การปฏิวัติ 2475 บนเส้นทางวิบาก 91 ปี ยังสู้กับอำนาจเก่า เหมือนเดิม (จบ)

มุกดา สุวรรณชาติ

อำมาตยาธิปไตย
จะย่างเข้าสู่ปีที่ 18 ได้หรือไม่?
เพราะอะไร?

หลังการเลือกตั้ง 2548 เมื่อนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้รับชัยชนะท่วมท้น 377 เสียงจาก 500 กลุ่มอำนาจเก่าจึงมีการปรับเปลี่ยนยุทธวิธีและบูรณาการกำลังต่างๆ เพื่อทำการยึดอำนาจ สืบทอดอำนาจและปกครอง ถ้าสังเกตจากการยึดอำนาจปี 2549 มีการใช้ม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยึดทำเนียบ ปิดสนามบิน และตุลาการภิวัฒน์ รวมทั้งใช้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มาเปลี่ยนขั้วในปี 2551

ในปี 2556 หลัง ปชป.แพ้เลือกตั้ง กลุ่มอำนาจเก่าใช้ม็อบ กปปส.ปิดกรุงเทพฯ ขัดขวางการเลือกตั้ง ใช้ตุลาการภิวัฒน์ และรัฐประหารในปี 2557

จะเห็นว่าการพัฒนาการแย่งชิงอำนาจและการสืบทอดอำนาจ มิได้เป็นแบบเก่าที่มีทหารขับรถถังออกมาแล้วก็ยึดสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ ประกาศการรัฐประหารแล้วก็เข้าปกครอง

แต่ในยุคหลังนี้ต้องสร้าง Story หลอกล่อมวลชนฝ่ายขวาให้เข้าร่วมม็อบที่ออกมาขับไล่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง จากนั้นจึงจะตามด้วยการยึดอำนาจด้วยกำลังหรือตุลาการภิวัฒน์

ความต้องการยึดอำนาจของกลุ่มอำนาจเก่า จึงเป็นต้นเหตุของการทำลายประชาธิปไตย จากนั้นก็พยายามรักษาอำนาจด้วยการออกไข่เป็นร่างรัฐธรรมนูญ ที่ดีไซน์ให้ได้เปรียบฝ่ายตรงข้าม ซึ่งต่อให้ชนะเลือกตั้ง ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ แบบทุกวันนี้

อำนาจที่ชี้ถูกผิด เป็นตาย ล้วนมาจากการแต่งตั้ง คือ ส.ว. องค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่รื้อโครงสร้างอำนาจที่ทำลายเสียงประชาชน อำมาตยาธิปไตยจะดำรงอยู่ต่อไป ตัวอย่างคือวันนี้ 24 มิถุนายน 2566 แม้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะเลือกตั้งมาเกิน 300 จาก 500 ก็ยังไม่อาจตั้งรัฐบาลได้

ในกระแสก้าวหน้าที่แรงมาก ถ้ากลุ่มอำนาจเก่ากล้าขัดขวาง จะทำให้การเมืองในช่วงเวลาต่อจากนี้ฝ่ายประชาธิปไตยจะปะทะกับอิทธิพลของกลุ่มอำนาจเก่าทุกรูปแบบ ผลแพ้ชนะยังตอบไม่ได้

 

ปรับแผนสกัดก้าวไกลและพิธา

ศัตรูทางการเมืองของก้าวไกลและพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คือ กลุ่มอำนาจเก่า เหมือนเดิม

ดูบทเรียนการกำจัดศัตรูทางการเมืองของกลุ่มอำนาจเก่า ในอดีต พวกเขาคิดว่าพลาดไปที่ปล่อยให้นายกฯ ทักษิณอยู่ถึง 5 ปี จึงกำจัดออกจากการเมืองไม่ได้แม้ผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว การปล่อยให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ 2 ปีครึ่ง ก็พลาดอีก คนยังถามถึงจนทุกวันนี้

ดังนั้น แคนดิเดตนายกฯ อย่างธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในปี 2562 เมื่อกลุ่มอำนาจเก่าเห็นนโยบาย ก็อยากกำจัดออกไปจากการเมืองเร็วที่สุด แม้เข้าสภายังไม่ยอม

การเลือกตั้ง 2566 เมื่อเห็นความนิยมต่อพรรคก้าวไกลและพิธา เป้าหมายจึงเหมือนเดิมคือการขัดขวางไม่ให้พรรคก้าวไกลได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและไม่ให้ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถ้าทำให้หลุดไปเป็นฝ่ายค้านยิ่งดี

ที่จริงแล้วกลุ่มอำนาจเก่าอยากให้รัฐบาลเดิมได้เป็นนายกฯ และเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล แต่มีปัญหาเพราะเสียงของฝ่ายรัฐบาลเดิมรวมกันได้เพียง 180 กว่าเสียง

แม้มีโอกาสจะตั้งนายกฯ ได้มากกว่าเนื่องจากมี ส.ว.หนุนเกิน 200 แต่ไม่สามารถอยู่อย่างมั่นคงได้ การจะใช้ลิงและงูเห่าช่วยสนับสนุนก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หากทุ่มทุนไปมากแต่ถูกล้มในระยะสั้นจะไม่คุ้มกัน

สถานการณ์มาถึงปัจจุบันเมื่อมีการประกาศรับรอง ส.ส.จำนวน 500 คน ทีมวิเคราะห์จึงประเมินว่าขณะนี้เกมได้ดำเนินมาถึงจุดที่กลุ่มอำนาจเก่ายอมรับแล้วว่า ความเป็นไปได้คือการที่จะกำจัดพิธาออกจากตำแหน่งนายกฯ ด้วยคดีหุ้นสื่อไอทีวีก็ดูแล้วว่าจะไม่ได้ผล

ต้องใช้ทางที่ 2 ก็คือเมื่อมีการเสนอชื่อเข้าไปเลือกนายกฯ ก็ไม่ให้ ส.ว.สนับสนุนเมื่อเสียงไม่ถึง 376 ก็เป็นนายกฯ ไม่ได้ แม้เสนอ 2-3 ครั้งแล้วยังไม่ได้ กลุ่มอำนาจเก่าก็ประเมินว่าฝ่ายประชาธิปไตย 8 พรรคก็ต้องเปลี่ยนตัว มาเป็นนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ถ้า 2 พรรคใหญ่ขัดแย้ง แตกแยกกัน พรรครัฐบาลเดิมก็เข้าแทรกได้

นี่คือการเร่งเกมของอำนาจเก่าที่ต้องการแสดงให้สังคมเห็นว่า ก้าวไกลตั้งนายกฯ ไม่ได้

 

การชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
จะบอกทิศทางการเมือง

กรณีที่ 1 ถ้าหากว่าคนของพรรคก้าวไกลได้เป็นประธานสภาโดยมีเสียงของพรรคประชาธิปไตย 8 พรรคร่วมสนับสนุน เกมการเมืองมีโอกาสดำเนินไปตามปกติแม้จะฝ่าฟันด่าน ส.ว.ยากสักหน่อย

แสดงว่าที่ผ่านมา มีการใช้ตำแหน่งประธานสภาในการต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรี ยิ่งตอนนี้ตำแหน่งประธานสภามีความสำคัญมากก็สามารถต่อรองกับกระทรวงใหญ่ๆ ได้

คนที่มาเคลื่อนไหวเรื่องตำแหน่งประธานสภาจำนวนหนึ่งไม่ได้สนใจตำแหน่งนี้จริงจัง แต่สนใจที่จะใช้ตำแหน่งนี้ไปต่อรองกระทรวงต่างๆ เพิ่มขึ้น

ถ้าไม่ได้กระทรวงใหญ่ก็ขอเป็นกระทรวงเล็กหลายกระทรวงเพื่อกลุ่มของตนเองและพรรคพวกตนเองจะได้มีฐานะเป็นรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีช่วยเพิ่มขึ้น

กลุ่มคนเหล่านี้รู้อยู่แล้วว่าตัวเองไม่ได้เป็นประธานสภาและก็ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกฯ แต่สามารถจะเข้าไปเป็นรัฐมนตรีช่วยหรือรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ ได้

นี่ต่างหากคือผลประโยชน์ที่แท้จริง และนี่คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการต่อรองซึ่งมีลักษณะเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมือง

กรณีที่ 2 เกมเปลี่ยนนายกฯ

ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯ ซึ่งก็คือตำแหน่งประธานรัฐสภามีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นผู้กำหนดการประชุมรัฐสภา ที่จะให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรี เลือกเมื่อไร และถ้าไม่สำเร็จจะให้เลือกกี่ครั้ง

ในขณะเดียวกันก็ยังไม่แน่ว่าฝ่ายรัฐบาลเดิมซึ่งมี 180 กว่าเสียงจะเสนอชื่อเข้ามาแข่งขันชิงประธานสภาหรือไม่เพราะตัวเลข 180 กว่ามากกว่าทั้ง 141 และ 151

นอกจากนี้ ในการแข่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถ้าเลือกไม่สำเร็จหลายครั้งกลุ่มรัฐบาลเก่าอาจจะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีมาแข่งซึ่งก็สามารถชนะได้ด้วยเสียง ส.ว. เพราะรวมกันแล้วเกิน 376 แน่นอน สามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย

ถ้าพรรคเพื่อไทยคิดว่า ก้าวไกลทำไม่สำเร็จ และพรรคตนเองพร้อม จึงอยากได้ตำแหน่งประธานสภา ถ้าเกิดมีเกมแย่งประธานสภาและชัยชนะตกอยู่กับพรรคเพื่อไทย คนทั่วไปย่อมจะวิเคราะห์ว่ามีสัญญาณผิดปกติ และประเมินว่าก้าวไกลจะไม่สามารถเสนอชื่อนายกฯ สำเร็จ สุดท้ายก็จะต้องเปลี่ยนเป็น candidate นายกฯ ของเพื่อไทย

ซึ่งจะต้องดูต่อไปว่าก้าวไกลและเพื่อไทยจะเดินเกมอย่างไร

 

ถ้าเพื่อไทยแค่ร่วมรัฐบาล
จะรับแรงกดดันน้อยมาก

เพราะก้าวไกลที่เป็นนายกฯ จะทำนโยบายเปลี่ยนโครงสร้างเอง

แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนหัวมานั่งตำแหน่งนายกฯ ก็ไม่ได้เดินเกมอย่างสะดวก เพราะถ้าก้าวไกลออกไปเป็นฝ่ายค้าน และเพื่อไทยหันไปเอาพรรครัฐบาลเก่าที่ประชาชนไม่พอใจมาร่วมรัฐบาล การต่อต้านครั้งใหญ่ก็จะเกิดขึ้น รัฐบาลอาจจะล้มตั้งแต่ยังไม่ทันก้าวเดิน

อีกทางก็คือแม้แรงกดดันที่จะไม่ให้ก้าวไกลเป็นรัฐบาลจะมีสูงมาก แต่ถ้าก้าวไกลไม่ยอมถอยและล็อกติดกับพรรคเพื่อไทยไว้ กลุ่มอำนาจเก่าก็จะเดินเกมไม่ถนัดและก้าวไกลก็ยังได้เป็นรัฐบาล ถ้าผลักดันเรื่องใหญ่ให้สำเร็จ เช่น ยกลิกบังคับเกณฑ์ทหาร แก้รัฐธรรมนูญ ฯลฯ เมื่อได้รัฐธรรมนูญใหม่ใน 2 ปี ก็สามารถเลือกตั้งใหม่ได้

แม้ทำให้กลุ่มอำนาจเก่าไม่พอใจ แต่ก็ทำอะไรลำบากนอกจากหาเรื่องยุบพรรคหรือทำรัฐประหาร ซึ่งก็ไม่ใช่ง่ายและเชื่อว่าปฏิกิริยาการต่อต้านก็จะรุนแรงตามมาทันที

การเลือกประธานสภาครั้งนี้ นอกจากจะดูว่ามาจากพรรคใด ทำไมทุกพรรคไม่ดูว่าใครเหมาะที่สุด ทั้งในมุมวางตัวเป็นกลางในตำแหน่งนี้ ความสามารถในการทำงาน จุดยืนประชาธิปไตย

การต่อสู้กับอำนาจเก่าในยกนี้ เป็นจังหวะรุกของฝ่ายประชาธิปไตย ที่เป็นก้าวสำคัญ ถอยไม่ได้ แต่ต้องเดินหน้าอย่างระมัดระวัง พอครบ 100 ปีการปฏิวัติประชาธิปไตยก็น่าจะสำเร็จ