรือไม่ และหากเข้าเกณฑ์ ก็ต้องดูอีกว่ามีแนวทางปฏิบัติอย่างไร เพื่อไม่ให้ผิดหรือขัดต่อระเบียบที่มีการกำหนดไว้

ถ้าทางกรมราชทัณฑ์พิจารณาจากหลักเกณฑ์แล้วเห็นว่านายทักษิณเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ก็จะมีการแจ้งสิทธิให้ผู้ต้องขังรับทราบ ส่วนการจะใช้สิทธิดังกล่าวนี้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับนายทักษิณเช่นกัน ซึ่งยังไม่มีข้อยุติใดๆ เป็นเพียงคาดการณ์และความคิดเห็นของคนในสังคมเท่านั้น อีกทั้งทางเรือนจำก็ยังไม่ได้มีการแจ้งเรื่องการพักการลงโทษ แต่ทราบว่ามีเกณฑ์นี้อยู่ ท้ายสุดเป็นอำนาจกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมที่จะดำเนินการ

ส่วนอาการป่วยของนายทักษิณ (4 กันยายน 2566) ยังคงมีอาการอ่อนเพลียบ้าง แต่ยังพูดคุยตอบโต้ได้ ไม่ถึงขนาดมีอาการเหนื่อยหอบ ส่วนเรื่องอาการของโรคหัวใจหรือโรคอื่นๆ รวมถึงการรักษาพยาบาล ยังคงอยู่ในการประเมินวินิจฉัยของทีมแพทย์โรงพยาบาลตำรวจและทางเรือนจำแบบวันต่อวัน

เวลานี้จึงยังไม่มีแนวโน้มว่าอาการเจ็บป่วยของนายทักษิณทุเลาดีขึ้นหรืออย่างไร ถึงจะได้รับการพิจารณาจากแพทย์เพื่อส่งกลับไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไม่สามารถยืนยันในส่วนนี้ได้

 

อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อเขียนผ่านเฟซบุ๊ก ต่อกรณีที่มีคำถามว่า นายทักษิณจะรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจไปเรื่อยๆ จนเวลาครบ 1 ปีได้หรือไม่

อาจารย์ปริญญาระบุว่า คำตอบของเรื่องนี้อยู่ที่กฎกระทรวงยุติธรรม เรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ซึ่งลงนามโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น

หลักเกณฑ์โดยสรุปคือ ถ้าผู้ต้องขังมีอาการป่วยโดยสถานรักษาพยาบาลของเรือนจำไม่สามารถรักษาได้ ผู้บังคับบัญชาเรือนจำมีอำนาจอนุญาตให้ส่งตัวไปรับการรักษานอกเรือนจำได้ และถ้าจำเป็นจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนก็ได้

อย่างไรก็ตาม หากการรักษานอกเรือนจำเกิน 30 วัน นอกจากต้องมีความเห็นจากแพทย์ผู้ทำการรักษา ต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และหากเกิน 60 วัน นอกจากอธิบดีต้องให้ความเห็นชอบแล้ว ต้องรายงานให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมทราบ และหากเกิน 120 วัน ต้องรายงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมทราบ

ถามว่าเกิน 120 วันจะเป็นอย่างไร คำตอบคือ กฎกระทรวงฉบับนี้เขียนไว้เพียงแค่นั้น หมายความว่าจะเกิน 120 วัน (4 เดือน) ก็ได้

แต่เนื่องจากกรณีนี้อาจจะมีคำถามและข้อสงสัยกันมาก ว่าป่วยถึงขนาดต้องรักษานอกเรือนจำจริง หรือเป็นเรื่องของ “ดีล” หรือไม่

เรื่องนี้ต้องทำให้เป็นการปฏิบัติที่โปร่งใสและเสมอภาค ผู้ต้องขังไม่ว่าใครจะยากดี มีหรือจน หากป่วยแล้วโรงพยาบาลราชทัณฑ์รักษาไม่ได้ก็พึงได้สิทธิและโอกาสในการออกมารักษาตัวนอกเรือนจำเช่นเดียวกัน และอยู่ภายใต้หลักว่าถ้าหายป่วยแล้วก็ต้องกลับไปเข้าเรือนจำ

 

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า แสดงความเห็นผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Piyabutr Saengkanokkul – ปิยบุตร แสงกนกกุล” ว่า รัฐบาลและทุกพรรคในสภา ควรเร่งผลักดันการนิรโทษกรรมคดีการแสดงออกทางการเมือง เพราะนับตั้งแต่ที่นายทักษิณเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2566 และได้รับการลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี ในวันที่ 1 กันยายน และเตรียมเข้าสู่กระบวนการพักโทษหรือได้รับอภัยโทษตามวโรกาสสำคัญต่อไปนั้น จนถึงตอนนี้ มีคนจำนวนมากตั้งคำถามและไม่เห็นด้วยกับกรณีคุณทักษิณ โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน และการตกลงเจรจาต่างๆ เพียงแต่ว่ามีการแสดงออกมากน้อยต่างกันไป

เพื่อลดทอนการตั้งคำถามเรื่องความไม่เสมอภาค และเพื่อความปรองดองอย่างแท้จริงและเท่าเทียม รัฐบาลเศรษฐาและพรรคการเมืองในสภา ควรเร่งผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนทุกฝักฝ่าย ทั้งพันธมิตรฯ นปช. กปปส. และกลุ่มเยาวชน และ “ราษฎร” ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน

ซึ่งจะเป็นก้าวแรกของการก้าวข้ามขัดแย้งที่แท้จริง สร้างความปรองดองสมานฉันท์ และเกิดประโยชน์ตกแก่ประชาชนคนธรรมดา นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนลดข้อครหาที่มีต่อรัฐบาลเศรษฐา และพรรคเพื่อไทยในประเด็นเกี่ยวกับบ่อเกิดของการตั้งรัฐบาลชุดนี้ได้อีกด้วย

ไม่ว่าบทสรุปสุดท้ายแล้ว นายทักษิณจะต้องติดคุกนานแค่ไหน จะรักษาตัวในโรงพยาบาลจนพ้นโทษเลยหรือไม่ หากนำไปสู่การนิรโทษกรรมคดีเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนได้ คงเกิดประโยชน์กับประชาชนบ้าง ไม่เช่นนั้นคงต้องบอกว่าดีลนี้ของนายทักษิณ ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย