ศิลปินแห่งชาติ กับค่าใช้จ่ายของความเป็นไทยแบบที่รัฐอยากให้เป็น

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมานี้ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนงานส่งเสริมวัฒนธรรม ครั้งที่ 1/2566 ในฐานะของเลขานุการกองทุนงานส่งเสริมวัฒนธรรมโดยมีใจความสรุปว่า ต้องการงบประมาณเพิ่มราว 100 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้สำหรับดูแล “ศิลปินแห่งชาติ” (รวมถึงผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม และผู้ทรงคุณวุฒิทางวัฒนธรรม แต่ในถ้อยแถลงดูจะให้ความสำคัญไปที่ศิลปินแห่งชาติ เป็นพิเศษ) ได้อย่างคล่องตัวยิ่งขึ้น

เรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า ศิลปินแห่งชาติจะได้รับเงินเดือนคนละ 25,000 บาท โดยในปัจจุบัน (วันที่ 25 สิงหาคม 2566) ประเทศไทยมีศิลปินแห่งชาติรวม 172 คน คิดเป็นเงินเดือนละกว่า 4 ล้านบาท หรือปีละเกือบ 70 ล้านบาท

แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เฉพาะบุคคลนอกเหนือจากเงินที่รับเป็นประจำทุกเดือน เช่น ค่ารักษาพยาบาลในห้อง ICU ค่าฟอกไต ค่าผ่าตัด รวมไปถึงค่าสวัสดิการ ค่าช่วยเหลือเมื่อประสบภัยพิบัติต่างๆ เงินช่วยเหลือและเผยแพร่ผลงานในกรณีที่ศิลปินแห่งชาติเสียชีวิต

ดังนั้น ในแต่ละปีจึงมีเงินค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลศิลปินแห่งชาติปีละมากกว่า 70 ล้านบาท

ซึ่งในปัจจุบันมีงบประมาณดูแลท่านผู้ทรงเกียรติเหล่านี้เพียงปีละ 76 ล้านบาทเท่านั้น จึงอยู่ในภาวะที่ไม่คล่องตัวนัก จนต้องของบประมาณเพิ่มอีกปีละ 100 ล้านบาท รวมเป็นปีละ 176 ล้านบาทนั่นเอง

แต่อะไรที่ทำให้รัฐอยากทุ่มทุนจำนวนหลักร้อยล้านบาทนี้ให้กับ “ศิลปินแห่งชาติ” กันล่ะครับ?

 

“สํานักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้เริ่มจัดทำโครงการศิลปินแห่งชาติ ขึ้นตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2527 เพื่อสรรหา ส่งเสริมสนับสนุน และช่วยเหลือศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะล้ำค่า อันทรงคุณค่าของแผ่นดิน ยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นผู้พิจารณา”

ข้อความข้างต้นผมคัดมาจากเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ในสังกัดของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเดิมก็คือ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ นั่นแหละนะครับ ดังนั้น อะไรที่ปรากฏอยู่ในข้อความข้างต้นก็คือเหตุผล (ฉบับทางการ) ที่รัฐท่านจัดตั้งให้มีสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการสถาปนาให้เป็น “ศิลปินแห่งชาติ” นั่นเอง

นอกจากนี้ ในเว็บไซต์ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรมก็ยังอธิบายเอาไว้ด้วยว่า “ศิลปินแห่งชาติ” คือ “ทรัพยากรบุคคลทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะของชาติให้เชื่อมโยงจากอดีตมาสู่ปัจจุบันเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีต ให้มีความรุ่งโรจน์สืบไปยังอนาคตข้างหน้า”

ดังนั้น อะไรที่เรียกว่า “ศิลปินแห่งชาติ” จึงเป็นหนึ่งในความพยายามจัดตั้ง ‘ความเป็นไทย’ ของรัฐ ที่จะระบุว่า อะไรที่เป็นไทย อะไรไม่ใช่ไทย และอะไรคือไทยที่สูงส่งกว่าไทยอื่น จนคู่ควรที่จะยกย่อง และเชิดชูเกียรติกัน

 

เห็นได้ชัดๆ ก็จากคุณสมบัติของใครก็ตามที่จะเป็นแคนดิเดตช่วงชิงตำแหน่ง “ศิลปินแห่งชาติ” ได้นั้น ก็จะต้องมี “สัญชาติไทย” มาก่อนเป็นคุณสมบัติข้อแรก

และก็แรกเสียจนคุณสมบัติตามหลังอีก 6 ข้อ ค่อยว่ากันถึงเรื่องของผลงาน และความสามารถของคนคนนั้นเลยก็แล้วกัน

(ผมเข้าใจดีนะครับว่า ในการทำงานจริง การพิจารณาสรรหาว่าจะให้ใครได้รับตำแหน่งอันทรงคุณค่า และเพียบไปด้วยรายรับนี้ อาจจะไม่ได้คำนึงว่าต้องเริ่มพิจารณาจากคุณสมบัติเรียงตามลำดับข้อ 1 ไปจนถึงข้อ 7 อย่างทื่อๆ แต่การที่คณะกรรมการเลือกที่จะนำเอาการที่ต้องมีสัญชาติไทยแปะเป็นยี่ห้อไว้ ตั้งแต่ในคุณสมบัติข้อแรกก็สะท้อนให้เห็นถึงอะไรอยู่มากเลยทีเดียว)

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว “สัญชาติ” เป็นอะไรที่สะท้อนความเป็นชาติ ในแง่ง่ามของการเมืองการปกครอง มากกว่าในแง่มุมทางวัฒนธรรม ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะแขนงต่างๆ มากกว่ากันอยู่เห็นๆ

แต่ก็ไม่ใช่เฉพาะแค่ประเทศไทยที่มีตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ เท่าที่ผมสืบค้นดูได้ก็มีประเทศอื่นๆ ที่มีตำแหน่งทำนองนี้ก็มีอยู่อีกอย่างน้อย 3 ประเทศคือ ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย และอาเซอร์ไบจาน

น่าสนใจนะครับเพราะแต่ละประเทศที่ว่ามานี้ก็ล้วนแล้วแต่มีอะไรที่คลับคล้ายกันอยู่

 

ประวัติศาสตร์ในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมานี้ของประเทศอาเซอร์ไบจาน (ซึ่งว่ากันว่าบรรพชนเป็นพวกเปอร์เซียผสมกับเติร์ก) เต็มไปด้วยความวุ่นวายในการเรียกร้องเอกราชจากสหภาพโซเวียต จนได้รับเอกราชเมื่อ พ.ศ.2534 เมื่ออาณาจักรของยักษ์ใหญ่หลังม่านเหล็กได้ล่มสลายลง จนไม่น่าแปลกอะไรที่พวกเขาจะโหยหาความเป็นชาติ และพยายามสร้างอัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมาใหม่

มาเลเซียก็เป็นอีกชาติหนึ่งที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งก็ทำให้รัฐโหยหาความเป็นชาติ และอะไรที่ทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเสียเหลือเกิน

แต่ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ ประเทศฟิลิปปินส์ เพราะตำแหน่ง “Pambansang Alagad ng Sining ng Pilipinas” หรือศิลปินแห่งชาติของพวกเขานั้น ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2515 เรียกได้ว่ามีมาก่อนประเทศไทยเสียอีก

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ก็คือตำแหน่งที่ว่านี้ถือกำเนิดขึ้นในรัฐบาลของนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ผู้นำเผด็จการ คนดังของประเทศฟิลิปปินส์ ที่ปกครองประเทศด้วยกฎอัยการศึกอย่างยาวนานเฉียดๆ 21 ปี

รัฐบาลภายใต้ชะเงื้อมของรองเท้าบู๊ต และลัทธิท่านผู้นำมักจะมีการลงมาจัดการกับวัฒนธรรม และศิลปะอยู่บ่อยๆ เลยนะครับ

ในกรณีของไทยเราก็มีมาก่อนหน้าตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ ของเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส เสียอีก

 

อดีตอธิบดีคนสำคัญที่สุดของกรมศิลปากรอย่าง ธนิต อยู่โพธิ์ (พ.ศ.2450-2547) ได้เขียนเล่าไว้ว่า ระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนในพระนครและธนบุรีต่างนิยมเล่นรำโทน (ซึ่งก็คือการฟ้อนรำประกอบเครื่องดนตรีให้จังหวะที่เรียกว่า โทน) กันโดยทั่วไป พอมาถึง พ.ศ.2487 ซึ่งเป็นช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาลจอมพล ป. ที่ครองตำแหน่งนายกฯ ในรอบแรก (จอมพล ป.ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรอบที่สอง ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายระหว่าง พ.ศ.2491-2500) รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมศิลปากรพิจารณาปรับปรุงการละเล่นรำโทนขึ้นใหม่

การปรับปรุงที่ว่านอกจากจะได้มีการสร้างบทร้องขึ้นใหม่เพื่อให้ได้มาตรฐาน และเพิ่มเติมเครื่องดนตรีในการทำเพลงทั้งเครื่องไทย และเครื่องสากลจนหรูหรา แล้วยังได้มีการจัดทำท่ารำให้ “งดงาม” ตามแบบฉบับของ “นาฏศิลป์ไทย” อย่างการนำเอาท่า สอดสร้อยมาลา ชักแป้งผัดหน้า ฯลฯ มากำหนดเป็นแม่ท่าอีกด้วย

ที่สำคัญคือกรมศิลปากรได้เปลี่ยนชื่อจาก “รำโทน” เป็น “รำวง” เพราะเห็นว่า ผู้เล่นย่อมรวมวงกันเล่น และรำเคลื่อนย้ายเวียนเป็นวง

ผมไม่แน่ใจว่า สมัยยังเป็น “รำโทน” ที่รัฐไม่ลงมายุ่มย่ามจัดระเบียบ ผู้เล่นจะเคลื่อนย้ายเวียนเป็นวงหรือเปล่า? แต่แน่ใจได้ว่าก่อนจะเป็น “รำวง” ใครใคร่ทำเพลงอันใดก็ทำ ใครใคร่จะรำอย่างไรก็รำ ไม่อย่างนั้นรัฐบาลของจอมพล ป. ท่านจะมาปรับทัศนคติให้ได้ “มาตรฐานความเป็นไทย” ของท่านทำไมให้เสียเวลา?

แถมคำว่า “มาตรฐาน” ที่ถูกใช้เป็นสร้อยท้ายคำเรียก “รำวง” ว่า “รำวงมาตรฐาน” ตามที่กรมศิลปากรประดิษฐ์ขึ้นมาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.เอง ยิ่งเป็นพยานปากเอกอยู่แล้วว่า มีรำวง หรือรำโทน ที่ไม่ได้มาตรฐานของรัฐไทย คือไม่นับว่าเป็น “ไทย” อยู่ด้วย

การปรับเปลี่ยน “รำโทน” ให้มาเป็น “รำวง” แถมยังไม่ใช่รำวงเฉยๆ เพราะเป็น “รำวงมาตรฐาน” ซึ่งก็คือมาตรฐานของความเป็นไทยนั้น จึงเป็นการปฏิเสธข้อกล่าวหาว่า คณะราษฎรไม่มีความนิยมในดนตรีไทยได้เป็นอย่างดี เพราะที่จริงแล้วไม่ได้ไม่ชอบ เพียงแต่ต้องการที่จะสร้าง “มาตรฐาน” ให้ต้องตรงกับจริตความเป็นไทยในแบบของพวกตนเองต่างหาก

 

ศิลปินแห่งชาติก็คือ อะไรในทำนองเดียวกันนี่แหละครับ เพราะคือการตีตราว่าอะไรเป็นไทย และอะไรไม่เป็นไทย แต่ศิลปะมันเคยผูกโยงกับชาติ โดยเฉพาะรัฐชาติแบบสมัยใหม่เสียเมื่อไหร่กัน?

การนิยาม “ศิลปะ” ในยุโรป เกิดขึ้นก่อนรัฐชาติแบบที่เราเข้าใจกันอยู่ในทุกวันนี้ ในอิตาลี ฝรั่งเศส หรือจะประเทศอะไรก็ตาม จึงมีศิลปะแบบโรมันเนสก์, โกธิก, เรอเนสซองก์ และก็อะไรอีกให้เพียบเหมือนๆ กัน ที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของมนุษย์ในยุโรป ที่ไม่ถูกตัดขาดจากกันด้วยรัฐชาติ

ในขณะที่ก็เป็นเพราะพวกฝรั่งเองเหมือนกัน ที่เข้าไปยังดินแดนต่างๆ ของโลก พร้อมกับลัทธิล่าอาณานิคม แล้วก็พยายามแบ่งเค้กดินแดนเหล่านั้น ทั้งระหว่างชาติเจ้าอาณานิคมด้วยกันเอง และชาติเจ้าถิ่นที่เป็นอาณานิคมภายใน การผลิตประวัติศาสตร์ และศิลปวัฒนธรรมต่างๆ โดยมีรัฐชาติสมัยใหม่เป็นเครื่องมือจำแนกนี่แหละ ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของการแบ่งชิ้นเค้ก

ดินแดนรอบๆ ประเทศของเราจึงเต็มไปด้วย ศิลปะที่ปะหน้าไว้ด้วยทั้งยี่ห้อของรัฐชาติ และเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นศิลปะขอม ศิลปะพม่า ศิลปะไทย อยุธยา สุโขทัย หรืออะไรอีกสารพัด แต่ไม่ยักจะพูดถึงภูมิปัญญาและพัฒนาการของมนุษย์ในดินแดนละแวกนี้?

รำโทนเองไม่ได้มีเฉพาะในไทยหรอกนะครับ มีกันให้เกลื่อนไปทั้งอุษาคเนย์ การรีโนเวตให้เป็นรำวงมาตรฐานต่างหาก ที่ไปขู่เข็ญให้กลายเป็นสมบัติของไทยไปโดยเฉพาะ อะไรทำนองนี้ต่างหากที่ทำให้เราต้องมานั่งทะเลาะกับประเทศเพื่อนบ้านว่า โขนไทย หรือโขนเขมร และอะไรทำนองนี้อีกสารพัดกรณี

ศิลปะอะไรก็ตามเมื่อถูกแปะป้ายไว้ด้วยคำว่าชาติจึงดูจะเป็นเรื่องที่ชวนทะเลาะ เพราะความเลื่อนไหลของศิลปะนั้นไม่เคยผูกโยงอยู่กับรัฐชาติสมัยใหม่เพียงอย่างเดียวเสียหน่อย

 

น่าสนใจนะครับว่า คุณสมบัติของตำแหน่งศิลปินแห่งชาติในฟิลิปปินส์ ก็ขึ้นต้นด้วยการมีสัญชาติฟิลิปปินส์ ไม่ต่างไปจากไทย (ที่จริงเขาโอนอ่อนกว่าเราหน่อยว่า ถ้าหากเป็นชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศมาครบ 10 ปีแล้วก็สามารถรับตำแหน่งนี้ได้) และผมก็คงไม่ต้องบอกนะครับว่า เมื่อ พ.ศ.2527 ที่ได้ริเริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติ จนมีการประกาศรางวัลเป็นครั้งแรกในปีถัดมานั้นอยู่ในรัฐบาลของใคร?

แถมยังมีแนวโน้มอีกด้วยว่าเงินภาษีของประชาชนชาวไทยจะถูกนำไปบำรุงบำเรอต้วแทนของความเป็นไทย (ซึ่งก็หมายถึง “ไทย” อย่างที่อำนาจในประเทศนี้อยากให้เป็นมากกว่าชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนชาวไทยโดยรวม) เพิ่มขึ้นอีกปีละ 100 ล้านบาท •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ