ส่องโฉม ‘ครม.เศรษฐา 1’ นายทุน-บ้านใหญ่กุมโควต้า ท้าทายพิสูจน์ผลงานรัฐบาล

ภายหลัง “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้รับเสียงโหวตเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาอย่างท่วมท้น 482 เสียง ผ่านฉลุยให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย

โดยขั้นตอนหลังจากโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแล้ว จะต้องดำเนินการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จ และส่งชื่อให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลก่อนเสนอตามขั้นตอนเพื่อโปรดเกล้าฯ ครม.ชุดใหม่

ทว่า หากย้อนกลับไป สมการสูตรจัดตั้งรัฐบาล 11 พรรค 314 เสียง ที่มีพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นแกนนำ ร่วมกับอีก 10 พรรค จัดแบ่งเค้กสัดส่วนเก้าอี้ ครม.ลงตัวกันเรียบร้อยก่อนที่จะโหวตนายกฯ โดยพรรคเพื่อไทย 141 เสียง ได้โควต้ารัฐมนตรีว่าการ 8 เก้าอี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการ + รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 9 เก้าอี้, พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง รัฐมนตรีว่าการ 4 เก้าอี้ และรัฐมนตรีช่วยว่าการ 4 เก้าอี้

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง ได้รับจัดสรรรัฐมนตรีว่าการ 2 เก้าอี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการ 2 เก้าอี้, พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง รัฐมนตรีว่าการ 2 เก้าอี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการ 2 เก้าอี้ ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง และพรรคประชาชาติ 9 เสียง ได้รัฐมนตรีว่าการ 1 เก้าอี้

แน่นอนว่า หน้าตาของ “ครม.เศรษฐา 1” ย่อมถูกจับตามองและถูกตั้งความหวังโดยประชาชนว่า ครม.ชุดใหม่ และรัฐมนตรีหน้าใหม่ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในกระทรวงต่างๆ นั้น จะสามารถบริหารประเทศ และช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้หรือไม่

โผรายชื่อ ครม. มีการเขย่ามาตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และเขย่าแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้นตลอดช่วงสัปดาห์นี้ เห็นได้ชัดเจนว่ารายชื่อแต่ละกระทรวง มีการสลับสับเปลี่ยน

โยกย้ายเก้าอี้กันฝุ่นตลบ ชื่อมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากรายวันมาเป็นรายชั่วโมง กระทั่งเรียลไทม์แบบรายนาทีเลยก็ว่าได้

จนมีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุที่รายชื่อ ครม.ไม่นิ่งเสียทีนั้น มาจากเงื่อนไขการเจราจา การสร้างอำนาจต่อรองจากพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งพรรคเพื่อไทยด้วยกันเองก็ยังมีแรงกระเพิ่มภายใน เมื่อตำแหน่งหนึ่งถูกสลับชื่อ ตำแหน่งอื่นย่อมต้องได้รับผลกระทบตามไปด้วย

แม้กระทั่งเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่ต้องส่งโผให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำไปตรวจสอบคุณสมบัติรายชื่อ แต่ก็ยังมีการเขย่า ถอดชื่อคนนั้นออกและมีชื่อใหม่เข้ามาแทน

โดยเฉพาะชื่อ “พิชิต ชื่นบาน” ที่มีชื่อดำรงตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ โดยเข้ามาเสียบแทนที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล ที่เดิมทีวางให้นั่งเก้าอี้รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย สุดท้ายชื่อต้องหลุดโผออกไป

ทั้งนี้ รายชื่อ “ครม.เศรษฐา 1” จำนวน 36 คน ประกอบด้วย

พรรคเพื่อไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ควบ รมว.คลัง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ควบ รมว.พาณิชย์ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ ควบ รมว.การต่างประเทศ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกฯ นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.ประจำสำนักนายกฯ นายพิชิต ชื่นบาน รมต.ประจำสำนักนายกฯ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดีอีเอส นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม นางสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม นายจักรพงษ์ แสงมณี รมช.การต่างประเทศ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย นายไชยา พรหมา รมช.เกษตรและสหกรณ์

พรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ ควบ รมว.มหาดไทย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์

พรรคพลังประชารัฐ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ควบ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข นายไผ่ ลิกค์ รมช.พาณิชย์

พรรครวมไทยสร้างชาติ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ ควบ รมว.พลังงาน น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม นายอนุชา นาคาศัย รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง พรรคชาติไทยพัฒนา นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

และพรรคประชาชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม

จากรายชื่อคณะรัฐมนตรี เห็นได้ชัดว่า กระทรวงเกรดเอหลายกระทรวงส่วนใหญ่ตกไปเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เหตุนี้เองจึงส่งผลให้ ส.ส.อีสาน เพื่อไทย ต่างแสดงความไม่พอใจเรื่องการแบ่งโควต้า

เหตุเพราะตอนหาเสียงเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยชูจุดขายนโยบายด้านการเกษตรไปจำนวนมาก

แต่เมื่อกระทรวงเกษตรฯ กลับตกไปอยู่กับพรรคอื่น จึงเกิดข้อกังวลว่าจะสามารถผลักดันนโยบายที่หาเสียงไว้ได้หรือไม่ อาทิ นโยบายการพักหนี้เกษตรกร การให้โฉนดที่ดินแก่ประชาชน ถ้าพรรคร่วมผลักดันนโยบายของตัวเองไป หากผลงานจะตกไปเป็นของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ใช่ของพรรคเพื่อไทย สุ่มเสี่ยงทำให้เสียคะแนนเสียงส่วนนี้ไปได้

เรื่องนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อธิบายพร้อมกับยอมรับเหตุผลว่า ได้รับรู้ความต้องการมาตลอด พรรคเพื่อไทยมีสมาชิกเกือบทุกพื้นที่ และมี ส.ส.ที่รับปัญหามาจากพี่น้องประชาชน ซึ่งรับรู้ปัญหามาโดยตลอดว่าสิ่งที่เขาต้องการและอยากได้ พรรค พท.ในฐานะแกนนำรัฐบาลควรดูแลกระทรวงไหนอย่างไร โดยเฉพาะเน้นกระทรวงทางด้านเศรษฐกิจ ปากท้องประชาชน ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนมากที่สุด

แต่เราอยู่ในฐานะที่ต้องมีพรรคร่วมรัฐบาล การเจรจาต่อรอง และการทำงานร่วมกัน เพื่อเป้าหมายร่วมกัน ก็จะต้องนำเข้ามาพิจารณาร่วมด้วยในหลักการเหล่านี้ ทำให้บางกระทรวงที่คาดหวังว่าจะทำให้พี่น้องประชาชน อาจจะไม่เป็นไปตามความต้องการก็ต้องขออภัย

และในฐานะที่ไม่ได้เป็นเสียงข้างมากเด็ดขาด จำเป็นต้องมีพรรคร่วมรัฐบาล มี 141 เสียงต้องหาเพิ่มอีกมาก ทำให้มีข้อจำกัด จึงต้องชดเชยด้วยการเร่งสร้างผลงานของรัฐบาลเศรษฐา

 

อีกทั้งโควต้ารัฐมนตรีของพรรค พท. ก็จัดสรรตำแหน่งกระจายความสมดุลให้กับกลุ่ม ส.ส.ภายในพรรค เพื่อลดแรงกระเพื่อมและแรงเสียดทานภายในพรรค ทั้งกลุ่มอีสานที่ได้ อย่าง “เกรียง กัลป์ตินันท์” รมช.มหาดไทย, “ไชยา พรหมา” รมช.เกษตรและสหกรณ์

รวมทั้ง “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” รมว.วัฒนธรรม ก็ได้รับการเยียวยาเพื่อทดแทนให้กับบุตรชาย อย่าง “เดอะป๋อม” ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี เนื่องจากถูกยุบพรรค ทษช.

ขณะที่พรรคร่วมอื่นๆ ทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็เป็นไปตามการตอบแทนให้กับกลุ่มทุน และกลุ่ม ส.ส.บ้านใหญ่ที่ทำผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเข้าเป้า

หลังจากนี้ “ครม.เศรษฐา 1” จะต้องพิสูจน์การทำงานครั้งใหญ่ต่อพี่น้องประชาชน ว่าจะบริหารประเทศให้สอบผ่านได้หรือไม่