การปฏิวัติ 2475 บนเส้นทางวิบาก 91 ปี ยังสู้กับอำนาจเก่า เหมือนเดิม (1)

มุกดา สุวรรณชาติ

ปฏิวัติประชาธิปไตย…
ต่อสู้และพัฒนาได้ใน 15 ปีแรก

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ถือเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ ทำให้ประเทศไทยเริ่มย่างเดินทางเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย และมีรัฐธรรมนูญที่ได้เขียนว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย

เส้นทางวิบากเริ่มตั้งแต่ช่วงแรก คือกบฏบวรเดชในปี 2476 แต่ก็ผ่านมาได้ ทำให้เกิดการปฏิรูปสังคมสยามขึ้นมาหลายด้าน มีแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2475 มีการกำหนดภาคบังคับให้เรียนถึงประถมศึกษาปีที่ 4 เพื่อให้ประชาชนรู้หนังสืออย่างทั่วถึง จากนั้นก็มีการพัฒนาตั้งโรงเรียนอาชีวะ โรงเรียนพาณิชย์ โรงเรียนสารพัดช่าง มีการตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ฯลฯ

แต่แนวทางเศรษฐกิจของคณะราษฎรถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้ และกลายเป็นจุดโจมตีทางการเมือง การชิงอำนาจในระบอบประชาธิปไตยผ่านมาจนถึงปี 2481 เข้าถึงยุคผู้นำที่นิยมอำนาจเด็ดขาดแบบจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่ออายุ 41 ปี อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอายุเพียง 38 ปี หลวงสินธุสงครามชัย รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการอายุ 37 ปี

นี่เป็นยุคผู้นำรุ่นใหม่ของสยาม

 

การต่อสู้สองแนวทาง

เดือนธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นบุกประเทศไทยในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป.จำต้องร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่น แต่อาจารย์ปรีดีก็ตั้งกลุ่มเสรีไทยขึ้นมาต่อต้านญี่ปุ่น การต่อสู้ในทางการเมืองก็ค่อยๆ แบ่งแยกออกเป็น 2 แนวจนเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามในปี 2488

รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 ก็เริ่มทำการแก้ไขต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลอาจารย์ปรีดีได้แก้ไขสำเร็จในเดือนเมษายน 2489 ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 อยู่ได้ยาวนาน 13 ปีกับ 5 เดือน เป็นรัฐธรรมนูญของประเทศไทยที่มีอายุยาวนานมากที่สุด

ถือเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกที่ทำได้สำเร็จโดยระบบสภา เราจึงได้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2489 ที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

คือกำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย 2 สภาคือ พฤฒภาและสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั้ง 2 สภา

กำหนดให้ทหารและข้าราชการเป็นกลางทางการเมือง สมาชิกทั้งสองสภาและรัฐมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ นี่เป็นครั้งแรกที่มีการแบ่งแยกข้าราชการประจำออกจากข้าราชการการเมือง

แต่รัฐธรรมนูญที่ดีนี้ถูกใช้ได้เพียง 1 ปีครึ่งก็ถูกฉีกทิ้งโดยการทำรัฐประหาร 2490 ของ พล.ท.ผิน ชุณหะวัน ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีต้องหนีออกนอกประเทศ การเมืองเปลี่ยนโฉมทันที

 

ช่วงเวลาที่เผด็จการครองอำนาจ 25 ปี
ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม
…เผด็จการที่มีรัฐธรรมนูญ 10 ปี

คณะรัฐประหาร 2490 ได้เชิญนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นนายกฯ และนำธรรมนูญการปกครองชั่วคราวมาใช้แทนซึ่งเปิดโอกาสให้แต่งตั้งทหารและข้าราชการเป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ (ให้ ส.ว.มีจำนวนเท่ากับ ส.ส.)

รัฐบาลนายควงจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนมกราคม พ.ศ.2491 พรรคประชาธิปัตย์ชนะการเลือกตั้ง แต่ได้เป็นรัฐบาลอยู่ถึงแค่วันที่ 6 เมษายนก็ถูกรัฐประหาร “เงียบ” นายควงลาออก จอมพล ป.เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ไม่มีการยุบสภา ไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ

29 พฤศจิกายน 2494 จอมพล ป.ได้กระทำการยึดอำนาจตัวเอง โดยอ้างภัยคอมมิวนิสต์ และได้จัดให้มีการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2495 ภายใต้คำสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน

จากนั้นก็สืบทอดอำนาจต่อได้ปกครองแบบเผด็จการที่มีรัฐธรรมนูญไปจนถึงปี 2500 รวม 10 ปี ก็ปิดฉากเพราะถูกทำรัฐประหาร

จอมพล ป.ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ

 

ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
เผด็จการเต็มใบ

กันยายน 2500 การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ทำให้รัฐธรรมนูญเหมือนเศษกระดาษที่ถูกฉีกทิ้ง ยกเลิกรัฐธรรมนูญ, ยุบสภา, ยุบพรรคการเมือง, ให้ ส.ส. และ ส.ว. สิ้นสภาพลงในทันที ระบบการปกครองเป็นเผด็จการแบบเต็มตัว

จากนั้นก็ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรซึ่งมีเพียง 20 มาตรา มีการตั้งสภาที่เรียกว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ให้ทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย สมาชิกสภาก็แต่งตั้งทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากทหาร พอตั้งสภาเสร็จ ก็ลงมติให้จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกฯ ทั้งที่ยังอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผบ.ทบ. และอธิบดีกรมตำรวจด้วย

จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกฯ อยู่จนถึงเดือนธันวาคมปี 2506 ก็ป่วยและเสียชีวิตลง รวมเวลาครองอำนาจ 6 ปี

ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งรับตำแหน่งนายกฯ ต่อ ร่างรัฐธรรมนูญต่ออีก 5 ปี…

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้าม ส.ส.เป็นรัฐมนตรี วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งทั้งหมดและจะมาจากข้าราชการก็ได้ มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 จอมพลถนอมได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทนอยู่กับรัฐธรรมนูญที่ร่างเองได้ 2 ปีกว่า 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอมกลับปฏิวัติตัวเอง ยุบสภาทิ้ง แล้วตั้ง “สภาบริหารคณะปฏิวัติ” ขึ้นมาแทน

จากนั้นก็ใช้อำนาจเผด็จการเช่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ ระบอบถนอม-ประภาสจึงปกครองต่อมาอีกเกือบ 2 ปี รวม 10 ปี

แล้วก็ถูกขับไล่จากประชาชนในการชุมนุม 14 ตุลาคม 2516

 

หลัง 14 ตุลาคม 2516 เพิ่งจะเริ่มเดินต่อ
ก็โดนรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519

หลัง 14 ตุลาคม 2516 จากการต่อสู้ของประชาชนจึงได้รัฐธรรมนูญฉบับ 2517 ซึ่งถือว่าเป็นประชาธิปไตยพอสมควร มีการแต่งตั้ง ส.ว.ได้ 100 คน แต่ข้าราชการมาเป็น ส.ว.ไม่ได้แล้ว มีการเลือกตั้ง พ.ศ.2518 และ 2519 รัฐธรรมนูญใช้ได้เพียง 2 ปีก็เกิดรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519

การรัฐประหารครั้งนี้มีการปราบอย่างรุนแรงทำให้นักศึกษาเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และส่วนหนึ่งได้หนีเข้าป่า ใช้วิธีติดอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล

การพัฒนาประชาธิปไตยมีเพียง 3 ปีก็จบลง ต่อด้วยเผด็จการอีก 3 ปี

จากนั้นการปกครองก็ถอยหลังไปสู่ระบบอำนาจนิยมเป็นใหญ่ ผู้มีอำนาจได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2521 ขึ้น

ประเทศนี้จึงมีการปกครองด้วยระบอบเผด็จการที่มีรัฐธรรมนูญ และมีเลือกตั้ง แต่ก็มี ส.ว.แต่งตั้ง เลือกนายกฯ ได้ มาอีก 8-9 ปี ภายใต้รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

อาจเรียกได้ว่าเป็นการแบ่งอำนาจให้ประชาชนบ้าง แต่ตำแหน่งนายกฯ ไม่ให้

เมื่อรัฐบาลนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ ขึ้นบริหารประเทศทำท่าเหมือนจะเปิดฟ้าประชาธิปไตยใหม่ ในปี 2531 แต่ก็ถูกทหารคณะ รสช. รัฐประหารในปี 2534 ทว่า การสืบทอดอำนาจไปไม่รอด จึงเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เมื่อคณะ รสช.ถูกโค่นลงจากการต่อสู้ของประชาชน ผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งถือว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างมาก

ช่วง 2531-2549 จึงเป็นการพัฒนาประชาธิปไตย นานถึง 18 ปี

สรุปว่าการพัฒนาประชาธิปไตยรวม 3 ครั้ง เรามีเวลา 36 ปี

ส่วนฝ่ายเผด็จการที่อยู่ในยุคจอมพลและพลเอก ก็ปกครองได้รวม 37 ปี

ถ้าไม่มีกรรมการมายุ่ง การพัฒนาควรเดินหน้าไปอย่างเรียบร้อยตั้งแต่ปี 2548

แต่การมีรัฐประหาร 2549 ทำให้ประเทศไทยเดินย้อนไปสู่ยุคอำมาตยาธิปไตย ที่ยาวนานถึง 18 ปี กลายเป็นประเทศล้าหลังจนถึงปัจจุบัน

อุปสรรคในการตั้งรัฐบาล 2566 วันนี้ ก็คือตัวขัดขวางประชาธิปไตยเดิม ตั้งแต่ 2549

(ต่อฉบับหน้า)