หอมกลิ่นอะไร? | คำ ผกา

คำ ผกา

วิบากกรรมของการเมืองไทยตอนนี้หนีไม่พ้นต้องย้อนกลับไปในช่วงก่อนมีรัฐประหารปี 2549 รวมถึงวิบากกรรมเรื่องหุ้นสื่อของว่าที่นายกฯ พิธา ลิ้มเตริญรัตน์ ตอนนี้

ที่มาของการกฎหมายห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อเริ่มจากกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่นของทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในช่วงนั้นเข้าถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากพนักงานบางส่วนของสถานี มีฝ่ายบริหารและฝ่ายข่าว ตัดสินใจลาออก

อีกส่วนหนึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของกบฏไอทีวี คือกลุ่มที่ออกแถลงการณ์ให้ผู้ถือหุ้นยุติการแทรกแซงการทำงานของฝ่ายข่าว

กลุ่มนี้ถูกเลิกจ้างเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2544 จำนวน 23 คน

8 คนโดนเลิกจ้างด้วยเหตุผลแถลงข่าวทำให้บริษัทเสียหาย

ที่เหลือถูกเลิกจ้างด้วยเหตุผลที่บริษัทต้องปรับลดพนักงานเนื่องจากประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่อง ภายหลังมีการฟ้องศาลแรงงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม ในกรณีนี้ ที่ฉันจะไม่ลงรายละเอียดเพราะเป็นข่าวที่หาอ่านย้อนหลังได้

แต่ที่ต้องย้อนเหตุการณ์นี้เพราะนี่คือส่วนหนึ่งของการออกกฎหมายห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อ

 

ในช่วงที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายรัฐมนตรี และพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อมองย้อนกลับไปมันเป็นช่วงที่เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ

และเป็นธรรมดาที่ “สื่อ” จะต้องทำหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์ และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้น

สังคมไทย ณ ขณะนั้นเป็นสังคมที่อวลไปด้วยกลิ่นอายชัยชนะของชนชั้นกลาง ปัญญาชน สื่อมวลชน นักวิชาการ ที่สู้กับเผด็จการทหารในยุคพฤษภาคม 2535 อวลไปด้วยกลิ่นอายของชัยชนะที่ปรากฏมาในรูปของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ว่ากันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

และอบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งการถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและนักการเมืองด้วยศัพท์ฮิตในเวลานั้นคือ “ธรรมาภิบาล”

อานันท์ ปันยารชุน ได้ชื่อว่าเป็น “นายกฯ คนนอก” ในอุดมคติของชนชั้นกลางปัญญาชน ทั้งวิทยฐานะ ชาติตระกูล การศึกษา และเป็นผู้อำนวยให้เกิดค่านิยมของการดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง

อดีตนายกฯ คนนี้สนับสนุนให้มีองค์กรกลางดูแลการเลือกตั้ง บูรณาการความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาสังคม นักวิชาการ เอ็นจีโอ นักกิจกรรมทางการเมือง ปัญญาชนสาธารณะ สร้างเครือข่ายของ non partisan politics

และถ้าเรามองในบริบทที่ ณ วันนั้น เราเป็นประชาธิปไตย และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งมาก การมีเครือข่ายภาคประชาชนที่มีความเป็น “กลาง” เพื่อถ่วงดุลรัฐบาลจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเลยเส้นของการถ่วงดุลอำนาจรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้ง

นั่นคือกระบวนการ demonized ให้พรรคไทยรักไทย และทักษิณกลายเป็นปีศาจของการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการรัฐสภา รัฐตำรวจ หรือแม้กระทั่งข้อหาบ่อนทำลายสถาบันหลักของชาติ

ในปีกของนักวิชาการ และฝ่ายซ้ายก็มองว่าทักษิณและพรรคไทยรักไทยคือนักการเมืองฉ้อฉล ทำเพื่อผลระโยชน์ตัวเองและพรรคพวก ไร้อุดมการณ์ บ้าอำนาจ

เรียกได้ว่าทั้งฝ่ายขวาจัดและฝ่ายซ้ายแม้จะมีอุดมการณ์คนละขั้ว แต่ทั้งสองฝ่ายเกลียดทักษิณ

สิ่งที่ตามมาคือการออกใบอนุญาตการรัฐประหารในปี 2549

หายนะของสังคมไทยก็เริ่มต้นจากตรงนั้น

 

ณ วันนี้ ที่สังคมไทยส่วนใหญ่ค่อนข้างเห็นตรงกันว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย

แต่ประเทศไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว คนไทยโดยเฉพาะชนชั้นกลางเห็นว่า การรัฐประหารคือทางออกของประเทศ เป็นวิธีเดียวที่จะเอานักการเมืองชั่วออกจากอำนาจ

กองทัพคือพระเอกขี่ม้าขาว และถ้าได้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ก็จะใส่ข้อห้าม ข้อกำหนด เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. เอาไว้เยอะแยะละเอียดลออไปหมด

จนลืมไปว่าหลักการประชาธิปไตย และการแข่งขันเพื่อชนะใจประชาชน มันเป็นระบบคัดกรองไปในตัวอยู่แล้ว

โดยไม่ต้องกำหนดเรื่องศีลธรรม จริยธรรม เพิ่มเติมไปจากกฎหมายปกติที่มีไว้ใช้กับประชาชนทั่วไป

กฎหมายปกติที่ใช้กับประชาชนก็เอาไปใช้กับนักการเมือง ฉ้อโกง ปล้น ฆ่า ค้ายาเสพติด ติดสินบน รับสินบน เหล่านี้ผิดกฎหมายอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องไปเขียนพิเศษสำหรับนักการเมืองอีก

รวมไปถึงโรคเกลียดกลัวนักการเมืองจนรู้สึกว่าต้องมีองค์กรอิสระไว้ลงดาบกับนักการเมืองโดยเฉพาะ

ถ้าสังคมไทยในวันนั้น ไม่ติดกับดัก “คนดี” และไม่งมงายอยู่กับวาทกรรมนักการเมืองเลว เราจะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร และเราจะไม่เห็นด้วยการเขียนรัฐธรรมนูญให้มัดมือมัดเท้านักการเมือง พรรคการเมือง

เราจะไม่เห็นด้วยกับกฎหมายยุบพรรค เพราะเราต้องรู้ว่า พรรคการเมืองสำคัญขนาดไหนต่อความเข้มแข็งของประชาธิปไตย

แต่เพราะเราไม่เชื่อเช่นนั้น เพราะเราเชื่อว่า หากมีกฎหมายที่แรงๆ วันหนึ่งนักการเมืองเลวๆ จะสูญพันธุ์ จนเหลือแต่นักการเมืองที่ดี ซื่อสัตย์ เสียสละเพื่อประชาชน กล้าสู้ กล้าชน

เราจึงเห็นดีเห็นงามไปกับกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ ที่ยืมมือกฎหมายมาไล่ล่า เข่นฆ่า สอยนักการเมืองร่วงไปทีละคน ทีละพรรค พรรคฝ่ายซ้าย ทั้งพรรคฝ่ายขวา (ในมาตรฐานแบบไทย)

จนท้ายที่สุด หากพรรคการเมืองไหนอยากอยู่รอดปลอดภัยก็ต้องลด ละ เลิก การทำงานเพื่อประชาชน แต่ต้องยอมศิโรราบต่ออำนาจ ของกลุ่มคนที่บงการกระบวนการตุลาการภิวัฒน์ได้

 

ในรัฐธรรมนูญ 2550 จึงมีการห้ามไม่ให้นักการเมืองถือหุ้นสื่อโดยอ้างว่าเพื่อมิให้พรรคการเมือง นักการเมืองครอบงำสื่อ

สิ่งที่เป็นตลกร้ายคือ กลุ่มคนที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจของประชาชน ใช้กฎหมายปิดปากสื่อ เป็นผู้เขียนกฎหมายห้ามมิให้นักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อโดยอ้างเสรีภาพสื่อ

เป็นเรื่องชวนขำขื่นในประเทศนี้ และขำขื่นกว่านั้นคือ สื่อมวลชนในยุคนั้นเกือบทั้งหมด เห็นดีเห็นงามกับกฎหมายนี้และมีส่วนร่วมในการผลักดันการออกกฎหมายนี้ด้วยซ้ำ

ไม่ใช่เพราะอะไร แต่เพราะเกลียดกลัวนักการเมืองจนขึ้นสมอง

ถึงกับยอมต้อนรับการรัฐประหารเพราะกลัวนักการเมืองมาบงการสื่อ

และสื่อก็หาได้เข็ดหลาบอะไร เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ สื่อก็ทั้งด่าทอ วิพากษ์วิจารณ์ ถ่วงดุล ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้นสุดๆ

และด้วยพลังงานเดิม คือพลังงานแห่งการเกลียด กลัว ผีทักษิณ และข้อสมมุติฐานเดิมคือ พรรคนี้เป็นพรรคของตระกูล ทำการเมืองเพื่อผลประโยชน์ พวกพ้อง ยิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิด จะเอาพี่ชายกลับบ้าน

ทั้งหมดนี้ สื่อและสังคมไทยก็ออกใบอนุญาตให้กับการรัฐประหารอีกครั้งในปี 2557

 

ฉันยังอยากจะพูดซ้ำๆ ว่า เพราะเราปกป้องรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชนน้อยเกินไป

เพราะเราสุขกับการเห็นหายนะของพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตรมากเกินไป

สุดท้ายสิ่งที่เราได้คือการมีชีวิตภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ยาวนานถึง 9 ปี

เป็น 9 ปีที่ประยุทธ์และพวก วางขุมกำลังตัวเองเอาไว้เต็มไปหมดทั้ง ส.ว. ทั้งองค์กรอิสระทุกองค์กรแม้แต่ กกต.

สำคัญที่สุดคือ รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ทำให้พรรคการเมืองซึ่งชนะอันดับหนึ่งยังไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ และยังเผชิญวิบากกรมเรื่อง “หุ้นสื่อ” ที่สารตั้งต้นมาจาก “สื่อ” ที่กลัวนักการเมืองแทรกแซงสื่อมากกว่ากลัวรัฐประหาร

จากปี 2549 มาถึงวันนี้ วันที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยไม่ได้มีแต่พรรคเพื่อไทย แต่ชนชั้นกลาง นักวิชาการ ปัญญาชน คนทันสมัย คนเบื่อการเมืองเก่า ได้มีพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนความฝันและรสนิยมของตนเองแล้ว นั่นคือพรรคก้าวไกล และเป็นโจทย์ที่ชวนปวดหัวสำหรับฝ่ายอนุรักษนิยมไม่น้อย

วันนี้ศัตรูของฝ่ายอำนาจเก่าไม่ใช่รากหญ้าเท่านั้น แต่เป็นกลุ่มคนที่เคยเรียกตัวเองว่าสามแสนเสียงคุณภาพ ที่วันนี้คุณภาพของพวกเขาได้รับชนะแล้วในสนามการเลือกตั้ง

การสอยพิธาจะไม่ง่ายเหมือนสมัยที่สอยทักษิณหรือยิ่งลักษณ์ หรืออาจจะถึงขั้นสอยไม่ร่วงเลยก็เป็นได้