การเลือกเล่นกีฬาให้เหมาะกับอารมณ์ | พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

คนเราแต่ละคนมีอารมณ์ที่หลากหลายในแต่ละวัน และหลายๆ ครั้งเราเลือกจัดการกับอารมณ์เหล่านั้นอย่างผิดวิธี ทำให้เกิดผลเสียต่อตัวเองและคนรอบข้าง

ยกตัวอย่างเช่น คนที่เกิดอารมณ์เครียด กลุ้มใจ มักจะหาทางผ่อนคลายด้วยการกินของหวาน เช่น ช็อกโกแลต เค้ก หรือไอศกรีม ซึ่งของหวานเหล่านี้มีน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรต ช่วยให้อารมณ์ดีและมีความสุขขึ้นจริงๆ แต่กินเยอะๆ น้ำหนักก็พุ่งปรี๊ด เบาหวานพลุ่งพล่าน คราวนี้ได้ความอ้วนมาเครียดเพิ่มอีกเรื่องหนึ่ง

ทุกครั้งที่เราเกิดอารมณ์ขุ่นมัว โศกเศร้า วิตกกังวล เรามักจะนึกถึงการออกกำลังกายเป็นเรื่องท้ายๆ

แต่ความจริงแล้ว การออกกำลังกายเป็นวิธีจัดการกับอารมณ์ต่างๆ ได้ดีที่สุดหากเรารู้ว่าต้องเล่นกีฬาประเภทใด

 

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งจัดทำโดยคณะวิทยาศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกายของมหาวิทยาลัยสตุ๊ตการ์ต (University of Stuttgart) บอกว่าแม้แต่การออกกำลังกายเบาๆ เช่น การเดินหรือจัดสวน ก็สามารถทำให้อารมณ์เบิกบานขึ้นได้

โดยปกติการออกกำลังกายทุกประเภท สามารถช่วยยกระดับอารมณ์ให้ดีขึ้น

แต่ก็มีคำแนะนำในการเลือกเล่นกีฬาและออกกำลังกายสำหรับคนที่อยากเกาให้ถูกที่คันดังต่อไปนี้

 

1.ว่ายน้ำให้ลืมเศร้า

ไม่ว่าจะโศกเศร้าจากการเลิกกับคนรัก ปัญหาภายในบ้าน หรือเป็นโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลที่มักจะเกิดขึ้นในฤดูหนาวเรียกว่า Seasonal Affective Disorder เมื่อออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) สารเคมีสำคัญในสมองที่ช่วยทำให้อารมณ์ดีและหายเศร้า

การลอยตัวบนน้ำช่วยให้กล้ามเนื้อทุกส่วนผ่อนคลาย และว่ายน้ำเป็นกิจกรรมที่ทำคนเดียวได้

เหมาะกับคนที่กำลังโศกเศร้าและต้องการใช้เวลาอยู่เงียบๆ คนเดียว

 

2.โยคะเพื่อคลายเครียด

นักบำบัดจิตหลายคนต่างแนะนำการเล่นโยคะให้กับผู้ป่วยโรคเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจำนวนคนที่เล่นโยคะเพราะคำแนะนำของหมอมีเยอะจนน่าประหลาดใจ แต่นั่นเป็นเพราะการเล่นโยคะได้ผลจริงๆ

หฐโยคะ (Hatha Yoga) เป็นโยคะขั้นพื้นฐานที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดสำหรับคนเพิ่งเริ่มเล่น เพราะเน้นการยืดเหยียด ใช้แรงไม่เยอะ และมีความต่อเนื่องน้อยกว่าโยคะประเภทอื่นๆ

เหตุผลหนึ่งที่โยคะช่วยบรรเทาความเครียดและวิตกกังวลได้เพราะมีการควบคุมการหายใจ ซึ่งงานศึกษาหลายชิ้นบอกว่าการหายใจลึกๆ จะช่วยลดระดับความดันในเลือด เพราะเมื่อเราเกิดอารมณ์วิตกกังวล ความดันเลือดจะสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดการเกิดโรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง บรรเทาความเครียด ความเจ็บปวด และอาการนอนไม่หลับ

มีงานศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า คนที่เล่นโยคะ จะมีอารมณ์ดีและคุณภาพชีวิตดีขึ้นด้วย

 

3.วิ่งบรรเทาความโกรธ

การได้ใช้เวลาคิดทบทวนขณะเคลื่อนไหวเป็นจังหวะต่อเนื่องจะช่วยสงบจิตใจได้อย่างมหาศาล

นาธาเนียล โธม (Nathaniel Thom) จิตแพทย์ด้านความเครียด บอกว่าถ้าหากคุณรู้ตัวว่ากำลังจะเข้าไปเผชิญสถานการณ์ที่มีโอกาสจะทำให้คุณโกรธ ควรจะไปวิ่งออกกำลังกายซะก่อน

ข้อดีของการวิ่งก็คือคุณไม่ต้องเสียเงินสมัครสมาชิกฟิตเนส เพียงแค่มีรองเท้าผ้าใบ 1 คู่ก็ไปได้ทุกที่

ดังนั้น ก่อนจะใช้เวลากับใครก็ตามที่รู้สึกน่ารำคาญ ให้รีบออกไปวิ่งสักเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องวิ่ง 5-6 กิโลเมตร แค่ครั้งละ 1 กิโลก็จะช่วยให้คุณมีอารมณ์ที่ดีขึ้นตลอดทั้งวัน

 

4.มวยเมื่อคับข้องใจ

อารมณ์โกรธและคับข้องใจมีความคล้ายคลึงกัน แต่ร่างกายเราตอบสนองต่อความรู้สึกต่างกันมาก

ความคับข้องใจมีจุดกำเนิดจากความรู้สึกภายในของเรา เป็นการเสริมกันของความรู้สึกท้อแท้ เสียใจ และผิดหวัง

เช่น เราเจอกับงานที่ยาก ทำสิ่งต่างๆ ไม่ทันเวลาที่กำหนด หรือตั้งใจทำสิ่งใดก็โดนขัดขวาง

หลายคนเมื่อรู้สึกคับข้องใจ ร่างกายจะไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นชัด ขณะที่อารมณ์โกรธนั้นเกิดจากสิ่งเร้าภายนอกมารบกวนจิตใจ ซึ่งร่างกายเราจะตอบสนองโดยทันที คือหัวใจเต้นเร็ว หายใจแรงและอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น

หากอารมณ์คับข้องใจสะสมอยู่นานๆ สามารถระเบิดออกมา กลายเป็นความโกรธได้

ฉะนั้น หานวมสักคู่และกระสอบทรายสักใบ แล้วชกมวยให้หายคับข้องใจ หรือไม่ก็ลองเข้าชั้นเรียน คิกบ๊อกซิ่ง หรือมวยไทย หรือ คราฟ มากา (Krav Maga) ศิลปะการป้องกันตัวจากอิสราเอล

ซึ่งนอกจากจะช่วยคลายความไม่พอใจแล้ว ยังทำให้รู้สึกว่าเราเก่งสุดๆ ไปเลย

 

แต่หากใครรู้สึกไม่ชอบกีฬาประเภทต่างๆ ที่แนะนำ ก็สามารถหากิจกรรมเรียกเหงื่ออย่างอื่นทำแทนได้

ตราบใดที่เราได้ออกกำลังกายเป็นประจำ ได้ใช้เวลานั้นคิดทบทวนเรื่องต่างๆ ในชีวิต…

เราก็จะกลายเป็นคนที่มีอารมณ์ดีมากขึ้น