ธุรกิจพอดีคำ : ” องค์กรคุณเป็นแบบไหน ? “

ถ้าให้พูดชื่อ หลายคนคงจะร้องอ๋อ

“โทมัส อัลวา เอดิสัน”

นักประดิษฐ์ นวัตกร ระดับตำนาน

ผู้สร้าง “หลอดไฟ” ดวงแรกของโลก

ทำให้ผืนดินสว่างไสว ไม่ต้องพึ่งพา “แสงเทียน” อีกต่อไป

คุณประโยชน์มากมายนานัปการ ที่เจ้าตัวเองก็คงจะนึกไม่ถึง

หลายๆ คนคงจะเคยได้ยินชื่อบริษัท General Electrics หรือ GE (จีอี)

บริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ปัจจุบันผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรมขายทั่วโลก

อาทิ เครื่องยนต์ของเครื่องบิน ที่เราท่านเดินทางเหินข้ามน่านฟ้ากันเป็นประจำ

หรืออุปกรณ์การแพทย์ที่มีอยู่ในโรงพยาบาลหลายๆ อย่าง

รวมทั้ง เครื่องปั่นไฟในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ทำกำไรมหาศาลในแต่ละปี

แต่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า

โทมัส อัลวา เอดิสัน คือ ผู้ก่อตั้งบริษัท GE

เริ่มผลิตหลอดไฟขายไปทั่วโลก และต่อยอดธุรกิจของบริษัทมาจนถึงปัจจุบัน

หากแต่ว่า บริษัท GE ที่มีอายุมากว่า 130 ปี ก็ถึงคราวต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

ไม่ต่างจากบริษัทยักษ์ใหญ่อื่นๆ ในโลกยุคดิจิตอลใบนี้

ช่วงนี้คนที่ชอบอ่านหนังสือทางด้าน “นวัตกรรม” จากต่างประเทศ จะ “คึกคัก” เป็นพิเศษครับ

มีหนังสือน่าสนใจออกใหม่เพียบ

หนึ่งในหนังสือเหล่านั้น มีเล่มหนึ่งชื่อว่า “The Start Up Way” แปลว่า “หนทางของบริษัทสตาร์ตอัพ” เขียนโดย Eric Ries (เอริก รีส์) ครับ

หลายๆ ท่านอาจจะไม่ทราบว่านักเขียนคนนี้คือใคร

แต่ถ้าบอกถึงคำว่า “Lean Start-Up” วิธีการสร้างธุรกิจ start-up ที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกแล้ว

เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยได้ยินกันมาบ้าง

ใช่ครับ “Eric Ries” เอง เป็นผู้คิดค้นวิธีการดังกล่าว

และเขียนหนังสือชื่อ “Lean Start Up” ตีพิมพ์เป็นล้านเล่ม โด่งดังไปทั่วโลก

ว่าแต่หนังสือ The Startup Way ไม่ได้พูดเกี่ยวกับการสร้างธุรกิจ Start Up

แต่เป็นการนำวิถีแบบ start up เข้ามาปรับใช้กับ “องค์กรขนาดใหญ่” อย่างน่าสนใจทีเดียว

เขาเปรียบเทียบองค์กรที่ล้าสมัย และองค์กรยุคใหม่ เอาไว้ครับ

มาลองดูกันว่า บริษัทของคุณเข้าหมวดไหน

องค์กรที่ล้าสมัย มี “ผู้เชี่ยวชาญ” มากมายหลายสาขา มีเขตแดนเป็นของตัวเอง

จะเริ่มทำอะไรสักอย่าง ต้องผ่านประตูที่เฝ้าโดยผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ เป็นขั้นๆ ไป

องค์กรยุคใหม่ มีทีมงานที่มาจากหลายสาขาวิชา เกิดขึ้นเต็มไปหมด

หน้าที่หนึ่งเดียวคือ “รับใช้ลูกค้า” ทำสิ่งที่ดีให้ลูกค้า ผ่านกระบวนการทำซ้ำ ปรับเปลี่ยนอย่างเป็นระบบ

องค์กรที่ล้าสมัย มักชอบทำโครงการใหญ่ๆ หนักๆ ประชาสัมพันธ์เยอะๆ สำเร็จก็ดีไป แต่ถ้าพังก็เป็นเรื่อง

องค์กรยุคใหม่ๆ ทำการทดลองเล็กๆ อย่างรวดเร็ว ไม่วางแผนมากจนเกินไป

องค์กรที่ล้าสมัย ใช้ทีมงานดูแลภายใน เช่น การเงิน กฎหมาย คอยควบคุมความเสี่ยง

ผ่านกระบวนการที่ยิบย่อย ละเอียด เหมือน “ตำรวจ” ที่คอยสอดส่องดูแล “โจรผู้ร้าย”

องค์กรยุคใหม่ ใช้ทีมงานภายในเหล่านี้ ในการสนับสนุน “พนักงาน” เพื่อ “รับใช้ลูกค้า” อย่างทันท่วงที มีเป้าหมายเดียวกันกับหน่วยธุรกิจ

และแบ่งปันความรับผิดชอบอย่างทั่วถึง เหมือนเป็นทีมงานเดียวกัน

องค์กรที่ล้าสมัย จะมีพนักงานที่ดู “ยุ่ง” เสียตลอดเวลา ทำทุกอย่างในเวลาเดียวกัน

เข้าประชุม อธิบายงานให้หัวหน้า ทำงานเอกสารบันทึกต่างๆ นานา

มีผู้บริหารระดับกลาง และผู้เชี่ยวชาญมากมาย ที่พร้อมจะ “ออกความเห็น”

ทั้งๆ ที่งานนั้น ไม่ใช่ “หน้าที่รับผิดชอบโดยตรง” ของตนเอง

องค์กรยุคใหม่ มีทีมงานหัวหอกที่เปรียบเหมือน start up ภายใน

เป็นทีมขนาดเล็ก มีงบประมาณไม่มาก แต่มีอิสระในการทดลอง ตัดสินใจลงมือทำงานได้เอง

เน้นการวัดผลผ่าน “ข้อมูล” ที่ได้จาก “ลูกค้า” โดยตรง

ปรับเปลี่ยนทิศทางการทำงานได้อย่างอิสระ ภายในงบประมาณที่จำกัด

อยู่บนแนวคิดที่ว่า “คิดใหญ่ ทำเล็ก เติบโตอย่างก้าวกระโดด”

องค์กรที่ล้าสมัย ประกอบด้วย “ผู้จัดการ” และ “ลูกน้อง” ที่รอฟังคำสั่ง

องค์กรยุคใหม่ ประกอบด้วย “ผู้นำ” สร้างวิสัยทัศน์ที่ตื่นเต้น และ “ผู้ประกอบการเล็กๆ” ที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ

องค์กรที่ล้าสมัย มักจะชอบทำโครงการใหญ่ที่ใช้เงินเยอะ ใช้เวลาในการศึกษานาน

เพราะ “ความล้มเหลว” ไม่ใช่ทางเลือก

องค์กรยุคใหม่ ทำโครงการขนาดเล็กหลายๆ โครงการพร้อมๆ กัน แล้วดูว่าอันไหนได้ผล

ผ่าน “ข้อมูล” โดยตรงจากลูกค้า

แล้วเอาเงินใส่เพิ่มเติมกับ “โครงการที่สำเร็จ”

และมองโครงการที่ “ล้มเหลว” เป็นการเรียนรู้ที่มีคุณค่า

ไม่ทู่ซี้ ยืนกระต่ายขาเดียว

องค์กรที่ล้าสมัย มักจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูง ตรงเวลา งบประมาณตรงเป๊ะ

แต่หลายครั้ง สร้างสิ่งที่ “ลูกค้า” ไม่ต้องการ

องค์กรยุคใหม่ ทำทุกอย่างเพื่อให้รู้สิ่งที่ลูกค้าต้องการอย่างเร็วที่สุด โดยไม่ใช้งบประมาณมาก

ผ่านการทดลองซ้ำๆ หลายๆ ครั้ง ก่อนที่จะขยายโครงการใหญ่โต

องค์กรที่ล้าสมัย พยายามสร้างเกราะคุ้มกันให้ “คู่แข่ง” ไม่สามารถเข้ามาในธุรกิจของตนได้

องค์กรยุคใหม่ ทิ้ง “คู่แข่ง” ไม่เห็นฝุ่น ด้วยการ “สร้างสรรค์” นวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ

คนเดียวที่พวกเขาสนใจฟัง คือ “ลูกค้า”

“เจฟ อิมเมลต์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท GE

อยากจะเปลี่ยน GE จากองค์กรล้าสมัย ให้กลายเป็นองค์กรยุคใหม่

เขาขอความช่วยเหลือจาก “เอริก”

นำวิธีการทำงานของ start up มาลองใช้ที่องค์กรยักษ์ใหญ่อย่าง GE

เป็นการเดินทางที่ไม่ง่าย

แต่ก็ไม่ใช่ “เป็นไปไม่ได้”

องค์กรที่อยาก “ทันสมัย” กับเขาบ้าง

โปรดติดตามตอนต่อไป