ศีรษะเรือ-คนใช้เหมือนกัน “พันท้ายนรสิงห์”ทำหัวเรือพระที่นั่งหัก ถูกประหารตามราชประเพณี

ญาดา อารัมภีร
“พระเจ้าเสือ” ภาพจากภาพยนตร์ “พันท้ายนรสิงห์” กำกับโดย หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล

คําว่า ‘ศีรษะ’ มีใช้มาช้านาน หน้าตาต่างๆ กันไป มีทั้ง ‘ศีรษะ – ศีร์ษะ’ และ ‘ศีศะ’ คำนี้สมัยสุโขทัยก็มี “ไตรภูมิพระร่วง” เล่าถึงราหูว่า

“ลางคาบราหูอ้าปากออกเอาพระอาทิตย์แลพระจันทร์วับเข้าไปไว้ในปาก ลางคาบเอานิ้วมือบังไว้ ลางคาบเอาไว้ใต้คาง ลางคาบเอาไว้ใต้รักแร้ แลกระทำดั่งนั้นไส้ อันว่ารัศมีพระอาทิตย์ก็ดีพระจันทร์ก็ดีเศร้าหมองบ่มิงามได้เลย แลคนทั้งหลายว่ามีสุริยอังคาธ แลจันทร์อังคาธแล”

พระพุทธองค์ทรงสั่งให้ราหูปล่อยพระจันทร์ ราหูตื่นตระหนกยิ่ง กล่าวแก่ไพจิตราสูรว่า

“มหาราช ข้าแต่เจ้ากู บัดนี้ข้ากลัวแต่คาถาพระพุทธิเจ้าบัณฑูรว่า แลข้าก็วางจันทรเทวบุตรนั้นเสีย เพื่อดั่งนั้นไส้ ผิแลว่าข้าบ่มิได้วางจันทรเทพบุตรนั้นเสียไส้ อันว่าศีรษะแห่งข้าเพียงจะแตกออกเป็นเจ็ดภาคแล แม้นว่าศีรษะบ่มิแตกบ่มิตายแลว่ายังมีชีวิตอยู่ไส้ แลความสุขจะมีแต่ใดแก่ข้าเลย”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

สมัยอยุธยาใช้คำว่า ‘ศีรษะ’ น่าสนใจไม่น้อย ดังที่ “คำให้การขุนหลวงหาวัด” (ฉบับหลวง) บันทึกเกี่ยวกับกระบวนแห่ในพระราชพิธีโสกันต์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าพระขวัญ ตอนหนึ่งว่า

“มหาดเล็กคู่แห่นั้น นุ่งห่มสมปักท้องขาวชายกรวย ใส่เสื้อครุยและพอกเกี้ยวพัธนขาว แห่หน้ายี่สิบคู่ ถัดนั้นจัดเอาบุตรขุนนางที่ไว้ศีรษะจุกนั้น ให้นุ่งผ้าลายพื้นขาว ใส่เสื้อครุยขาวยี่สิบคู่”

การใช้คำว่า ‘ศีรษะ’ ใกล้เคียงกับ “พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔” กล่าวถึงการถวายสลากภัตรในวัดพระเชตุพนว่า

“ของหลวงแต่งละครข้างในหาบสลากภัตรเป็นคู่ๆ มาถึงท่านที่ต้องเกณฑ์ก็คิดทำประกวดกัน จัดหญิงที่ศีร์ษะจุกและหญิงรุ่นสาวมาตกแต่งให้นุ่งผ้ายกบ้าง นุ่งสังเวียนบ้าง ห่มเข้มขาบบ้าง หาบสลากภัตรเป็น ๔ แถว”

นอกจากคำว่า ‘ศีรษะ’ และ ‘ศีร์ษะ’ แล้ว ยังพบคำว่า ‘ศีศะ’ ดังที่นายมี ระบายอารมณ์ไว้ใน “นิราศเดือน” ว่า

“ถ้าใครแย่งแกล้งพาขวัญตาไป คงจะใส่เสียให้ยับไม่นับชิ้น

จะถากเชือดเลือดเนื้อเอาเกลือทา สับศีศะเสียให้สาอารมณ์ถวิล

จะทิ้งให้กาแร้งมันแย่งกิน จึงจะสิ้นความแค้นแน่นอุรา”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

แต่เดิมคำว่า ‘ศีรษะ ศีร์ษะ ศีศะ’ จะใช้กับคนหรือเรือก็ได้ ดังจะเห็นได้จาก “กฎหมายตราสามดวง ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เล่ม 1 ส่วนที่เกี่ยวกับ ‘วิวาทด่าตี’ มีข้อความว่า

“๑๒ มาตราหนึ่ง ผู้ใดยุให้เดกตีกันศีศะแตก คางหัก แขนหัก เท้าหัก มือหักก็ดี ท่านให้ไหมผู้ยุนั้นตามบาทแผลเดกซึ่งเจบนั้น ถ้าถึงตายให้ไหมโดยตีตาย” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

นอกจากนี้ “คำให้การขุนหลวงหาวัด” (ฉบับหลวง) แผ่นดินหลวงสรศักดิ์ ซึ่งเรียกว่าพระพุทธเจ้าเสือ บันทึกเรื่องพันท้ายนรสิงห์ไว้โดยละเอียด น่าสังเกตว่าใช้คำว่า ‘ศีรษะ’ กับหัวคน โขนเรือ และรูปปั้นได้ทั่วถึง พระพุทธเจ้าเสือประทับเรือพระที่นั่งเอกชัย จะไปทรงเบ็ดที่ปากน้ำเมืองสาครบุรี ขณะถึงตำบลโคกขาม คลองคดเคี้ยวมาก พันท้ายนรสิงห์มิอาจแก้ไขคัดท้ายเรือได้ทัน ทำให้

“ศีรษะเรือพระที่นั่งนั้นโดนกระทบกิ่งไม้อันใหญ่เข้า ก็หักตกลงในน้ำ พันท้ายนรสิงห์เห็นดังนั้นก็ตกใจ จึงโดดขึ้นเสียจากเรือพระที่นั่ง แลขึ้นอยู่บนฝั่งแล้วร้องกราบทูลพระกรุณาว่า ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าพระราชอาญาเป็นล้นเกล้า ขอจงทรงพระกรุณาโปรดให้ทำศาลขึ้นที่นี้สูงประมาณเพียงตา แล้วจงตัดเอาศีรษะข้าพระพุทธเจ้ากับศีรษะเรือพระที่นั่ง ซึ่งหักตกน้ำลงไปนั้น ขึ้นบวงสรวงไว้ด้วยกันที่นี้ ตามพระราชกำหนดในบทพระอัยการเถิด จึงมีพระราชโองการตรัสว่า อ้ายพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งโทษเอ็งถึงตายนั้นก็ชอบอยู่แล้ว แต่ทว่าบัดนี้กูจะยกโทษเสียไม่เอาโทษเอ็งแล้ว เอ็งจงคืนมาลงเรือไปด้วยกูเถิด ซึ่งศีรษะเรือที่หักนั้นกูจะทำต่อเอาใหม่แล้วเอ็งอย่าวิตกเลย”

พันท้ายนรสิงห์หายินยอมไม่ ยืนกรานกราบทูลว่า

“แลซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมาละพระราชกำหนดสำหรับแผ่นดินเสียดังนี้ดูมิบังควรยิ่งนัก นานไปภายหน้าเห็นว่าคนทั้งปวงจะล่วงครหาติเตียนดูหมิ่นได้ แลพระเจ้าอยู่หัวอย่าทรงพระอาลัยแก่ข้าพระพุทธเจ้าผู้ถึงแก่มรณโทษนี้เลย จงทรงพระอาลัยถึงพระราชประเพณี อย่าให้เสียขนบธรรมเนียมไปนั้นดีกว่า อันพระราชกำหนดมีมาแต่โบราณนั้นว่า ถ้าแลพันท้ายผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่ง ให้ศีรษะเรือพระที่นั่งนั้นหัก ท่านว่าผู้นั้นถึงมรณะโทษ ให้ตัดศีรษะเสีย แลพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้ตัดศีรษะข้าพระพุทธเจ้าเสีย ตามโบราณราชกำหนดนั้นเถิด จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ฝีพายทั้งปวง ปั้นมูลดินเป็นรูปพันท้ายนรสิงห์ขึ้นแล้วก็ให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นเสีย”

พันท้ายนรสิงห์ยืนยันความตั้งใจแน่วแน่ แม้พระพุทธเจ้าเสือจะทรงวิงวอนหลายครั้งก็ไม่เป็นผล

“จนกลั้นน้ำพระเนตรนั้นไว้มิได้จำเป็นทำตามพระราชกำหนด จึงดำรัสสั่งนายเพชฌฆาตให้ประหารชีวิตพันท้ายนรสิงห์เสีย แล้วให้ทำศาลขึ้นสูงประมาณเพียงตา แลให้เอาศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับศีรษะเรือพระที่นั่งซึ่งหักนั้นขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาลนั้น”

เหตุการณ์นี้เป็นที่กล่าวขานสืบมา ดังปรากฏใน “โคลงพระราชพงศาวดาร” รูปที่ 56 แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ ภาพพันท้ายนรสิงห์ถวายชีวิต พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร (กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์) ทรงพระนิพนธ์ว่า

“ภูมีปลอบกลับตั้ง ขอบรร ไลยพ่อ

จำสั่งเพ็ชฌฆาตฟัน ฟาดเกล้า

โขนเรือกับหัวพัน เส้นที่ ศาลแล

ศาลสืบกฤติคุณเค้า คติไว้ในสยามฯ”

ฉบับหน้า ‘ศีรษะ’ กับสารพัดสัตว์ พลาดไม่ได้ •