33 ปี ชีวิตสีกากี (28) | กระโดดร่มครั้งแรก ‘ตื่นเต้น-เร้าใจ’ บางคนลงผิดท่า น็อกพื้น

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

สําหรับการฝึกกระโดดร่ม เป็นการเน้นการฝึกสภาพร่างกายให้แข็งแกร่ง และในขณะเดียวกันต้องฝึกท่าทางให้ถูกต้องด้วย รวมถึงมีความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการกระโดดร่ม

ครูฝึกได้บอกกับพวกเราว่า รุ่นนี้เป็นนักเรียนพลร่มของค่ายนเรศวร หัวหิน เป็นนักเรียนพลร่มรุ่นที่ 99

เหตุที่ต้องมีการฝึกการกระโดดร่มนั้น เมื่อมีเหตุจำเป็นที่จะต้องมีการส่งกำลังบำรุงทางอากาศ และเมื่อนักเรียนจบออกไป จะต้องเป็นผู้บังคับหมวด อาจจะต้องไปอยู่หน่วยที่ต้องมีหน้าที่ทำการรบหรือส่งกำลังทางอากาศ ในยามที่ประเทศชาติต้องการกำลังพลประเภทนี้

การส่งกำลังบำรุงทางอากาศ หมายถึง การนำอาวุธยุทโธปกรณ์ เครื่องอุปโภค บริโภค เสบียงต่างๆ บรรทุกเครื่องบิน ณ สนามบินต้นทาง ไปยังสนามบินปลายทาง ตำบลส่งที่นัดหมาย การเลือกสนามโดด สนามทิ้งของ และการรายงาน

วิธีการส่งกำลังทางอากาศ มี

1. ส่งโดยใช้ร่ม (PARACHUTE DROP) โดยการจัดสิ่งของผูกมัดหีบห่อแล้วประกอบร่ม นำขึ้น ณ สนามบินต้นทางไปยังตำบลที่ส่ง โดยการทิ้งร่ม ยังจุดที่ต้องการ วิธีการนี้ จะทำให้สิ่งของเสียหายประมาณ 20%

2. ส่งโดยไม่ใช้ร่ม (FREE DROP) คือ การบรรจุหีบห่อแล้วใส่เครื่องบินไปยังจุดที่กำหนดโดยไม่ต้องใช้ร่ม วิธีการนี้ใช้กับสิ่งของที่ไม่แตกหัก เช่น ข้าวสาร ผ้าห่ม วิธีการนี้ได้ผลไม่แน่นอน เครื่องบินบินสูง ประมาณ 300-400 ฟุต ร่มที่ใช้ FREE DROP มี G1 A, G 13, T-7 A

3. ส่งโดยเครื่องบินลงสนาม (LANDING) หมายถึง การบรรทุกคนหรือสัมภาระ ณ สนามบินต้นทาง บินไปยังสนามบินที่กำหนดแล้วนำสัมภาระจากเครื่องบินไปยังปลายทางที่กำหนด

วิธีการนี้แน่นอนได้ผล 100% ไม่มีสิ่งแตกหัก

 

ในชั่วโมงต่อๆ มา ได้ศึกษาร่มที่ใช้กระโดด คือ ร่ม T-10

และได้เรียนรู้เรื่องการทำงานของร่ม มี 2 แบบ คือ

1. แบบสายดึงประจำที่

2. แบบดึงเอง

ลักษณะของร่ม T-10

1. ทำงานด้วยสายดึงประจำที่

2. สามารถดึงสายโยงปรับไปในทิศทางที่ต้องการ

3. เมื่อพับเสร็จหนักประมาณ 29 ปอนด์

4. พับใหม่ทุก 120 วัน

5. อายุประจำการใช้โดดครบ 100 ครั้ง หรือ 10 ปี

6. อัตราการตก คนหนัก 200-220 ปอนด์ 15.37-22.7 ฟุต/วินาที

ชิ้นส่วนใหญ่ๆ แบ่งออกเป็น 6 ชิ้นส่วน

1. ชุดตัวร่มและสายร่ม

2. ชุดสายโยงร่ม

3. ชุดสายรัดตัว

4. ชุดเครื่องปลดเร็ว

5. ชุดแผ่นห่อหุ้มร่ม

6. ชุดถุงบรรจุร่ม

ร่ม T-10 กางเป็นร่ม รูปค่อนข้างกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 35 ฟุต

ที่ชายร่ม 24 ฟุต 5 นิ้ว

ผ้าร่มทำด้วยริสตอป ไนล่อน ขนาด 1.1 ออนซ์

ร่มT-10 มี 30 กลีบ แต่ละกลีบแบ่งออกเป็น 5 ส่วน

มีสายโดดร่ม 30 สาย ทนแรงดึง 500 ปอนด์

ยาวจากหัวร่มถึงชายร่ม 17 7/32 นิ้ว

นั่นเป็นการศึกษาเรียนรู้ว่า สิ่งที่จะช่วยรักษาชีวิตของเราเมื่อกระโดดออกมาจากเครื่องบิน มีคุณสมบัติรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร ใช้ประโยชน์และทำงานอย่างไร และต้องสัมผัส จัดการทำความคุ้นเคยให้มากที่สุด

 

ในที่สุดวันแรกของการกระโดดร่มก็มาถึง เป็นครั้งแรกในชีวิตของผมที่นอกจากจะได้กระโดดร่มแล้ว ยังเป็นครั้งแรกที่ได้ขึ้นเครื่องบิน แต่แทนที่จะได้ขึ้นเครื่องบินเหมือนกับคนอื่นเขา นี่กลับต้องกระโดดลงมาแทน

เมื่อวานนี้ นักเรียนพลร่มทุกคนได้เดินทางไปรับร่มที่ห้องพับร่ม ต่างคนต่างเช็กร่มของตัวเอง ซึ่งจะต้องฝากชีวิตไว้กับมัน ครูฝึกให้นำดอกไม้ ธูปเทียน ไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของค่ายนเรศวร จากนั้นจึงกลับมาที่ค่ายมฤคทายวัน มาไหว้พระบรมรูปของ ร.6 และเดินไปไหว้ศาลที่ตั้งอยู่ที่ชายหาด จึงได้กลับมาพักผ่อน

จนกระทั่งเช้าช่วงวันใหม่ ได้เวลาตื่น 04.45 น. ทำกิจกรรมตอนเช้า รับประทานอาหารเช้าเสร็จ นักเรียนพลร่มจึงนำร่มของแต่ละคนแล้วขึ้นรถไปยังสนามบินบ่อฝ้าย ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกบินพลเรือน ห่างจากค่ายมฤคทายวัน ประมาณ 10 กิโลเมตร

ไปถึงเห็นเครื่องบิน C-7A หรือ คาริบู จอดเตรียมไว้ 2 เครื่อง ความรู้สึกตื่นเต้นเกิดขึ้นกับทุกคน บางคนไซด์จัด พอเห็นเครื่องบินเท่านั้นแหละรีบวิ่งเข้าห้องน้ำทันที

พ.ต.อ.ไกรศุข สินสุข ได้ให้โอวาท และ พล.ต.ต.สุจินต์ อุทัยวัฒน์ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ มาให้กำลังใจ

ประมาณ 7 โมงเช้า เที่ยวบินเที่ยวแรกก็เริ่มประเดิม เพื่อนๆ ที่ยังไม่กระโดดเที่ยวนี้ ก็ตามไปส่งเพื่อนให้ขึ้นเครื่อง มีนายตำรวจหลายนายได้ร่วมกระโดดด้วย เช่น พ.ต.อ.โกวิท วัฒนะ

 

สําหรับผมได้กระโดดครั้งแรกในเที่ยวบินที่ 6 โดยมี พ.ต.ต.ถนอม จันทร์เปล่ง เป็น Jump master

เมื่อเครื่องบินขึ้นสู่ท้องฟ้า มันมีความรู้สึกตื่นเต้นจริงๆ เป็นครั้งแรกของชีวิตที่มาอยู่ในท่ามกลางบรรยากาศแห่งความตื่นเต้นและเร้าใจ

เมื่อเครื่องบินเริ่มไต่เพดานสูงขึ้นระดับ 1,200 ฟุตจากพื้น บนเครื่องบินมันจะรู้สึกโคลงเคลงเหมือนนั่งเรือ และรู้สึกว่า นั่งเรือกลับนิ่มนวลกว่า พอช่วงเครื่องบินตกหลุมอากาศ ก็เอียงวูบไปเลย เมื่อยืนจะเซไปเซมา

มองออกไปทางช่องหน้าต่างของเครื่องบิน เห็นบ้านเรือนของผู้คนมีขนาดเล็กเท่ากล่องไม้ขีด เหมือนเมืองตุ๊กตา

ถนนเพชรเกษม มีรถคันเล็กๆ วิ่งไปมา พื้นดินมองดูเรียบ มีต้นไม้สีเขียวๆ ขึ้น เป็นภาพที่สวยงามน่าดู และเป็นครั้งแรกที่มองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามแปลกหูแปลกตาจากมุมสูงในลักษณะแบบนี้ วันนี้จะทำการกระโดดร่มในความสูงระยะ 1,200 ฟุต ข้างบนลมแรงมาก เมื่อผมกระโดดออกมาจากเครื่องบิน ก็เริ่มนับทันทีตามที่ฝึกซ้อมกันมา

ONE THOUSAND

TWO THOUSAND

THREE THOUSAND

FOUR THOUSAND

CHECK CANOPY

ผมนับถึงสี่ ร่มก็กาง แต่ลมจะตีทำให้เสียการทรงตัวนิดหน่อย ร่มมีเกลียวเล็กน้อย ต้องหมุนตัวแก้ไข

เมื่อมองลงมาข้างล่าง มันเคว้งคว้าง เหมือนห้อยอยู่กลางอากาศ ห้อยต่องแต่ง ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย นั่นคือสำนวนที่ใช้เปรียบเปรย แต่นี่มันของจริง เวลานี้ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนจริงๆ ครูบาอาจารย์ที่พร่ำสอนเรามาหรือใครก็ตาม ไม่สามารถช่วยเราได้เลย นอกจากตัวเราเองเท่านั้น และมันก็เกิดจากการฝึกซ้อมที่ครูฝึกเคี่ยวกรำมานาน ทั้งฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรงและเข้าใจจังหวะ รวมทั้งการตรวจอุปกรณ์ทุกอย่างให้พร้อมโดยไม่ประมาท แล้วร่มก็ค่อยๆ ลดระดับลง จนถึงพื้น มันรู้สึกนิ่มมาก ลงบนสนามหญ้าและผมลงพื้นได้ดี การล้มตัวทำได้ตามจังหวะ จึงไม่เป็นอะไรเลย

นรต.ปิยวัจน์ วิชัยดิษฐ์ บังคับร่มไม่ดี ทำให้ไปลงหลังคากระเบื้องของชาวบ้าน ตัวทะลุหลังคาลงมาเลย แต่กลับไม่ได้รับบาดเจ็บอะไร เพื่อนอีกคนคิ้วแตก เพราะสวมหมวกเหล็กแล้วจัดไม่ดี

นรต.ราชัน โสตถิทัต จะหนักกว่าใครเพื่อน กระดูกที่ขาแตกต้องใส่เฝือก กระโดดครั้งต่อไปไม่ได้ ต้องมากระโดดในภายหลัง นรต.วินัย กลั่นหวาน ลงบนต้นกระบองเพชร นรต.สงวน เขื่อนคำ ลงบนห้องร่ม เจ็บนิดหน่อย

ดังนั้น เวลากระโดดจึงอยู่ในความประมาทไม่ได้ หากใครประมาทจะได้รับอันตรายทันที สุดแท้แต่บางคนมาก บางคนน้อย

วันนี้เพิ่งจะกระโดดเป็นครั้งแรก พรุ่งนี้ต้องกระโดดอีก และกระโดดจนครบ 6 ครั้ง เมื่อกระโดดสำเร็จ จะได้รับเครื่องหมายปีกร่มติดที่อกเสื้อสมใจ

หลังจากกระโดดร่มครั้งแรกเสร็จ มันอยากจะขึ้นไปกระโดดอีก เพราะประทับใจช่วงที่ลอยตัวอยู่กลางอากาศ และมองเห็นภาพวิวที่งดงาม

 

จนมาถึงการกระโดดร่มครั้งที่ 3 วันนี้ลมแรงมาก มีเพื่อนๆ เจ็บหลายคน สำหรับผมนั้นไม่เป็นอะไร การบังคับร่มเริ่มทำได้ยาก เพราะลมบนกับลมล่างพัดกันคนละทิศ เวลาลงถึงพื้น ถ้าขาแตกออกจากกัน แล้วล้มตัวไม่ถูกจุด ส่วนมากจะเจ็บ เพราะขณะถึงพื้นจะมีความแรงของแรงโน้มถ่วงโลก

มีเพื่อนหลายคนที่เกิดอาการน็อก เพราะลักษณะท่าทางการลงผิดท่า ขาแตกแยกออกจากกัน ทำให้ล้มผิดท่า เมื่อเท้าถึงพื้น ก้นจะกระแทก จังหวะนั้นศีรษะจะฟาดกับพื้น เกิดอาการตาเหลือก และมีอาการสั่นเหมือนปลาช่อนโดนทุบหัว

แต่ที่พื้นล่าง มีรถพยาบาล พร้อมคณะแพทย์พยาบาลคอยดูแล ถ้าหากมีอาการเจ็บมาก จะนำส่งโรงพยาบาลหัวหินทันที

สำหรับเพื่อนๆ ที่น็อกพื้น ถ้าไม่เจ็บมาก ก็กลับมาพักที่กองร้อยได้

แต่มีคำสั่งห้ามกินของเย็นๆ โดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นน้ำแข็ง ไอศกรีม ไม่ได้ทั้งนั้น เพราะศีรษะฟาดพื้น จะทำให้มีเลือดไปคั่งในสมอง ถ้ากินของเย็นๆ เข้าไป จะทำให้เลือดไม่ไหลหมุนเวียน และเคยปรากฏว่าคนที่มีอาการน็อกแล้วกินของเย็นๆ ถึงแก่ความตายมาแล้ว มันจึงอันตรายมาก แพทย์จะให้คนที่น็อกพื้น หยุดพักจนอาการหายดี จึงจะให้กระโดดต่อ

คนที่กระโดดแล้วน็อกพื้นมี นรต.สมพงษ์ คะหาวงษ์, นรต.วารินทร์ ทองตรา

และตั้งแต่มีการกระโดดร่มมาเป็นร้อยๆ ครั้ง เพิ่งจะมีเหตุการณ์ที่ชวนระทึกใจเกิดขึ้นเมื่อเช้า เมื่อ นรต.สรศักดิ์ เย็นเปรม กระโดดร่มออกมาแล้วเกิดเป็นร่มแฝดกินลมไม่เต็มที่ ร่มจะตกมาเร็วกว่าปกติมาก หากตัดสินใจไม่ดี อันตรายถึงชีวิตทันที

แต่เพื่อนคนนี้กระตุกร่มช่วยได้ทัน สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันเวลา จึงไม่เป็นอะไร ในขณะเดียวกัน มีเพื่อนอีกคน เมื่อเวลาถึงพื้น ก้มศีรษะแล้วเอาปากกัดปกเสื้อเพื่อป้องกันศีรษะฟาดพื้น แต่เนื่องจากลมแรงมาก ร่มเลยกระชากฟันหน้าหักไป 1 ซี่ เพราะเวลาลงถึงพื้นจะแรงมาก

วันนี้ในจังหวะที่ผมลงพื้น ปรากฏว่าผมลงกลางรันเวย์ของสนามบินเลย และรันเวย์เป็นลูกรังเรียบ เมื่อถึงพื้นผมจึงล้มตัว ยังไม่ทันลุกขึ้น ลมก็ลากร่มไปตามรันเวย์ไม่ไกลนักแค่ 2-3 เมตร ผมจึงลุกตัดทิศทางลมได้ มีแผลถลอกนิดหน่อย แต่ไม่เป็นอะไร

ดังนั้น ในการกระโดดร่ม ความสำคัญจึงอยู่ที่ลม ถ้ามีลมแรง การกระโดดร่มจะอันตราย ซึ่งครูฝึกจะมีเครื่องมือวัดความเร็วของลม ถ้าลมแรงจนอาจจะเกิดอันตราย ครูฝึกจะสั่งงดการกระโดดร่มทันที

สำหรับการกระโดดร่มเมื่อผ่านไป 3 ครั้ง ส่วนใหญ่จะปลอดภัยกันเกือบทุกคน ยกเว้นมีเจ็บเป็นบางคน