อาญาสิทธิ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

อาญาสิทธิ์

 

ผมไม่มีอะไรจะพูดเกี่ยวกับเสรีภาพทางวิชาการ ในกรณีที่คุณพริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูก “ผู้ใหญ่” ในวงการอุดมศึกษาขัดขวางมิให้ได้แสดงปาฐกถาตามคำเชิญของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เพราะพูดกันมามากแล้วทั้งโดยบุคคลและองค์กรทางวิชาการ

ผมออกสงสัยว่า ในทัศนะของ “ผู้ใหญ่” เหล่านั้น “เสรีภาพ” น่าจะมีอันตรายมากยิ่งกว่าคุณพริษฐ์เสียอีก เสรีภาพถูกมองในวัฒนธรรมไทยตามประเพณีด้วยความหวาดระแวง ว่าจะเป็นภัยต่อระเบียบทางสังคม เสรีภาพทางวิชาการ ก็เป็นภัยต่อวิชาการ เสรีภาพทางการเมืองก็เป็นภัยต่อการเมือง ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้พอเข้าใจได้ไม่ยาก เสรีภาพก็เหมือนคุณค่าอีกหลายอย่าง ที่เพิ่งเริ่มมีเป็นครั้งแรกในโลกตะวันตกก่อน แต่มันก็ไม่ได้หลุดลอยมาอย่างโดดเดี่ยวด้วยตัวของมันเอง มีแนวคิดอย่างอื่นช่วยกำกับอีกหลายเรื่อง เช่น ความเสมอภาคของมนุษย์, สำนึกปัจเจกชน, ศักยภาพในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ฯลฯ ไม่แต่เพียงแนวคิดเท่านั้น ยังมีพัฒนาการของสถาบันทางสังคม, การเมือง และเศรษฐกิจ วัฒนธรรมอีกหลายอย่างในโลกตะวันตก ควบคู่กันมากับคุณค่าของเสรีภาพ อันเป็นคุณค่าชนิดใหม่ด้วย

ทั้งหมดนี้ไม่เคยมีในเมืองไทยมาก่อน จะให้คนไทยแต่ก่อนเข้าถึงคุณค่าของเสรีภาพเหมือนกับฝรั่งย่อมเป็นไปไม่ได้ พูดถึงเสรีภาพเมื่อไร นักปราชญ์ไทยจะนึกถึงการกำกับและขีดจำกัดทันที เพื่อรักษาระเบียบของสังคมไว้ไม่ให้สั่นคลอนและแปรเปลี่ยน

 

แม้กระนั้นผมก็ไม่ปฏิเสธว่า จะชอบหรือไม่ชอบ เสรีภาพกลายเป็นคุณค่าใหม่ที่ยากจะปฏิเสธ ไม่ว่าสังคมนั้นๆ จะมีปูมหลังและบริบทมาอย่างไร และเพราะเป็นคุณค่าใหม่นอกโลกตะวันตก จึงเป็นพื้นที่ซึ่งต้องแข่งขันช่วงชิงกันให้ความหมายเป็นธรรมดา ผมอยากจะบอกอย่างสั้นๆ แต่เพียงว่า ความหมายของเสรีภาพแบบไทยๆ กำลังตายลง เหลือแต่ “ผู้ใหญ่” เพียงไม่กี่คนที่พยายามจะธำรงไว้ เพราะผลประโยชน์ส่วนตัวหรือส่วนรวมก็ตาม

ในโลกนี้ ไม่มีอะไรดีอย่างเดียว หรือเสียอย่างเดียว การที่สังคมไทยแต่โบราณมาให้คุณค่าแก่เสรีภาพไม่มาก รวมทั้งขาดแนวคิดอื่นๆ ที่จะช่วยเสริมคุณค่าของเสรีภาพ และไม่มีการพัฒนาองค์กรหรือสถาบันขึ้นมารองรับเสรีภาพนั้น ก็ใช่ว่าจะมีข้อเสียเพียงอย่างเดียว ข้อดีก็มีเหมือนกัน เช่นที่ยกย่องชีวิตในหมู่บ้านเป็นอุดมคติของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันกันในชุมชนนั้น เกิดและตั้งอยู่ได้ก็เพราะชาวบ้านไม่มีสำนึกปัจเจกที่แหลมคมนัก ทุกคนถูกผูกสัมพันธ์ไว้ระหว่างกันและกันด้วยความสัมพันธ์ฉันญาติหรือญาติเสมือน, ความพยายามจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งแบบซึ่งหน้า, การไม่แยกหรือแยกไม่ชัดระหว่างความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะ ฯลฯ

แต่ปัจจัยที่เอื้อให้อุดมคติโบราณตั้งอยู่ได้ ไม่มีอยู่หรืออ่อนพลังไปมากแล้วในปัจจุบัน ยิ่งกว่านั้นอีกหลายอย่างก็กลายเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางความสงบสุขของสังคมไทยสมัยใหม่ไป เช่น เส้นที่แบ่งไม่ชัดระหว่างอะไรที่เป็นส่วนตัวกับส่วนสาธารณะหรือส่วนรวม กลายเป็นที่มาของคอร์รัปชั่น, ของการใช้อำนาจดิบตามอำเภอใจ, ของการไม่ใส่ใจกับสมบัติสาธารณะ ฯลฯ

 

ผมพูดเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อเตือนผู้ยึด “อนุรักษนิยม” เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตนว่า แม้วัฒนธรรมที่ไม่มีสำนึกปัจเจกที่แหลมคมจะไม่นำความสงบสุขแก่ผู้คนในสังคมสมัยใหม่เสียแล้ว แต่ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันกันก็ยังเป็นคุณค่าที่คนสมัยนี้ยกย่องและให้ความสำคัญ เรียกในภาษาสมัยใหม่ว่า “ภราดรภาพ” นักอนุรักษนิยมต้องค้นหาคุณค่าที่มั่นคงยั่งยืนในสังคมและวัฒนธรรมไทยให้เจอ และคิดว่าปัจจัยที่เป็นไปได้ในสังคมปัจจุบันที่จะช่วยเสริมคุณค่านั้นๆ คืออะไร และเราจะส่งเสริมปัจจัยเหล่านั้นได้อย่างไร เช่น ทำอย่างไรจึงจะรักษาและขยายความหมายให้เหมาะกับสังคมสมัยใหม่แก่ภราดรภาพแบบไทย โดยยอมรับเสรีภาพเป็นคุณค่าที่สำคัญของไทยไปพร้อมกัน

อนุรักษนิยมไม่ได้แปลว่ารักษาของเก่าอย่างมืดบอด ต้องรู้จักเลือกรักษา เพราะเห็นว่ามันดีแก่สังคมไทยที่เปลี่ยนไปแล้ว จะดีได้ก็เพราะรู้จักเลือกสรร เลือกเน้น เลือกลืม ไม่ใช่รักษาไว้ทั้งดุ้น การที่อนุรักษนิยมไทยขาดทั้งความรู้และสติปัญญานั้น ทำให้สังคมไทยทั้งสังคม ขาดทุนอย่างมโหฬาร

 

ข้อขัดข้องฉกรรจ์ที่ “ผู้ใหญ่” หรือ “ผู้ใหญ่ของผู้ใหญ่” มหาวิทยาลัยนเรศวรเห็นว่าไม่ควรปล่อยให้คุณพริษฐ์ได้แสดงปาฐกถาในมหาวิทยาลัยก็คือ 1.คุณพริษฐ์ไม่ใช่ “นักวิชาการ” 2.คุณพริษฐ์เป็นคนคุก 3.คุณพริษฐ์ไม่เป็นกลาง

ผมคิดว่าเมื่อนำทั้งสามด้านนี้มาอ้างในปัจจุบัน ดูจะฟังไม่ขึ้นไปแก่คนสักครึ่งประเทศเสียแล้ว ผมขอยกเหตุที่ฟังไม่ขึ้นมาเป็นตัวอย่างสักเล็กน้อย

คำว่า “นักวิชาการ” นั้นไม่เคยมีในภาษาไทยมาก่อน สมัยนั้นครูมหาวิทยาลัยคือครูที่คนภายนอกรู้สึกว่าเป็นคนมีความรู้สูง ถึงสามารถสอนระดับมหาวิทยาลัยได้ แต่เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นำเอาคนที่ปัจจุบันเรียกว่า “เทคโนแครต” เข้ามาวางแผนและบริหารเศรษฐกิจ-การเมืองในระบอบเผด็จการ ครูมหาวิทยาลัยก็จ๋อง และดูจะห่างเหินจากอำนาจจนแทบไม่ต่างจากครูมัธยม จะสนับสนุนนโยบายสาธารณะก็ไม่มีค่าอะไรแก่ผู้มีอำนาจ จะคัดค้านนโยบายสาธารณะก็ดูเหมือนเสียงนกเสียงกา ขาดสิ่งที่เรียกว่า “อาญาสิทธิ์” (authority)

ครูมหาวิทยาลัยจึงบัญญัติศัพท์ที่ฟังดูขรึมขลังขึ้นกว่าคำว่าครู เพื่อใช้เรียกตนเอง นั่นคือ “นักวิชาการ” ในเวลาต่อมาคำนี้ก็กลายเป็นนิยามใหม่สำหรับครูมหาวิทยาลัยและคนอื่นๆ ซึ่งต้องการ “ความรู้” เป็นที่มาของความชอบธรรมแห่ง “อำนาจ” ของตนเอง โดยไม่ต้องรอให้เผด็จการแต่งตั้งเข้าไปนั่งในกรรมการอะไรในภาครัฐหรือกึ่งรัฐ

ผมเข้าใจว่าในปัจจุบัน ความขรึมขลังของคำนี้จางหายไปหมดแล้ว เพราะเงื่อนไขที่เคยทำให้ขรึมขลังในอดีตได้หายไปแล้วเหมือนกัน เพิ่งมารู้ว่าผมอาจจะผิดเมื่อได้ยิน “ผู้ใหญ่ของผู้ใหญ่” มหาวิทยาลัยนเรศวร ใช้คำนี้คัดค้านขัดขวางการปาฐกถาของคุณพริษฐ์

 

อันที่จริงคำนี้ถูกบัญญัติขึ้นเพื่อให้ต่างจาก “ครู-อาจารย์” ปรกติ คล้ายกับว่ากูเป็น “นักวิชาการ” นะโว้ย ไม่ใช่ครูมหาวิทยาลัยธรรมดา ถ้ายังใช้ในความหมายเดิม ผมเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรก็เหมือนมหาวิทยาลัยทั่วโลก คือมีครูที่ไม่ได้เป็น “นักวิชาการ” แสดงปาฐกถาอยู่ทุกวัน ในทางตรงกันข้าม คุณพริษฐ์เสียอีกที่มีผลงานเขียนทางวิชาการจำนวนมาก จึงเป็น “นักวิชาการ” เสียยิ่งกว่าครูมหาวิทยาลัยจำนวนมาก

ตกลงพวกเขาคัดค้านการแสดงปาฐกถาของคุณพริษฐ์ ไม่ใช่เพราะคุณพริษฐ์เป็นหรือไม่เป็นนักวิชาการ แต่พวกเขาไม่เชื่อใน “อาญาสิทธิ์” ทางวิชาการของคุณพริษฐ์ต่างหาก

ข้อทักท้วงว่าคุณพริษฐ์ไม่เป็นกลางนั้นน่าสนใจเป็นพิเศษ เพราะมันสะท้อนทัศนะเกี่ยวกับความรู้และการแสวงหาความรู้แบบไทย ซึ่งมันตกยุคไปแล้ว จึงกระทบต่อฐานของอาญาสิทธิ์ทางวิชาการแบบไทยโดยตรง

 

ผมขอกลับมาย้ำเรื่อง “อาญาสิทธิ์” อีกครั้งหนึ่งว่า ที่จริงอาญาสิทธิ์คืออำนาจเหมือนอำนาจอื่นๆ (ภาษาไทยโบราณใช้คำว่า “สิทธิ” ในความหมายถึงอำนาจหรือฤทธิ์เดชที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ) แต่เป็นอำนาจที่มีความชอบธรรมรองรับ จะเป็นการยอมรับของกฎหมาย, ประเพณี หรือมหาชนก็ตาม

สิ่งที่เป็นอาญาสิทธิ์ในแต่ละสังคม ไม่จำเป็นต้องเป็นคน, กลุ่มคน, สถาบันทางสังคมและการเมือง เพียงเท่านั้น แต่สิ่งที่เป็นนามธรรมกว่านั้นก็อาจเป็นอาญาสิทธิ์ได้ เช่น ศีลในศาสนามักกำหนดว่าอะไรดีหรือชั่วไว้อย่างตายตัว, วิธีการทางวิทยาศาสตร์ก็เคยเป็นอาญาสิทธิ์เพื่อตัดสินว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง ฯลฯ เป็นต้น

และเหมือนกับอำนาจด้านอื่นๆ อีกเรื่องหนึ่งก็คือ อาญาสิทธิ์เปลี่ยนได้ไปตามยุคสมัยหรือเวลา ผู้ถือเปลี่ยน, เนื้อหาเปลี่ยน, กลุ่มคนที่ยอมรับเพิ่มขึ้น-น้อยลง-หายไปเลย เป็นต้น

ผมคิดว่า ในราวสองทศวรรษที่ผ่านมา “อาญาสิทธิ์” ในทุกด้านของสังคมไทยได้พังสลายลงจนหมด อาญาสิทธิ์ใหม่ที่ผู้คนยอมรับโดยทั่วไปก็ยังไม่เกิด อาญาสิทธิ์เก่าผดุงตัวเองให้อยู่รอดต่อไปก็ยาก บางครั้งกลับเร่งทำลายฐานความชอบธรรมของตนเองจนกลายเป็น “ตลก” ประจำยุค

 

เมื่อสมัยผมเป็นเด็กจนเป็นหนุ่มนั้น ประชาธิปไตยคืออะไร นักเรียนนอก (ยุโรป-สหรัฐ) เป็นผู้นิยาม แล้วคนก็เชื่อถือ ปัจจุบันมีคนนิยามหลายกลุ่ม แต่ก็มีผู้เห็นแย้งตลอด จนกระทั่งประชาธิปไตยเป็นหนึ่งในความหมายที่ไม่ “ลงตัว” ในประเทศไทยเอาเลย

บัญญัติของกฎหมายถูกนิยามอย่างหลากหลายมาก ทั้งจากผู้สอนกฎหมายและจากผู้ปฏิบัติกฎหมายเช่นผู้พิพากษา (ด้วยคำพิพากษาที่เป็นตรงข้ามกัน) จนกระทั่งกฎหมายไทยปัจจุบันขาดความชัดเจนแน่นอน อันเป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ของระบบกฎหมายทุกระบบในโลก เพราะเราในฐานะผู้ถูกบังคับใช้ ต้องรู้อย่างชัดเจนแน่นอนว่า ทำอะไรผิดและทำอะไรไม่ผิด

จะถามใครเรื่องการทหาร, การศึกษา, การจัดการด้านเศรษฐกิจ ฯลฯ ที่ดีและเหมาะกับประเทศไทย ก็หาใครเป็นอาญาสิทธิ์ที่ต่างพากันยอมรับคำตอบไม่ได้นะครับ ชนิดที่นักปราชญ์โบราณเคยยกให้พระยาศรีสุนทรโวหารเป็น “ศาลฎีกา” ด้านภาษาไทยนั้น ไม่มีเสียแล้ว

อย่าว่าอะไรเลยครับ แม้แต่พุทธธรรมก็ไม่มี “ศาลฎีกา” เหมือนกัน ไม่อย่างนั้น เราจะมี “ธรรมกาย” และ “สันติอโศก” ได้อย่างไร

ที่ว่าอาญาสิทธิ์พังสลายไปทุกด้านนั้น ใครได้อ่าน รสไทย (ไม่) แท้ ของคุณอาสา คำภา ก็คงได้เห็นแล้วว่า แม้แต่เรื่องอาหารอร่อยข้างถนนก็ไม่มีใครเป็นอาญาสิทธิ์อีกแล้ว หลัง ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ และแม่ช้อยนางรำ คุณอาสายกเหตุให้แก่เทคโนโลยีการสื่อสารว่า สมัยของสองท่านทั้งสอง การสื่อสารสาธารณะยังเป็นทางเดียว ในขณะที่ในปัจจุบันการสื่อสารสาธารณะกลายเป็นการสื่อสารสองทาง คือผู้รับสารอาจสื่อกลับได้ ตลอดจนสร้างเนื้อหาของตนเองได้ด้วย

ก็คงจะจริงอย่างที่คุณอาสาว่า แต่ผมรู้สึกว่าเรื่องใหญ่ขนาดนี้มันคงมีเหตุมาจากอะไรที่ใหญ่และซับซ้อนกว่าความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เฉพาะการสิ้นสุดของวิธีคิดแบบ “สมัยใหม่” และเริ่มวิธีคิดแบบ “หลังสมัยใหม่” เพียงอย่างเดียว (ไม่ว่าเราจะสมาทานมันอย่างเข้มข้นมากน้อยเพียงไร) ก็ทำให้อาญาสิทธิ์ทั้งหลายสั่นคลอนไปไม่มากก็น้อยเป็นธรรมดา

 

การถามหาความเป็น “กลาง” ก็เป็นอีกส่วนที่แสดงว่า อาญาสิทธิ์ทางวิชาการได้สูญสลายไปในเมืองไทยแล้ว

แทนที่จะถามคุณพริษฐ์ ลองเอาคำถามเดียวกันนี้ไปถามนักประวัติศาสตร์คนอื่น นับตั้งแต่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ลงมาเลยนะครับ ผมไม่คิดว่าจะมีใครรับรองความเป็นกลางให้แก่นักประวัติศาสตร์คนใดได้เสียแล้ว ไม่มีใครมองเห็นอะไรได้หรอกครับ จนกว่าจะมองผ่านประสบการณ์ (ทั้งของตนเองและผู้อื่น), ความหมายที่ถูก (ตนเองหรือผู้อื่น) สร้างขึ้น, คุณค่าซึ่งตนยอมรับ, สมมุติฐานที่ถือกันว่า “จริง” โดยไม่ต้องพิสูจน์ และอีกหลายอย่าง ซึ่งรวมเรียกได้ว่า “อคติหรือความลำเอียง”

ความปราศจากอคติและความลำเอียงใดๆ เป็นบรรทัดฐานของอาญาสิทธิ์ทางวิชาการของประเพณีความรู้แบบไทยแต่ก่อน แต่ในโลกวิชาการปัจจุบัน ซึ่งต้องผนวกไทยเข้าไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเพณีความรู้แบบนี้ถูกละทิ้งไปนานแล้ว ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ นักวิชาการปัจจุบันถูกสอนให้รู้จักอคติของตนเองให้ดี เพื่อจะจัดการกับมันในการทำงานทางวิชาการได้อย่างมีพลังกว่า อย่างน้อยก็ทำให้เปิดรับการตีความ (หรือให้ความหมายแก่ปรากฏการณ์ที่กำลังศึกษา) ที่แตกต่างได้ง่ายขึ้น

นี่เป็นการหายไปของอาญาสิทธิ์อย่างฉับพลัน เพราะประเพณีของความรู้เปลี่ยนไป

 

กรณีที่เกิดกับคุณพริษฐ์ในครั้งนี้ก็เป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการและอื่นๆ อย่างที่พูดกันแหละครับ แต่ที่มันบอกผมอีกอย่างหนึ่งก็คือ อาญาสิทธิ์ในสังคมไทยกำลังพังสลายลงไปทุกด้าน รวมทั้งด้านวิชาการด้วย หลังจากเราได้เห็นการพังสลายของอาญาสิทธิ์ด้านอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานแล้ว

สังคมที่ขาดอาญาสิทธิ์เช่นนี้ ย่อมมีความขัดแย้งสูง แม้แต่การเลือกตั้งใหญ่ (พูดอีกอย่างหนึ่งคือการแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่) ก็ไม่บรรเทาความขัดแย้ง กลับไปโผล่ในนิติสงครามอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้าสังคมจะกลับสู่ความสงบสุขได้ อย่างไรเสียก็ต้องมีกระบวนการสถาปนาอาญาสิทธิ์ใหม่ โอกาสที่กระบวนการนี้จะนำสังคมไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นก็มี หรือโอกาสที่กระบวนการนี้จะผ่านไปโดยสงบหรือรุนแรงน้อยก็มี

สังคมไทยพึงทำอะไรเพื่อให้โอกาสหลังเป็นไปได้มากกว่าโอกาสแรก