นัยยะแห่งสามสหายช่วยสร้างเมืองเชียงใหม่ และนัยยะแห่งคำสอน (คำสาปแช่ง) ของพระเจ้ากาวิละ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ตระหนัก ‘ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่’ (3)
นัยยะแห่งสามสหายช่วยสร้างเมืองเชียงใหม่
และนัยยะแห่งคำสอน (คำสาปแช่ง) ของพระเจ้ากาวิละ

 

ฉบับนี้จะเข้าสู่การวิเคราะห์ “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ในส่วนของเนื้อหาที่เข้มข้นแบบเจาะลึก เนื้อหาที่นำมาวิเคราะห์มีอยู่ 4 ประเด็น ดังนี้

– ความผิดพลาดเรื่องข้อมูลระบบจุลศักราช

– ความสับสนเรื่องรูปปั้นช้างเผือก

– รายละเอียดอันยิบย่อยช่วงสร้างเมืองเชียงใหม่ที่ทำให้ดูเวอร์วัง!

– คำสอนของพระเจ้ากาวิละ ทำไมจึงสาปแช่งลูกหลานตัวเอง?

 

ใครเป็นคนต้นคิดระบบจุลศักราช?

อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนที่ 1 แล้วว่า เนื้อหากว่าครึ่งเล่มของ “พงศาวดารโยนก” ที่เรียบเรียงโดยพระยาประชากิจกรจักร์ (แช่ม บุนนาค) สมัยรัชกาลที่ 5 นำมาจาก “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” ดังนั้น หากตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ บันทึกสิ่งใดคลาดเคลื่อน ก็ทำให้พงศาวดารโยนก พลอยฟ้าพลอยฝนรับข้อมูลที่ผิดพลาดนั้นตามมาด้วย

เข้าทำนอง “ผิดตั้งแต่นะโม” หรือ “ตาบอดจูงคนตาบอด” ว่ากันประมาณนั้น

สิ่งที่พลาดอย่างมหันต์ แถมเป็นการส่งทอดองค์ความรู้แบบผิดๆ ต่ออนุชนรุ่นหลังอย่างไม่น่าให้อภัยที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ซ้ำได้รับการขยายต่ออย่างกว้างขวางในพงศาวดารโยนก ก็คือความเป็นมาเรื่อง “ระบบจุลศักราช”

กล่าวคือ เอกสารสองเล่มระบุตามๆ กันมาว่า คนที่ตั้งศักราชชื่อ “บุปผาอรหันต์” (โปปปะสอระหัน) อดีตพระภิกษุผู้ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์พุกามนาม “พระเจ้าอนิรุทธมหาราช” ท่านผู้นี้ได้ประกาศยกเลิก “มหาศักราช” และตั้งจุลศักราชขึ้นใช้ในปี พ.ศ.1181 ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง พ.ศ.1181 อาณาจักรพุกามยังไม่เกิด ช่วงชีวิตของพระเจ้าอนิรุทธอยู่ระหว่าง พ.ศ.1587-1610

เมื่อตรวจสอบกับเอกสารของ หม่องทินอ่อง นักประวัติศาสตร์พม่า ผู้ทำการค้นคว้าประวัติศาสตร์พม่าอย่างเจาะลึก พบว่าการกำเนิดจุลศักราชมีขึ้นในยุคอาณาจักรศรีเกษตรหรือพยู่ สมัยพระเจ้าติยะวิกรมา เนื่องจากพบจารึกหลักระบุจุลศักราชหลักเก่าที่สุดตรงกับ จ.ศ.35 หรือ พ.ศ.1216 (ก่อนยุคพระเจ้าอนิรุทธถึง 300 ปีเศษ)

ความเชื่อเรื่องพระเจ้าอนิรุทธมหาราชแห่งพุกามเป็นผู้ลบศักราช ฝังอยู่ในการรับรู้ของนักประวัติศาสตร์ชาวไทยนานกว่า 100 ปีทีเดียว เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก จนกระทั่งท่านอาจารย์ ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร ได้มาช่วยแก้ไขย้ำแล้วย้ำอีกให้ถูกต้องในหนังสือที่ท่านเป็นบรรณาธิการเรื่อง “วันวาร กาลเวลา แลนานาศักราช”

นามช้างมงคลสองเชือกอันสันสน

อาจารย์ภูเดช แสนสา นำเสนอเรื่องความสับสนในการเรียกชื่อช้างสองเชือกที่ “ประตูช้างเผือก” โดยในเอกสารตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เล่มเดียวกันนี้เอง ให้ข้อมูลแต่ละช่วงที่ไม่ชัดเจน

กล่าวคือ ในผูกที่ 3 สมัยพระญาแสนเมืองมา กษัตริย์ราชวงศ์มังรายลำดับที่ 6 ได้ก่อรูปปั้นช้างเผือกสองเชือกที่อยู่หัวเวียง (ทิศเหนือ) โดยไม่ได้ระบุว่าตัวไหนชื่ออะไร บอกแค่ว่ามีหนทางผ่ากลางระหว่างรูปปั้นช้างทั้งสองนั้น

ในขณะที่เอกสารผูกที่ 8 ของตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ เขียนสมัยพระเจ้ากาวิละ ระบุว่าพระองค์ได้มาบูรณะรูปปั้นช้างเผือกสองเชือกนี้ โดยระบุว่าตัวที่อยู่ทิศเหนือ (อันที่จริงคือทิศตะวันออก) มีชื่อว่า พญาปราบไตรจักรวาล ส่วนตัวที่อยู่ทางทิศตะวันตกชื่อ พญาปราบเมืองมารเมืองยักษ์

ครั้นเมื่ออาจารย์ภูเดชลงพื้นที่ไปดูป้ายชื่อที่ปักติดตรงฐานรูปปั้นช้างทั้งสองเชือก กลับเขียนสลับกัน แต่ดูแล้วตัวอักษรบนป้ายก็เป็นรุ่นเก่าอยู่ จึงไม่ทราบว่าความผิดพลาดนี้มีขึ้นตั้งแต่ยุคใด ตกลงช้างเชือกไหนชื่ออะไรกันแน่

จะให้ยึดถือตามป้ายที่ติดมาใต้ฐานช้าง หรือจะยึดตามตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ยิ่งขณะนี้กำลังมีการบูรณะประตูช้างเผือกอยู่ด้วย ควรมีการชำระสะสางเรื่องนี้กันหรือไม่?

“เอามื้อส้ายมื้อ” สามสหายช่วยสร้างเมืองเชียงใหม่

อาจารย์เกริกและอาจารย์ภูเดช ลงความเห็นตรงกันว่า เรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างเมืองเชียงใหม่ของพระญามังรายในปี 1839 นั้น “ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่” เป็นเอกสารเพียงฉบับเดียวที่มีการพรรณนาความอย่างละเอียดยิบยิ่งกว่าเอกสารตำนานฝ่ายเหนือฉบับใดทั้งหมด

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ผูกที่ 1-5 นั้นเขียนขึ้นในยุคอาณาจักรล้านนาเรืองอำนาจจริง มิใช่เป็นการมาจินตนาการเสริมแต่งเรื่องราวย้อนหลัง ในสมัยพระเจ้ากาวิละเมื่อแค่ 200 กว่าปีที่ผ่านมา แต่อย่างใดไม่

จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมเรื่องราวช่วงสร้างเมืองเชียงใหม่จึงมีการลงรายละเอียดด้าน ฤกษ์ผานาที ยาม มงคล 7 ประการ สัตว์ในนิมิต ชัยภูมิ การวางระบบชลประทาน การหันทิศทางของบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างว่าให้หันหลังสู่ทิศตะวันตกซึ่งเป็นภูเขา แล้วหันหน้าไปทิศตะวันออกซึ่งเป็นแม่น้ำ บ้านเรือนมีการจัดลำดับความสูงต่ำแบบพม่า

ทุกเรื่องราวเขียนแบบลงลึก อย่างชนิดที่ว่าผู้บันทึกเหตุการณ์มีความเข้าใจถึงภูมิปัญญา วิธีคิดของคนยุค 727 ปีที่ผ่านมาในทุกมิติ จึงสามารถอธิบายได้ว่ารั้วแต่ละต้นมีความสูงเท่าไหร่ หอคำ หอนอน หอน้อย ตั้งอยู่ตรงไหน กาดกลางเวียงใช้เวลาสร้างกี่วัน

ข้อสำคัญ สิ่งที่เป็นประเด็นถกเถียงทางประวัติศาสตร์ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านนี้คือ ประเด็นเรื่องสองสหาย พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งสุโขทัย และพระญางำเมืองแห่งภูกามยาว ได้มาช่วยสร้างเมืองเชียงใหม่จริงหรือไม่?

ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุชัดเรื่องการมาถึงเชียงใหม่ของสหายทั้งสองท่านนี้จริง โดยระบุตำแหน่งแห่งหน การแบ่งหน้าที่ว่าใครได้ช่วยสร้างอะไรบ้าง (ข้อมูลส่วนนี้ ดิฉันเคยนำเสนอไว้แล้วอย่างละเอียดในบทความเรื่อง ส่งท้าย “777 ปีชาตกาลพระญามังราย” แต่ภารกิจการชำระสะสางประวัติศาสตร์ยังไม่จบสิ้น ตอนที่ 3 เผยแพร่วันที่ 6 มกราคม 2560 โปรดหาอ่านย้อนหลังได้)

เมื่อสร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จแล้ว มีการฉลองกินเลี้ยงกันใหญ่โต ลงรายละเอียดถึงขั้นที่ว่า เมนูอาหารแต่ละวันมีอะไรบ้าง วันไหนจัดเลี้ยงรายการใด ล้วนไม่ซ้ำเมนู

ภาษาล้านนามีภาษิตคำว่า “เอามื้อส้ายมื้อ” (ส้าย = ใช้คืนกลับ) แปลว่า หากใครมาช่วยเราปลูกข้าวหรือปลูกบ้านแล้วไซร้ เราก็ต้องช่วยเขากลับคืน คราวนี้คนที่เป็นเจ้าภาพคือ “เชียงใหม่” มีการระบุว่าหากอีกสองเมืองต้องการความช่วยเหลือ ทางเชียงใหม่ยินดีจะยกทีมไปช่วยกลับ

รายละเอียดทั้งหมดนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือได้จริง เพราะยากที่จะยกเมฆขึ้นมาลอยๆ ได้ การเสกสรรปั้นแต่งเหตุการณ์ช่วงสองสหายมาร่วมสร้างเมืองเชียงใหม่ในยุคพระญามังรายอย่างละเอียดยิบเช่นนี้ ไม่น่าจะบังเกิดประโยชน์ใดๆ แก่พระเจ้ากาวิละเท่าใดนัก

คำสอนหรือคำสาปแช่งลูกหลานของพระเจ้ากาวิละ?

อาจารย์ภูเดชชี้ประเด็นสำคัญยิ่ง ด้วยการเปรียบเทียบ “คำสอน” ระหว่างพ่อกับลูก โดยยกคำสอนของ “เจ้าฟ้าชายแก้ว” ขึ้นมาพิจารณาว่า เต็มไปด้วยความรัก ความอบอุ่น เน้นอยู่แต่ว่า ขอให้ลูกๆ รักกัน มีอะไรต้องอภัยกัน อย่าทะเลาะแก่งแย่งกัน ได้ทรัพย์สินมรดกอะไรมา พี่ชายต้องเจือจานแบ่งปันให้น้องๆ

สิ่งที่เองที่ทำให้พระเจ้ากาวิละ โอรสองค์โตของเจ้าฟ้าชายแก้วได้น้องชายที่เข้มแข็งองอาจ รวมตัวเป็นหนึ่งเดียว ช่วยพี่ชายอาสารบทัพจับศึกทั่วทั้งสิบทิศ เหตุเพราะคำสอนที่บ่มเพาะให้รู้รักสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันต่อวงศ์ตระกูลนี่เอง

แต่แล้วไฉน เมื่อหันมาพินิจ “คำสอน” ของพระเจ้ากาวิละที่ปรากฏในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กลับเน้นย้ำอยู่แต่ว่า “ขอให้ลูกหลานของเราจงมั่นจงรักภักดีต่อราชสำนักสยาม ถ้าใครคิดกบฏขอให้มีอันเป็นไป” คำกล่าวเช่นนี้เปรียบประดุจคำสาปแช่งน้องๆ และลูกหลานในวงศ์ตระกูลชัดๆ ซึ่งดูออกจะผิดวิสัยผู้เป็นพ่อและผู้เป็นพี่

อาจารย์ภูเดชจึงสืบค้นที่มาแห่งแนวคิดนี้ของพระเจ้ากาวิละ ว่าอะไรเป็นมูลเหตุให้พระองค์ต้องประกาศเช่นนี้ จากเอกสารในหอจดหมายเหตุวชิรญาณหลายฉบับ ค้นพบว่า ช่วงที่กรมพระราชวังบวรมหาสรุสิงหนาท (วังหน้า พระอนุชาของรัชกาลที่ 1) มีข้อขัดแย้งกับสมเด็จพระเชษฐาธิราช รัชกาลที่ 1 นั้น

รัชกาลที่ 1 มีรับสั่งให้ประหารโอรสสายตระกูลของวังหน้าหลายพระองค์ อาทิ พระองค์เจ้าอินทปัตถ์ พระองค์เจ้าลำดวน รวมไปถึงขุนนางของวังหน้าก็ถูกประหารราว 80 คน ทำให้ “เจ้าครอกศรีอโนชา” หรือ “เจ้ารดจา” น้องสาวของพระเจ้ากาวิละ ผู้เป็นอัครชายาของวังหน้า ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก

อาจารย์ภูเดชพบว่า ช่วงนั้นพระเจ้ากาวิละพยายามสื่อสารไปทางพม่าอังวะให้มาช่วย “คานน้ำหนัก” ด้วยการส่งช้างและทองไปถวายกษัตริย์พม่า คนที่นำสาส์นไปคือท้าวพิมพิสาร แต่แล้วกษัตริย์อังวะกลับหักหลังล้านนาด้วยการส่งคนเหล่านี้กลับไปให้ราชสำนักกรุงเทพ

กลายเป็นว่าทางสยามหันมาเพ่งเล็งอย่างเข้มงวดว่าพระเจ้ากาวิละกำลังก่อการกบฏ (บรรยากาศคล้ายยุคปลายรัชกาลของเจ้ามหาชีวิตอ้าว ที่ล้านนาต้องพยุงสถานการณ์อันเลวร้ายให้ผ่านพ้น โดยที่ถูกสยามจับดูมองทุกฝีก้าว ซ้ำฝ่ายพม่าก็ไม่ยินดียืนเคียงข้าง)

เหตุการณ์ครั้งนั้นนั่นเอง บีบคั้นให้พระเจ้ากาวิละจำต้องแสดงออกอย่างแรงกล้าในทุกวิถีทาง ว่ามีความสวามิภักดิ์และจงรักภักดีต่อสยาม ถึงขนาดต้องประกาศคำสาปแช่งล่วงหน้าต่อลูกหลานในวงศ์ตระกูลของตัวเอง

ไม่มีใครทราบว่าพระองค์เขียนเช่นนั้นด้วยความเต็มใจ หรือกลืนก้อนเลือดไว้ในปาก?

ดังนั้น เวลาเราอ่านตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ คุณค่าที่ได้รับมากกว่าการก้มหน้าก้มตาอ่านแค่เอา “สาร/เนื้อหา” ว่า ใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรแล้ว เราควรอ่านแบบจับประเด็นถอดรหัสนัยที่เคลือบแฝงอยู่ระหว่างบรรทัดเหล่านั้นออกมาให้ได้ด้วย •

 

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ