‘ศีรษะ’ ใช้กับสัตว์เลื้อยคลานได้

ญาดา อารัมภีร

หัว – ศีรษะ (3)

 

อ่านหนังสือ นอกจาก ‘รู้เรื่อง’ และ ‘รู้รส’ ยังได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของถ้อยคำสำนวน สมัยนี้ไม่ใช้คำว่า ‘ศีรษะ’ กับสัตว์แล้ว แต่สมัยก่อนตรงกันข้าม ใช้ได้ทั่วถึงทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์เลื้อยคลาน เรียกขานกันเป็นธรรมดาไม่มีอะไรพิเศษ ทั้งสัตว์ในชีวิตจริง และในจินตนาการของกวี

ในนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” กวีใช้คำว่า ‘ศีรษะ’ กับสิงโตและม้านิลมังกร สินสมุทรปราบสิงโตอยู่หมัดจนได้ครอบครัวสิงโตเป็นบริวาร ลักษณะพิเศษคือมีดวงตาเป็นประกายดังดวงดาว

“ลูกทั้งคู่ผู้เมียเตี้ยตุบหลุบ มาหมอบฟุบฟอกสีสำลีขาว

ตัวพ่อแม่แลลายดูพรายพราว ล้วนเล็บยาวเป็นทองแดงยิ่งแรงครัน

ทั้งเขี้ยวสุกทุกตัวสลัวเหลือง เอาไปเมืองจะได้ขี่ดีขยัน”

……… ฯลฯ ……..

“พระเป่ามนต์ประสมจิตอิศโร เรียกสิงโตเต้นเข้ามาหาทุกตัว

จึงเสกน้ำซ้ำประศีรษะให้ แล้วลูบไล้สารพางค์ทั้งหางหัว”

สุดสาครได้ม้านิลมังกรเป็นพาหนะด้วยความช่วยเหลือของพระโยคี กวีใช้คำว่า ‘ศีรษะ’ หลายที่ด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ตอนสุดสาครเล่าว่าพบสัตว์ประหลาด สู้กันอยู่นาน ปราบมันไม่ได้ พระอาจารย์เข้าฌานรู้ว่าเป็นลูกผสมระหว่างม้าและมังกร

“ครั้นลูกมีศีรษะมันเหมือนพ่อ ตัวตีนต่อเหมือนแม่ช่างแปรผัน

หางเป็นนาคมาข้างพ่อมันต่อพันธุ์ พระนักธรรม์แจ้งกระจ่างด้วยทางฌาน

จึงนึกว่าม้านี้มันมีฤทธิ์ จำจะคิดจับไว้ให้พระหลาน

ได้ตามติดบิตุรงค์พบวงศ์วาน ………………………………..”

สุดสาครใช้เวทมนตร์และหวายเสกของพระโยคีไปผูกรั้งม้าแทนบังเหียน

“เอาวงหวายสายสิญจน์สวมศีรษะ ด้วยเดชะพระเวทวิเศษขลัง

ม้ามังกรอ่อนดิ้นสิ้นกำลัง ขึ้นนั่งหลังแล้วกุมารก็อ่านมนต์

ได้เจ็ดคาบปราบม้าสวาหะ แล้วเป่าลงตรงศีรษะสิ้นหกหน

อาชาชื่นฟื้นกายไม่วายชนม์ ให้รักคนที่ขึ้นขี่ดังชีวา”

สุดสาครควบม้าเล่นอย่างเบิกบานใจ

“ขี่ขยับขับขึ้นบนเกาะแก้ว ยิ่งคล่องแคล่วควบกระโดดโขดไศล

เที่ยวเลียบรอบขอบเกาะเหมือนเหาะไป ประเดี๋ยวใจถึงศาลาพระอาจารย์

เห็นครูอิงพิงหมอนนั่งถอนหนวด แกล้งควบอวดอัยกาตรงหน้าฉาน

ทรามคะนองลองเชิงเริงสำราญ พระอาจารย์นั่งหัวร่อพ่อนี่นา

อย่าควบนักชักวงมาตรงนี้ จะดูศีรษะมันขันหนักหนา

กุมารลงทรงจูงอาชามา ถึงตรงหน้านอบนบอภิวันท์”

 

“นิราศเมืองเพชร” กล่าวถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำ ได้แก่ โลมาและปู โลมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีทะเลมหาสมุทรเป็นที่อาศัย กวีบรรยายว่าสัตว์ชนิดนี้มีหัวลื่นล้านเลี่ยน

“กลางสมุทรผุดโผล่ล้วนโลมา ดูหน้าตาแต่ละตัวน่ากลัวเกรง

ล้วนหัวบาดวาดหางไปกลางคลื่น ศีรษะลื่นเตียนโล่งดูโจ่งเหม่ง”

นอกจากนี้ กวียังใช้คำว่า ‘ศีรษะ’ กับสัตว์เล็กกว่าโลมา แสดงว่าคำนี้ใช้ได้กับสัตว์ไม่จำกัดขนาด

“โอ้เอ็นดูปูไม่มีซึ่งศีรษะ เท้าระกะก้อมโกงโม่งโค่งขัน

ไม่มีเลือดเชือดฉะปะแต่มัน เป็นเพศพันธุ์ไร้ผัวเพราะมัวเมา”

แม้สัตว์เลื้อยคลาน เช่น จระเข้ ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ก็ใช้คำว่า ‘ศีรษะ’ ดังตอนที่บรรยายถึงเถนขวาดแปลงกายเป็นจระเข้ร่างมหึมา

“เขี้ยวขาวยาวออกนอกปากโง้ง ฟาดโผงร้องเพียงเสียงฟ้าผ่า

โตใหญ่ตัวยาวสักเก้าวา ขึ้นวิ่งร่าหลังน้ำด้วยลำพอง”

จระเข้เถนขวาดที่ ‘ใหญ่ยาวราวพระยาชาละวัน’ อาละวาดตลอดทางที่ล่องน้ำมา จระเข้เจ้าถิ่นกลัวหัวหด สัตว์ทั้งหลายตายเป็นเบือ

“เหล่าจระเข้เก่าเป็นเจ้าถิ่น บ้างมุดดินซ่อนตัวซุกหัวหาย

บ้างลงหนองหนีตัวด้วยกลัวตาย บ้างตะกายขึ้นบกมุดรกไป

พ้นบ้านตลาดกรวดรวดเร็วมา ควายช้างขวางหน้าเข้าไม่ได้

ฟาดฟัดกัดตายก่ายกันไป เลยไล่ล่องน้ำร่ำลงมา”

ผู้คนเดือดร้อนกันทั่วหน้ายามจระเข้ขึ้นบกโผล่กลางงานวัด

“จระเข้คาบได้นางแม่ค้า ทำศักดาโดดดำแม่น้ำลั่น

อมแต่หัวตัวออกไว้นอกฟัน คนบนบกอกสั่นทุกคนไป

จระเข้คาบผู้หญิงวิ่งแหวกว่าย ชูถวายพระอิศวรทวนน้ำไหล

เห็นแต่คนก้นขาวเท้าแกว่งไกว จนใจไม่อาจแก้แต่สักคน”

ความร้ายกาจของจระเข้เถนขวาดมาถึงกรุงศรีอยุธยาในที่สุด ท่านเจ้าคุณอธิบดีตำรวจรีบเข้าเฝ้ากราบทูลสมเด็จพระพันวษาทันที

“บัดนี้เกิดมีซึ่งกุมภา ลงมาแต่เหนือว่าเหลือร้าย

แต่ศีรษะยาวกว่าห้าศอกเศษ ทำฤทธิ์เดชกินคนเสียมากหลาย

เข้ามาลอยล่องลำพองกาย ขึ้นว่ายทวนคงคาหน้าโรงเรือ”

 

ไม่เพียงใช้คำว่า ‘ศีรษะ’ กับสัตว์เลื้อยคลานเช่นจระเข้ กวียังใช้คำว่า ‘สัตว์ศีรษะคลาน’ ใน “มหาเวสสันดรชาดก” กัณฑ์สักกบรรพ ตอนที่พระอินทร์แปลงร่างเป็นพราหมณ์ตรัสถามทุกข์สุขของพระเวสสันดรขณะบำเพ็ญพรตในป่าว่า “เมื่อท่านอยู่สร้างพรตภาวนา ณ ที่นี้ เหลือบยุงริ้นร่านและสัตว์ศีรษะคลานมีอยู่น้อยไม่สู้ชุมแลฤๅ”

พระเวสสันดรตอบว่า “เมื่อเราอยู่ที่นี้จะต้องกระวายกระวนด้วยเหลือบยุงริ้นร่าน และสัตว์ศีรษะคลานมีพิษต่างๆ ก็เป็นห่างๆ ไม่มากนักพอทนได้”

‘สัตว์ศีรษะคลาน’ ในที่นี้คือ ‘สัตว์เลื้อยคลาน’ ลองนึกภาพงู กิ้งกือ ไส้เดือน เวลาเลื้อยก็เอาหัวและลำตัวคลานแนบไปกับพื้น นอกจากนี้ เมื่อเทียบคาถาใน “มหาเวสสันดรชาดก” กับคาถาและคำแปลใน “มหาชาติคำหลวง” กัณฑ์เดียวกันแล้ว ทำให้ทราบว่าสัตว์เลื้อยคลานดังกล่าวคือ ‘งู’ นั่นเอง

“อปฺปเมว สิรึสปา งูเงี้ยว เขี้ยวขอนอนาทรธ ยงงมี โสดฤๅ” และ “อปฺปเมว สิรึสปา งูพิศม์เขี้ยวเงี้ยวพิศม์เขน ก็บเปนอันตกแก่เรา โสดเลย”

ฉบับนี้ ‘ศีรษะ’ เป็นพระเอก ฉบับหน้า ‘กีฬาในร่ม’ •

 

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร