ข้างน้อยแต่ไม่ยอมน้อย | สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่ 12 | สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

 

ข้างน้อยแต่ไม่ยอมน้อย

 

ไม่รู้ว่า ยุทธวิธี ยอมงอ “เพื่อ-ก้าว”ไปต่อ ของ 2 พรรค เพื่อไทย และ ก้าวไกล โดย ให้นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา มาเป็นคนกลางนั่งประธานสภาผู้แทนราษฏร

จะมีอายุเกิน 13 กรกฏาคม นี้หรือไม่

เพราะ ใครๆก็ว่า ในวันนั้น ส.ว.และส.ส.ขั้วรัฐบาลเดิม จะ “หัก”ไม่ให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขึ้นเป็นนายกฯ

เมื่อ “หัก”นายพิธา แล้ว หลังจากนั้นก็เป็นคิวของเพื่อไทยเสนอบุคคลขึ้นเป็นนายกฯ

ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะราบรื่น หรือสำเร็จหรือไม่

หากไม่สำเร็จ การจับมือ “เพื่อก้าว”ต่อไปของทั้ง 2 พรรค ว่ากันว่าน่าจะมีแนวโน้มสะบั้นลง

และเปิดช่องว่างให้คำว่า “ข้างน้อย” เบียดแทรกเข้ามา

ด้านหนึ่ง “พรรคก้าวไกล” อาจต้องถูกกีดกัน(หรืออาจจะสมัครใจ) ไปเป็น “ข้างน้อย” คือไปเป็นฝ่ายค้าน หรือไม่

ขณะที่อีกด้านหนึ่งเหล่าเสียง “ข้างน้อย” จากการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ก็คงพยายาม พลิกบทบาทเข้ามา “แทรกแซง”จัดตั้งรัฐบาล แทน 8 พรรค

ซึ่งที่มีการคาดการกันมาก ก็คือ เหล่าเสียงข้างน้อยจะไปร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย สร้างขั้วใหม่จัดตั้งรัฐบาล

โดยมีความเป็นไปได้ 2 ทาง

ทางหนึ่งยังยอมให้เพื่อไทยเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลและให้แคนดิเดตพรรคเพื่อไทยขึ้นเป็นนายกฯ โดยมี พรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา และอาจรวมถึง รวมไทยสร้างชาติ เข้าร่วม

อีกทางหนึ่ง อาจจะมี”ดีล”บางอย่าง ที่พรรคเพื่อไทย ยอมให้เสียงข้างน้อย ขึ้นเป็นนายกฯ

ซึ่งตอนนี้ก็มีความเคลื่อนไหวอย่างที่มีกระแสข่าวออกมา ใน 2 ทาง

ทางหนึ่ง ในฝั่งฟากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ยังเคลื่อนไหวต่อเนื่อง อย่างเช่นการประกาศเดินหน้าทางการเมืองอย่างขึงขังด้วยการดูแลพรรคพลังประชารัฐไปตลอดชีวิต ไม่คิดวางมือง่ายๆ พร้อมจะรองรับ”ส้มหล่น”ในทุกสถานการณ์

อีกทางหนึ่ง ในฝั่งฟากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา การหยั่งเชิงส่งคนชิง รองประธานสภาผู้แทนราษฏร นั้น ถูกมองว่าเหมือนต้องการประเมินเสียงในสภา ว่าเป็นอย่างไร ยังเหนียวแน่นกับขั้วพล.อ.ประยุทธ์ ขนาดไหน

ซึ่ง การได้เห็นการลงมติของพรรคภูมิใจไทย ที่”งดออกเสียง” ไม่ได้เทคะแนนให้นายวิทยา แก้วภราดัย ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่อาจสะท้อนการคลายตัวในสัมพันธ์ของขั้วรัฐบาลเดิม

ทำให้ฝั่งขั้วพล.อ.ประยุทธ์ ต้องประเมินสถานการณ์ใหม่ และอาจต้องเพิ่มแรงในการดำรงความสัมพันธ์เดิมเอาไว้ หากยังหวังที่จะพลิกให้เสียงข้างน้อย ขึ้นกุมการนำ

และตรงนี้กระมังถึงนำไปสู่กระแสข่าว ที่ ฝ่าย”ขั้วอนุรักษ์นิยม”นอกสภาเข้ามามีบทบาทเสริมหนุนขั้วพล.อ.ประยุทธ์ ในการชิงการนำทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ความพยายาม”ไปต่อ”ยังมีอยู่

ทิศทางการเมืองไทย ที่ ดูเหมือน “ฝ่ายข้างน้อย”ยังมีฤทธิ์มีเดช อยู่มากนี้

สะท้อนชัดเจนว่า กลุ่มอำนาจเก่า ที่แม้จะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง โดยประชาชนเสียงส่วนใหญ่ ได้ยืนยันเจตนารมณ์ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลง

แต่ กลุ่มอำนาจเก่า ก็มิได้นำพา ตรงกันข้ามกลับยังเดินหน้า รักษาอำนาจของตนเอาไว้ในทุกรูปแบบ

ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้จะเห็นแจ่มชัดขึ้นในเกมโหวตเลือกนายกฯ

แจ่มชัดว่า เสียงข้างมากจากประชาชน ยังมิอาจสู้ หรือ ต้านทานเสียงข้างน้อย ที่พยายาม”เบ่ง”ตัวเองไม่ให้”น้อย”ด้วยทุกวิถีทาง!?!

————-