กรณี ‘หยก’ กับสังคมการเมืองไทยยุค ‘ก้าวไกล’ | ปราปต์ บุนปาน

วิวาทะตั้งแต่เรื่องชุดนักเรียน การมอบตัวเข้าเรียน ตัวตนผู้ปกครอง ตลอดจนกรณีการดื้อแพ่ง-อารยะขัดขืนอื่นๆ ระหว่าง “หยก-ธนลภย์ ผลัญชัย” เยาวชนวัย 15 ปี กับ “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ” นั้นน่าสนใจ

น่าสนใจเพราะเนื้อหาของวิวาทะเอง

น่าสนใจเพราะปฏิกิริยาจากผู้คนในสังคม ซึ่งมีคนเชียร์หยกไม่น้อย แต่ก็มีคนต่อต้านวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการต่อสู้เคลื่อนไหวของเธอเป็นจำนวนมาก

ในกลุ่มหลังนี้ มี “พลเมืองฝ่ายประชาธิปไตย” ที่เพิ่งลงคะแนนเลือกพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยอยู่ก็เยอะ

และน่าสนใจยิ่งขึ้น เมื่อพิจารณาว่านี่คือระลอกความเปลี่ยนแปลงที่ก่อตัวขึ้นในบรรยากาศราวหนึ่งเดือนภายหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

ที่คนจำนวนมากในประเทศไทยได้สะท้อนความคาดหวัง-ความต้องการออกไปว่า พวกเขากำลังต้องการ “ความเปลี่ยนแปลงใหญ่”

 

จุดแข็งหนึ่งซึ่งนำไปสู่ชัยชนะของพรรคก้าวไกล ก็คือ การสามารถยึดโยงรวบรวมความคิด-ความฝันของขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ในสังคมไทยร่วมสมัย มาบรรจุอยู่ในหีบห่อนโยบายชุดเดียวกัน หรือภายใต้ร่มทางอุดมการณ์คันเดียวกัน

นี่คือศักยภาพที่ดึงดูดผู้คนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศในด้านต่างๆ ให้มาร่วมทำงานกับก้าวไกลหรือร่วมกากบาทเลือกพรรคการเมืองพรรคนี้

ไม่ว่าพวกเขาจะต้องการแก้ไขกฎหมายมาตราสำคัญ ปรับปรุงโครงสร้างอำนาจทางการเมืองของประเทศผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ปฏิรูประบบราชการ สนับสนุนเรื่องสมรสเท่าเทียมและสุราก้าวหน้า เรื่อยมาถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ฯลฯ

แม้พลังสายต่างๆ เหล่านี้ จะผนึกกันอย่างแน่นหนาในวันเลือกตั้ง แต่ก็อาจแตกกระจายออกจากกัน หรือมีความย้อนแย้งซึ่งกันและกันได้ทุกเมื่อ

เพราะไม่มีใครปฏิเสธความจริงที่ว่า ทุกๆ “พลังเสรีนิยม” ย่อมมี “องค์ประกอบอนุรักษนิยม” เจือปนอยู่ ทุกๆ “พลังก้าวหน้า” ย่อมมี “องค์ประกอบแห่งความล้าหลัง” ปะปนอยู่

 

ต้องยอมรับว่าวิวาทะ-ข้อถกเถียงเรื่อง “หยก” นั้นวางอยู่บนรากฐานที่วุ่นวายซับซ้อนมากพอสมควร

ทั้งประเด็นความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชั่น ที่วัยรุ่นปัจจุบันมีระยะห่างจากคนรุ่นก่อนๆ เยอะมาก

โดยเฉพาะระหว่างวัยรุ่นอายุไม่เกิน 20 กลางๆ กับคนรุ่นพ่อแม่ที่มีวัย 40 ปีขึ้นไป

เพราะทั้งสองกลุ่มเสพสื่อไม่เหมือนกัน เข้าถึงความรู้-ข้อมูลคนละชุดกัน มีรสนิยมผิดแผกกัน ความเชื่อ-มุมมองต่อโลกก็แตกต่างกัน และมีจุดร่วมกันน้อยมาก (แม้แต่ในทางวัฒนธรรมและกิจกรรมนันทนาการต่างๆ)

จึงไม่ง่ายเลยที่คนสองกลุ่มสองวัยจะพูดคุยกันได้รู้เรื่องและราบรื่น

ถ้ามองว่าคนชั้นกลางวัย 30-40 ปี คือกองเชียร์-กองหนุน-กองต้าน-กองค้านที่กระตือรือร้นในกรณีของ “หยก” คนกลุ่มนี้เองก็มีอัตลักษณ์อันหลากหลาย

กล่าวคือ บางคนมีสถานะเป็นพ่อเป็นแม่ และมีครอบครัวของตนเองเรียบร้อยแล้ว บางคนมีครอบครัว มีคู่ชีวิต แต่เลือกที่จะไม่มีลูก ส่วนบางคนก็เป็นโสด ไม่มีครอบครัว ไม่มีทั้งคู่ชีวิตและลูก

มุมมองที่ปะทะสังสรรค์กันว่าด้วยการต่อสู้ต่อต้านของ “หยก” จึงไม่ใช่แค่เรื่องความแตกต่างระหว่างคนสองวัย แต่เป็นความแตกต่างระหว่างคนหลายกลุ่มในสังคม ที่มีประสบการณ์ชีวิตไม่เหมือนกัน

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีมุมมอง-วิธีคิดแตกต่างกันเพียงไหน ทว่า พลังของวัยรุ่นอย่าง “หยก” และคนรุ่นเดียวกันรายอื่นๆ รวมทั้งพลังของผู้ใหญ่อีกหลายวัย ได้ร่วมกันผลักดัน “ความเปลี่ยนแปลงใหญ่” ให้อุบัติขึ้นแล้ว ผ่านผลการเลือกตั้ง

คำถามคือ พลังทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ปรารถนาสังคมการเมืองแบบไหน?

คำตอบคือ มีแนวโน้มว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอย่างน้อยกว่า 14 ล้านคน (ร่วมด้วยแรงสนับสนุนอีกมากที่ยังไม่มีสิทธิ์ลงคะแนน) พร้อมใจกันเลือกพรรคก้าวไกล เพราะพวกเขาปรารถนาพรรคการเมือง รัฐบาล และสังคมการเมือง ที่สามารถเปิดรับ-ผนึกรวมขบวนการเคลื่อนไหวและกระแสความเปลี่ยนแปลงอันแตกต่างหลากหลายในบริบทร่วมสมัย

เพื่อบรรลุถึงสังคมการเมืองในอุดมคติดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ เราจะต้องไม่ผลักไสใครให้หลุดกระเด็นออกไปก่อนระหว่างการเดินทาง

ตรงกันข้าม เราต้องการผู้นำ-ผู้มีอำนาจที่รวบรวมพลังต่างๆ เข้ามา แล้วพยายามหาหนทางปรับประสานต่อรองให้พลังทุกสายพอจะดำรงอยู่ร่วมกันได้ พร้อมๆ กับผลักดันความเปลี่ยนแปลงในวาระของตนเองอย่างสันติ

หากยึดในความฝันและหลักการตรงนี้ให้แน่น

สังคมไทยย่อมรู้ดีว่าอะไรคือวิธีการอันถูกต้อง ที่จะใช้เจรจา-รับมือกับ “หยก” และมิตรสหายของเธอ •