เสียงข้างมากเป็นพิเศษ | คำ ผกา

คำ ผกา

ก่อนการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยเสนอยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.

นั่นแปลว่าต้องเลือกพรรคเพื่อไทย (จะว่าหลับหูหลับตาเลือกไปก่อนก็ได้ แต่การหลับหูหลับตาเลือกนี้มาพร้อมกับแพ็กเกจนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ การยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรคพร้อมกับแคนดิเดตนายกฯ 3 คนเผื่อใครคนใดคนหนึ่งโดนสอย) ให้ได้ 300 เสียงขึ้นไป

โดยมีจินตนาการว่า เพื่อไทย 300 บวกกับพรรคอื่นๆ ในฝั่งที่ไม่เคยเป็นนั่งร้านให้ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้ ส.ส.ในสภาล่าง 376 คน หรือใกล้เคียง เพื่อจะไม่ต้องพึ่งหรือพึ่งเสียงจาก ส.ว. ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้

แต่ในเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาชัดเจนแล้วว่า คนไทยผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งไม่ซื้อแนวทางโหวตยุทธศาสตร์เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว.ของเพื่อไทย และคนไทยผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งจำนวนมากเห็นว่า การเลือกตั้งควรเป็นเจตจำนงเสรี ควรเลือกด้วยความหวังไม่ใช่ด้วยความกลัว

และอีกจำนวนมากยังจิตหลอนเชื่อเรื่องเลือกเพื่อไทยได้ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผลการเลือกตั้งจึงชี้ให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ด้วยเสียงโหวตมากถึง 14 ล้านเสียง ส.ส. 151 คน

พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคอันดับสอง มี 141 เสียง ไม่ตั้งรัฐบาลแข่ง ไม่ไปเป็นผู้นำฝ่ายค้าน เพราะภารกิจหลักหลังการเลือกและเป็นสัญญาที่ให้ไว้กับฐานเสียงของตัวเองคือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปลดแอกสังคมไทยจากติกาของคณะรัฐประหาร

สิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำคือ ประกาศจะเป็น “ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก” ให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ และสนับสนุนพิธาเป็นนายกฯ จนถึงที่สุด

 

นั่นคือในส่วนที่พรรคการเมืองด้วยกันจะทำให้ได้ แต่มันยังมีส่วนที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของฝ่ายพรรคการเมือง (ที่มีภารกิจเปลี่ยนผ่านสังคมไทยไปสู่ประชาธิปไตยร่วมกัน) นั่นคือ บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่ให้ ส.ว. 250 คนมีสิทธิ์โหวตเลือกนายฯ และยังมีองค์กรอิสระที่สามารถ “สอย” แคนดิเดต “ตัวตึง” ของประชาชนได้ทุกเมื่อ

งานนี้พิธาเจอทั้งสองด่าน นั่นคือ ด่านของ ส.ว. และด่านขององค์กรอิสระ (ซึ่งเราจะกลับไปที่ข้อเสนอของเพื่อไทยเรื่องแลนด์สไลด์ เพราะประชาชนไม่เอาด้วย)

ส่วนตัวฉันงงมากที่เราคิดว่า ส.ว.จะโหวตให้เรา และขมวดคิ้วตั้งแต่พิธาพูดบนเวทีดีเบตว่า ส.ว.จะเป็นเสือกระดาษ เอาอะไรมาคิดว่า ส.ว.จะเป็นเสือกระดาษมาสนับสนุนครรลองของประชาธิปไตย ในเมื่อประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองอันเป็นอุปสรรคต่อลาภ ยศ สรรเสริญ และผลประโยชน์ของพวกเขา

หากจะมีความหวังกับ ส.ว. ก็ดังที่ฉันพูดไว้ในหลายที่ว่า มีแต่พรรคก้าวไกลต้องไป “ประนีประนอม” ต่อรอง แลกเปลี่ยน เจรจา “เผื่อว่า” เขาจะโหวตให้ และนับตั้งแต่ชนะเลือกตั้ง ต้องหยุดด่าเขาเพื่อโชว์พาวกับแฟนคลับ (ด่าในใจก็พอ) เพราะเราต้องการ “มือ” ของเขาที่จะยกให้เรา

นอกจากเจรจาต่อรองกับ ส.ว.อย่างประนีประนอมที่สุด พรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลต้องเดินสายพูดคุยเจรจากับพรรคการเมืองอื่นๆ ที่แม้จะไม่ได้มาร่วมเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อโน้มน้าวขอเสียงเขามาโหวตให้พิธาเป็นนายฯ ได้ไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง

แต่ก้าวแรกของภาวะผู้นำที่แสดงออกได้คือ การเริ่มบทที่หนึ่งด้วยการให้เกียรติ “ฝ่ายตรงกันข้าม” ต้องท่องไว้เสมอว่า จะชอบหรือไม่ชอบเขา ก็ระลึกไว้เสมอว่า เขาก็มาจากการเลือกตั้งเหมือนกันกับเรา

 

ฉันไม่รู้ว่าพรรคก้าวไกลได้แสดงภาวะผู้นำนี้มากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่ ชาดา ไชยเศรษฐ พูดในสภาวันโหวตนายกฯ ว่า “พวกผมก็ได้รับการเลือกตั้งมาเหมือนกัน แต่ทำเหมือนพวกผมเป็นโจร” เราไม่ต้องชอบหรือเชื่อชาดา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือความรู้สึกของนักการเมืองและพรรคการเมืองอื่นๆ ที่มีต่อพรรคก้าวไกล และส่งผลต่อเสียงที่จะสนับสนุนให้พิธาได้เป็นนายกฯ ในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าวันโหวตเลือกนายกฯ ฉันเองมองโลกสวยมาก ศิริกัญญา ตันสกุล บอก ก้าวไกลได้เสียง ส.ว.ครบแล้ว พิธาก็บอกว่า สิ่งที่ศิริกัญญาพูดเป็นความจริง ศิริกัญญาย้ำ ยังเดินสายหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.เพิ่มกันเหนียว ทุกคนในพรรคก้าวไกลแสดงท่าทีมั่นใจว่าเสียงครบ

ฉันสารภาพว่าเชื่อจริงจังมาก เชื่อไปถึงว่า ทีมเขาเก่ง ให้พิธาออกทัวร์ขอบคุณประชาชน เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เปิดทางให้ทีมเจรจาทำงานอย่างลับๆ ไม่ถูกกดดัน

พอถึงวันโหวตจริง มันไม่ได้เป็นอย่างที่บอกประชาชน และน่าเสียใจที่ตัวผู้พูดก็ไม่ออกมาอธิบายกับประชาชนว่าเกิดอะไรขึ้น ดีลใครไว้และใครเทบ้าง

หรือถ้าจะไม่อธิบายเพราะเป็นเรื่อง “อ่อนไหว” อย่างน้อยควรออกมาขอโทษที่สิ่งที่พูดกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมันไม่ตรงกัน

อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้?

 

ปิยบุตร แสงกนกกุล เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 คู่ขนานไปกับการโหวตนายกฯ คำถามคือ

เรื่องนี้เสนอกันในสภาแล้วล้มเหลวมาตลอด ทำไมถึงคิดว่จะมาสำเร็จเอาในเวลานี้

และแค่ ส.ว. 64 เสียงยังหาไม่ได้แล้วจะหาเสียง ส.ว.จากไหนอีก 84 เสียงมาสนับสนุนให้แก้มาตรานี้?

หรือจริงๆ แล้วข้อเสนอนี้ไม่ได้อยากแก้มาตรา 272 จริงๆ แต่แค่อยากให้เป็นข้ออ้าง ให้ก้าวไกลแยกตัวไปเป็นฝ่ายค้าน โดยบีบเพื่อไทยให้ไปเป็นฝ่ายค้านด้วยกัน หรือบีบให้เพื่อไทยต้องรับเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกล เพื่อให้สิ่งนี้เป็นตราบาปให้พรรคเพื่อไทยเอาตราบาปนี้ไปขึ้นเวทีหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้าแล้วส่งก้าวไกลชนะแลนด์สไลด์

ได้ปิดสวิตช์เพื่อไทยสมใจสลิ่ม และเคลมว่าตัวเองปิดสวิตช์เผด็จการได้ใจคนฝั่งประชาธิปไตย ถือเป็นชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของก้าวไกลในที่สุด

หากมีแนวโน้มจะเป็นแบบนี้ ก็น่าสนใจว่าเพื่อไทยจะเลือกเดินในเส้นทางไหน และไม่ว่าจะเลือกบนทางไหนก็เป็นทางที่ยากทั้งหมด

สำหรับคนเลือกพรรคเพื่อไทยก็คงได้แต่เอาใจช่วย แต่ช่วยตัดสินใจให้ไม่ได้เลย

 

แต่หากขยับมามองในภาพที่ใหญ่ขึ้น ในฐานะประชาชน ก็ต้องถามว่าเป้าหมายหลักของเราคืออะไร?

เป้าหมายหลักของเราคือนายกฯ ชื่อพิธา หรือเป้าหมายหลักของเราคือ เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ฉีกรัฐธรรมนูญมีชัย ฤชุพันธุ์ ทิ้ง? ถ้าเป้าหมายเราเป็นเช่นนั้น สมการที่ง่ายที่สุดคือ เลิกหวังเสียง ส.ว. แล้วหันไปหาเสียงจาก ส.ส.ด้วยกัน

ไปคุยกับชาติไทยพัฒนา ไปคุยกับภูมิใจไทยเรื่องนี้ ถ้าจำเป็นต้องเอาเขามาร่วมรัฐบาลได้ก็ต้องทำ เพื่อให้เขาโหวตพิธาเป็นนายกฯ

ถ้าเชื่อเรื่องเสียงข้างมากจริง นี่คือเสียงข้างมากเป็นพิเศษ เพราะเราจะไม่เอาเสียง ส.ว.

ฉันมองไม่เห็นทางออกอะไรในเรื่องนี้นอกจากผู้แทนราษฎรกับผู้แทนราษฎรด้วยกันต้องคุยกัน จับมือกันแล้วหันหลังให้ ส.ว.ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ปล่อยให้เป็น 250 เสียงที่ไร้ความหมายไป

และพูดให้ถึงที่สุด ดันทุรังเรื่อง ม.112 ไปก็ใช่ว่าจะแก้ได้ เพราะภารกิจแรกคือแก้รัฐธรรมนูญก่อน และเรื่อง 112 ก็ไม่ได้อยู่ใน MOU ของ 8 พรรคร่วมด้วยซ้ำ

เว้นแต่จะเก็บไว้เพื่อชนะในอีกการเลือกตั้งหนึ่ง ซึ่งก็ต้องเดิมพันว่าประชาชนจะทนต่อพิษบาดแผลทางเศรษฐกิจได้แค่ไหน และเราจะเสียเวลากันอีกเท่าไหร่เมื่อแลกกับการได้ฟื้นฟูชีวิต ความเป็นอยูของประชาชนให้ดีขึ้นมาบ้าง

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครเลย ขึ้นอยู่กับคนไทยที่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งทุกคนนี่แหละว่า จะเลือกแบบไหน และไม่แน่ว่า อาจจะเลือกทนพิษบาดแผลทางเศรษฐกิจโดยรอแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างม้วนเดียวจบ ก็เป็นไปได้เช่นกัน