ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 พฤษภาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | เอกภาพ |
ผู้เขียน | พิชัย แก้ววิชิต |
เผยแพร่ |
ทรงวาด – ตลาดน้อย
ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ผมได้รับการชวนให้มาเดินเที่ยวกับ MIC WALKING TRIP อีกครั้ง เดินไปตามย่านประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ที่ทาง MIC (Matichon Information Center) จัดกิจกรรมอยู่เป็นประจำ
มาคราวนี้ยังคงใกล้ชิดสนิทกัน เป็นสำเพ็งและถนนสายมังกรอย่างเยาวราช ที่ผมได้เล่าไปบ้างในก่อนหน้านี้
ถนนทรงวาด ที่มีเรื่องราวยาวนานนับร้อยปี กับความยาวถนนที่ไม่เกิน 2 กิโลเมตร
ความเป็นถนนทรงวาดได้เริ่มขึ้นเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริ ตัดถนนเส้นใหม่เพื่อปรับปรุงย่านสำเพ็ง หลังจากเกิดไฟใหม้ครั้งใหญ่ในสำพ็งในปี พ.ศ.2449
โดยทรงเป็นผู้วาดแนวถนนเส้นนี้ด้วยพระองค์เอง จึงเป็นที่มาของชื่อถนนสายประวัติศาสตร์ “ถนนทรงวาด”
“ถนนการค้า วิถีแห่งศรัทธา” ชื่อทริปในครั้งนี้ กับการเดินตามรอยประวัติศาสตร์บนถนนทรงวาดที่ต่อเนื่องไปจนถึงตลาดน้อย เริ่มต้นด้วยความศรัทธาที่ “ศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง” สถานที่ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจ ที่มีความสำคัญทางจิตวิญญาณของผู้คนเชื้อสายจีนเข้าไว้ด้วยกัน ตั้งแต่เมื่อครั้งเดินทางข้ามน้ำจากโพ้นทะเล
เมื่อเดินขยับจากจุดเริ่มต้นมาไม่ไกลนัก ด้านหลังศาลเจ้าเล่าปูนเถ้ากง เป็นสถานศึกษาตั้งแต่ครั้งโบราณนานมา มีนามว่า “โรงเรียนเผยอิง” ได้ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2459 ในสมัยของรัชกาลที่ 6 ด้วยความร่วมมือกันของกลุ่มพ่อค้าชาวจีน ที่นำโดย “ยี่กอฮง” (พระอนุวัติราชนิยม)
และสิ่งที่ไม่เล่าไม่ได้เกี่ยวกับโรงเรียนแห่งนี้ก็คือ เจ้าสัวในเมืองไทยหลายคนเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนเผยอิงแห่งนี้
ออกจากโรงเรียนเดินย่ำไปตามถนนทรงวาด ใกล้กันๆ เป็น “มัสยิดหลวงโกชาอิศ” อาคารทรงยุโรปสีเหลือง มัสยิดที่อายุร้อยกว่าปีนี้ ถูกสร้างขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5
เป็นมัสยิดเพียงแห่งเดียวที่ตั้งอยู่ในชุมชนจีน สร้างขึ้นโดยหลวงโกชาอิศ (เกิด บินอับดุล) ที่ได้รับราชการในตำแหน่งล่ามมลายู และกรมท่าขวา
เหตุผลในการสร้างมัสยิดแห่งนี้มาจากการที่ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำการค้า นับถือศาสนาอิสลาม ขอร้องให้ท่านจัดสถานที่สำหรับการทำละหมาด
คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการก่อสร้าง “มัสยิดทรงยุโรปในย่านชุมชนจีน” อีกหนึ่งสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ บนถนนทรงวาด
เกร็ดความรู้ก่อนมื้อเที่ยง แวะเพียงครู่ ณ บริเวณวัดปทุมคงคา กับเรื่องราวการเมืองสมัยรัชกาลที่ 3 ของกรมหลวงรักษ์รณเดชเพียงเล็กน้อย จากนั้นเดินตามความหิว มุ่งตรงอย่างตั้งใจ ไปยัง “ร้านเตี่ยซัว”
คณะเดินเท้ามาถึงย่านตลาดน้อยกันในช่วงบ่าย กับสถานที่เก่าแก่เป็นศาลเจ้าที่มีชื่อว่า “โจวซือกง” ที่สร้างขึ้นโดยชาวจีนฮกเกี้ยน จากหลักฐานที่เป็นแผ่นป้ายภาษาจีน ได้ระบุปีศักราช ตรงกับปี พ.ศ.2347 ในสมัยรัชกาลที่ 1
ในย่านตลาดน้อย ยังมี “ศาลเจ้าโรงเกือก” สถานสำคัญเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวจีนแคะ (ฮากกา) โดยมีศิลาจารึกทำขี้นในปี พ.ศ.2432
ห่างกันไม่ไกลเดินกันไปอีกไม่มาก ย่านตลาดน้อยยังมีอีกกับความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในชุมชนแห่งนี้คือชุมชนฝรั่งในย่านตลาดน้อย วัดกาลหว่าร์ กับความสวยงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบกอธิก เป็นศูนย์กลางคริสตังจีนในกรุงเทพฯ
โดยบริเวณวัดเคยเป็นชุมชนเก่าของชาวโปรตุเกส นับถือนิกายโรมันคาทอลิก ที่ได้พากันมาตั้งชุมชนเมื่อครั้งหลังกรุงแตกครั้งที่ 2 โดยอาคารในปัจจุบันได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในปี พ.ศ.2434
ถึงตรงนี้การเดินทางสายประวัติศาสตร์บนถนนทรงวาด เลี้ยวเลาะไปยังย่านตลาดน้อย สิ่งที่ได้มากกว่ามอง มันเป็นการได้เห็น การใช้ชีวิตร่วมกันของผู้คนในอดีตกับความแตกต่างของชาติพันธุ์ ศาสนา อุดมการณ์ และความเชื่อ ในระยะไม่กี่ตารางกิโลเมตร ที่มีทั้งศาลเจ้า มัสยิด วัด และโบสถ์คริสต์ อยู่ในระแวกเดียวให้เป็นที่ประจักษ์อยู่จนถึงปัจจุบัน
“เมื่อเราเข้าใจชุมชน ก็ไม่ยากที่จะร่วมกันสร้างชุนชนให้เป็นเมืองที่น่าอยู่”
ขอบคุณทีมงาน MIC ที่ชวนมาเดินเที่ยว ขอบคุณอาจารย์สมชาย แซ่จิว และพี่เอก อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลมติชน กับการให้ความรู้ตลอดการเดินทาง ขอบคุณผู้ร่วมเดินทางทุกท่าน
และที่ขาดไม่ได้เป็นอย่างยิ่ง ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านกันมาโดยตลอด
ขอบคุณมากมายครับ •
เอกภาพ | พิชัย แก้ววิชิต
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022