อาชีพนักการเมือง | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

“ส่องฝุ่นควันการเมือง ส.ส.ย้ายพรรค-จับขั้ว”

(https://www.matichon.co.th/politics/politics-in-depth/news_3770413)

“เช็กชื่อ ส.ส.ย้ายค่าย มองปรากฏการณ์ ‘ดูด’ กระจายในการเมืองไทย”

(หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, https://www.bbc.com/thai/articles/clmgj9r02k4o)

กระแสการดูดกระจาย-ย้ายพรรคของนักการเมืองไทยนั้นว่าไปแล้วเป็นปรากฏการณ์ปกติธรรมดาก่อนเลือกตั้งทั่วไปแทบทุกครั้ง

แต่รอบนี้ออกจะโกลาหลอลหม่าน เยอะแยะมากมายและไฮ-โปรไฟล์เป็นพิเศษ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัดหางปล่อยวัดพรรคพลังประชารัฐที่เป็นฐานเสียงหลักให้รัฐบาลมาตลอด แล้วสะบัดก้นไปสมัครเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติตั้งใหม่หน้าตาเฉย (https://www.matichon.co.th/politics/news_3763917)

แล้วยัง รมว.จุติ ไกรฤกษ์ ย้ายจากพรรคประชาธิปัตย์ไปพรรครวมไทยสร้างชาติ และ รมว.สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กับ รมว.สมศักดิ์ เทพสุทิน เจ้าของวาทะเปลือยใจ “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา” ย้ายจากพรรคพลังประชารัฐไปพรรคเพื่อไทย เป็นต้น (“เส้นทางอยู่เป็นของสมศักดิ์ เทพสุทิน ลึกลับซับซ้อน”, มติชนรายวัน, 16 มีนาคม 2566, น.3)

เหตุเฉพาะหน้าส่วนหนึ่งเป็นเพราะขั้วการเมืองเก่า คสช.@3 ป. แตกแยกด้วยปัญหาเรื้อรังด้านความชอบธรรมทางการเมืองและประสิทธิภาพการบริหาร (ดูจดหมายเปิดใจบิ๊กป้อมแยกทางบิ๊กตู่ ไม่เห็นด้วยหลายเรื่อง, 13 January 2566, https://www.facebook.com/Gen.PrawitWongsuwon) มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล

จึงนำไปสู่การจับขั้วการเมืองกันใหม่ เพราะในแวดวงอาชีพนักการเมืองไทย ไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายค้าน

อีกส่วนหนึ่งมันสะท้อนความแตกกระจายล้มเหลวของพลังอนุรักษนิยมฝ่ายขวาในสังคมไทยที่จะปลูกสร้างพรรคตัวแทนในการเมืองระบบเลือกตั้งอย่างเข้มแข็งเป็นเอกภาพ – ดังหลุดแพลมอาการออกมาในชื่อ “พรรคตระกูลรวม” ไม่ว่ารวมพลังหรือรวมไทยสร้างชาติ https://www.komchadluek.net/scoop/524880) – ซึ่งเกี่ยวพันกับการสูญเสียอำนาจนำทางการเมืองวัฒนธรรมและภูมิปัญญาสาธารณะไปแบบกู้ไม่ขึ้นของพลังฝ่ายนี้ อันเห็นได้จากอิทธิพลต่ำระดับของพรรคไทยภักดีและสถาบันทิศทางไทย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม มูลเหตุระยะยาวเชิงโครงสร้างเกิดจากสถานภาพของนักการเมืองจากการเลือกตั้งของไทย ที่เอาเข้าจริงเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง (career) มากกว่าจะทำหน้าที่ตัวแทนของพลังในสังคมเศรษฐกิจเพื่อเข้าไปชี้นำแนวนโยบายของรัฐ

ในฐานะผู้ประกอบอาชีพนักการเมือง การย้ายพรรคก็ไม่ต่างจากเปลี่ยนที่ทำงาน ลาออกจากบริษัทหนึ่ง ไปสมัครเข้าบริษัทใหม่ เพื่อทำงานแบบเดิมต่อไปเท่านั้นเอง

งานหลักคือการดูแลฐานเสียงชาวบ้านในเขตเลือกตั้ง เข้าสังกัดและรับทรัพยากรอุปถัมภ์ (“กล้วย”) ในมุ้งการเมือง อภิปรายปกป้อง ประท้วงและโหวตสนับสนุนหัวหน้ามุ้งในที่ประชุมสภา ช่วยขยับขยายสมาชิกมุ้งออกไป เพื่อรอเลื่อนชั้นขึ้นเป็นหัวหน้ามุ้งบ้าง และก้าวขึ้นเป็นเสนาบดีคุมกระทรวงในที่สุด จะได้เช่าอำนาจรัฐเพื่อขายบริการรายปลีกแก่ภาคธุรกิจ/ภาคราชการประจำ นำค่าเช่าเศรษฐกิจ/เงินทอนไหลเทมาบำรุงเลี้ยงลูกมุ้งสืบต่อไป (ดู เกษียร เตชะพีระ, “ชำแหละระบอบเลือกตั้งธิปไตย : บทเรียนทางการเมืองจากวิกฤตเศรษฐกิจไทย”, ใน กาญจนี ละอองศรี และธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, บก. กระจกหลายด้านฉายประวัติศาสตร์, 2544)

ส่วนเรื่องแนวนโยบายบริหารราชการแผ่นดินนั้น ส่วนใหญ่แต่ไหนแต่ไร พรรคการเมืองไทยอาศัยรับเอาแนวนโยบายสำเร็จรูปจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติที่ออกแบบไว้ให้ล่วงหน้าแล้วโดยข้าราชการ เทคโนแครตทั้งหลายแหล่สืบเนื่องมาช้านานตั้งแต่หลังการปฏิวัติประชาธิปไตย 14 ตุลาคม 2516

จนกล่าวได้ว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ของไทยในประวัติศาสตร์คือผู้เข้ามาเช่าอำนาจรัฐชั่วคราวแล้วบริหารตามแนวนโยบายของรัฐราชการประจำซึ่งเป็นองค์การจัดตั้งเดียวที่ปกแผ่ยึดกุมครอบคลุมทั่วประเทศ

รัฐราชการยังไม่ชอบให้มีองค์การคู่แข่งในระดับเดียวกัน โดยเฉพาะพรรคการเมืองจากการเลือกตั้งที่คิดจะขยายสาขาปกแผ่ยึดกุมครอบคลุมทั่วประเทศมั่ง แทนที่จะเจียมตัวเจียมใจเล่นบทตัวประกอบอำนาจรัฐต่อไปเรื่อยๆ เช่นเคย จึงต้องจับพรรคมาบอนไซเป็นระยะๆ

ฉะนั้น พรรคที่เป็นตัวของตัวเอง กำหนดแนวนโยบายทางการเมืองและสังคมเศรษฐกิจเองโดยสนองตอบต่อฐานพลังอิสระในสังคม และมุ่งมั่นเข้ามายึดอำนาจรัฐ จะด้วยกระสุนหรือบัตรเลือกตั้งก็ตามแต่ เพื่อนำแนวนโยบายไปปฏิบัติผ่านกลไกราชการที่เป็นแค่เครื่องมือ จึงเป็นข้อยกเว้นและมีไม่กี่พรรค เช่น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคพลังใหม่ พรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน-เพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล เป็นต้น

ซึ่งก็มักจะลงเอยไปอยู่ในกระถางบอนไซหรือกระโถนประวัติศาสตร์ตามระเบียบราชการ

 

ในทางกลับกัน เราจะเข้าใจกำลังการเมืองของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ หากมองว่าพรรคแท้จริงที่หนุนหลัง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่ลำพังรวมไทยสร้างชาติเท่านั้น หากคือพรรครัฐราชการในบังคับบัญชาทั่วประเทศ + ส.ว.ซึ่งจำนวนมากเป็นนายทหารและข้าราชการในเครือข่ายอุปถัมภ์ส่วนตัวและ คสช.

ครูเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เคยวิเคราะห์ไว้ในบทความ “ฆาตกรรมกับความก้าวหน้าในสยามยุคสมัย ใหม่” (Murder and Progress in Modern Siam, 1990, ฉบับพากย์ไทยใน ศึกษารัฐไทย : ย้อนสภาวะไทย ศึกษา, 2558, น.121-123) ว่าอาชีพนักการเมืองในวิถีทางรัฐสภาจากการเลือกตั้งมีเสน่ห์ดึงดูดใจให้คนกลุ่มต่างๆ เข้ามาทำทั้งที่อาจเสี่ยงต่อความรุนแรงในการเลือกตั้ง (มือปืนรับจ้าง) เพราะ :

1. มันเปิดทางลัดทั้งแนวดิ่งและแนวราบให้เลื่อนชั้นฐานะทางสังคมเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วแก่ผู้ด้อยโอกาสการศึกษา (ประเด็นนี้เป็นหมันไปหลังกำหนดให้ ส.ส.ต้องจบปริญญาตรีเป็นอย่างต่ำ ในรัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมือง พ.ศ.2540), ผู้หญิง และชนชั้นนำท้องถิ่นในหัวเมืองต่างจังหวัดที่เติบโตขึ้นมากับกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมตั้งแต่พุทธทศวรรษ 2500 โดยไม่ต้องเสียเวลาเพียรพยายามไต่เต้าลำดับชั้นตำแหน่งในระบบราชการทหารและพลเรือนส่วนกลางที่กรุงเทพฯ หรือสะสมทุนทางธุรกิจเป็นสิบๆ ปี ในทำนองลัดนิ้วมือ (เลือกตั้ง) เดียวก็อาจถึงเก้าอี้รัฐมนตรีได้

2. วิถีทางขึ้นสู่อำนาจทางรัฐสภาจากการเลือกตั้งช่วยลดทอนอำนาจของกลุ่มทุนผูกขาดเก่าซึ่งเชื่อมโยงกับรัฐราชการรวมศูนย์ส่วนกลางลงโดยเปรียบเทียบ เปิดทางแก่การก่อตัวของกลุ่มธุรกิจ/กลุ่มทุนใหม่ที่ผูกสัมพันธ์กับพรรค/นักการเมืองจากหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ นอกกลไกรัฐราชการ

3. เงินเป็นปัจจัยหลักในการเข้าสู่อำนาจผ่านวิถีทางเลือกตั้งซึ่งเป็นทรัพยากรประเภทที่นักธุรกิจพอมีอยู่แล้วเป็นทุนเดิม นอกจากนี้ วิถีทางรัฐสภายังช่วยลดทอนความชอบธรรมของการเคลื่อนไหวการเมืองนอกสภาโดยขบวนการมวลชน การนัดหยุดงาน และม็อบต่างๆ ซึ่งนักธุรกิจคุมไม่ค่อยได้และหวาดหวั่นอยู่ลึกๆ ลง

4. ตำแหน่ง “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ” ช่วยตอบสนองความอยากในใจที่จะได้ชื่อเสียงเกียรติยศตำแหน่งแบบศักดินาแต่เดิมที่ตกค้างอยู่ในสังคมวัฒนธรรม ในฐานะ ส.ส. พวกเขากลายเป็นเสมือนเจ้าพ่อ/เจ้าแม่ศักดินาผู้กุมอำนาจล้นเหลือในระดับท้องถิ่นทั้งเส้นสายการเมือง-ราชการ ตลาดและค่าเช่าเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมเลยไปถึงหัวคะแนน-ซุ้มนักเลงมือปืน (ถ้ามี)

จนจังหวัดสุพรรณบุรีเคยเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “บรรหารบุรี” (ดู Yoshinori Nishizaki, Political Authority and Provincial Identity in Thailand : The Making of Banharn-buri, 2011) และเราอาจนึกชื่อผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ไม่ออก แต่กลับมีชื่อของประธานบริหารสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ดและครูใหญ่พรรคภูมิใจไทยมาติดปากแทน (https://www.matichon.co.th/politics/news_3743589)

อาชีพนักการเมืองอาจอวยประโยชน์โภชผลให้อเนกประการเช่นนี้ จึงเป็นที่มาของทั้งความยืดหยุ่นคงทน (resilience) และเพดานจำกัดการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปของระบอบประชาธิปไตยไทยดังที่เป็นอยู่