รัฐฆราวาส | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

บทความนี้ไม่มีคำตอบอะไรทั้งสิ้น เพราะตั้งใจจะตั้งคำถามที่ดูเหมือนคนสมัยนี้เชื่อว่ามีคำตอบไปแล้ว แต่ขอทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า คำถามทุกคำถามย่อมมีความลำเอียง (predilection) แทรกอยู่ไม่ต่างจากคำตอบ ไม่ว่าผู้ถามจะรู้ตัวหรือไม่ บางตอนของคำถามของผม ผู้อ่านย่อมเห็นได้ไม่ยากว่าผมมีความลำเอียงไปทางไหน แต่ผมรู้ดีว่านั่นเป็นคำตอบที่ใช้ไม่ได้ หรือยังใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติ

หลังจากคุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติได้รับเชิญให้เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกลแล้ว ระหว่างเวลาก่อนที่จะมีการทำเอ็มโอยู คุณวันนอร์ได้แสดงความเห็นต่อสื่อว่า พรรคประชาชาติไม่อาจรับนโยบายสองข้อของพรรคก้าวไกลที่ใช้หาเสียงได้ หนึ่งคือเรื่องสุราก้าวหน้า อีกเรื่องหนึ่งคือสมรสเท่าเทียม

แม้เอ่ยหรือไม่เอ่ยชื่อคุณวันนอร์ก็ตาม มีเสียงวิพากษ์ตอบโต้ความเห็นเช่นนี้อยู่หนาหูในสื่อเหมือนกัน โดยเฉพาะจากนักวิชาการพุทธ โดยท่านมิได้พูดในฐานะ FC พรรคก้าวไกล แต่ท่านมีจุดยืนเกี่ยวกับเรื่อง secular state หรือที่แปลกันว่า “รัฐฆราวาส” มานานแล้ว ซ้ำยังผูกพันรัฐประเภทนี้กับ “จริยธรรมทางสังคม” ของโลกสมัยใหม่ด้วย ไม่ได้เอาไปผูกไว้กับศาสนา

เพราะฉะนั้น “สมรสเท่าเทียม” จะถูกหรือผิดศาสนาใดอย่างไรนั้นยกไว้ก่อน แต่สัมพันธ์โดยตรงกับเสรีภาพของการเลือกใช้ชีวิตของคนจำนวนมากซึ่งไม่ได้เป็นมุสลิมด้วยซ้ำ พรรคการเมืองฝ่ายที่ถูกจัดว่าเป็น “ประชาธิปไตย” จะเอาหลักศาสนาของตนมาขัดขวางเสรีภาพของคนในศาสนาอื่น (หรือแม้แต่ศาสนาเดียวกัน) ได้อย่างไร

 

ในฐานะคนที่มาจากสังคมพุทธเช่นเดียวกับนักวิชาการท่านนั้น ผมโน้มเอียงไปทางเดียวกันทันที องค์กรพุทธในเมืองไทย (รวมองค์กรสงฆ์ด้วย) ถูกเปลื้องทั้งบทบาท, ความเป็นอาชญาสิทธิ์ทางจริยธรรม, อำนาจนำทางปัญญา, หนึ่งในอำนาจนำทางการเมืองของชุมชนและสังคม-รัฐ ฯลฯ จนไม่เหลืออะไรจะทำนอกจากพิธีกรรม ซึ่งนับวันก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ไกลจากพุทธธรรมไปทุกที ยิ่งทำให้อาชญาสิทธิ์ทางจริยธรรมของสงฆ์ซึ่งร่อยหรออยู่แล้วยิ่งสูญสิ้นจนแทบเป็นศูนย์ไปเลย แล้วจะให้ประเทศไทยเป็นรัฐศาสนาได้อย่างไร

ผู้ที่เปลื้องบรรดาคุณสมบัติขององค์กรพุทธโดยเฉพาะองค์กรสงฆ์ไปนั้นคือรัฐ กระทำในนามของการปฏิรูปศาสนา ซึ่งเกิดมา-กว่า 100 ปีแล้ว แต่ไม่ใช่รัฐอย่างเดียวนะครับ หรือความสำเร็จไม่ได้เกิดจากอำนาจรัฐเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากอำนาจของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย เช่น ปริมาณของกระฎุมพีที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจเงินตรา พวกเขาก็กลายเป็นผู้อุปถัมภ์วัดที่ใหญ่สุดไปแล้ว พุทธศาสนาไทยซึ่งโดยพื้นฐานคือศาสนาของชาวนา (ที่มีช่องว่างให้ราชสำนักเข้ามามีบทบาทนำรองพระสงฆ์นิดหน่อย แต่ก็เพียงพอจะผดุงอำนาจทางการเมืองของตนได้อย่างมั่นคง) และก่อนที่คนกลุ่มอื่นนอกราชสำนักจะเข้าไปแย่งอำนาจนำในวัดไปใช้ประโยชน์ของตนเสียเอง รัฐก็เข้ามา “ปฏิรูป” จนกระทั่งอำนาจรัฐเหนือวัดนั้นเด็ดขาดและสูงสุดเพียงผู้เดียว

[ขออนุญาตนอกเรื่องตรงนี้หน่อยครับ รัฐไทยใช้ยุทธวิธีเดียวกันในการควบคุมอำนาจของคนนอกระบบ เช่น นักวิชาการ, นักเทศน์นอกผ้าเหลือง, หมอ, สื่อ, ทนายความ, เศรษฐี-เจ้าสัว ฯลฯ โดยนำคนเหล่านั้นเข้าไปในระบบ ให้การอุปถัมภ์โดยไม่ต้องร้องขอ (เช่น ไปบริหารองค์กรประเภท ส.ส.ส. ด้วยงบประมาณมหาศาล), ให้ยืมอำนาจรัฐไปใช้ แต่ก็ไม่ถึงกับใช้อย่างอิสระด้วยตนเอง เช่น ห้ามขายเหล้าวันพระและมีเวลาจำกัด ห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ต่างๆ ให้เงินไปดึงคนนอกระบบประเภทเดียวกันเข้ามาอยู่กับรัฐ เช่น ให้เงินสนับสนุน “งานวิจัย” หรือตั้งเป็น “เมธีวิจัยอาวุโส” ฯลฯ ล้วนมีกฎหมายหรือระเบียบที่รัฐอนุมัติรองรับ แต่ที่รัฐไทยทำได้สำเร็จนั้น ไม่ใช่เพราะเก่งอย่างเดียวนะครับ แต่มีปัจจัยทางสังคมช่วยเอื้อด้วย เช่น “เสรีภาพ” ไม่เคยเป็นหลักการสำคัญในการกำกับการจัดการชีวิตและสังคมแต่อย่างใด ซ้ำยังถูกมองอย่างระแวงว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อ “ระเบียบทางสังคม” ด้วย]

อย่างไรก็ตาม ศาสนาอิสลามไม่มีแนวคิดเรื่องฆราวาสธรรม (secularity) ดังนั้น จึงไม่มีแนวคิดเรื่องรัฐฆราวาสในศาสนาอิสลามด้วย อันที่จริง แนวคิดรัฐฆราวาสเกิดในสังคมยุโรปตะวันตกก่อน และก็เพิ่งเกิดขึ้นหลังสมัยกลางไปแล้ว ทั้งไปไม่สุดโต่งถึงขนาดว่ารัฐย่อมแยกขาดจากศาสนา จนเลิกสงครามศาสนาในสมัยปฏิรูปไปแล้ว จึงนึกออกว่าเอาศาสนาไปผูกไว้กับรัฐ มีโอกาสเกิดสงครามกลางเมืองได้ง่าย

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ รัฐฆราวาสเกิดและพัฒนาขึ้นในบริบทเฉพาะของยุโรปตะวันตก

ภายใต้อำนาจของยุโรปตะวันตก “รัฐสมัยใหม่” (ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย) กลายเป็นไวยากรณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทุกมิติ และเจ้าอาณานิคมก็พยายามโน้มนำให้รัฐสมัยใหม่ทั้งหลายมีลักษณะเป็นรัฐฆราวาสไปด้วย

แต่เอาเข้าจริงก็ไม่มีรัฐใดที่เป็นรัฐฆราวาส 100% สักแห่ง แม้แต่ในรัฐสมัยใหม่ของตะวันตกเอง (พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษมีหน้าที่ต้องเป็นองค์อุปถัมภ์นิกายอังกฤษ เป็นต้น)

แม้ว่าพุทธศาสนาและศาสนาตะวันออกอื่นๆ อาจมีแนวคิดเรื่องฆราวาสธรรมอยู่แล้ว (คือเรื่องอะไรที่ไม่เกี่ยวกับศาสนา, นักบวช, ธรรมเนียมวัด ฯลฯ แต่ไม่จำเป็นต้อง “บาป” หรือ “ผิด” ไปทุกเรื่อง เช่น ในพุทธเถรวาท ฆราวาสย่อมเสพเมถุนกับภรรยาได้) แต่ก็ไม่มีรัฐพุทธใดที่มีแนวคิดเรื่องรัฐฆราวาส เพราะคุณค่าทางศาสนา (ไม่ว่าจะจริงหรืออ้างเอาเอง) เป็นส่วนสำคัญของสิทธิธรรมในการปกครอง และองค์กรนักบวชยังเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่รัฐใช้ในการควบคุมประชาชน

หันกลับมาสู่ศาสนาอิสลามที่ไม่มีแนวคิดเรื่องฆราวาสธรรม และที่จริงแล้วในทางทฤษฎีก็ไม่มีองค์กรนักบวช หรือองค์กรศาสนาที่แยกออกจากรัฐได้ ที่เรียกว่าอิสลามคือโองการของพระเจ้าซึ่งมีความหมายเป็นแนวทางปฏิบัติชัดเจนเพราะ “ประเพณี” หรือแบบปฏิบัติที่พระมะหะหมัดและพระสหายได้ใช้ในชีวิตจริงเมื่อเป็นผู้ปกครองรัฐ ดังนั้น รัฐจึงมีหน้าที่ในการผดุงรักษาหลักการของอิสลามไว้ด้วยอำนาจรัฐ เพราะด้วยอิสลาม (ซึ่งแปลว่าสันติ) เท่านั้น ที่ดินแดนแห่งความวุ่นวายปั่นป่วนไร้ระเบียบ จะเกิดสันติขึ้นได้

ฉะนั้น ถ้าแยกอิสลามออกจากรัฐ ก็เท่ากับมนุษย์กลับไปอยู่ในดินแดนป่าเถื่อนวุ่นวายไร้ระเบียบ ที่ผู้คนรังแกกันและเอาเปรียบกันอย่างไร้ขีดจำกัดเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ “กระบวนการทำให้ทันสมัย” ภายใต้การครอบงำของจักรวรรดินิยมตะวันตก บังคับให้ศาสนาทุกศาสนาต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ทางการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคมแบบใหม่ ยิ่งไปกว่านั้นโลกมุสลิมเกือบทั้งใบล้วนตกเป็นอาณานิคมตะวันตกหมด (ยกเว้นอาณาจักรออตโตมัน และซาอุดีอารเบีย) ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ รัฐก็ถูกแยกออกไปจากอิสลามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในระยะแรก (ปลายศตวรรษที่ 19 ต้น 20) ปัญญาชนมุสลิมใน “ลัทธิทันสมัย” (modernism) ดูเหมือนจะยอมรับคติรัฐฆราวาสแบบตะวันตกในระดับหนึ่ง แต่การเรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาการตะวันตกไม่ช่วยให้รัฐอิสลามหลุดพ้นจากความเป็นอาณานิคมอยู่นั่นเอง “ลัทธิทันสมัย” จึงไม่ใช่คำตอบ และปัญญาชนมุสลิมหันกลับมาสู่การรื้อฟื้นหลักการอิสลามให้กลับมีพลังในการกำกับรัฐและสังคมขึ้นใหม่

ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่กับกระบวนการทำให้ทันสมัยของจักรวรรดินิยมตะวันตก แต่ปฏิเสธได้ยากว่ากระบวนการนี้กระทบต่อศาสนาต่างๆ อย่างไม่เว้นเลย (รวมคริสต์ศาสนาในยุโรปด้วย) เช่น วิธีคิดแบบเหตุผลนิยม, ประจักษ์นิยมแบบวิทยาศาสตร์ เป็นต้น แต่ที่ท้าทายต่อศาสนามากที่สุดก็คือจริยธรรมทางสังคมแบบใหม่ ซึ่งไม่เคยมีในศาสนามาก่อน เช่น ประชาธิปไตย, รัฐประชาชาติ, รัฐฆราวาส, เสรีภาพ, เสมอภาพ, การปกครองด้วยกฎหมาย, สิทธิของสตรี, คนพิการ, คนหลากหลายทางเพศ และ “คนนอก” ประเภทต่างๆ นับตั้งแต่ผิวสี, ชนกลุ่มน้อย ฯลฯ เป็นต้นไป

ศาสนาใหญ่ๆ เกิดขึ้นในยุคสมัยที่คุณค่าเหล่านี้ยังไม่อยู่ในสำนึกของผู้คน จึงไม่ใช่คุณธรรมของศาสนาเป็นธรรมดา ร้ายไปกว่านั้นคุณค่าใหม่ๆ เหล่านั้นบางประการยังอาจขัดกับคำสอนหรือธรรมเนียมปฏิบัติในศาสนาบางศาสนา หรือบางนิกายของบางศาสนาก็ได้

เช่นกรณีองค์กรสงฆ์ของพุทธเถรวาทไทยไม่ยอมบวชภิกษุณี เพราะติดปัญหาด้านเทคนีคในพระวินัยของนิกาย แม้คณะสงฆ์ไม่ได้ออกมาต่อต้านคัดค้านสิทธิเสมอภาคของสตรีอันเป็นคุณค่าสมัยใหม่ก็จริง แต่ในเชิงสถาบันแล้ว การไม่ยอมรับให้ผู้หญิงได้บวชเป็นภิกษุณี ก็คือการปฏิเสธสิทธิเสมอภาคของสตรีนั่นเอง

สมรสเท่าเทียมและสุราก้าวหน้าในทัศนะของผู้รู้มุสลิม คือการขัดคำสั่งของพระเจ้าโดยตรง สมรสเท่าเทียมคือขัดธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างเพศที่พระเจ้ากำหนดไว้ให้แล้ว สุราก้าวหน้าคือการยอมรับว่าสุราเมรัยเป็นเครื่องดื่มที่มุสลิมดื่มได้ ทั้งๆ ที่ต้องห้ามในศาสนาอิสลาม ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นนโยบายของรัฐเสียอีก นอกจากรัฐไทยไม่ใช่รัฐอิสลามแล้ว ยังมีนโยบายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อมุสลิมโดยตรง

คนนอกศาสนาอิสลามอาจเห็นว่า คุณมีหน้าที่ดูแลให้ศาสนิกของคุณเคารพ “ศีล” ของศาสนาของคุณเอง รัฐไม่มีหน้าที่ไปดูแล “ศีล” ของศาสนาใด นอกจากจะตั้งอยู่บนความไม่จริงแล้ว (เราเพิ่งกำชับให้งดขายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลในวันวิสาขบูชามาเมื่อเร็วๆ นี้เอง) ความเห็นนี้ยังยึดหลักการของแนวคิด “รัฐฆราวาส” อย่างขึงตึงด้วย แต่ก็ดังที่กล่าวแล้วว่าอิสลามไม่มีแนวคิดเกี่ยวกับรัฐฆราวาส และเอาเข้าจริงก็ไม่มีใครเป็นรัฐฆราวาสอย่างขึงตึงขนาดนั้น

ผมคิดว่าคุณค่าที่เกิดจากจริยธรรมทางสังคมแบบใหม่นี่แหละที่เป็นปัญหาแก่ศาสนาต่างๆ มากที่สุด คือจะให้หลักศาสนาดำรงอยู่โดยไม่ขัดแย้งอย่างฉกาจฉกรรจ์กับคุณค่าเหล่านี้ได้อย่างไร (อย่าลืมว่าในโลกยุคปัจจุบัน ศาสนาก็ต้องแข่งขันกับความคิดอื่นอย่างเข้มข้นเหมือนกัน ซ้ำไม่ใช่แข่งกับศาสนาของเดียรถีย์ แต่เป็นความคิดทาง “โลกย์” ที่ถูกแทรกเข้าไปในการศึกษา, ในสื่อ, ในข้อถกเถียงสาธารณะ ฯลฯ ของรัฐสมัยใหม่ทุกแห่ง) วิธีหนึ่งที่ใช้กันมากในเมืองไทยคือการตีขลุมว่าคุณค่าเหล่านี้ล้วนมีในพุทธศาสนาทั้งสิ้น เช่น คงเคยได้ยินมาหลายครั้งจากพระเถระและนักคิดชาวพุทธไทยว่า ประชาธิปไตยย่อมเป็นหลักคำสอนสำคัญอันหนึ่งของพุทธศาสนา แล้วก็มักจะยกประเพณีเคารพ “อาวุโส” ในหมู่สงฆ์เป็นพยาน

(แต่ที่จริง “อาวุโส” ก็เป็นความไม่เสมอภาคอีกอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้วางอยู่บนกำเนิด, ฐานะเศรษฐกิจ, สังคม และการเมือง อย่างความไม่เท่าเทียมซึ่งมักพบเสมอในสังคมโบราณ ผมก็เดาไม่ถูกว่า “อาวุโส” ของพระมีส่วนช่วยค้ำยันอภิสิทธิ์ของ “ผู้ใหญ่” ซึ่งอาบน้ำร้อนมาก่อนในสังคมไทยหรือไม่ และแค่ไหน)

การตีขลุมไม่ใช่วิธีเดียวที่ศาสนาในโลกสมัยใหม่ใช้ในการเผชิญกับคุณค่าของจริยธรรมทางสังคมแบบใหม่ ผมเข้าใจว่าการประนีประนอมน่าจะเป็นวิธีที่แพร่หลายกว่า คือยอมรับคุณค่าเหล่านี้เข้าไปในคำเทศนาของนักบวช, หรือวรรณกรรมทางศาสนา หรือพิธีกรรม แต่เท่าที่ผมเข้าใจ (ซึ่งอาจผิด) ก็คือปัญญาชนมุสลิมไม่ตีขลุม และในขณะเดียวกันก็ไม่ประนีประนอม หากคุณค่าดังกล่าวขัดหรือแย้งกับศาสนา (เช่น ครอบครัวผัวเดียว-เมียเดียว, สิทธิเสมอภาคสตรี, การสืบมรดก ฯลฯ) อาจมียกเว้นบ้างแต่น้อยกรณีอย่างยิ่ง เช่น การไม่หากำไรจากดอกเบี้ย แต่แปรเปลี่ยนมาเป็นการร่วมทุนในธนาคารอิสลามแทน (มุสลิมคนหนึ่งบอกผมว่าก็กินดอกนั่นแหละ เพียงแต่ไม่ให้ชัดนักเท่านั้น… ตีความเช่นนี้ได้หรือไม่ ผมก็ไม่ทราบ)

ดังนั้น แม้ผมไม่เห็นด้วยกับข้อติงของคุณวันนอร์ แต่ผมคิดว่าผมเข้าใจจุดยืนนั้น จึงไม่คิดว่าคุณวันนอร์เจตนาจะขัดขวางเสรีภาพของคนไทยคนอื่นที่ไม่ใช่มุสลิม

แต่ในขณะเดียวกันก็ออกจะเชื่อว่า คุณค่าของจริยธรรมทางสังคมแบบใหม่คงดำรงอยู่สืบไปอีกนาน และอาจจะมีพลังมากขึ้นกว่านี้ในอนาคตด้วย

ศาสนาที่ยังอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบันควรทำอย่างไร ปฏิเสธส่วนที่ขัดแย้งไปเด็ดขาดเลย หรือหาทางประนีประนอมอย่างไรโดยไม่ให้เสียหลักการของศาสนา และทุกศาสนาจะทำได้สำเร็จหรือไม่