อุษาวิถี (33) อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (33)

อุษาวิถีจากกระแสจีน (ต่อ)

 

ยิ่งในกลุ่มชนชั้นนำทางอำนาจด้วยแล้ว คำว่า “สหาย” ที่เรียกกันตามประเพณีการเมืองของพวกคอมมิวนิสต์นั้น แทบจะไม่มีความหมายในความเป็นจริง เพราะแม้แต่ในยุคที่เหมาเจ๋อตงและเติ้งเสี่ยวผิงเรืองอำนาจนั้น ฐานะของทั้งสองไม่ต่างกับจักรพรรดิตามคติลัทธิขงจื่อแม้แต่น้อย

ที่แม้แต่คำพูดเพียงประโยคเดียวก็มีผลในทางปฏิบัติได้ไม่ต่างกับกฎหมายหรือพระบรมราชโองการ

การที่ลัทธิขงจื่อทรงอิทธิพลอยู่ได้เช่นนี้ย่อมมีความหมายต่อพัฒนาการทางการเมืองของจีนอย่างมีนัยสำคัญ เพราะในแง่ของความเป็นมหาอำนาจของจีนที่บทบาทด้านใดด้านหนึ่งสามารถส่งผลสะเทือนไปยังสังคมรอบข้างนั้น บทบาทดังกล่าวย่อมแยกไม่ออกจากรากฐานความคิดที่มีลัทธิขงจื่อแฝงอยู่ลึกๆ

ทั้งนี้ ยังไม่นับบทบาทของลัทธิเดียวกันนี้ที่ถูกแสดงผ่านชาวจีนโพ้นทะเล ที่กระจายตัวอาศัยอยู่ในดินแดนต่างๆ มาช้านาน และเป็นบทบาทที่เขยิบขึ้นจาก “นาม” ในระดับล่างเมื่ออดีตมาเป็น “นาม” ที่เป็นชนชั้นปกครองในปัจจุบัน

บทวิเคราะห์อุษาวิถีกรณีอินเดียและจีน

 

“กลียุค” เป็นคำที่ออกจะแตกต่างไปจากคำว่า “วิกฤตการณ์” อยู่ไม่น้อย ซึ่งหากว่ากันตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานแล้ว จะพบว่า กลียุค หมายถึง ยุคร้าย และโรคห่าหรือโรคร้ายอื่นๆ มาลงที่หมู่บ้านหรือเมือง

ส่วน วิกฤตการณ์ จะหมายถึง เหตุการณ์ร้ายแรงที่อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ หรือที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงด้วยดีหรือร้าย เป็นต้น

ความหมายที่แตกต่างกันเช่นนี้พอที่จะฉายภาพให้เห็นและเข้าใจได้ในระดับหนึ่งว่า “กลียุค” นั้นดูจะมีความรุนแรงมากกว่า “วิกฤตการณ์” เพราะเป็นความรุนแรงที่กินเวลายาวนานมากกว่า

โดยที่พึงเข้าใจด้วยว่า กลียุคนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีวิกฤตการณ์มาก่อน

ฉะนั้น กลียุคจะเกิดหรือไม่ ในด้านหนึ่งย่อมขึ้นอยู่กับว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้จะถูกแก้ไขได้หรือไม่ อย่างไร หากแก้ไขได้ด้วยดี กลียุคก็จะไม่เกิด หากแก้ไขได้ไม่ดี กลียุคก็อาจถูกชะลอให้เกิดช้าลง และถ้าหากแก้ไม่ได้เลย กลียุคก็จะเกิดขึ้นทันที

 

ขึ้นชื่อว่า “กลียุค” หรือ “วิกฤตการณ์” แล้ว ภาพจากจินตนาการมักจะหนีไม่พ้นความสับสันหรือปั่นป่วนวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสังคมใดสังคมหนึ่ง แต่ลึกลงแล้วภาพนี้แล้วอาจแยกให้เห็นชัดขึ้นได้อีกประมาณหนึ่ง

นั่นคือ เป็นภาพความขัดแย้งกันเองระหว่างชนชั้นนำในสังคม หรือไม่ก็เป็นภาพความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำของสังคมหนึ่งกับอีกสังคมหนึ่ง

ถัดมาเป็นภาพความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำกับชนชั้นล่างของสังคมนั้น ที่หาทางลงต่อประเด็นปัญหาใดปัญหาหนึ่งไม่ได้

หรืออาจเป็นภาพของสังคมหนึ่งมีชัยชนะเหนืออีกสังคมหนึ่ง หลังจากความขัดแย้งผ่านไปแล้วระยะหนึ่ง และสังคมที่ชนะก็อาจเข้าไปจัดระเบียบภายในสังคมที่แพ้ตนให้ออกมารูปใดรูปหนึ่งตามที่ตนต้องการ ฯลฯ

แม้จะเป็นภาพกลียุคที่แยกย่อยลงจากภาพในจินตนาการตามกรอบใหญ่ลงมาก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ภาพที่ปราศจากเหตุผลหรือความเป็นจริงมารองรับ

ฉะนั้น สิ่งที่สามารถเห็นได้จากภาพกลียุคเหล่านี้จึงไม่เพียงเป็นภาพของการศึกสงครามที่ต่อเนื่องยาวนาน และเป็นไปในลักษณะที่นองเลือดเท่านั้น หากแต่ที่ชัดเจนยิ่งก็คือ จุดร่วมของภาพเหล่านั้น มักหนีไม่พ้นภาพของชนกลุ่มหนึ่งที่ตกเป็นเบี้ยล่างให้กับการกดขี่ขูดรีดของคนอีกกลุ่มหนึ่ง

ตลอดจนเข่นฆ่าล้างผลาญโดยกลุ่มชนที่กำลังเหนือกว่า

ที่สำคัญคือ กลุ่มชนที่ตกเบี้ยล่างนี้มักจะเป็นชนกลุ่มส่วนใหญ่ที่ไร้พลังต่อรอง กลุ่มชนที่เป็นเบี้ยล่างเหล่านี้อาจถูกกระทำจากกลุ่มชนในสังคมเดียวกันก็ได้ หรืออีกสังคมหนึ่งก็ได้ โดยที่ฐานะของ “เบี้ยล่าง” ตามศัพท์สมัยใหม่แล้วก็คือ ฐานะของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ์นั้นเอง

 

ไม่มีบ้านเมืองใดในโลกนี้ที่ไม่เคยเกิดวิกฤตการณ์หรือกลียุคมาก่อน แต่การที่โลกทั้งใบจะเกิดกลียุคไปทั่วนั้น ดูเหมือนจะมีเพียงยุคเดียว คือยุคที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2,500 ปีก่อน อันเป็นยุคที่แทบทุกสังคมต่างตกอยู่ในกลียุคพร้อมกันไปหมดทั้งโลก

ไม่ว่าจะในซีกโลกตะวันตกหรือตะวันออก

เมื่อเป็นเช่นนี้การดิ้นรนหาทางออกเพื่อมาแก้ไขกลียุคจึงเกิดขึ้น และนั่นก็คือที่มาของการแสวงหาทางปัญญา และได้กลายเป็นจุดกำเนิดของนักปราชญ์นามอุโฆษในเวลาต่อมา

การที่โลกมีแนวโน้มไปในทางเดียวกันคล้ายกับมีแกนพาหมุนไปทั้งใบเช่นนี้เอง ต่อมาปราชญ์ทางตะวันตกได้เรียกยุคที่เหตุการณ์โลกดำรงอยู่ว่า ยุคอักษายนะ (Axial Age) หรือยุคการมาถึงของแกน (คำว่า อักษะ สนธิกับคำว่า อายน)

ความหมายที่ว่า การมาถึงของแกน ก็เพื่อสื่อว่า เวลานั้นโลกได้ตกอยู่ในสภาพที่เหมือนมีแกนกลางถูกทำให้หมุนไปดังลูกข่าง พื้นที่ต่างๆ ของโลกจึงหมุนไปพร้อมกัน ดังนั้น หากเกิดสถานการณ์ใดในพื้นที่หนึ่ง พื้นที่อื่นก็เกิดสถานการณ์ที่คล้ายกันพร้อมกันไปด้วย

เช่น เมื่อพื้นที่หนึ่งเกิดกลียุค พื้นที่อื่นก็เกิดกลียุคไปด้วย

โลกในยุคดังกล่าวจึงมีข้อที่น่าสังเกตว่า กลียุคที่เกิดขึ้นมักจะเกิดกับสังคมที่มีรากฐานอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อน และเมื่อกลียุคเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ การเกิดขึ้นของกลุ่มพลังทางเศรษฐกิจการเมืองใหม่ๆ

 

อินเดียและจีนเป็นอู่อารยธรรมที่โลกยอมรับและรู้จักกันดี และเป็นสังคมที่เกิดกลียุคขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าว กลียุคที่ว่านี้ดำรงสืบเนื่องยาวนานเป็นร้อยๆ ปีกว่าจะยุติลงได้

และเช่นเดียวกับภาพกลียุคดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ที่ชนชั้นล่างทั้งในอินเดียและจีนเวลานั้นไม่อาจหลีกเลี่ยงฐานะการเบี้ยล่างไปได้ ถึงแม้ในช่วงกลียุคนี้บังเกิดนักปราชญ์หรือศาสดาขึ้นเพื่อเสนอ “สัจธรรม” สำหรับแก้ปัญหากลียุคก็ตาม

ที่สำคัญ ภายหลังที่กลียุคยุติลงแล้วนั้น สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ การที่สังคมทั้งสองได้นำเอาหลักคำสอนหรือ “สัจธรรม” ดังกล่าวเป็นรากฐานในการสร้างรัฐของตนให้มีเสถียรภาพสืบไป