ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 กันยายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
ในโลกออนไลน์ช่วงนี้กำลังมีการตื่นตัวเกี่ยวกับประเด็น AI กับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์จำนวนมาก ด้วยการที่ระบบปัญญาประดิษฐ์ ทำการลอกเลียนสไตล์การวาดภาพหรือลายเส้นของศิลปินในโลกออนไลน์ มาใช้ประมวลผลเพื่อพัฒนาระบบปฏิบัติการในการสร้างผลงานศิลปะ AI ชิ้นใหม่ๆ ขึ้นมา
แต่ในทางกลับกัน ก็เป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามเหมือนกันว่า การลอกเลียนแบบก็เป็นหัวใจสำคัญหนึ่งของกระบวนการสร้างสรรค์หรือไม่? มีไอเดียหรือความคิดไหนที่เป็นต้นฉบับโดยไม่ได้แรงบันดาลใจจากอะไรเลยจริงไหม? หรือเราจะสามารถพัฒนาหรือฝึกฝนความสามารถของตัวเองโดยไม่ก๊อบปี้หรือเลียนแบบสิ่งที่มีอยู่แล้วรอบๆ ตัวเราหรืองานสร้างสรรค์ที่มีมาก่อนได้หรือไม่?
ตัวผมเองก็เคยได้ไปเห็นผลงานลอกเลียนแบบที่มีคุณค่าและความสำคัญไม่แพ้ผลงานต้นฉบับแล้วมาหลายชิ้น เลยขอหยิบมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อชวนขบคิดในประเด็นนี้กัน
ยกตัวอย่างเช่น ภาพวาดก๊อบปี้ผลงานชิ้นเอกของ เรมบรันต์ (Rembrandt) ศิลปินเอกแห่งยุคทองของดัตช์อย่าง The Night Watch (1642) ที่ เฆอร์ริตต์ ลุนเดนส์ (Gerrit Lundens) จิตรกรชาวดัตช์ในศตวรรษที่ 18 ที่คัดลอกจากภาพวาดจริงของของเรมบรันต์ ออกมาในขนาดที่เล็กกว่าภาพจริงมาก (ภาพวาดจริงมีขนาด 3.63 x 4.37 เมตร ส่วนภาพก๊อบปี้มีขนาดเท่ากับโปสเตอร์เท่านั้นเอง) โดยลุนเดนส์วาดขึ้นในปี 1642-1655 ในช่วงที่ภาพจริงเพิ่งวาดเสร็จใหม่ๆ
แต่อย่าเพิ่งปรามาสกันไปก่อน ว่าเป็นแค่ของเก๊ทำเลียนแบบที่ไร้คุณค่า เพราะความดีงามของภาพก๊อบปี้ภาพนี้ก็คือ มันทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลปะรุ่นหลังค้นพบข้อเท็จจริงหลายประการเกี่ยวกับภาพวาด The Night Watch ของจริง
อย่างเช่น การที่ภาพวาดจริงมีองค์ประกอบบางอย่างในภาพที่หายไป เพราะภาพวาดก๊อบปี้ภาพนี้ดันมีฉากหลังและตัวละครมากกว่าภาพจริงเสียนี่!
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะภาพ The Night Watch ของจริงนั้นเคยถูกเจ้าของใหม่ที่ซื้อภาพนี้ต่อมาอีกทอดหนึ่งในปี 1715 ตัดเฉือนขอบของภาพทั้งสี่ด้านออกไปหลายนิ้ว เพื่อให้แขวนโชว์อยู่ตรงกลางระหว่างประตูสองข้างในอาคารศาลาว่าการเมืองอัมสเตอร์ดัมได้ (ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำกันเป็นปกติในยุคก่อนศตวรรษที่ 19) ผลลัพธ์ก็คือ บุคคลทางซ้ายของภาพหายไปสองคน และภาพก็สูญเสียมิติทั้งความกว้างและความลึกไป ที่น่าเสียดายอย่างยิ่งก็คือ ไม่มีใครค้นพบขอบภาพที่ถูกตัดออกไปอีกเลยจวบจนทุกวันนี้
แถมแสงสว่างอันจัดจ้าในภาพวาดก๊อบปี้ภาพนี้ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เดิมทีภาพต้นฉบับภาพนี้วาดฉากตอนกลางวัน ไม่ใช่ฉากตอนกลางคืนอย่างที่ชื่อภาพนี้อ้างเอาไว้เสียหน่อย!
กว่าที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะรุ่นหลังจะรู้ว่าภาพจริงถูกเฉือนออกไป และเป็นฉากในตอนกลางวัน ก็ตอนที่ได้ไปเห็นภาพวาดก๊อบปี้ภาพนี้นี่แหละ
เหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ให้เรารู้ว่า การก๊อบปี้ก็ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เพราะอย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้เราได้รู้ว่าผลงานต้นฉบับของจริงในช่วงเวลาที่เสร็จสมบูรณ์นั้นมีความดีงามขนาดไหน
ปัจจุบันภาพวาดก๊อบปี้ภาพนี้ถูกหยิบยืมจากหอศิลป์แห่งชาติ กรุงลอนดอน มาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ไรจ์กส์ (Rijks museum) ในกรุงอัมสเตอร์ดัม เคียงคู่กับภาพวาด The Night Watch ของจริง ให้เราได้เปรียบเทียบกันแบบจะจะนั่นเอง
หรือผลงาน a stitch in time (2012) โดย เบเรนด์ สตริก (Berend Strik) ศิลปินร่วมสมัยชาวดัตช์ ที่จัดแสดงในคาเฟ่ภายในอาคารสำนักงานใหญ่ของ droog สตูดิโอดีไซน์ระดับตำนานสัญชาติดัตช์ ในเมืองอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ที่หยิบเอาหนึ่งในภาพวาดชิ้นสำคัญในช่วงบั้นปลายชีวิตของเรมบรันด์อย่าง Syndics of the Drapers’ Guild (1662) มาตีความใหม่ ด้วยการใช้เทคนิคของงานปักผ้าและสิ่งทอ จำลองภาพวาดนี้ขึ้นมา เพื่อแสดงการคารวะแก่ประวัติศาสตร์ของพื้นที่อาคารสำนักงานใหญ่ของ droog แห่งนี้ ซึ่งในอดีตเคยเป็นอาคารสำนักงานของสมาคมตัดเย็บและสิ่งทอ
ภาพวาดของเรมบรันด์ภาพนี้เป็นภาพเหมือนหมู่ของคณะกรรมการของสมาคมแห่งนี้อีกด้วย เดิมทีภาพวาดภาพนี้ของเรมบรันด์เองก็เคยถูกแขวนอยู่ในอาคารนี้มาตั้งแต่ปี 1771 ก่อนที่จะถูกย้ายไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ Rijksmuseum ในปี 1808 นั่นเอง
หรือผลงาน Raysse tableau à haute tension (1969) ที่ก๊อบปี้จากผลงาน Peinture à haute tension (1965) ของ มาร์กซิยาล เรย์ซ (Martial Raysse) ศิลปินป๊อปอาร์ตชาวฝรั่งเศส แล้วศิลปินที่ก๊อบปี้ผลงานก็ไม่ใช่ศิลปินไก่กาที่ไหน เธอคือ เอเลน สตัวร์เดอวันด์ (Elaine Sturtevant) ศิลปินหญิงชาวอเมริกันผู้มีฉายา “Queen of Copycats” (ราชินีแห่งการลอกเลียนแบบ) จากการลอกเลียน, ทำซ้ำ และสร้างผลงานของศิลปินคนอื่นขึ้นมาใหม่โดยไม่มีการขออนุญาตศิลปินเหล่านั้นแต่อย่างใด ในขณะเดียวกัน เธอก็ได้รับการยกให้เป็นหนึ่งในศิลปินคนสำคัญที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21 นั่นแสดงให้เห็นว่าเธอไม่ได้สักแต่ว่าเลียนแบบไปเปล่าๆ ปลี้ๆ หากแต่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการหยิบยืม, ทำซ้ำ และลอกเลียนแบบได้อย่างเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนเป็นที่ยอมรับในโลกศิลปะในที่สุด
และความยียวนของพิพิธภัณฑ์ระดับโลกอย่างพิพิธภัณฑ์ Stedelijk ในอัมสเตอร์ดัม ที่จัดแสดงผลงานทั้งคู่ ก็คือการจัดแสดงผลงานลอกเลียนแบบของศิลปินนักก๊อบปี้เอาไว้ข้างหน้า และเอาผลงานต้นฉบับของศิลปินตัวจริงเอาไว้ข้างหลังเสียอย่างงั้น!
หรือผลงาน L’Ange du foyer (The Fireside Angel) (4th version) (2019) ของ ซีเพรียน เกลยาร์ (Cyprien Gaillard) ศิลปินร่วมสมัยชาวฝรั่งเศส ผู้ทำงานหลากสื่ออย่างงานจิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพถ่าย, ภาพยนตร์, วิดีโอ, คอลลาจ, ศิลปะจัดวาง และศิลปะแสดงสด ที่ได้แรงบันดาลใจจากผลงานในชื่อเดียวกันของ มักซ์ แอร์นส์ต (Max Ernst) ศิลปินชาวเยอรมัน ผู้เป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิกของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะดาดา (Dada) และเซอร์เรียลิสม์ (Surrealism) อย่าง L’Ange du Foyer (Fireside Angel) (1937) แอร์นส์ตวาดภาพนี้ขึ้นในช่วงเวลาก่อนที่เขาจะลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา โดยได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ทางการเมือง ที่พรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน หรือพรรคนาซี ขึ้นสู่อำนาจในเยอรมนี และพรรคฟาสซิสต์ครองอำนาจในอิตาลี รวมถึงฝ่ายเผด็จการฟาสซิสต์ของนายพลฟรานซิสโก ฟรังโก เอาชนะฝ่ายนิยมสาธารณรัฐในสงครามกลางเมืองสเปน (โดยได้รับการสนับสนุนจากนาซีเยอรมันและฟาสซิสต์อิตาลี) และครองประเทศสเปนด้วยระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ
แอร์นส์ตแสดงความหวาดกลัวต่อเค้าลางแห่งหายนะที่กำลังแพร่ขยายไปทั่วยุโรป (ซึ่งภัยคุกความส่วนหนึ่งก็มาจากดินแดนบ้านเกิดของเขาอย่างเยอรมนีด้วย) โดยใช้สัญลักษณ์แทนด้วยภาพของเทพแห่งความตาย ที่เป็นเหมือนอสุรกายผู้บดขยี้ทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางทางมัน
เกลยาร์ตีความภาพวาดของแอร์นส์ต ออกมาเป็นงานศิลปะร่วมสมัย ในรูปของภาพเคลื่อนไหวสามมิติ ที่ใช้เทคโนโลยีโฮโลแกรม (Hologram) หลากสีสัน ฉายภาพเจ้าตัวละครอสุรกาย หรือเทพแห่งความตาย ในภาพของแอร์นส์ตให้ลุกขึ้นมามีชีวิตชีวา ขยับเขยื้อนร่างกาย แยกเขี้ยว สยายรยางค์ สะบัดองคาพยพ เต้นระบำพลิ้วไหวอยู่กลางอากาศได้อย่างน่าพิศวง (ด้วยความที่ มักซ์ แอร์นส์ต วาดภาพนี้ออกมา 3 เวอร์ชั่น เกลยาร์จึงตั้งชื่อให้ผลงานชิ้นนี้ของเขาเป็นเวอร์ชั่นที่ 4 นั่นเอง)
ผลงานชิ้นนี้เคยถูกจัดแสดงในมหกรรมศิลปะ Venice Biennale ครั้งที่ 58 ปี 2019 ก่อนที่จะถูกเก็บสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์ Boijmans และนำมาจัดเก็บไว้ในคลังเก็บผลงานศิลปะ Depot Boijmans Van Beuningen
ท้ายที่สุดแล้ว แน่นอนว่าการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการใช้กฎหมายปกป้องคุ้มครองสิทธิ ข้อมูล หรือแม้แต่ผลประโยชน์ส่วนบุคคลของศิลปิน คนทำงานสร้างสรรค์ หรือแม้แต่บุคคลทั่วๆ ไปจากการถูกเอารัดเอาเปรียบและแสวงหาผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม
แต่ในทางกลับกัน หากกฎหมายที่ว่านี้ถูกบังคับใช้อย่างเข้มงวดซื่อตรงจนเกินไป ไม่เปิดโอกาสให้เกิดการถกเถียงตีความ ก็อาจเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและจํากัดความคิดสร้างสรรค์ จนไม่อาจพัฒนาให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาเลยก็เป็นได้ •
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022