บทเรียน ‘เดเคอา’

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

บทเรียน ‘เดเคอา’

 

ผมเป็นแฟน “ผีแดง” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

เชียร์มายาวนานตั้งแต่ตอนไหนก็ไม่รู้

คนเป็นแฟนฟุตบอลจะเหมือนกันหมด คือ เชียร์แล้วเชียร์เลย

ไม่ค่อยเปลี่ยนใจ

อาจมีใจแวบๆ ไปชื่นชมทีมอื่นเวลาทีมอื่นเล่นดี เล่นสนุก

เหมือนผมชอบการเล่นของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ และลิเวอร์พูลในช่วงหลังๆ

แต่พอ 2 ทีมนี้แข่งกับ “แมนฯ ยู” ทีไร

เลือดผีแดงเข้มข้นกลับมาทันที

ช่วงหลัง “เฟอร์กี้” อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน วางมือจากตำแหน่งผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

ฟอร์ม “แมนฯ ยู” ก็ไม่เหมือนเดิม

เชียร์ไม่ค่อยสนุก

แต่มีนักฟุตบอลคนหนึ่งที่ช่วยทีมแบบปิดทองหลังพระอยู่เป็นประจำ

นั่นคือ “ดาบิด เดเคอา” ผู้รักษาประตูจอมหนึบชาวสเปน

“เดเคอา” โชว์ปาฏิหาริย์ช่วยไม่ให้ “แมนฯ ยู” เสียประตูมาไม่รู้เท่าไร

ลูกโหม่งบางลูกดูยังไงก็เสียประตูแน่ๆ

แต่ “เดเคอา” พุ่งไปควักลูกออกจากเส้นประตูได้

เป็นภาพที่แฟนผีแดงอย่างผมคุ้นชินมาก

แค่ปีนี้ปีเดียว ผมเชื่อว่าเขาช่วย “ผีแดง” ได้ไม่ต่ำกว่า 10 ลูก

ช่วยให้ทีมไม่แพ้

ช่วยให้ทีมชนะ

ผลงานการป้องกันประตูของ “ดาบิด เดเคอา” ทำให้เขาได้รับรางวัล “ถุงมือทองคำ”

เพราะเก็บคลีนชีตได้มากที่สุด

 

ในบทบาทของ “ผู้รักษาประตู” ที่มีหน้าที่หลัก คือ การเป็นด่านสุดท้ายป้องกันไม่ให้ทีมเสียประตู

“เดเคอา” ชนะเลิศ

ตอนที่คนพูดถึงค่าเหนื่อยของผู้รักษาประตูจอมหนึบคนนี้ที่สูงที่สุดในโลก

สูงถึง 375,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์

และสัญญาของ “เดเคอา” จะหมดลงในปีนี้

มีการเสนอต่อสัญญา แต่ขอลดค่าเหนื่อยลง

มีข่าวว่าเสนอลดเหลือ 200,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์

ถ้าเป็นการต่อราคาก็ถือว่าต่อราคาโหดมาก

ลดเกือบ 50%

ตอนนั้นผมรู้สึกว่าโหดร้ายกับ “เดเคอา” มากไป

เกมฟุตบอล ถ้าทีมไหนยิงประตูมากกว่าเสียประตู ทีมนั้น “ชนะ”

แต่ถ้ายิงประตูได้ 4 ลูก แต่เสียประตูไป 5 ลูก

ทีมนั้นก็แพ้

คุณค่าของการป้องกันไม่ให้เสียประตู จึงไม่แตกต่างจากการยิงประตู

แต่แปลกที่ทำไมฟุตบอลจึงให้ค่า ให้ราคากับ “กองหน้า” มากกว่า “ผู้รักษาประตู”

การเจรจาต่อสัญญากับ “เดเคอา” ทำท่าว่าจะจบลงด้วยดี

“เดเคอา” ยอมรับค่าเหนื่อยที่ลดลงตามที่ “แมนฯ ยู” เสนอ

แต่ “แมนฯ ยู” ไม่หยุดเสนอค่าเหนื่อยใหม่ที่ต่ำกว่าเดิมอีก

เหมือนบีบให้เขาต้องอำลาทีม

ถามว่าเพราะอะไร

คำตอบก็คือ เพราะ “สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง”

เกมฟุตบอลสมัยใหม่เปลี่ยนไปจากอดีต

ตอนนี้บทบาท “การรักษาประตู” ตามชื่อตำแหน่ง ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวที่ผู้จัดการทีมเรียกร้องจาก “ผู้รักษาประตู”

โดยเฉพาะ “เอริก เทนฮาก” ผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คนปัจจุบัน

เขาต้องการ “ผู้รักษาประตู” ที่เล่นบอลด้วยเท้าได้ดีด้วย

“ผู้รักษาประตู” ต้องเป็นคนเปิดเกมจากหน้าประตู

และเป็นคนที่ทำหน้าที่กองหลังตัวสุดท้ายในบางจังหวะ

ต้องออกมาเล่นนอกเส้นประตู ตัดเกมได้

สิ่งที่เรียกร้องมาทั้งหมดคือ ปัญหาของ “เดเคอา”

เพราะเขาเล่นบอลด้วยเท้าไม่ดี

หลายครั้งที่เสียบอลให้คู่ต่อสู้จากการเปิดบอลสั้นๆ ให้กองหลัง

จนหลายครั้งพอเจอกองหน้าบีบเข้ามา เขาก็แก้ปัญหาด้วยการเตะบอลยาวไปเลย

ปลอดภัยไว้ก่อน

ในขณะที่ฟุตบอลยุคใหม่ต้องการครองบอลให้มากที่สุด

และจุดเริ่มต้นคือ การเปิดบอลจากผู้รักษาประตู

นอกจากนั้น การครองบอลในแดนหลัง ผู้รักษาประตูยังต้องทำตัวเหมือนเป็น “กองหลัง” คนหนึ่ง

เป็น “ทางเลือก” ในการรับ-ส่งบอลด้วย

ทุกคนยอมรับว่า “เดเคอา” เป็นผู้รักษาประตูที่ดี

ป้องกันประตูเป็นเลิศ

“เดเคอา” ไม่ได้ผิดอะไรในตำแหน่งของเขา

เพียงแต่เมื่อโลกฟุตบอลเปลี่ยนไป

เขาปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงไม่ได้

“เดเคอา” จึงต้องอำลาทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

และไปหาทีมใหม่ที่เห็น “คุณค่า” เรื่องการป้องกันประตูของเขา

มากกว่าการเล่นบอลด้วยเท้า

 

“ความเปลี่ยนแปลง” เป็นเรื่องปกติธรรมดาของโลกใบนี้

ไม่ว่าโลกฟุตบอล หรือโลกธุรกิจ

คุณบุญคลี ปลั่งศิริ สุดยอดซีอีโอของเมืองไทย เคยบอกว่านักธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่

โดยเฉพาะคนที่เริ่มก่อตั้งบริษัทด้วยตัวเอง

มักจะเริ่มต้นงานในบทบาทของ “นักขาย”

เพราะการหารายได้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเริ่มทำธุรกิจ

เจ้าของจึงลงมือทำการตลาดเอง ขายเอง

แทบทุกคนจะถนัดกับการเล่นบท “กองหน้า”

แต่เมื่อองค์กรเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

จนมาถึงจุดหนึ่ง

คุณบุญคลีบอกว่าเจ้าของต้องเปลี่ยนบทบาทใหม่

มาเล่นบท “กองหลัง”

มาดูแลงาน “แบ๊กออฟฟิศ”

ทั้งเรื่องฝ่ายบุคคลหรือ HR จัดซื้อ

และที่สำคัญที่สุดคือ ฝ่ายบัญชี

จะไม่ชอบอย่างไรก็ต้องลงมาเล่นบทนี้

เพราะธุรกิจจะขยายกิจการไม่ได้เลย ถ้าเจ้าของไม่เข้าใจงานหลังบ้าน

หรือ “แบ๊กออฟฟิศ” ไม่แข็งแรง

ต่อให้เจ้าของคันไม้คันมืออยากเล่นบท “กองหน้า” แค่ไหนก็ต้องอดใจไว้

ต้องอดเปรี้ยวไว้กินหวาน

หรือไม่ก็ให้คิดแบบเกมฟุตบอล

เพราะ “กองหลัง” ก็มีโอกาสทำประตูแบบ “กองหน้า” ได้

ส่วนใหญ่ตอนทีมเราได้ลูกคอนเนอร์

“กองหลัง” จะได้โอกาสขึ้นโหม่งทำประตูกับเขาบ้าง

ทำธุรกิจก็เหมือนกัน คงต้องมีบางช่วงเวลาที่เราได้ทำในสิ่งที่อยากทำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเป็น “เจ้าของ”

เราเลือกได้ 555

และอย่าลืมหลักการพื้นฐานของฟุตบอล

ถ้าผู้รักษาประตูสามารถป้องกันลูกยิงของคู่ต่อสู้ที่ดูยังไงก็ต้องเสียประตูแน่ๆ

ป้องกันประตูแบบนี้ได้ 1 ลูก

ก็เหมือนกับกองหน้ายิงประตูคู่แข่งได้ 1 ลูก

ทำธุรกิจก็คล้ายๆ กัน

ถ้าเราลดต้นทุน ประหยัดค่าใช้จ่ายได้เท่าไร

ก็เหมือนกับขายของเพิ่มได้เท่านั้น

ต่อให้โลกฟุตบอลหรือธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

หลักการนี้ก็ยังคงอยู่ •

 

 

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ | หนุ่มเมืองจันท์

www.facebook.com/boycitychanFC