เหตุเกิดที่…? | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

“…ประเทศไทยจะเหมือนยูเครน…”

“…มีสหรัฐอเมริกาอยู่ข้างหลัง สหรัฐอเมริกาใช้พรรคก้าวไกล และพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นหมากการเมืองสำคัญต่อต้านจีน ไทยจะเหมือนยูเครนที่รัฐบาลก้าวไกลชักศึกเข้าบ้าน…”

“…ผู้คนจะรวมตัวกันลงถนนเพื่อประท้วง…”

“…คนไทยจะเข่นฆ่ากันเอง…”

“…แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ…”

“…เราจะต้องจัดการเลือกตั้งกันใหม่…”

“…บ้านเมืองขัดแย้งกันรุนแรง การเมืองไทยถึงทางตันแล้ว รัฐบาลแห่งชาติเป็นทางออกที่ดีเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง…”

นี่เป็นส่วนหนึ่งของผู้คนที่ประกาศว่าตัวเอง รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ผู้คนเหล่านี้ล้วนเป็นสมองของฝ่ายอนุรักษนิยมที่กำลังระดมสรรพกำลังนานาประการ รวมทั้งทำสงครามในโลกเสมือนจริง ใช้ IO สนั่นกันทั่วเมือง ตลอดเวลา

ประเด็นสำคัญคือ ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ที่ก่อตัวและเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นนี้เกิดขึ้นที่ไหน?

 

เหตุเกิดที่…?

ต้นเดือนมิถุนายน นายกรัฐมนตรี สมเด็จฮุน เซน แห่งกัมพูชา กล่าวในระหว่างการพบปะกับแรงงานกว่า 17,000 คน ที่นิคมอุตสาหกรรมคำตัน (Camton) จังหวัดกันดาล (Kaldal) กัมพูชาว่า แผนการใดๆ ที่จะขับไล่แรงงานกัมพูชา ลาวและเมียนมา อาจส่งผลกระทบอย่างมากไม่เพียงแต่เศรษฐกิจของทั้งสามประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงเศรษฐกิจไทยจะจ้างแรงงานต่างด้าวด้วย นโยบายดังกล่าวของพรรคก้าวไกลนั้น จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย1

นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ยังกล่าวด้วยว่า หัวหน้าพรรคการเมืองชนะการเลือกตั้งใช่ว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี2

นี่น่าจะเป็นอะไรที่มากกว่าความห่วงใยต่อการเมืองไทยช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พรรคก้าวไกลและว่าที่นายกรัฐมนตรี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แต่แสดงถึงสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงในไทยและในกัมพูชาครั้งสำคัญพร้อมกันไป ด้วยว่าข้อเขียนอันลุ่มลึกของ อัญเจียแขฺมร์ ที่เปิดขุมความรู้ใหม่เรื่อง ชาวเน็ตเขมรเคลม ว่า ทิม พิธา หรือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เขามีเชื้อสายกัมปูเจียนะ?3

เรื่องพิธามีเชื้อสายกัมปูเจีย เป็นวัฒนธรรมการเมือง (Political Culture) ที่ลุ่มลึกอันดำรงอยู่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและไทยในหลายมิติ กล่าวคือ

ประการที่หนึ่ง เสียงลือในโซเชียลเขมร ทิม พิธา มีเชื้อสายกัมปูเจียนี่เป็นมากกว่าการปั้นยอดวิวคอนเทนต์ของเหล่าทูบเบอร์กัมพูชาที่เชื่อมโยงทิม พิธา ไปในประวัติศาสตร์ สมัยเจ้าเมืองพระตะบองของพวกเสียม (สยาม-ในสมัยนั้น-ขยายโดยผู้เขียน) ที่ปกครองเมืองเขมร โดยทิม พิธา เป็นลูกหลานสมาชิกตระกูลอภัยภูเบศร์

อาการทูบเบอร์เขมรอ้างหรือเคลม ทิม พิธา ไม่น่าเป็นแค่ปั่นยอดวิวของชาวเน็ตเขมรในโซเชียล แต่กลับมีวาระซ่อนเร้นในพัฒนาการและโครงสร้างการเมืองกัมพูชาปัจจุบันที่นำเอาอดีตกาลมารับใช้การต่อสู้การเมืองในปัจจุบันของกัมพูชา

นำชัยชนะปัจจุบันของพรรคก้าวไกลหรือที่ภาษาเขมรเรียกว่า เตียวมุข (ก้าวไกล)4 มาเป็นพลังขับเคลื่อนเพื่อให้สั่นสะเทือนโครงสร้างการเมืองเดิมของกัมพูชา ที่ผูกขาดและครอบงำด้วยระบอบฮุนเซน กว่า 3 ทศวรรษ

ความพ่ายแพ้ของระบอบประยุทธ์ในการเมืองไทยในการเลือกตั้งทั่วไปที่เพิ่งผ่านพ้นไป ได้ก่อผลสะเทือนถึงระบอบฮุนเซนที่คล้ายคลึงกันมาก ราวกับว่าลอกกันไปกันมาในวัฒนธรรมอำนาจนิยม (Authoritarianism) เหมือมกัน

แต่ชัยชนะของพรรคก้าวไกลและทิม พิธา หาใช่เรื่องบังเอิญ โฆษณาชวนเชื่อ การตลาดการเมืองและเล่ห์กลของสื่อโซเชียลดังที่ฝ่ายอนุรักษนิยมไทยใช้ปลอบประโลมใจกันเอง ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่เพิ่งผ่านมาโยงใยกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในสังคมไทยในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แล้วยังแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอันหมายถึงกัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนามด้วย

ประการที่สอง สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงกำลังพัดผ่านภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ไหลเวียนทั่วไทย แล้วไปกระทบระบอบฮุนเซนที่กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคมนี้ อันเตรียมการให้กับฮุน มาเนต ลูกชายคนโตของฮุน เซน ก้าวสู่ตำแหน่งการเมืองหลังจากเพิ่งสถาปนายศผู้นำทหารสูงสุดผู้คุมกำลังกองทัพแท้จริง และมีตัวนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ยังเป็นตัวจริงของการเมืองกัมพูชา แต่อาจอยู่ในตำแหน่งและมีบทบาทในชื่ออื่นที่โก้เก๋ แต่ก็คือผู้นำสูงสุดคนเดิมนั่นเอง

พรรคก้าวไกล หรือเตียวมุข5 ทิม พิธา จึงเป็นฝันร้ายที่หลอกหลอนระบอบฮุนเซน จากการเปรียบเทียบอายุที่ทิม พิธา มีอายุต่างจากลูกชายคนโตของฮุน เซน เพียง 3 ปี มีประสบการณ์ในรัฐสภาเพียงแค่ 3 ปีแต่ก็ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย

สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง กระแส จลนา ‘เคลื่อนไหว’ จลนา กระแสคลื่นใหม่ บ้างก็ว่า นี่เป็นสึนามิทางการเมือง นับเป็นนิยามอันมีความหมายทำนองเดียวกันนี้น่าสนใจยิ่ง เพราะสอดคล้องกับสิ่งที่ชาวกัมพูชาเรียกขานอยู่ว่า ปฏิวัติสี6 หรือปฏิวัติวัฒนธรรม อันเป็นเนื้อเดียวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบถอนรากถอนโคนในช่วงเวลาประวัติศาสตร์โลก ซึ่งเป็นที่หวาดระแวงอย่างมากของฮุน เซน แล้วยังหาทางตั้งรับการเปลี่ยนแปลงทั้งใหม่และรุนแรงมากในครั้งนี้มาอย่างต่อเนื่องด้วย

จากการลงภาคสนามที่กัมพูชาของผู้เขียนในการประเมินโครงการวิจัย ความช่วยเหลือต่อการพัฒนาประเทศ ของสำนักงานความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) องค์การมหาชน ของสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย7

พบว่า ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาครั้งที่แล้วมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในกัมพูชาก่อน แล้วนักการเมืองผู้สมัครของพรรครัฐบาลกลับมีคะแนนนิยมตกต่ำลง แม้ฮุน เซน จะใช้วิธีการหาเสียงดั้งเดิม ได้แก่ การเดินทางไปท้องถิ่นพบปะเยี่ยมเยือนประชาชน ไปในงานเลี้ยงและงานบุญใหญ่ของท้องถิ่นและของชาติ

ฮุน เซน ไม่เคยปฏิเสธการไปเป็นประธานมอบปริญญาและให้โอวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับต่างๆ ของสถาบันการศึกษาสำคัญของประเทศเลย

นอกจากนี้ ฮุน เซน ยังนิยมไปเป็นประธานมอบหรือเปิดงานโครงการก่อสร้างและงานพัฒนาที่ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ แล้วแอบเคลมว่า ฮุน เซน เองเป็นผู้มอบโครงการเหล่านั้นในฐานะเจ้าของหรือผู้ริเริ่มเอง8

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าฮุน เซน ยังคงใช้กลไกทางการเมืองเพื่อเรียกคะแนนความนิยมของตนและนักการเมืองของพรรครัฐบาลเช่นนี้ แต่ความนิยมทางการเมืองของตัวเขาเองและนักการเมืองในสังกัดย่ำแย่ลง

ฮุน เซน พบด้วยตัวเองว่า เพราะคนหนุ่มสาวกัมพูชาล้วนใช้สื่อโซเชียล ได้แก่ Face book, Twitter เป็นต้น โดยที่คนรุ่นใหม่แสดงความเห็นต่อประเทศและรัฐบาลโดยเปิดเผย

ดังนั้น ฮุน เซน ถึงกับช็อกในผลของสื่อโซเชียล แล้วเปิด Face book ของตัวเองเพื่อทำความเข้าใจอย่างจริงจังกับความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่กัมพูชา รวมทั้งเริ่มสกัดกั้นความคิดเห็นต่างๆ พร้อมเซ็นเซอร์ ในที่สุดสั่งปิดบัญชีของคนกัมพูชาบางกลุ่ม

 

ปฏิวัติสีในกัมพูชา

ด้วยชัยชนะของพรรคก้าวไกลและทิม พิธา อันปรากฏอยู่ในสังคมโซเชียลกัมพูชากำลังท้าทายระบอบฮุนเซนในระดับรากฐาน เท่ากับว่าชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยในไทยกลับสร้างรัฐศาสตร์ แล้วก้าวเลยไปถึงปรับเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์ในกัมพูชา ที่เริ่มทลายพลังอำนาจของระบอบฮุนเซน

ดังนั้น ลูกไม้การเมืองตื้นๆ ที่ผู้นำกัมพูชาในหลายยุคหลายสมัยนำมาใช้ คือ ปลุกกระแสชาตินิยม ยืมประวัติศาสตร์แห่งความเกลียดชัง เอามาด้อยค่า สีส้ม ของพรรคก้าวไกลและทิม พิธา ท่ามกลางสร้างกระแสชาตินิยมเพื่อระดมความนิยมทางการเมืองแก่ตัวฮุน เซน เอง

กีฬาซีเกมส์ที่กัมพูชา ครั้งที่ 32 กัมพูชาเป็นเจ้าภาพจึงมีกีฬาของเจ้าภาพเอง เช่น กุนแขมร์ (Kun Khmer) แทนที่กีฬามวยไทย กีฬามาร์เชียลอาร์ต (Martial art) มี Kun Lbokator9 มี อ้างว่า บัวขาว บัญชาเมฆ ยอดมวยไทยก็มีเชื้อเขมร

แต่การเมืองของกีฬาเพื่อกระแสชาตินิยมก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ กระแสลมความเปลี่ยนแปลงในไทยก็โหมพัดกัมพูชาจนผู้นำกัมพูชาไม่ทันตั้งตัว

ดังนั้น ที่บอกว่า ไทยจะเหมือนยูเครน ชักศึกเข้าบ้าน มีสหรัฐอเมริกาอยู่ข้างหลัง บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ ดูเหมือนจะเกิดที่กัมพูชาด้วยกระมัง

นี่เป็นฝีมือของลูกหลานของคนทรยศกัมปูเจียอย่างนั้นหรือ

ลูกหลานของคนทรยศกัมปูเจีย?


1“PM reacts against newly elected Thai Party’s policy on foreign migrant workers” Khmer Times, 2 June 2023.

2Ibid.,

3อัญเจียแขฺมร์ “พิธา-ฟีเวอร์ ‘การบ้านใหม่’ ใน ฮุนเซน-ไอโอ” มติชนสุดสัปดาห์ 29 พฤษภาคม 2566

4เพิ่งอ้าง

5เพิ่งอ้าง

6ปฏิวัติสี (Colour Revolution) เกี่ยวกับการปฏิวัติหลังยุคสหภาพโซเวียต

7อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ หัวหน้าโครงการวิจัย การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจต่อประเทศเพื่อนบ้าน : กรณีเส้นทาง R 3A และ R 48 เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) (องค์การมหาชน) 2554

8ทีมงานของเขา เน้นงานเลี้ยงชาวบ้าน จัดเวทีปราศรัย แล้วฮุน เซน มักกล่าวปราศรัยด้วยเวลานาน จนกระทั่งนักศึกษาที่มีรับปริญญาเบื่อหน่ายเรื่องที่ดูซ้ำไปซ้ำมา

9Sokvy Rim, “Cambodia and Thailand’s Cultural Rivalry Has Serious Implications” The Diplomate 12 May 2023.