เกษียร เตชะพีระ : ประวัติศาสตร์นิพนธ์-แผนที่รัฐชาติสยามช่วงก่อนและหลังเสียดินแดน

เกษียร เตชะพีระ

อ่าน Siam Mapped ในวาระ 41 ปี 6 ตุลาฯ (9)

ย้อนอ่าน  (8)  (7) 

เมื่ออ่านหนังสือ Siam Mapped ของ ธงชัย วินิจจะกูล บทที่ 8 ชื่อ Geo-Body and History (ภูมิกายาและประวัติศาสตร์) ผมอดนึกถึง 2 เรื่องไม่ได้ กล่าวคือ :-

1) ข้อความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่อ้างอิงกันกว้างขวางของ George Orwell (ชื่อจริงว่า Eric Arthur Blair, ค.ศ.1903-1950) นักเขียนทวนกระแสชาวอังกฤษชื่อดังในนวนิยายฝันร้ายเผด็จการเบ็ดเสร็จเรื่อง 1984 (ค.ศ.1949, ฉบับแปลไทยโดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง และ อำนวยชัย ปฏิพัทธ์เผ่าพงษ์ พ.ศ.2525) ที่ว่า :

“Who controls the past controls the future. Who controls the present controls the past.”

“ใครควบคุมอดีตไว้ได้ย่อมควบคุมอนาคต ใครควบคุมปัจจุบันไว้ได้ย่อมควบคุมอดีต”

2) คำบรรยายนำของอาจารย์สมเกียรติ วันทะนะ (แห่งคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) เมื่อสามสิบกว่าปีก่อนในชั้นเรียนปริญญาตรีวิชาประวัติศาสตร์นิพนธ์ (historiography) ของอาจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ซึ่งผมเป็นนักศึกษาโข่งกลับออกจากป่ามานั่งฟังอยู่ด้วยว่า

คำว่า “ประวัติศาสตร์” (history) ที่เราใช้ๆ กันนั้น โดยรากศัพท์ของมันมีความหมายแตกต่างกันสองนัยในภาษาละติน ได้แก่ res gestae กับ historum rerum gesterum (พูดจากความจำแท้ๆ หากสะกดผิด ขออภัย)

โดยที่คำแรกคือ res gestae หมายถึงตัวเหตุการณ์ในอดีตที่ได้เกิดขึ้นจริง (the past)

ขณะที่คำหลังคือ historum rerum gesterum นั้นหมายถึงงานเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตอีกทีหรือถ้าพูดให้เคร่งครัดยิ่งขึ้นก็คือ ประวัติศาสตร์นิพนธ์ (historiography) นั่นเอง

และความสัมพันธ์อันแยบยลยอกย้อนระหว่างนัยทั้งสองของประวัติศาสตร์ก็คือ ขณะที่ประวัติศาสตร์ในความหมายแรกอันได้แก่ตัวเหตุการณ์ในอดีต (res gestae/the past) ได้เกิดขึ้นแล้ว จบสิ้นไปแล้ว แน่นอนตายตัวเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้วนั้น

แต่ประวัติศาสตร์ในความหมายหลังอันได้แก่งานเขียนหรืองานนิพนธ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต (historum rerum gesterum/historiography) กลับยังคลี่คลายพลิกผันหลากหลายไปได้ไม่สิ้นสุด ขึ้นอยู่กับหลักฐานที่ค้นพบและมุมมองของนักประวัติศาสตร์ในชั้นหลังผู้เขียนถึงเหตุการณ์นั้นๆ ซึ่งย่อมเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามกาลเทศะ บริบทสถานการณ์ จุดยืนทรรศนะอุดมการณ์ โดยหาได้ถูกสะกดให้หยุดนิ่งแน่นอนตายตัวไปตามอดีตที่มันเขียนถึงไม่

พูดอีกอย่างก็คือ ประวัติศาสตร์ในความหมายเหตุการณ์ในอดีตตายแล้ว แต่ประวัติศาสตร์ในความหมายประวัติศาสตร์นิพนธ์กลับยังมีชีวิตเป็นๆ เคลื่อนไหวอยู่ หาได้ตายตามไปด้วยไม่ – นั่นเอง

ข้อเสนอของธงชัยในบทที่ 8 นี้ก็คือการจุติขึ้นของภูมิกายาสยาม (รูปขวานหรือกระบวยตักน้ำ) ด้วยอำนาจเทคโนโลยีแผนที่สมัยใหม่ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ได้ส่งผลกระทบพลิกโฉมประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทย ผ่านมุมมองชาตินิยมผิดกาละ (anachronistic nationalist perspective) ของนักประวัติศาสตร์ และอุปกรณ์ผิดกาละ (anachronistic device) ในการมองอดีตอันได้แก่แผนที่สมัยใหม่

ประหนึ่งว่าภูมิกายาสยามได้จูงมือนักประวัติศาสตร์ไทยนั่ง time machine ไปย้อนเวลาหาอดีต แล้วสะกดนักประวัติศาสตร์ให้มองเห็นอดีต เข้าใจอดีต ผ่านเงาร่างตัวตนของภูมิกายาสยามเองที่ทาบทับลงไปบนแผนที่ภูมิทัศน์ในอดีตนั้น

ทั้งที่เอาเข้าจริงไม่ว่าแผนที่ภูมิทัศน์แบบรัฐชาติที่มีเส้นรอบขอบชิดบนลูกโลกทรงกลมก็ดี หรือภูมิกายาสยามก็ตาม ล้วนเป็นสิ่งผิดกาละ (anachronisms) ไม่ได้ดำรงอยู่ในอดีตกาลก่อนหน้ารัชกาลที่ 5 ทั้งนั้นทั้งสิ้น

แต่ด้วยอิทธิอำนาจของภูมิกายาสยาม ประวัติศาสตร์นิพนธ์ของไทยหรือนัยหนึ่งเรื่องเล่าเกี่ยวกับเมืองไทยในอดีตก็เปลี่ยนโฉมไป เหมือนหนึ่งเรื่องเล่าในนวนิยายที่เปลี่ยนพล็อต (plot) หรือโครงเรื่องไปนั่นเอง

แผนที่รัฐชาติสมัยใหม่ผิดกาละและภูมิกายาสยาม (หรือนัยหนึ่งจินตนากรรมชุมชนชาติสยามในทางพื้นที่ the spatially-imagined national community of Siam) ผิดกาละจึงเป็นที่มาของ “ประวัติศาสตร์การเสียดินแดนของไทย 14 ครั้ง”

ประหนึ่งว่าภูมิกายาสยามที่เคยยิ่งใหญ่เบ้อเริ่มเทิ่มถูกมหาอำนาจภายนอกลิดรอนบั่นทอนแขนขาอวัยวะส่วนต่างๆ ไปตามลำดับจนเหลืออยู่แค่ขวานทองเล่มเล็กๆ หรือกระบวยตักน้ำอันน้อยๆ เท่าที่เห็น (ในแผนที่ปัจจุบัน) นั่นเอง

ธงชัยชี้ว่าที่เห็นไปเช่นนั้นได้ ก็ด้วยกลยุทธ์ที่ใช้ในการเล่าเรื่องเมืองไทยในอดีต 3 ประการด้วยกัน กล่าวคือ

1) ยืนหยัดตั้งมั่นอยู่บนสมมุติฐานว่าภูมิกายาสยาม (บนแผนที่) มีมาแต่ก่อนแต่กี้แต่ไหนแต่ไรแล้ว

2) ตีความเหตุพิพาทแก่งแย่งอำนาจระหว่างรัฐในอดีตผ่านบริบทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและระบอบอาณานิคมสมัยใหม่

3) สวมมุมมองของเจ้านายขุนนางบางกอกในความขัดแย้งกับมหาอำนาจอาณานิคม

และแล้ว historum rerum gesterum (ประวัติศาสตร์นิพนธ์) ผิดกาละก็เอื้ออำนวยให้ภูมิกายาสยามเอื้อมอ้อมแขนเข้าโอบรัดยึดครองอดีต (res gestae) และยึดครองความทรงจำที่เพิ่งสร้างของผู้คนพลเมืองให้มาขึ้นต่อลัทธิชาตินิยมไทยในปัจจุบันไว้อย่างเหนียวแน่น

โดยภาพรวม ประวัติศาสตร์นิพนธ์หรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับอดีตของไทย ได้เผชิญรอยแยกแตกหักที่ทำให้สะดุดถลำถลาก ไปต่อได้ลำบากหรือกระทั่งไปไม่เป็นอยู่ 4 จุดด้วยกันได้แก่ :

พ.ศ.2325 สิ้นกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นใหม่

พ.ศ.2436 วิกฤตการณ์พิพาทกับฝรั่งเศสและเสียดินแดน ร.ศ.112

พ.ศ.2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบบรัฐธรรมนูญ

พ.ศ.2519 การล้อมปราบสังหารหมู่ที่ธรรมศาสตร์และรัฐประหาร 6 ตุลาคม

จึงมีความจำเป็นที่นักประวัติศาสตร์แห่งชาติต้องหาทางเกลี่ยกลบรอยแตกนั้นให้กลับราบลื่นไร้รอยตะเข็บราวภูษิตแพรไหมฟ้า ด้วยการปรุงแต่งพล็อตประวัติศาสตร์ชาติไทยขึ้นมา อาทิ

สําหรับรอยแยกแตกหักจุดแรกปี2325 ปรากฏว่านายนรินทรธิเบศร์ (อิน) มหาดเล็ก ฝ่ายพระราชวังบวร (วังหน้า) ในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้แต่งโคลงนิราศเมื่อคราวตามเสด็จสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาเสนานุรักษ์ ยกกองทัพหลวงไปปราบพม่าซึ่งยกลงมาตีเมืองถลางและชุมพร ในช่วงต้นรัชกาลที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2352 ตอนหนึ่งว่า (http://vajirayana.org/โคลงนิราศนรินทร์) :

อยุธยายศล่มแล้ว ลอยสวรรค์ ลงฤๅ

สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร- เจิดหล้า

บุญเพรงพระหากสรรค์ ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ

บังอบายเบิกฟ้า ฝึกฟื้นใจเมือง

พอถอดความได้ว่า ถึงแม้จะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าไปแล้ว แต่ (กรุงรัตนโกสินทร์) ที่แลเห็นรุ่งเรืองแก่ตาอยู่บัดนี้ ช่างราวกับกรุงศรีอยุธยาลอยเลื่อนกลับลงมาจากสวรรค์กระนั้นหรือไฉน ปราสาทราชวังช่างงดงามวิจิตรบรรเจิดตระการแผ่นดินเสียนี่กระไร น่าจะเป็นกุศลผลบุญที่พระองค์ทรงบำเพ็ญไว้แต่ชาติปางก่อน จึงอำนวยให้พระองค์ได้บำรุงพระศาสนาให้รุ่งเรืองขึ้น และปิดช่องทางแห่งความฉิบหายชั่วร้ายลง เปิดช่องทางแห่งความสว่างรุ่งโรจน์ขึ้น โดยอบรมฝึกฝนให้อาณาประชาราษฎร์ฟื้นตื่นจากความลุ่มหลงมัวเมาในอกุศลบาปกรรม

เพียงเท่านี้ รอยแยกกรุงแตกก็กลืนหายไปกับการเกิดซ้ำจุติใหม่ของกรุงเก่า เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงสร้างสรรค์บำรุงพระพุทธศาสนาและเผยแผ่พระธรรมคำสอนในหมู่ราษฎรสืบต่อไปเหมือนเดิมนั่นเอง

ในทำนองเดียวกัน นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งก็เคยโพสต์ทางเฟซบุ๊กประกาศเมื่อเดือนพฤศจิกายน ศกก่อน ว่า หากถึงกำหนดเส้นตายวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2559 ตนกับเพื่อนๆ จะไปเอา “หมุดคณะราษฎร” ออกหรือทำให้หมดสภาพเอง (https://prachatai.com/journal/2016/11/68621) ซึ่งก็จะส่งผลกลบเกลี่ยรอยแยกแตกหักในทางสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

ช่วยให้ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมสามารถดำเนินไปตามวิถีได้อย่างราบลื่นไม่สะดุดนั่นเอง