“พอยเข้าสังฆ์” การอุทิศส่วนกุศลสำหรับการตายโหง ของชาวล้านนา

พอฯยฯฯเขั้าสังฆฯฯ์

พอยเข้าสังฆ์ อ่านว่า “ปอยเข้าสัง”

ในภาษาล้านนา คำว่า “พอย” ในภาษาเขียน หรือ “ปอย” ในภาษาพูด หมายถึง งานบุญที่มีผู้คนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก

คำว่า “เข้า” หมายถึง ข้าว ซึ่งหมายรวมไปถึงอาหาร สิ่งของต่างๆ ที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคอื่นๆ ด้วย

ส่วนคำว่า “สังฆ์” มีอยู่สองความหมายคือ หมู่คณะ อันได้แก่ญาติอันเป็นที่รักความหมายหนึ่ง

อีกความหมายหนึ่ง หมายถึง พระสงฆ์

คำทั้งสองคำเมื่อนำมารวมกันเป็น “เข้าสังฆ์” จึงมีความหมายว่า เครื่องอุปโภคบริโภคสำหรับถวายพระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่ญาติผู้วายชนม์ ซึ่งมักหมายเอาเฉพาะผู้วายชนม์ที่สิ้นชีวิตผิดปกติวิสัยหรือที่เรียก “ตายโหง”

ชาวล้านนาเชื่อว่า การตายโหง เป็นการตายที่ผู้ตายไม่ได้เตรียมตัวหรือรู้ตัวมาก่อน ชีวิตหลังการตายจะเป็นอยู่ด้วยความลำบาก ผนวกกับธรรมเนียมโบราณนิยมที่ต้องนำศพไปฝังทันที ไม่มีการทำบุญอุทิศเหมือนกับการตายโดยปกติ

ดังนั้น ญาติพี่น้องจึงต้องทำบุญอีกครั้ง เป็นการอุทิศส่วนกุศลตามไป ซึ่งส่วนใหญ่จะทำหลังจากการตายประมาณ 1 เดือน ถึง 1 ปี ให้หลัง

และเรียกการทำบุญในลักษณะนี้ว่า “ปอยเข้าสังฆ์”

 

สถานที่จัดงาน มักจัดกันที่บ้าน ญาติพี่น้องจะจัดเตรียมเครื่องอุปโภคบริโภคที่คิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นของดวงวิญญาณผู้ตายซึ่งนิยมสร้าง “บ้านจำลอง” พร้อมที่นอนหมอนมุ้ง ถ้วยชามของใช้ในครัวเรือน อาทิ กระจกเงา หวี เครื่องสำอาง พัดลม โทรทัศน์ วิทยุ ตลอดถึง อาหาร ข้าวสาร เครื่องหุงต้ม เสื้อผ้าอาภรณ์ครบถ้วน

และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่หญิงที่ตายเพราะการคลอดลูก ถือว่าวิญญาณจะแช่อยู่ในน้ำเลือดน้ำหนองที่ตกขณะคลอด ต้องสร้าง “เรือจำลอง” ขึ้นพร้อมใส่ไม้พายเรือและอุปกรณ์ในการจับปลา เช่น ยอ แห เบ็ด สวิง ลงในเรือเพื่อเป็นเครื่องหากินในการเดินทางไปสู่คติภพ

หลังจากจัดเตรียมสิ่งของต่างๆ แล้ว อาจมีการพิสูจน์ตามความเชื่อว่าวิญญาณของผู้ตายจะมารับสิ่งของที่จัดเตรียมหรือไม่ ซึ่งการพิสูจน์ดังกล่าว มีวิธีการที่นิยมทำ คือ นำเอา “เข้าแป้ง” คือผงข้าวเหนียวบดละเอียดสำหรับทำขนม หรือผงขี้เถ้าร่อนเกลี่ยใส่ถาดไปวางในบ้านจำลองหรือเรือที่เตรียมไว้ในคืนก่อนที่จะทำบุญ

รุ่งเช้าหากมีรอยมือรอยเท้าของผู้ตายปรากฏบนผิวเข้าแป้งหรือขี้เถ้าให้เห็น ก็แสดงว่าวิญญาณของผู้ตายได้มาเยี่ยมสิ่งที่จะอุทิศให้ และพร้อมที่จะรับส่วนกุศลที่จะอุทิศให้นั้น

ฯขอฯงทาฯนฯพอฯยฯฯเขั้าสังฆฯฯ์ ของตานปอยเข้าสัง แปลว่า : ของทำบุญงานพอยเข้าสังฆ์

ความเชื่ออีกอย่างหนึ่ง คือการเสียชีวิตโดยฉับพลัน วิญญาณที่ตายไปเป็นสัมภเวสี คือ เป็นผีตายโหง บริโภคของสดๆ คาวๆ จึงต้องมีการทำบุญอุทิศด้วยของสดของคาว อาทิเนื้อสด ปลาสด เป็นเบื้องต้น เรียกว่า “สังฆ์ดิบ”

ซึ่งสังฆ์ดิบที่ว่าจะถวายพระสงฆ์ 4 รูป ณ บริเวณทางสามแพร่ง สี่แพร่ง ถวายเสร็จ จะนำเอาสังฆ์ดิบทั้งหมดฝังกลบไว้ ณ ที่นั้น ส่วนสิ่งของที่จะถวายโดยปกติที่เรียกว่า “สังฆ์สุก” ด้วยเชื่ออีกว่าแม้นหากพ้นจากวิบากกรรม คือพ้นจากสภาวะสัมภเวสีแล้วจะได้บริโภคอาหารปกติที่มนุษย์บริโภคกัน ซึ่งสังฆ์สุกนี้จะถวายพร้อมกับเครื่องไทยทานอื่นๆ ที่ได้จัดเตรียมไว้ก่อนหน้านั้น

ด้านพิธีกรรมหลังทำบุญด้วยสังฆ์ดิบแล้ว จะเข้าสู่พิธีกรรม “พุทธนิยม” คือ ไหว้พระ สมาทานศีล กล่าวคำถวาย พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี อนึ่ง ในงานนี้มักจะมีการขับซอเป็นมหรสพสมโภช ตลอดทั้งวันด้วย

ปัจจุบัน การทำบุญปอยเข้าสังฆ์ยังเป็นที่นิยมกันอยู่ หากแต่ไม่เฉพาะคนตายโหงเท่านั้น ตายลักษณะไหนก็สามารถทำบุญอุทิศในลักษณะอย่างปอยเข้าสังฆ์ได้ ทั้งนี้ เพียงขอให้ได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตายเป็นกรณีพิเศษที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน และเชื่อมั่นว่าผู้ตายจะได้รับสิ่งต่างๆ ที่อุทิศให้อย่างแน่นอน

ดังนั้น ชาวล้านนาจึงดำรงไว้ซึ่งประเพณีดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน •

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง