ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 พฤษภาคม 2566 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ |
เผยแพร่ |
นักเรียนใหม่ที่จบมาจากโรงเรียนเตรียมทหาร และ ม.ศ.5 จะได้รับการบรรจุให้เป็นข้าราชการตำรวจ ในตำแหน่งพลตำรวจสำรองพิเศษ แรกๆ ได้รับอัตราเงินเดือนเดือนละ 300 บาท และต่อมาได้ปรับหลายครั้ง
ส่วนพวกที่มาจากตำรวจเก่า ถือเป็นข้าราชการตำรวจอยู่ก่อนแล้วและรับอัตราเงินเดือนตามที่เคยรับมา ก่อนเข้ามาเรียนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพื่อนบางคนได้เงินเดือนหลายร้อยบาท
ดังนั้น ระหว่างเรียนทุกคนจึงมีเงินเดือน และเมื่อมีเงินเดือนออกแต่ละเดือน ก็ต้องมีบัญชีเงินเดือนให้นักเรียนใหม่ทุกคนไม่เว้นแม้แต่ตำรวจที่เป็นมาแต่ก่อน และต้องเซ็นชื่อเพื่อรับเงินเดือน
แต่เงินเดือนแรกใช่ว่าจะได้รับกันง่ายๆ และกลายเป็นการทดสอบจิตใจไปด้วย
วันนั้นเป็นวันเสาร์อาทิตย์ นักเรียนใหม่จะไม่มีใครได้รับอนุญาตให้กลับบ้านหรือออกนอกโรงเรียน ทุกคนต้องแต่งชุดฝึกพร้อมเครื่องสนาม เดินทางไปยังวัดปรีดาราม ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ในอำเภอสามพราน ระยะห่างจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจไม่กี่กิโลเมตร
ผู้บังคับกอง ผู้บังคับหมวด ผู้ช่วยผู้บังคับหมวด ได้นำแถวตามลำดับหมวดเดินออกจากโรงเรียนไปตามถนน ตามเรือกสวน มุ่งตรงไปยังวัดปรีดาราม เป็นเวลามืดค่ำแล้วและมีจุดรวมพล ที่กำหนดไว้อยู่ในบริเวณวัด
ผู้ช่วยผู้บังคับหมวดอธิบายว่า นักเรียนใหม่จะถูกปล่อยไปทีละคน ทั้งระยะเวลาที่ปล่อยจะห่างกันเหมือนเดินไปคนเดียวตามลำพัง ต้องเดินไปตามเส้นทางที่มีเชือกฟางขึง มีต้นเทียนที่จุดติดไว้ให้แสงรำไร และปักไว้ในระยะที่ห่างกันมากแต่ให้พอมองเห็น เมื่อไปถึงที่หมายแล้วห้ามเดินย้อนกลับทางเดิม จะมีเส้นทางให้เดินไปรวมพลกันยังที่เดิม
กว่าจะมาถึงคิวของผมก็ดึกมากแล้ว น่าจะประมาณตี 2 ถึงตี 3 เดินจนเข้าไปยังโรงกุดัง ซึ่งเป็นสถานที่เก็บศพของทางวัด บรรยากาศที่เงียบสงัด ความรู้สึกของผมเวลานั้น วิเวกวังเวง แต่พยายามข่มใจเอาไว้ ทั้งๆ ที่รู้ว่านี่คือการฝึกของนักเรียนใหม่
และเมื่อเดินจนถึงที่หมาย สิ่งที่มองเห็นได้เนื่องจากแสงเทียนเล่มเล็กๆ ที่ส่องให้เห็นรำไรๆ เปลวไฟจากต้นเทียนพัดไปมาตามแรงลมอ่อนๆ เมื่อเดินเข้าไปในโรงกุดัง เบื้องหน้าคือโลงศพเป็นแบบเนื้อไม้ บนโลงศพมีเทียนเล่มเล็กปักอยู่ ใกล้กันมีกะโหลกศีรษะมนุษย์วางไว้ใกล้ๆ และหน้ากะโหลกศีรษะ มีกระดาษฟุลสแก๊ป ที่ยาวกว่า กระดาษเอ 4 วางไว้
เมื่อเห็นก็รู้ว่านี่คือบัญชีรายชื่อของนักเรียนใหม่ของแต่ละคน และจะต้องตรวจดูว่า ชื่อของตัวเองอยู่หน้าไหน เมื่อตรวจเจอ ก็ใช้ปากกาลูกลื่นที่วางไว้ใกล้ๆ รีบเซ็นชื่อของตัวเองและต้องมีสติเซ็นให้ตรงช่อง ไม่ไปเซ็นในช่องของคนอื่น
แต่เมื่อมองไปรอบๆ เห็นโลงศพจำนวนมากวางกันเต็มโรงกุดัง โลงศพที่เทียนปักอยู่ก็เปิดฝาโลงแง้มเอาไว้ มันรู้สึกน่าสะพรึงกลัวจริงๆ
ผมตั้งสติดูจนรอบคอบ กำลังจะก้าวออกเดินไปตามเส้นทางที่เขียนว่า ทางออก ก็สะดุ้งใจหาย ขนลุกซู่ มีเสียงแมวร้อง ดังแว่วอยู่ภายในโรงกุดัง
เมื่อจบภาระที่เซ็นชื่อ ผมจึงไม่รอช้า รีบก้าวเดินออกไปทันที พร้อมกับความโล่งอก
เดินออกมาไกลก็ยังไม่เห็นเพื่อนเลย การทดสอบครั้งนี้ เหมือนผมมาคนเดียวจริงๆ ยามดึกมันมืดจริงๆ
เมื่อเดินไปตามเชือกฟางที่ขึง มีแสงเทียนพอมองเห็น ก็มาถึงจุดรวมพลจนได้ เพื่อนๆ หลายคนก็เล่าประสบการณ์ที่เพิ่งเจอมาให้ฟังกัน
บางคนก็ถูกทดสอบระหว่างเซ็นชื่อ มีเสียงดังจนสะดุ้ง ทุกเหตุการณ์จึงขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง และควบคุมได้
จนเกือบจะรุ่งสางของเช้าวันใหม่ บททดสอบนี้จึงมาถึงนักเรียนใหม่คนสุดท้าย
เมื่อเสร็จการทดสอบจิตใจที่วัดปรีดาราม การเดินทางกลับจึงเริ่มขึ้น โดยเดินกลับตามลำดับหมวด ไปตามถนนเรือกสวน มีเครื่องสนามพร้อมอาวุธประจำกาย ปลยบ.88 และกลับมาปฏิบัติภารกิจตามปกติ
ทุกปีจะมีการแข่งขันกีฬา รร.ทหาร-ตำรวจ หรือกีฬาเหล่าทั้ง 4 เหล่า ระหว่างโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ
ทุกเหล่าจึงต้องมีการคัดเลือกนักกีฬาจากนักเรียนใหม่เพื่อสมทบกับนักเรียนรุ่นพี่ ทำการฝึกซ้อมและเป็นตัวแทนของโรงเรียนเพื่อแข่งขันกันเป็นประจำปี ทั้งเป็นการเชื่อมความสัมพันธไมตรี ทำความรู้จักกัน
สำหรับการแข่งขันจะกำหนดให้มีการแข่งขันในภาคการศึกษาแรก และสลับสับเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ กำหนดประเภทกีฬาแล้วแต่เจ้าภาพจะกำหนด
ในปีแรกที่ผมเข้าไปศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ มีประเภทกีฬาที่ทำการแข่งขันดังนี้
1. รักบี้
2. ฟุตบอล
3. บาสเกตบอล
4. วอลเลย์บอล
5. ตะกร้อ
6. เทนนิส
7. ยิงปืน
8. ว่ายน้ำและโปโลน้ำ
ผมได้สมัครคัดเลือกเพื่อเป็นนักกีฬาว่ายน้ำและโปโลน้ำของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ปรากฏว่า ผมสามารถผ่านการคัดเลือกและได้เข้าร่วมทีมว่ายน้ำของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ
ทีมว่ายน้ำจะประกอบด้วยนักเรียนทั้ง 4 ชั้น
ชั้นปีที่ 4 มี นรต.วิรุณ พุ่มตะโก เป็นประธานชมรมว่ายน้ำ โปโลน้ำ นอกจากนั้นมี นรต.ชูเกียรติ อิ่มใจ, นรต.ปิยบุตร อัจฉริยมงคล, นรต.ประสิทธิ์ เผ่าจินดา, นรต.อนุรัตน์ รัตนอุบล
ชั้นปีที่ 3 มี นรต.อภิชาติ แจ้งจันทร์, นรต.ฤชากร จรเจวุฒิ, นรต.ดุษฎี ศุกรเสพย์, นรต.ทรงชัย เทพสาร, นรต.รัฐประธาน ตุลาธร, นรต.เริงฤทธิ์ บุญสวน, นรต.สุชัย พุ่มไพศาลชัย, นรต.สุนทร โชคอำนวย, นรต.สุรพล ธรรมสถิตพร
ชั้นปีที่ 2 นรต.ชาตรี พ่วงพิศ, นรต.เชาวลิต วนิชย์ถนอม, นรต.นิธิพัฒน์ พัฒนถาบุตร, นรต.วัฒนา พิมพ์อัฐ, นรต.สงคราม เสงี่ยมพักตร์, นรต.สมหมาย ประสิทธิ์, นรต.อรรณพ รัตนอุบล, นรต.อำนาจ ทีคะสุข, นรต.วิมล เล่าเปี่ยม
ชั้นปีที่ 1 ที่ยังเป็นนักเรียนใหม่ ถูกคัดเลือกเข้าร่วมทีมว่ายน้ำ ประกอบด้วย นรต.ชาติพงษ์ วามะสิงห์, นรต.เกียรติพงศ์ ขาวสำอาง, นรต.คมสัน พุ่มไพศาลชัย, นรต.ชูชีพ อินทร, นรต.ณรงค์ เพ็ชรรัตน์, นรต.จำนงค์ นงเยาว์, นรต.บุญลือ กอบางยาง, นรต.ประสิทธิ์ สมบัติศิริ, นรต.วรรณศักดิ์ คำนุ้ย, นรต.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์, นรต.สมชาย นุ่มโต, นรต.สายัณห์ งามคณะ, นรต.สรพล พยุงวีระน้อย, นรต.อำนวย อยู่คง, นรต.สัมบูรณ์ บัวสิงห์
อาจารย์ฝึกสอนเป็นอดีตนักว่ายน้ำทีมชาติไทย คือ ร.ต.อ.สมชาย ลิมปิชาติ, อาจารย์จินตนา ลิมปิชาติ (ทองรัตน์), อาจารย์นิพนธ์ ธันวานนท์ นอกจากนั้น ยังมีนักว่ายน้ำทีมชาติที่สอบตำรวจได้และอยู่ระหว่างอบรมที่กองร้อยที่ 5 เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจอบรม คือ นรต. (พ) ประสงค์ วงศ์เดิมดี และ นรต. (พ) ไกรศรี บุตรวงศ์ มาร่วมฝึกสอน
ผู้บังคับหมวดที่ควบคุมทีม คือ ร.ต.ท.เชิด ชูเวช กับ ร.ต.ต.สุรเชษฐ์ เย็นสบาย และต่อมา ร.ต.ท.ชำนาญ เครือบัว มาควบคุมแทน ร.ต.ท.เชิด ชูเวช ที่ย้ายออกไป และต่อมาก็เป็น ร.ต.ท.สุรพล ทวนทอง นรต.รุ่น 30
การฝึกซ้อมว่ายน้ำหนักมากสำหรับผม ท่าที่ถนัดจะเป็นฟรีสไตล์ กบ ส่วนกรรเชียงพอได้ ท่าที่แย่ที่สุด คือ ท่าผีเสื้อ ทีมว่ายน้ำซ้อมกันหนัก ว่ายน้ำวันละหลายพันเมตร ตาจะรู้สึกแสบมากเพราะคลอรีน เวลาเรียนแทบจะลืมตาไม่ขึ้น
ตามปกติทีมว่ายน้ำจะฝึกซ้อมทั้งภาคเช้าและเย็น เช่น การฝึกซ้อมภาคเช้า
วอร์มกายบริหารก่อนลงสระ
วอร์ม 1,500 เมตร
Sprint 200 เมตร 4 เที่ยว
ว่ายตามขวาง 22 เมตร 60 เที่ยว
วอร์มดาวน์ 400 เมตร
และฝึกตีเท้ากับฝึกการใช้ฝ่ามือดึงน้ำด้วยแผ่นพลาสติกอีกต่างหาก
แล้วแต่ละคนแยกไปว่ายตามความถนัด
เมื่อฝึกซ้อมตอนเช้าครบตามตาราง จะกลับไปเรียนในตอนเรียน จากนั้นในตอนเย็น ก็ฝึกซ้อมเช่นเดียวกับภาคเช้า และจะหนักกว่า เมื่อมาเข้าร่วมทีมว่ายน้ำ รุ่นพี่ทั้ง 3 ชั้นจะมีพิธีรับน้องใหม่ ก็คือการซ่อม ทั้งม้วนหน้าม้วนหลัง กลิ้งไปทางซ้าย กลิ้งกลับมาทางขวา กระโดดพุ่งซัดเท้าหลัง ดันพื้น ทำทุกอย่างจนกว่ารุ่นพี่จะพอใจ การรับน้อง ใช้เวลานานเป็นชั่วโมง
ตอนอยู่ที่กองร้อยก็หนักมากแล้วจากการที่ผู้ช่วยผู้บังคับหมวดทำโทษ รับน้องใหม่ทีมว่ายน้ำ ไม่ด้อยไปกว่ากันเลย หรือจะหนีเสือปะจระเข้ ทุกอย่างต้องรุ่นพี่ก่อนเสมอ พอเสร็จพิธีก็รับขวัญแจกขนม
และน้ำอัดลมที่นักเรียนใหม่โหยหา
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022