โบราณใช้ “หัว-ศีรษะ” ไม่ต่างกัน “มารศีรษะขน-ศีรษะหมู” ก็ใช้

ญาดา อารัมภีร

หัว – ศีรษะ (1)

 

สมัยก่อนคำว่า ‘หัว’ และ ‘ศีรษะ’ ใช้ได้ไม่ต่างกัน แม้ในถ้อยคำสำนวนเดียวกันก็ใช้แทนกันได้ อาทิ ‘มารหัวขน’ หรือ ‘มารศีรษะขน’ คือลูกที่อยู่ในท้องซึ่งยังไม่ปรากฏว่าใครเป็นพ่อหรือไม่มีใครรับว่าเป็นพ่อ “สุภาษิตสอนหญิง” กล่าวถึงหญิงใจแตกว่า

“ชนิดนางอย่างนี้มีชุมนัก เป็นโรครักเกิดมารศีรษะขน

ต้องกินยาเข้าสุราพริกไทยปน หมายประจญจะให้ดับที่อับอาย

รักสนุกครั้นได้ทุกข์แล้วถอยคิด จะปกปิดเปลวไฟเห็นไม่หาย

เทพเจ้าท่านไม่เข้าด้วยคนร้าย คงเกิดกายขึ้นให้เห็นไว้เป็นตรา”

สำนวนเดียวกันนี้มีใช้ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เมื่อสืบพยานที่บ้านนางศรีประจัน ขุนแผนค้านว่าไม่ควรให้นางศรีประจันเป็นพยานตามคำอ้างของขุนช้าง เพราะนางเป็นแม่ยายฝ่ายโจทก์ เป็นตัวการพรากวันทองไปยกให้ขุนช้างที่นางโปรดปรานถึงขนาด ‘ชอบพูดกับลูกเขยสองต่อสอง’ และมีพฤติกรรมบัดสี

“เป็นโมหจิตคิดคะนอง ให้ลูกเขยนวดท้องอยู่ในเรือน

จนเป็นมารหัวขนหล่นจากพุง ประคบท้องยังรุ่งจนหน้าเฝื่อน

จอมปลอมผอมแห้งแร้งมาเตือน เป็นพยานร่วมเรือนอาสามา”

ขุนแผนให้เหตุผลว่าพยานไม่น่าเชื่อถือ รับฟังพยานร่วมเรือนเช่นนี้ไม่ได้เพราะมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับลูกเขยจนเกิดมารหัวขนต้องทำแท้ง เป็นเหตุให้นางผอมแห้งใกล้ตายอย่างนี้

นอกจาก ‘มารหัวขน – มารศีรษะขน’ ยังมี ‘หัวไม้ – ศีรษะไม้’

‘หัวไม้’ และ ‘ศีรษะไม้’ ความหมายครือๆ กัน ใช้แทนกันได้ “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ อธิบายว่า

“หัวไม้, คือคนเก่งกล้า มักชกตีวิวาทข่มเหงเพื่อนนั้น.

หัวไม้ศีศะไม้, คือ คนเก่งกาจฉะกรรจ์, เที่ยวพาลตีรันผู้อื่น, เปนคนต้นชักชวนก่อน, นำน่าเพื่อนไปนั้น (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

รวมความคือ นักเลงหัวไม้ หรือนักเลงอันธพาลนั่นเอง

“สุภาษิตสอนหญิง” เล่าถึงคนประเภทนี้ว่า

“ที่บางคนนั้นชั่วเป็นหัวไม้ ให้พอใจชกตีเขามี่ฉาว

ท่านจับได้ใส่ตรวนคอยาว แล้วบอกข่าวโศกศัลย์ถึงภรรยา”

ไม่ต่างจากเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เล่าถึงนักเลงหัวไม้โชว์อาวุธเดินกร่างกลางงานเทศกาลไหว้พระวัดป่าโมก

“พวกหัวไม้ลอยชายออกกรายกรีด เหน็บมีดขวานคร่ำทำก๋าเก่ง

เข้าในวัดยัดเยียดเบียดตะเบ็ง สาวสาวกลัวนักเลงลงนาวา”

ส่วนใน “ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔” ‘๑๔๐ พระราชกระแสเรื่อง ทาสลูกหนี้หนีนายเงินไปอาศัยวังเจ้าบ้านขุนนางแลในพระบรมมหาราชวัง’ ใช้คำว่า ‘ศีรษะไม้’ แทน ‘หัวไม้’ ไว้หลายที่

“ถ้ามีศีรษะไม้คนเมาไล่ตีไล่ฟันใครมาก็ดี มีผู้ร้ายไล่ผู้ใดผู้หนึ่งจะฉกชิงวิ่งราวเอาทรัพย์สิ่งสินในตัวในเมืองผู้ใดก็ดี ผู้ที่กลัวศีรษะไม้แลผู้ร้ายวิ่งเข้าไปในบ้านใหญ่วังโตพ้นจากมือคนศีรษะไม้แลผู้ร้ายไปได้ดังนี้ จึงเป็นเกียรติยศแก่เจ้าบ้านเจ้าวังนั้นได้ วิสัยคนที่เป็นใหญ่แล้วหรือจักเป็นใหญ่ต่อไปในกาลบัดนี้ ควรจะต้องรักษาเกียรติยศ ให้มีกิตติศัพท์เล่าลือว่า เมตตาปรานีแก่คนทั้งปวงไม่เข้าแก่บ่าวไพร่ของตน แลไม่เข้าแก่คนผิด”

 

น่าสังเกตว่า “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เล่ม 2 ฉบับที่ 21 และ 22 ใช้คำว่า ‘อ้ายหัวไม้’ แสดงว่าทั้ง ‘หัวไม้’ และ ‘ศีรษะไม้’ ใช้แทนกันได้ มีความหมายเดียวกัน

“ความเรื่อง อ้ายหัวไม้บางขุนศรีที่เธอชำระนั้น มีเหตุลุกขึ้นน้อยหนึ่งให้ฉันต้องเอาใจใส่”

“กรมพระนครบาลว่าด้วยอ้ายหัวไม้ พวกหม่อมเจ้าปรีดาในกรมขุนธิเบศบวร และอ้ายดั่นอ้ายโมราอ้ายมณีอ้ายฉาย อ้ายอะไรๆ อีกซึ่งเป็นหม่อมราชวงศ์ อ้ายจรบุตรพระอินทรรักษา”

อย่าว่าแต่หัวคนเลย แม้ ‘หัวหมู’ – ‘ศีรษะหมู’ ก็ใช้คู่กันได้ บทละครนอกเรื่อง “คาวี” ตอนท้าวสันนุราชหาหมอเสน่ห์มาทำให้นางจันท์สุดาหลงรัก หมอเฒ่าโอ้อวดสรรพคุณตัวเองแก่บรรดาเสนาว่า

“วันนี้เขาเอาของมาไหว้ครู หัวหมูบายศรีอยู่นี่แน”

ไม่ต่างกับบทละครนอกเรื่อง “สังข์ทอง” ตอนที่ท้าวสามลบนบานให้พระสังข์ตีคลีมีชัย

“แล้วบนบานศาลกล่าวเจ้านาย จะถวายหัวหมูกับบายศรี

มาตรแม้นมีชัยชนะคลี จะให้มีอิเหนาสักเก้าวัน

เล่นการมหรสพครบสิ่ง จะเวียนเทียนทำมิ่งสิ่งขวัญ”

ในขณะที่เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ใช้คำว่า ‘ศีรษะหมู’ ตอนนางทองประศรีบนบานภูตผีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้คุ้มครองพลายชุมพลที่หนีไปเมืองกาญจน์

“จงพิทักษ์รักษาหลานข้าเจ้า ทั้งเป็ดไก่เหล้าข้าวจะบวงสรวง

ศีรษะหมูคู่หนึ่งไม่ล่อลวง แล้วทำบ่วงห้อยเบี้ยไว้หัวนอน”

โดยเฉพาะนิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” ใช้คำว่า ‘หัว’ และ ‘ศีรษะ’ สลับกันเป็นระยะๆ ดังจะเห็นได้จากตอนที่ อิเรน แม่ทัพเฒ่าผู้รักษาด่านดงตาล ควงขวานไล่ฆ่าศัตรูจนอ่อนล้า เลือดโซมร่างเพราะต้องลูกธนูเต็มตัว จึงสั่งยันตังลูกศิษย์ให้รีบตัดหัวส่งไปถวายเจ้านาย กำชับว่าอย่าปล่อยตนตกอยู่ในเงื้อมมือศัตรู

“เรียกอังกฤษศิษย์สั่งให้ตัดหัว ศีรษะตัวอย่าให้ผู้ใดเห็น

อ้ายยันตังฟังว่าน้ำตากระเด็น แต่จำเป็นจำทำด้วยจำใจ

เฝ้าอิดเอื้อนเตือนหนักชักกระบี่ ออกตัดศีรษะเชือดจนเลือดไหล”

ยันตังเอาศีรษะอิเรนห่อผ้าผูกไว้กับคอของตน ฉวยขวานคู่มือของนายโดดขึ้นหลังม้าตีฝ่าวงล้อมไปเฝ้านางละเวง

“เอาหัวครูชูถวายนางวัณฬา เล่ากิจจาทูลแถลงให้แจ้งการ

นางละเวงเพ่งพิศคิดสังเวช น้ำพระเนตรหลั่งลงน่าสงสาร

เพราะสัตย์ซื่อถือนายสู้วายปราณ โปรดประทานศพไว้ให้ยันตัง

เลื่อนศีรษะเป็นพระอุปราช บรรจุไว้ในปราสาทบาทหลวงฝัง”

ฉบับนี้ ‘หัว’ คู่ ‘ศีรษะ’ ฉบับหน้า ‘ศีรษะ’ เป็นพระเอก •

 

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร