‘ภาพ’ | ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
เสือโคร่ง - นักวิจัยพบว่า ลูกเสือจะอยู่กับแม่ราวสองปี เป็นช่วงเวลาที่ลูกจะเรียนรู้ทักษะ ประสบการณ์ ก่อนออกไปใช้ชีวิตลำพังตามวิถี

บ่ายวันหนึ่ง กลางฤดูแล้ง

ผมคลานศอกในลำห้วยที่เหลือระดับน้ำตื้นๆ จากริมฝั่ง และหยุดบริเวณกลางลำห้วย ส่วนหน้าอกและท้องแช่อยู่ในน้ำ เป็นอาการเดียวกับที่เสือโคร่งตัวหนึ่งซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 40 เมตร กำลังกระทำ

ผมอยู่ใต้ลม เสือไม่มีท่าทีระแวง

ผมพบรอยตีนเสือตัวนี้ตั้งแต่ช่วงสายๆ ผมเดินบนด่านริมลำห้วย เส้นทางเดียวกับที่เสือตัวนี้ใช้ รอยตีนยังใหม่ เดินล่วงหน้าผมไปไม่นาน

จุดหมายของผมอยู่ทางทิศเหนือในหุบเขา ที่จะใช้เวลาเดินอีกหนึ่งวัน

ส่วนเสือมันจะไปถึงไหน ผมไม่รู้ แต่ร่องรอยใหม่ๆ ทำให้ผมเกิดความหวังว่า เราอาจมีโอกาสได้พบกัน

ตอนบ่ายที่สภาพอากาศร้อนอบอ้าว ด่านวกลงลำห้วย ผมเดินตามด่านจนถึงริมลำน้ำ กึ่งกลางลำห้วย ห่างจากผมสักหนึ่งร้อยเมตร ผมเห็นเสือโคร่งตัวนั้นกำลังนอนแช่น้ำตื้นๆ อยู่อย่างสบายอารมณ์

ผมเริ่มต้นคลานเข้าไป และหยุด เมื่อเสืออยู่ห่างออกไปราว 40 เมตร

 

จากริมฝั่ง และพ้นสันทรายเตี้ยๆ มาแล้ว เหลือเพียงหาดโล่ง ที่ดูเหมือนว่า ระหว่างเสือกับผมจะไม่มีอะไรขวางกั้นแล้ว

หรือถ้ามี ผมก็มองไม่เห็น เพราะสิ่งที่ขวางอยู่ตรงกลาง อาจเรียกได้ว่าเป็นความเชื่อมั่น

เชื่อมั่นว่า ในป่าไม่มีสัตว์ร้าย มีเพียงสัตว์ที่ทำหน้าที่ของพวกมัน

 

ถึงวันนี้ มีข้อมูลมากมายจากนักวิจัยซึ่งศึกษาทำความรู้จักเสืออย่างจริงจัง ทำให้รู้ว่า ตำแหน่งสุดยอดนักล่า ซึ่งเป็นสมญาของเสือนั้น คือความจริง อีกทั้งถ้ารู้จักเสืออย่างถ่องแท้ ก็ยากจะปฏิเสธความจริงข้อนี้

โดยรูปร่างอันได้รับการออกแบบมาอย่างเหมาะสมสำหรับการฆ่าและทักษะ, เทคนิคต่างๆ อีกทั้งเรื่องเล่าถึงความโหดร้าย ทำให้เสือได้รับภาพความเป็นสัตว์ร้ายไม่ยาก

เรื่องจริงที่ว่า การล่าของเสือนั้น ลงมือสิบครั้ง โอกาสจะพบกับความสำเร็จเพียงครั้งเดียว ลงมือพลาด เริ่มต้นใหม่ พลาด และเริ่มต้นใหม่

เรื่องนี้มักไม่มีผู้ใดเห็น

 

สิ่งที่ยากที่สุดในงานของผมอย่างหนึ่ง คือโอกาสที่จะพบกับเสือ

ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดๆ นอกจากจะใช้กล้องดักถ่ายภาพแล้ว โอกาสที่จะพบและได้ภาพเสือ มีไม่มาก

เฝ้ารอตามโป่ง, ตามด่าน เดินตามรอย เฝ้าซากที่เสือล่าไว้ และอีกหลายวิธี ก็พบตัวเสือไม่ง่าย

หลายครั้งผมรู้ว่าเสือวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ไม่ได้หนีไปไหน มันไม่อนุญาตให้พบ เป็นฝ่ายเฝ้าดูผม

เรื่องจริงคือผมอ่อนด้อยกว่าหลายขุม

บ่ายกลางฤดูแล้ง วันนั้นเป็นข้อยกเว้น คล้ายกับมันอนุญาตให้พบ

เสือโคร่ง – นักวิจัยพบว่า ลูกเสือจะอยู่กับแม่ราวสองปี เป็นช่วงเวลาที่ลูกจะเรียนรู้ทักษะ ประสบการณ์ ก่อนออกไปใช้ชีวิตลำพังตามวิถี

เรื่องเล่าของผมไม่ว่าจะเป็นงานหนังสือ หรืองานสารคดีภาพเคลื่อนไหวในปัจจุบัน เอาเข้าจริงแล้ว ผมไม่แน่ใจนักว่าจะเรียกว่าอะไร หรือถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ไหน

แต่ใจความของงาน คือเรื่องเล่าถึงประสบการณ์ และทัศนะของคนที่มีโอกาสทำงานในป่า

ว่าตามตรง ไม่ใช่ทัศนะซึ่งอยู่ตรงกลาง แต่เป็นทัศนะที่ยืนเคียงข้างชีวิตที่อยู่ในป่า

ในป่า ที่ไม่ได้แยกว่านี่เป็นคน นั่นเป็นเดรัจฉาน

เราใช้น้ำ ใช้อากาศ ใช้ผืนดินร่วมกัน ด้วยความเชื่อมั่นว่า เราต่างล้วนเป็นหนึ่งเดียว

เสือไม่ใช่สัตว์สังคม พวกมันซึ่งเติบโตเต็มวัยแล้ว ใช้ชีวิตลำพัง

โดยวิถีของงานบันทึกภาพสัตว์ป่าก็เลี่ยงไม่พ้นในการที่จะต้องอยู่ลำพัง ต้องนิ่ง และเงียบ

เช่นนี้ จึงทำให้ “ได้ยิน”

 

แม้ว่าโอกาสจะไม่มาก แต่ผมก็พบกับเสือบ้าง พบกันในหลายสภาวะ อารมณ์ ในเวลาทำงาน และในเวลาผ่อนคลาย

บางตัวกำลังเล่นกับผีเสื้อ บางตัวนั่งดูนกยูงรำแพน บางตัวส่งเสียงคำรามก้อง ในค่ำคืนที่ดวงจันทร์ทอแสงนวล

เสือทำให้ผมรู้ว่า เวลาจะแยกเด็กกับผู้ใหญ่ออกจากกัน แต่หาก “ผู้ใหญ่” ยังเก็บวิญญาณแห่งความเป็นเด็กไว้ข้างใน และนำออกมาใช้ในเวลาอันเหมาะสม หนทางที่ต้องเดินไปตามวิถีก็ไม่ยากอะไรนัก

 

วันหนึ่ง ผมมีโอกาสพบลูกเสือโคร่ง และติดตามเฝ้าดูพวกมันอยู่หลายสัปดาห์

นักวิจัยทำให้ผมรู้ว่า ลายบนตัวของลูกเสือ จะเป็นเช่นตอนนี้ตลอดไป ไม่เปลี่ยนแปลง ลายเป็นเช่นเดิม ตั้งแต่เกิดจนตาย

ในความเป็นเสือ พวกมันรับรู้ตั้งแต่เด็กแล้วว่า เมื่อเติบโตขึ้นจะเป็นอะไร

รวมทั้ง “ภาพ” ต่างๆ ในความเป็นเสือ ซึ่งสายตาอื่นๆ จะมองเข้ามาดีหรือร้าย เป็นสัตว์ดุร้ายอันตราย เสือรู้ดีว่า เหล่านี้มาพร้อมกับสิ่งที่พวกมันเป็น •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ