จากบิ๊กโจ๊กถึง ส.ว. : ความล่มสลายของสถาบัน ที่ไม่อาจเยียวยา

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/

 

จากบิ๊กโจ๊กถึง ส.ว.

: ความล่มสลายของสถาบัน

ที่ไม่อาจเยียวยา

 

เผลอแป๊บเดียวการเลือกตั้งก็ผ่านมาแล้วหนึ่งปี และอีกแป๊บเดียวการสกัดกั้นพรรคที่ชนะเลือกตั้งไม่ให้ตั้งรัฐบาลก็จะครบรอบหนึ่งปีแล้ว เช่นเดียวกับการเกิดรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากพรรคอันดับ 1 และแคนดิเดตนายกฯ ที่ได้คะแนนสูงสุดก็จะถูกดีดไปเป็นฝ่ายค้านครบปีด้วยเช่นกัน

ถ้าหนึ่งปีที่ผ่านไปประเทศไทยเดินหน้าสู่ทิศทางที่ดีขึ้นก็ไม่เป็นไร แต่ข้อเท็จจริงคือประเทศไทยวันนี้เต็มไปด้วยปัญหาต่างๆ เยอะไปหมด โดยเฉพาะอย่างคือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเมืองซึ่งไม่มีอะไรแตกต่างกับช่วงก่อนการเลือกตั้ง ไม่มีวี่แววว่าจะมีอะไรดีขึ้นเลย และหลายอย่างแย่ลง

ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ, องค์กรอิสระ หรือ ส.ว. ข่าวคราวที่เกิดขึ้นตอนนี้ล้วนแสดงถึงความถดถอยอย่างไม่อาจเยียวยาทั้งระดับบุคคลและสถาบันทั้งสิ้น เพราะตำรวจเกิดเหตุพลเอกแฉพลเอกที่จบด้วยต่างคนต่างหาว่าอีกฝ่ายรับเงินสีเทา และในที่สุดก็จบด้วยรองผู้บัญชาการถูกให้ออกจากราชการ

สำหรับองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ปราบโกงและการใช้อำนาจโดยมิชอบอย่าง ป.ป.ช. ข่าวที่คนรู้กันทั้งประเทศคือกรรมการ ป.ป.ช. ถูกร้องเรียนว่าได้ตำแหน่งหลังคุณโจ๊กพาไปหาคนที่ป่ารอยต่อ

คำถามที่คิดได้ไม่ยากคือ ป.ป.ช.คนอื่นเข้าสู่ตำแหน่งแบบนี้หรือไม่ และการตรวจสอบทุจริตจะเกิดได้อย่างไร

สำหรับวุฒิสมาชิกบางคนซึ่งมีอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระ, ส.ว. และ ป.ป.ช. ก็เพิ่งถูกกล่าวหาว่าทำวิทยานิพนธ์กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญโดยลอกเนื้อหาบางส่วนจากคนอื่น

สายสัมพันธ์ระหว่างวุฒิสมาชิกกับตุลาการแบบนี้จึงชี้ปัญหาการทุจริตเชิงอำนาจของ ส.ว.ด้วยเช่นกัน

 

ไม่ต้องคิดซับซ้อนก็เห็นว่าปัญหาตำรวจ, ส.ว., องค์กรอิสระ และตุลาการศาลรัฐธรรมมนูญ มีที่มาจากแหล่งอำนาจที่เกี่ยวข้องกัน หรือพูดง่ายๆ คือเป็น “เครือข่าย” ที่เป็นพวกเดียวกันตั้งแต่ก่อนคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรัฐประหาร และยังคงมีบทบาทในประเทศจนถึงวันที่มีการเลือกตั้งมาแล้วกว่าปี

ทั้งหมดนี้คือ “ปัญหาโครงสร้าง” แน่ๆ และเป็นปัญหาโครงสร้างที่คนกลุ่มนี้มีอำนาจต่อเนื่องโดยไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากการเลือกตั้งด้วย ต่อให้แหล่งอำนาจของคนกลุ่มนี้กับการเลือกตั้งจะแตกต่างกันอย่างคนละขั้วก็ตาม

โดยหลักการแล้วประเทศไทยหลังเลือกตั้ง 2562 ควรเดินหน้าสู่การเมืองหลังเผด็จการทหาร (Post-Dictatorship) และสร้างความเป็นปึกแผ่นให้ระบอบประชาธิปไตย (Democratic Consolidation)

แต่ความจริงคือประเทศไทยตอนนี้ยังไม่สามารถพูดว่าเข้าสู่การเมืองยุคหลังเผด็จการอย่างเต็มตัวได้เลย

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือประตูบานหลักที่จะพาประเทศออกจากวังวนนี้ แต่ทันทีที่รัฐบาลสรุปว่าการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำประชามติ 3 รอบ และรอบแรกเริ่มด้วยการเลือกระหว่าง “ไม่จัดทำ” หรือ “จัดทำรัฐธรรมนูญโดยไม่แตะหมวด 1 และ 2” โอกาสจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ก็แทบไม่มีเลย

ด้วยโจทย์ประชามติที่เรียวแคบของรัฐบาล คนไทยถูกบีบให้ต้องเลือกระหว่างการ “ไม่จัดทำ” หรือ “จัดทำรัฐธรรมนูญโดยไม่แตะหมวด 1 และ 2” ซึ่งก็เท่ากับการไม่ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ซึ่งทั้งสองเป็นทางเลือกที่แย่ทั้งคู่จนพรรคเพื่อไทยไม่เคยพูดแบบนี้ตอนหาเสียงเลย

 

พรรคก้าวไกลพูดถูกว่ารัฐบาลทำให้ประชาชนไม่รู้ว่าลงประชามติอย่างไรในกรณีที่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม แต่ไม่เห็นด้วยกับบางส่วนของคำถาม ตัวอย่างเช่น เห็นว่าควรจัดทำ แต่ไม่เห็นด้วยที่ห้ามแตะหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งจะทำให้คนที่โหวตว่าควรจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ลดลงทันที

พูดตรงๆ ถ้าฟังคำแถลงของคุณเศรษฐา ทวีสิน เรื่องมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญให้ดี รัฐบาลไม่มีแม้แต่การให้คำมั่นสัญญาว่าจะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งมาทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยซ้ำไป

เฉพาะเท่าที่พูดนี้ โอกาสจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว นั่นหมายความว่าโอกาสที่จะมีการ “เปลี่ยนโครงสร้าง” เพื่อเอาประเทศออกจากระบอบเผด็จการทหารไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่มีรัฐบาลซึ่งนายกฯ มาจากพลเรือน

พูดแบบไม่เกรงใจผู้มีอำนาจในปัจจุบัน แม้แต่คุณเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยที่ได้เป็นรัฐบาลทั้งที่แพ้เลือกตั้งก็เป็นหลักฐานของการสืบทอดอำนาจจากระบอบเผด็จการทหารผ่าน ส.ว.ที่เลือกคุณเศรษฐาเป็นนายกฯ ด้วยเช่นกัน

 

การคัดเลือก ส.ว.ชุดใหม่เป็นอีกหนึ่งมรดกที่ระบอบเผด็จการทิ้งไว้กับสังคมไทย และถึงแม้ ส.ว.ชุดใหม่จะไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ แต่ปัญหาของ ส.ว.จากระบบซึ่งผู้สมัคร ส.ว.เลือกกันเองจะปรากฏให้เห็นในอนาคตอีกมาก โดยเฉพาะวิธีคัดเลือกแบบที่อาจทำให้ ส.ว.ชุดปัจจุบันรักษาการไปอีกยาว

เป็นเวลาเกือบปีแล้วที่การเลือกตั้ง 2566 มาพร้อมกับความคาดหวังว่าประเทศจะเกิดการเปลี่ยนแปลง และพรรคการเมืองที่ชนะอันดับ 1 อย่างก้าวไกล กับพรรคอันดับ 2 อย่างเพื่อไทยก็ล้วนหาเสียงว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วย ซ้ำคนที่ไปเลือกทั้งสองพรรคก็หวังเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริงๆ

ต่อให้ไม่มองแค่พรรคอันดับ 1 อย่างก้าวไกลหรืออันดับ 2 อย่างเพื่อไทย พรรคอื่นที่ได้คะแนนเสียงตามมาก็ล้วนหาเสียงว่าจะทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงในทางใดทางหนี่งทั้งสิ้น

แม้แต่พลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติก็ยังต้องให้สองลุงใส่เสื้อยืดกางเกงยีนส์เพื่อสะท้อนความเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ดี หนึ่งปีหลังเลือกตั้งทำให้คนไทยตาสว่างว่าคำว่า “เปลี่ยนแปลง” ของพรรคการเมืองนั้นไม่เหมือนกับประชาชน

ยิ่งกว่านั้นคือตาสว่างว่าพรรคการเมืองสามารถพูดถึง “ความเปลี่ยนแปลง” โดยไม่ทำอะไรมากกว่าเปลี่ยนคนมาทำงานประจำแบบเดิมๆ

 

ข้ออ้างอมตะของฝ่ายที่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงประเทศคือ “คนไทย” ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่ส่วนใหญ่คนที่พูดแบบนี้มักเป็นคนที่ได้ประโยชน์จากความไม่เปลี่ยนแปลง, ชนชั้นนำ หรือคนที่ทำมาหากินกับชนชั้นนำในทางหนึ่งทางใดจนไม่อยากให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเลย

คำพูดที่มีการพูดกันอย่างกว้างขวางช่วงที่ประเทศไทยมีการชุมนุมทุกวันระหว่างปี 2563-2564 คือคำว่า “ดันเพดาน” และความหมายของ “ดันเพดาน” ก็คือการพูดในเรื่องที่ไม่เคยพูดเพื่อผลักดันให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุดอย่างที่รัฐบาลหลังรัฐประหาร 2557 ไม่ยอมให้เกิดขึ้นเลย

พูดตรงๆ การเมืองไทยหลังปี 2563 จนถึงการเลือกตั้ง 2566 ก็มีแกนกลางอยู่ที่การ “ดันเพดาน” เพราะพรรคการเมืองต่างพูดทั้งในสภาและการเลือกตั้งเรื่อง 112, ปฏิรูปกองทัพ, ลดอำนาจองค์กรอิสระ, ตั๋วช้าง, บทบาทศาลในระบอบประชาธิปไตย ฯลฯ อย่างที่ก่อนหน้านี้ไม่มีการพูดเลย

เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเรื่องพวกนี้คนพูดมีแต่พรรคอนาคตใหม่และก้าวไกล ปัญหาอย่าง 112 เคยถูกพูดโดยพรรคเพื่อไทยและเสรีรวมไทยมาแล้วทั้งสิ้น ถึงแม้ระดับความเข้มข้นและปริมาณการพูดจะไม่มากเท่าอนาคตใหม่และก้าวไกล แต่ก็ไม่ใช่อย่างตอนนี้ที่ไม่มีเลย

ยิ่งเห็นความเหลวแหลกของตำรวจ, องค์กรอิสระ และ ส.ว. ก็ยิ่งเห็นความจำเป็นต้อง “แก้ปัญหาโครงสร้าง” และยิ่งเห็นความจำเป็นของการแก้ปัญหาโครงสร้าง ก็ยิ่งต้องตั้งคำถามว่ากลับเป็นกลไกที่ทั้ง “ลดเพดาน” และไม่เอื้อให้เกิดการแก้ปัญหาโครงสร้างเลย

ไม่ใช่ความลับว่าประเทศไทยวันนี้ต้องการการเปลี่ยนแปลง และตราบใดที่รัฐบาลยังไม่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง และเป็นอุปสรรคที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงล่าช้า ตราบนั้นความนิยมของประชาชนต่อรัฐบาลจะไม่มีวันเพิ่มขึ้น ต่อให้รัฐบาลจะแจกเงินหรือใช้ไอโอนางแบกแค่ไหนก็ตาม

นิด้าโพลชี้ว่าคะแนนเพื่อไทยพ่วงคุณทักษิณยังแพ้ก้าวไกลคือฝันร้ายที่จะทวีความอำมหิตยิ่งขึ้น หากรัฐบาลไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้อำนาจ และช่องว่างระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกลจะยิ่งกว้างจนนิด้าโพลเป็นฝันดีก่อนฝันร้ายที่ร้ายแรงกว่าซึ่งจะตามมา