หนทาง เสือผ่าน หนทาง สุจิตต์ วงษ์เทศ สุลักษณ์ ศิวรักษ์

บทความพิเศษ

 

หนทาง เสือผ่าน

หนทาง สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุลักษณ์ ศิวรักษ์

 

มีความน่าสนใจเป็นอย่างสูงหากมองการปรากฏขึ้นของเรื่องสั้น “คนบาป” กับบทกวีนิพนธ์ “กูเป็นนิสิตนักศึกษา” อย่างเห็นพัฒนาการและบริบทโดยรอบ

“คนบาป” เริ่มขึ้นและเผยแสดงในปี 2508-2509

“กูเป็นนิสิตนักศึกษา” เป็นความต่อเนื่องจาก “นิราศ” เมื่อปี 2507 “กลอนลูกทุ่ง” เมื่อปี 2508 “เห่ลูกทุ่ง” เมื่อปี 2509

บังเกิดขึ้นและเผยแสดงในปี 2512

มองในด้านของบริบทแวดล้อม สุจิตต์ วงษ์เทศ อาจปักหลักอยู่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ขณะที่ ขรรค์ชัย บุนปาน ย้ายจาก “สวนสุนันทา” ไปยัง “วังท่าพระ” นี่ย่อมเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างสำคัญ เป็นห้วงเวลาอันถือได้ว่าเป็น “ระยะแห่งการเปลี่ยนผ่าน”

จากยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มายังยุค จอมพลถนอม กิตติขจร

 

สังคมศาสตร์ปริทัศน์

กับ เจ็ดสถาบัน

กล่าวในทางการเมืองอาจเปลี่ยนจากบรรยากาศแห่งการเผด็จอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในมือของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

และค่อยผ่อนปรนลงบ้างก่อนถึงอนิจกรรมในเดือนธันวาคม 2506

แต่เมื่อการทหาร การเมือง เปลี่ยนมาอยู่ในมือของ จอมพลถนอม กิตติขจร ร่วมกับ พล.อ.ประภาส จารุเสถียร ก็สัมผัสได้ใน “การเปลี่ยนแปลง” อย่างเชื่องช้า

กล่าวในทางวรรณกรรม เห็นได้จากการเกิดขึ้นของ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” เห็นได้จากการปรากฏของ “เจ็ดสถาบัน”

และตามมาด้วย “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย”

 

สังคมศาสตร์ปริทัศน์

ปัญญาชนสยาม

ประจักษ์ ก้องกีรติ ระบุในหนังสือ “และแล้ว การเคลื่อนไหวก็ปรากฏ” ว่า วารสาร “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ออกสู่สาธารณะก่อน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมเพียง 5 เดือน

มี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็น บรรณาธิการ

มี สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็น เจ้าของ

ฉบับปฐมฤกษ์ ออกเผยแพร่อย่างเงียบๆ เมื่อเดือนมิถุนายน 2506 มียอดพิมพ์จำนวน 1,000 เล่ม

ความน่าสนใจอยู่ที่คนให้ “ทุน” เป็นทุนจากรัฐบาลอเมริกัน มอบเงินจำนวนหนึ่งให้แก่สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยโดยมีข้อแม้ว่าจักต้องนำเงินจำนวนนี้ไปตั้งสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยขึ้นในประเทศไทย

เหมือนสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เหมือนสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เหมือนสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

สำนักข่าวสารอเมริกัน หรือ USIS เป็นผู้ดูแลใกล้ชิด

 

ปัญญาชน นักวิชาการ

ปีก อนุรักษนิยม

หากดูจากคณะบรรณาธิการของสำนักพิมพ์อันเป็นอิสระจากคณะกรรมการอำนวยการของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย

น่าจะต้องโฉลก สุจิตต์ วงษ์เทศ

ประกอบด้วย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร พระยาอนุมานราชธน ธนิต อยู่โพธิ์ รอง ศยามานนท์

ยิ่งรากฐานแห่ง สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ยิ่งเย้ายวนใจ

เติบใหญ่มาจากครอบครัวคนชั้นกลางและแวดวงอนุรักษนิยม ได้รับการศึกษาชั้นประถมและมัธยมจากโรงเรียนอัสสัมชัญ

ศึกษาต่อที่อังกฤษ

จบการศึกษาชั้นปริญญาตรีสาขาประวัติศาสตร์และปรัชญาจากมหาวิทยาลัยเซนต์เดวิด คอลเลจ ที่เวลล์ในปี 2500

เป็นเนติบัณฑิตจากสำนักมิดเดิลเทมเปิลในปี 2502

 

สังคมศาสตร์ปริทัศน์

กับ ส.ศิวรักษ์

สุลักษณ์มีภูมิหลังที่สนใจประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศาสนาและวัฒนธรรมประเพณีไทย

โดยเฉพาะผลงานของ “เจ้านาย” ระดับ “นักปราชญ์”

อย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระยาอนุมานราชธน ดังที่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เองก็ยอมรับ

“ข้าพเจ้าเติบโตมากับภูมิปัญญาในแวดวงอนุรักษนิยม จารีตประเพณี กษัตริย์นิยม ลัทธิศาสนานิยม ถ้าใช้ภาษาฝ่ายซ้ายก็ต้องว่า ข้าพเจ้าเป็นศักดินานิยมอยู่ด้วย แม้จะเริ่มชีวิตการอ่านหนังสือในยุคที่งานเขียนของฝ่ายซ้ายกำลังแพร่หลายมาก

แต่ข้าพเจ้าก็ไม่เคยอ่านงานของนักเขียนกลุ่มนี้เลย”

 

อนุรักษนิยมใหม่

กับ สุจิตต์ วงษ์เทศ

เสน่ห์ของ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” และเส้นทางของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ อยู่ที่เป็นการนำเสนอในท่วงทำนองของ “นีโอ” คอนเซอร์เวทีฟ

แตกต่างไปจาก ธนิต อยู่โพธิ์

ที่แหลมคมเป็นอย่างมากยังเป็นท่วงทำนองการวิพากษ์วิจารณ์ในแบบของ ส.ศิวรักษ์ ตรงไปตรงมา ร้อนแรง

แฝงมากับสำนวนแบบโบราณ แต่ดุดัน

ขณะเดียวกัน ที่ตีคู่มากับ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” คือ การนำเสนอนฤมิตกรรมของ อังคาร กัลยาณพงศ์

ไม่ว่า “จิตรกรรม” ไม่ว่า “กวีนิพนธ์”

สุจิตต์ วงษ์เทศ จึงเป็นแฟนของ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” ติดตามบทวิจารณ์ของ ส.ศิวรักษ์ ตั้งแต่ฉบับแรกเรื่อยมา

เป็นนิตยสารที่ติดอยู่กับ “ย่ามหาดเสี้ยว”

 

แตกแขนง เพิ่มสาขา

ฉบับ นิสิตนักศึกษา

การมาของ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” เป็นการมาของบรรยากาศแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ การปรากฏขึ้นของ “คนรุ่นใหม่”

ไม่ว่าจะเป็น “ปัญญาชน” ไม่ว่าจะเป็น “นิสิตนักศึกษา”

แสงแห่ง “พลังใหม่” ในทางความคิดเริ่มสาดฉายเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น เขียน ธีระวิทย์ ไม่ว่าจะเป็น กมล สมวิเชียร

ในทาง “การเมือง” ในเรื่องของ “จีน”

ยิ่งเมื่อ “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” แตกแขนงแยกสาขาออกเป็น “สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ฉบับนิสิตนักศึกษา”

ก็ได้กลายเป็น “เวที” ให้กับ “คนรุ่นใหม่”

เกิดบรรยากาศแห่งการถกเถียง อภิปรายในทางปัญญา ความคิด เกิดการรวมกลุ่มคอเดียวกัน

และหวอดหนึ่งก็ปรากฏออกมาเป็น “เจ็ดสถาบัน”

 

เส้นทาง แสวงหา

แน่วแน่ ไม่สับสน

“เจ็ดสถาบัน” อาจเก็บรับผลสะเทือนมาจาก “สังคมศาสตร์ปริทัศน์” แต่ก็เป็นเงาสะท้อนในทางความคิดแห่งยุคสมัย

หวอดเริ่มจาก “ท่าพระจันทร์”

และต่อสายไปยังสามย่าน ต่อสายไปยังวังท่าพระ ต่อสายไปยังริมคลองแสนแสบ ต่อสายไปยังบางเขน

ทั้งหมดล้วนอยู่ในสายตา สุจิตต์ วงษ์เทศ