หยุดหัวใจไว้ที่นาย Heartstopper

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

หยุดหัวใจไว้ที่นาย Heartstopper

 

“เรื่องที่นายกับนิกต้องเปิดตัวกับคนอื่นเนี่ย…ฉันคิดว่านายต้องเลิกกังวลว่าคนอื่นจะรู้สึกยังไง”

ขณะที่เดินในอังกฤษเมื่อเดือนที่แล้ว เพิ่งรู้ตัวว่าพลาดหนังสือสำคัญและโด่งดังมากเล่มหนึ่งไปคือ Heartstopper มีแปลไทยแล้วในชื่อ หยุดหัวใจไว้ที่นาย จัดพิมพ์จำนวน 4 เล่มจบโดย AMICO เท่ากับต้นฉบับอังกฤษด้วยหน้าปกและการลงสีเหมือนกันทุกประการ

เดินผ่านไปทุกร้านมีดิสเพลย์หนังสือสี่เล่มนี้บนชั้นแสดงหนังสือเกือบทุกร้านในอังกฤษ ดังขนาดนั้นเลยหรือ เปิดวิกิพีเดียอ่านแล้วก็คอหด ขอโทษ หนังสือและเพจของคุณผู้เขียน อลิศ โอสแมน (Alice Oseman) ดังจริงๆ นั่นแหละ ยอดผู้อ่านน่าตกใจมาก อลิศเป็นคนอังกฤษและเนื้อเรื่องเกิดในอังกฤษ

ฉบับภาษาไทยแปลโดย วลัยลักษณ์ จิตตะยโศธร ลายเส้นโปร่งอ่านสบายตาเนื้อเรื่องลื่นไหลไปเรื่อยๆ ใช้เวลาต่อเล่มไม่นาน แล้วก็เป็นไปอย่างที่อลิศ โอสแมน เขียนคำนำไว้นั่นคือ “ความอบอุ่น” ความรักยังความอบอุ่นเสมอไม่ว่าใครจะเป็นเพศอะไร

หนังสืออาจจะให้บรรยากาศคล้ายๆ เรื่องแนวนี้อื่นๆ ในเล่มแรกและต้นเล่มสอง จนกระทั่งถึงปลายเล่มสองและต้นเล่มสามจึงมีคำถามชวนคิดข้อหนึ่งที่ผู้เขียนคอลัมน์นี้ก็เคยสงสัยมาก่อนเช่นกัน

นั่นคือเราจำเป็นต้องเปิดตัวด้วยหรือว่าเราเป็นอะไรและชอบอะไร ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าเราสามารถมองเห็นได้จากพฤติกรรมภายนอกอยู่แล้วหากเจ้าตัวไม่เจตนาปิดบังอย่างมิดชิด

ดังนั้น เราจะปล่อยให้ผู้คนรอบตัวรู้เองมิได้หรือ หรืออย่างน้อยไม่จำเป็นต้องรู้ชัดหรือไม่ซักถามมิได้หรือ

ทำไมต้องมีพิธีกรรมเปิดตัวด้วย?

“มีแนวคิดที่ว่าถ้านายไม่ใช่สเตรต ก็จำเป็นต้องบอกครอบครัวกับเพื่อนๆ ทันทีเหมือนนายติดค้างอะไรพวกเขา แต่จริงๆ มันไม่จำเป็นเลย นายไม่จำเป็นต้องทำอะไรเลยถ้านายยังไม่พร้อม”

เป็นคำถามที่น่าสนใจมากของหนังสือเล่มนี้

หนังสือเล่มนี้เป็นกราฟิกโนเวลแนววัยรุ่นแท้ๆ ความขัดแย้งที่เห็นเป็นความขัดแย้งในหมู่วัยรุ่นมากกว่าที่จะเป็นความขัดแย้งกับพ่อแม่ พ่อแม่ในหนังสือรู้ก่อนแล้วว่าลูกชายเป็นเกย์ อีกบ้านหนึ่งแม่ก็พอเดาได้บ้างครั้นแน่ใจก็รับได้ว่าลูกเป็นไบ

แม้ว่าจะไม่ค่อยแน่ใจนักว่าตัวเองรู้จักไบ

ยังมีคู่เลสอีกคู่ที่น่าสนใจ คนหนึ่งจูบผู้ชายมาก่อนจะรู้ภายหลังว่าตนเองเป็นเลส นอกจากนี้ ยังมีตัวละครอีกคนที่เป็นทรานส์ คนที่เป็นทรานส์นี้ดูคล้ายๆ จะแฮปปี้กว่าเพื่อน ไม่รู้เป็นเพราะว่าพวกทรานส์ไม่มีข้อสงสัยตัวเองเลยตั้งแต่แรกหรือเปล่า พวกเขารู้ว่าพระเจ้าสร้างอวัยวะและจิตใจที่ไม่ไปด้วยกันตั้งแต่จำความได้นั่นเลย

สเตรต เกย์ เลส ไบ ทรานส์ เหมือนผู้เขียนจะอยากให้นักอ่านรู้อยู่แล้วว่าหมายถึงอะไร ไม่ทราบเหมือนกันว่าเชิงอรรถที่มีมีมาจากต้นฉบับหรือนักแปลช่วยเขียนให้

ประเด็นอยู่ที่สังคมต่างหากจะต้อนรับหรือกดดันพวกเขา สังคมควรรู้จักคำพวกนี้โดยไม่มีคำถามอีกแล้ว มากกว่าคำพวกนี้ยังมีมาอีก เข้าใจว่าล่าสุดน่าจะเป็น LGBTQIA+ (Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender/Transsexual, Queer/Questioning, Intersex, Asexual/Allies, Nonbinary/Genderqueer +) มีอีกไหมครับ อันนี้ถามด้วยความอยากรู้

จำได้ว่าในซีรีส์ Sex Education มีเด็กคนหนึ่งเป็นเอ็นบี ตอนที่ดูเรียกว่าต้องหยุดค้นคว้าเลยทีเดียวว่าเอ็นบีเป็นอย่างไร อ้อ เรื่อง Heartstopper นี้ก็เป็นซีรีส์อังกฤษที่โด่งดังพอสมควร ทราบว่าจบฤดูกาลที่หนึ่งไปแล้ว

ไม่รู้หรือไม่เข้าใจมิใช่ประเด็นนี่นา พึงระลึกเสมอว่าทุกเพศมีคนดีคนไม่ดีปะปนกันเสมอเท่านั้นเอง ไม่ต่างอะไรกับคนทุกชาติทุกภาษาที่มีคนใจดีและใจร้ายปนๆ กันไป

 

“เรามาถึงจุดที่ต่อให้คนอื่นจะพูดหรือคิดยังไง เราก็ยังรู้ว่าตัวเราคือใครน่ะ แล้วถึงยังไงเราก็รักตัวเองในแบบที่เป็น”

ความรักตัวเองในแบบที่เป็นเกิดจากพ่อแม่รักเขาในแบบที่เขาเป็น ตอนทารกเกิดพ่อแม่ทุกคนรักลูกโดยไม่มีเงื่อนไข เวลานั้นทุกคนขอแค่ให้ลูกครบสามสิบสอง เงื่อนไขต่างๆ จะตามมาทีหลัง ไม่ผิดเพศ เรียนหนังสือเก่ง เข้าโรงเรียนดีๆ ไปจนถึงได้คู่ครองตามสเป๊กที่พ่อแม่ต้องการ (“อยากได้ไปหาเองสิ!”)

เมื่อถึงวันเด็กเตาะแตะจากไปเขาเหลียวมาดูพ่อแม่พบพ่อแม่ยิ้มบานรักเขาสุดหัวใจ เขาจึงจะเปลี่ยนเดินเป็นวิ่ง และพุ่งทะยานไปสู่อนาคต แต่…

หากวันหนึ่งเขาเหลียวไปพบพ่อแม่ไม่พึงใจที่เขาผิดเพศ (“เพศผิดได้ด้วยหรือ?”) ไปจนถึงรังเกียจที่ได้เขาเป็นลูก เขาเป็นความแปดเปื้อนของตระกูล หากเป็นเช่นนี้เด็กจะเชื่อจริงๆว่า “เราคือความแปดเปื้อน” แล้วไม่รักตนเองในที่สุด แทนที่ชีวิตจะพัฒนาไปได้กลับติดขัด และอาจจะเศร้าที่เกิดมา รู้สึกผิดที่ทำพ่อแม่เสียใจ มากกว่านี้คือป่วยด้วยโรคซึมเศร้าไม่ต่างอะไรจากเด็กสเตรตทั่วไปที่พ่อแม่ทิ้งขว้าง

หนังสือเล่าเรื่องชาร์ลี เด็กมัธยมที่เคยถูกบุลลี่เพราะมีคนล่วงรู้ว่าเขาเป็นเกย์

แต่เพราะพ่อแม่พี่น้องของชาร์ลียอมรับสิ่งที่เขาเป็นเขาจึงผ่านพ้นมาได้ไม่บอบช้ำมากนัก ไม่นับว่าหลังจากการบูลลี่เกิดขึ้นพักหนึ่งมีรุ่นพี่ในโรงเรียนที่รวมกลุ่มกันคอยป้องกันเขา เขาจึงรอดพ้นมาได้

วันนี้ชาร์ลีคบกับเบน แต่เป็นที่รู้กันว่าเบนเป็นสเตรต เพื่อนซี้ของชาร์ลีจึงคอยเตือนเขาว่าเบนเห็นเขาเป็นของเล่นเฉยๆ

เมื่อชาร์ลีเลิกคบกับเบน (ซึ่งไม่ง่ายดาย) เขาก็หันมาคบนิกซึ่งเป็นนักรักบี้มือหนึ่งร่างบึ้กของโรงเรียน

เพื่อนซี้เตือนชาร์ลีอีกว่านั่นก็สเตรต เคยมีคนเห็นเขาจูบผู้หญิงมาก่อนแล้วนะ (แล้วเด็กผู้หญิงคนนั้นก็เป็นเลสในเวลาต่อมา)

เล่มแรกจึงโฟกัสที่ตัวนิกด้วย ว่าเขารู้ไหมว่าตัวเองเป็นอะไร นิกคิดว่าตนเองเป็นสเตรตมาตลอดแต่ตอนนี้เขาไม่มั่นใจ ความไม่มั่นใจนั้นเองที่ทำให้เขาไม่กล้าสานสัมพันธ์กับชาร์ลีโดยเร็วแม้ใจปรารถนา เขาสับสนขึ้นไปอีกว่าจะทำอย่างไรถ้าเขาเป็นไบ

แล้วก็กลับไปคำถามข้างต้นเขาจำเป็นต้องเปิดตัวรึเปล่า

อ่านไปก็น่าเห็นใจนะครับ ในโลกสมัยเก่าที่เรารู้จักแค่ชายหญิง ลำพังเรื่องว้าวุ่นของชายหญิงก็มากแล้ว เวลานั้นยังมีค่านิยมเรื่องลูกคนโตต้องชาย ลูกคนเดียวยิ่งต้องชาย (หากไม่ได้ชายก็จะมีอีกจนกว่าจะได้หญิงหมดทุกคนไม่ได้ชายอยู่ดี)

วันนี้แม้ยังมีธรรมเนียมนี้เหลืออยู่ก็จางลงมากแล้ว เรามาถึงยุคใหม่ที่พ่อแม่อีกหลายบ้านหรืออาจจะเป็นส่วนใหญ่ของสังคม (ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ) ต้องมารบกับลูกเรื่องลูกเป็นอะไร

โดยที่มักลืมไปชั่วขณะว่าเป็นอะไรเราก็จะรักไง สติปัญญาบกพร่อง ออทิสติก กล้ามเนื้อลีบแต่กำเนิด พิการทางตาหรือทางหู ร่างกายผิดรูป ชักกระตุกอยู่เรื่อยๆ ไปจนถึงมะเร็งที่ใดที่หนึ่ง พ่อแม่ทุกบ้านพร้อมรักเสมอและไม่มีวันทอดทิ้ง มิใช่หรือ? นี่เป็นคนธรรมดาครบสามสิบสองแท้ๆ ทำไมจะรักไม่ได้

อย่างไรก็ตาม เป็นความจริงที่ว่า “เวลาอยู่ข้างเรา” •

 

 

การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์