วิกฤตรัฐธรรมนูญ กับความลุ่มหลงในการเมืองสุจริต | คำ ผกา

(Photo by BAY ISMOYO / AFP)

ท่ามกลางความอลหม่านและความโกรธเกรี้ยวของประชาชนกลุ่มหนึ่งที่มีต่อพรรคเพื่อไทยที่พลิกขั้วไปจับมือกับพรรคขั้วรัฐบาลเดิมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำและเป็นนายกรัฐมนตรี

(ประชาชนที่ไม่พอใจ อาจแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่เลือกพรรคก้าวไกลด้วยเหตุผลว่า พรรคเพื่อไทยทรยศต่อพรรคที่มีเสียงอันดับหนึ่งและเป็นพรรคฝั่งประชาธิปไตยด้วยกัน และโหวตเตอร์เพื่อไทยที่ให้เหตุผลว่า ถ้าพลิกขั้วได้ ควรบอกสิ่งนี้กับประชาชนอย่างตรงไปตรงมาในช่วงหาเสียง)

ต่อเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยให้เหตุผลว่า การพลิกขั้วเกิดจากความจำเป็น มาจากสิ่งที่เรียกว่า “วิกฤตรัฐธรรมนูญ”

วิกฤตรัฐธรรมนูญในที่นี้คือกติกาที่ให้ ส.ว.มีสิทธิในการโหวตเลือกนายกฯ ทำให้พรรคการเมือง 8 พรรคที่มีเสียงรวมกันได้มากถึง 312 เสียง ไม่สามารถฝ่าด่านแรกของการโหวตนายกฯ ให้สำเร็จได้

ฝ่ายอำนาจเก่า “เรียกค่าไถ่” การตั้งรัฐบาลครั้งนี้ด้วยการยื่นคำขาดให้พรรคอันดับหนึ่งและสองแยกออกจากกันเพื่อทำลายอำนาจต่อรองของเสียง 151 + 141 ลง

พรรคเพื่อไทยเห็นว่าหากยืนยันอยู่กับ 312 เสียง สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ขั้วรัฐบาลเดิมบวก ส.ว.เลือกนายกฯ จากนั้นก็ใช้วิธีพิสดาร เปลี่ยนจากรัฐบาลเสียงข้างน้อยเป็นเสียงข้างมาก

ในทัศนะของพรรคเพื่อไทย (ที่เราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย) เห็นว่าหนทางนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

ในทัศนะและวิจารณญาณของเพื่อไทย เขาเชื่อว่า (ซึ่งก็ถกเถียงได้ว่าสิ่งที่เขาเชื่อผิด) หากเขาได้เป็นรัฐบาล เขาจะทำมันได้ดี และเขาไม่ต้องการสูญเสียโอกาสที่จะเป็นรัฐบาล จึงตัดสินใจทิ้งพรรคอันดับหนึ่งแล้วไปตายเอาดาบหน้า

นั่นคือไปจับมือกับพรรคอื่นๆ ในขั้วรัฐบาลเดิม

โดยมั่นใจว่า จะโหวตนายกฯ สำเร็จ จะตั้งรัฐบาลสำเร็จ และได้ทำงานตามนโยบายที่คิดเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สำหรับคนที่ด่าพรรคเพื่อไทย ด่าจนฉันนึกว่าเพื่อไทยคือหนึ่งในผู้ก่อการรัฐประหารเป็นเผด็จการฆ่าประชาชน ฉันอยากให้ลองทำความเข้าใจเรื่องนี้แบบวางความโกรธลงก่อน (ซึ่งก็แสนจะเข้าใจได้ว่าทำไมถึงโกรธ)

วางความโกรธลงก่อน แล้วย้อนดูประวัติ ที่มาของพรรคเพื่อไทย

 

ก่อนจะเป็นพรรคเพื่อไทย เขาคือพรรคไทยรักไทย ก่อตั้งโดยทักษิณ ชินวัตร นับตั้งแต่วันแรกของกำเนิดพรรคไทยรักไทย พรรคการเมืองนี้เป็นพรรคที่มีทุกอย่างที่เรานับว่าคือ “ความเป็นไทยกระแสหลัก” ทั้งวิธีคิดอนุรักษนิยม ความเป็น royalist หรือแม้แต่มิติเรื่องเพศสภาพ

สิ่งเดียวที่เป็นความใหม่ของพรรคไทยรักไทยคือ ด้วยอานิสงส์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ระบบการเลือกตั้งเอื้อให้เกิดรัฐบาลพรรคเดียว มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศ

ประกอบกับสมาชิกพรรคไทยรักไทยในยุคนั้นรวมถึงคุณทักษิณมีวิสัยทัศน์ล้ำยุค จึงสามารถผลักดันนโยบายที่เป็นเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยอย่างที่ไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนทำได้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมู่บ้าน สามสิบบาทรักษาทุกโรค การออกใบอนุญาตสายการบินโลว์คอสต์ โอท็อป การปฏิรูประบบราชการ การกระจายอำนาจ การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การวางระบบดิจิทัลในหน่วยงานราชการ

พรรคไทยรักไทยคือพรรคการเมืองฝ่ายขวา มีแนวคิดทางการเมือง อำนาจแบบอนุรักษนิยม และอิงสำนักคิดเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ เจริญรุ่งเรืองในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบตัวแทน มีแนวโน้มชนะการเลือกตั้งทุกครั้งที่มีได้ลงเลือกตั้ง

หากไม่มีการรัฐประหารปี 2549 พรรคไทยรักไทยมีแนวโน้มจะเป็นเหมือนพรรคแอลดีพีในญี่ปุ่น นั่นคือใหญ่โต เทอะทะ ไม่คมคาย อาจดู “แก่” งุ่มง่าม แต่เป็นเซฟโซนของคนส่วนใหญ่ ทุกครั้งมีการเลือกตั้งจึงได้เป็นรัฐบาลมาเรื่อยๆ แม้ไม่โดดเด่น และสร้างความอึดอัดให้กับคนรุ่นใหม่และกลุ่ม “ปัญญาชนหัวก้าวหน้า”

มองย้อนไปเช่นนี้ ฉันค่อนข้างมั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อการ “ต่อสู้” โดยดีเอ็นเอของการก่อตั้งพรรคตั้งแต่แรก ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นพรรคที่มีจุดยืนค่อนข้างอนุรักษนิยมและประนีประนอมสูงเสียด้วยซ้ำ

 

จุดเปลี่ยนของพรรคเพื่อไทยคือการรัฐประหารปี 2549

และต้องหมายเหตุเอาไว้ด้วยว่า ก่อนการรัฐประหารปี 2549 ความอนุรักษนิยมและนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมของพรรคเพื่อไทยก็ยังความไม่พอใจแก่ชนชั้นกลาง นักวิชาการ ปัญญาชน เอ็นจีโอ และสื่อมวลชนอย่างมหาศาล

ณ เวลานั้น กลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าเป็น “ฝ่ายหัวก้าวหน้า” ด่าไทยรักไทยเรื่อง เผด็จการรัฐสภา ทุนสามานย์ ประชานิยม อำนาจรัฐและทุนที่ทึ้งทำลายทรัพยากร ชาวบ้าน คนตัวเล็ก ฯลฯ

ส่วนมวลชนฝ่ายขวาก็ปลุกความเกลียดชังพรรคไทยรักไทยและทักษิณด้วยข้อหาล้มเจ้า

ภาวะเป็นแซนด์วิช ถูกบีบจากทุกฝ่าย ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมานานแล้วกับพรรคการเมืองนี้

สุดท้ายสังคมไทยก็มีฉันทามติ สร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารปี 2549 ดีอกดีใจที่ปราบทักษิณลงได้

แต่ในอีกส่วนหนึ่งของสังคมไทยที่หมายถึงคน 19 ล้านคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยที่ไม่พอใจกับการรัฐประหาร

จนก่อกำเนิดเป็นขบวนการต่อสู้ทางการเมืองของคนเสื้อแดง ค่อยพัฒนาก่อตัวขึ้นในปี 2552

 

จุดนี้เองที่ทำให้พรรคการเมืองที่แค่ตั้งพรรคเพราะอยากเป็นรัฐบาล อยากบริหารประเทศ ต้องกลายเป็นพรรคที่สู้เคียงข้าง คู่ขนานกับขบวนการ นปช. ฉันเคยเขียนไว้นานแล้วว่าสิ่งนี้เป็น “อุบัติเหตุ” ของพรรคเพื่อไทย (ไทยรักไทย, พลังประชาชน) ที่ต้องกลายเป็นพรรคการเมือง “ฝ่ายประชาธิปไตย” เนื่องจากเกิดพรรคที่ไปเป็นลิ่วล้อของกองทัพมาเข่นฆ่าประชาชน มาเป็น “คู่ต่อสู้”

ไม่เพียงเท่านั้น วิบากรรมของไทยรักไทยที่ถูกกระทำจากฝ่ายอำนาจเก่ายังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ราวกับนิยาย serial killer นั่นคือ พรรคพลังประชาชน ต่อมาถึงพรรคเพื่อไทย เจอทั้งการยุบพรรค ตัดสิทธิ์ ติดคุก จนมาถึงรัฐประหารปี 2557 แล้วยังมาเจอตอนยุบพรรคไทยรักษาชาติอีก

จึงช่วยไม่ได้ที่จุดยืนพรรคเพื่อไทย และองคาพยพทั้งหมดถูกคาดหวังให้เป็น “นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย”

และเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลอดยี่สิบปีที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยก็สู้เพื่อประชาธิปไตยมาโดยตลอด เพราะการมีอยู่หรือการอยู่รอดของประชาธิปไตย

ในนิยามที่หมายถึงการเลือกตั้งในกติกาที่เป็นธรรม = การอยู่รอดของพรรคนั่นแหละ

 

กําเนิดของพรรคอนาคตใหม่ก็เกิดจากการที่แกนนำพรรครุ่นแรกเห็นว่า พรรคเพื่อไทยไม่ตอบโจทย์ ประนีประนอม ไม่หักโค่นต้นตอของปัญหา สมยอมกับอำนาจเก่า เกี้ยเซี้ย จึงตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา

ตัวฉันเองดีใจมากตอนมีพรรคอนาคตใหม่ เพราะฝ่ายประชาธิปไตยจะมีตัวเลือกมากขึ้น คนรุ่นใหม่จะมีพรรคที่เป็นตัวแทนของเขา

แต่การณ์กลับเป็นว่า คนที่ไปสมาทานพรรคอนาคตใหม่และก้าวไกล หนีไม่พ้นคนไทยที่อยู่กับวาทกรรมการเมืองขาวสะอาด การเมืองสุจริต

คำว่า การเมืองขาวสะอาด การเมืองสุจริต ไม่ได้แปลว่าความสุจริตไม่ดี แต่มันคือกระบวนการหวนคือสู่ “เรื่องเล่า” หรือ narrative ว่าด้วยการคิดว่า การเมืองที่ดีคือการเมืองแนวพาสเจอร์ไรซ์ ปลอดเชื้อ แข่งกันท่องคำขวัญ คำคม คำปลุกใจ หล่อเลี้ยงความฝัน ความหวัง แล้วยกตนว่า “ประชาธิปไตยเหนือกว่าใคร สูงส่งกว่าใคร”

และยิ่งในยามที่เจอวิกฤตรัฐธรรมนูญแบบนี้จึงทำให้พรรคที่ไม่สมาทานแนวทาง หรือวิธี ความเชื่อ ความฝันแบบพรรคก้าวไกลกลายเป็นสมุนโจรจอมจัญไรไปโดยถ้วนหน้ากัน

อันเป็นสิ่งที่ตัวฉันเองไม่แน่ใจว่ามันดีต่อสุขภาวะของการขับคลื่อนประชาธิปไตยในระยะยาวหรือไม่ เมื่อมองย้อนกลับไปถึงภาวะการเมือง “คนดี” ที่เราเจอมาแล้วอย่างน้อยสองครั้งในประวัติศาศตร์การเมืองไทยของเราคือ เมื่อครั้ง 14 ตุลา ที่ท้ายที่สุด ครม.สุดท้ายของถนอม 28 คน ได้อยู่ต่อใน ครม. สัญญา ธรรมศักดิ์ 12 คน

แต่เราอธิบายสิ่งนี้ว่า “ชัยชนะของการต่อสู่ของประชาชน” เพียงเพราะได้นายกฯ “คนดี” และอีกครั้งคือ พฤษภาฯ 2535 ที่ได้อานันท์ ปันยารชุน มาแล้วนักสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งหลายก็แฮปปี้กันมาก

 

สิ่งที่ฉันอธิบาย ทักท้วงในวันนี้ อาจถูกตีความว่า “แบก” เพื่อไทย และเขียนหรือพูดสักเท่าไหร่ คนก็อาจจะยังไม่เข้าใจอยู่ดี และมองว่า แค่สรรหาคำอธิบายมาแก้ต่างให้กับการพลิกขั้วของพรรคเพื่อไทย

แต่สิ่งที่ฉันพยายามจะปกป้องให้ถึงที่สุดคือปกป้องความโสมมของพรรคการเมือง นักการเมืองที่ยังอีเหละเขละขละอยู่ในสนามการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยระบบรัฐสภาว่ามันคือสิ่งที่ดีที่เราพึงรักษาเอาไว้หากเรายังอยากเห็นความสืบเนื่องของประชาธิปไตยระบบตัวแทนดำเนินและมีพลวัตตามครรลองและวุฒิภาวะของประชาชนเจ้าของอำนาจ

อันไม่ได้แปลว่ามันจะต้องดีงาม สมบูรณ์แบบ ถูกต้อง สุจริต ไร้ที่ติ

ฉันไม่ได้แบกเพื่อไทย แต่อยากจะแบกทุกพรรคการเมืองที่ยังเล่นการเมืองที่ยังลงเลือกตั้ง ที่ยังอยากเข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับประชาธิปไตย ที่เหลืออันเป็นองค์ประกอบของการตรวจสอบ วิจารณ์ การมีส่วนร่วม การเมืองภาคประชาชน

มันจะเข้มแข็งไม่ได้หากไม่มีสารตั้งต้นเป็นการเมืองเรื่องการเลือกตั้งที่ต่อเนื่องและกติกาที่ค่อยๆ ดีขึ้น ผ่านการทำงานของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

ภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยคือความพยายามสร้าง narrative พระเอก ผู้ร้าย คนตรง คนทรยศ กูดี มึงเลว กูคือความจริง มึงคือความคิดคดตระบัดสัตย์ และการพาสเจอร์ไรซ์การเมืองจนทำให้ประชาชนมองเห็นการเมืองเป็นระบอบพระศรีอาริย์เสด็จลงมาเทศนาให้โอวาท ปลุกใจประชาชนไปเรื่อยๆ โดยหวังว่าวันหนึ่งพรรคอื่นจะสูญพันธุ์ แล้วตัวเองจะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ดังใจ

วิธีการแบบนี้เป็นเผด็จการทางความคิด และยิ่งบั่นทอนความเข้มแข็งของประชาธิปไตยหากเรามองว่าประชาธิปไตยไม่ใช่อะไรเลยนอกจาก “สัมพันธภาพของผู้แทนราษฎรกับราษฎรผู้ถูกแทน” ในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายผลประโยชน์ และชุดคุณค่าทางศีลธรรหลากหลายชุดที่ไม่มีของใครสูงส่งกว่าของใคร

วันนี้อาจจะดีสำหรับพรรคเพื่อไทยที่ได้ปลดตัวเองออกจากภารกิจทางประวัติศาสตร์ในฐานะนักสู้เพื่อประชาธิปไตย ได้กลับเป็นพรรคการเมืองเฉยๆ พรรคการเมืองดีๆ ชั่วๆ ในแบบที่เคยเป็นเมื่อแรกตั้งพรรค ก็น่าจะตัวเบาไปอีกแบบ

ประชาธิปไตยคือความหลากหลายไม่ใช่การผูกขาด ซึ่งหมายถึงการผูกขาดคุณธรรมและความถูกต้องด้วย

เราพลาดมาแล้วอย่างน้อยสองครั้งคือ 14 ตุลา กับพฤษภาฯ 2535 หวังว่าเราจะไม่พลาดอีก