เจ้าพระยารามราฆพ กับรหัสนัยที่บ้านนรสิงห์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
รัชกาลที่ 6 ทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง มีเจ้าพระยารามราฆพ (ซ้าย) อุ้ม "ย่าเหล" สุนัขทรงเลี้ยง (ภาพจาก พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6))

เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ, พ.ศ.2433-2510) นายในคนโปรด ผู้รู้พระราชหฤทัยของรัชกาลที่ 6 เป็นอย่างยิ่งนั้น เป็นบุตรชายของเจ้าพระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ร.ว.ละม้าย) กับพระนมทัต พึ่งบุญ ณ อยุธยา

ที่ว่ามารดาของเจ้าพระยารามราฆพเป็น “แม่นม” นั้น ก็เพราะท่านเป็นพระนมของรัชกาลที่ 6 นั่นแหละครับ

และก็ด้วยพื้นฐานแบบนี้จึงไม่น่าแปลกอะไรนัก ที่เจ้าพระยารามราฆพจะเป็นคนสนิทที่ใกล้ชิดกับรัชกาลที่ 6 ได้ง่ายกว่าใครคนอื่น

ส่วนราชสกุล “พึ่งบุญ” สืบเชื้อสายมาจาก “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ” ผู้เป็นพระราชโอรสในรัชกาลที่ 1 โดยกรมหลวงท่านนี้มีลูกหลายคน คนหนึ่งชื่อ ม.จ.กัมพล (อำพล) ซึ่งก็คือพ่อแท้ๆ ของเจ้าพระยาประสิทธิ์ศุภการ ผู้เป็นพ่อของเจ้าพระยารามราฆพอีกทอดหนึ่ง ดังนั้น รามราฆพจึงเป็นเหลน ที่มีทวดคือ กรมหลวงรักษ์รณเรศ นั่นเอง

หากพิจารณาจากเพียงแค่ความสัมพันธ์ส่วนตัว และสาแหรกสายราชสกุลพึ่งบุญ อย่างที่ผมร่ายมาทั้งหมดข้างต้นแล้ว เจ้าพระยารามราฆพก็น่าจะมีวัยเยาว์ที่สดใสทีเดียว แต่เรื่องราวกลับไม่ได้เป็นไปอย่างใจนึกเสมอไป

รัชกาลที่ 6 ทรงฉายพระรูปคู่กับเจ้าพระยารามฯ บนพระรูปมีพระราชหัตถเลขาว่า “ให้พระยาประสิทธิ์ศุภการ เป็นพยานแห่งความสเนหา” (ภาพจาก ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก พลเรือเอก มหาเสวกเอก เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล. เฟื้อ พึ่งบุญ) พ.ศ. 2510)

“ท่านหญิงพูน” หรือ ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ผู้เป็นพระธิดาคนสนิทของพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เคยเขียนไว้ในบันทึกของท่าน ซึ่งถูกรวบรวมตีพิมพ์ในชื่อ “พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นสมัยรัชกาลที่ 6)” (จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2561) โดยอ้างอิงพระราชดำรัสในทำนองที่ว่า สกุล “พึ่งบุญ” นี้ อยู่มาได้ก็เพราะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ทรงชุบเลี้ยงต่อกันมา

ฟังดูแล้วก็ไม่น่าจะสบาย หรือสดใสนักใช่ไหมครับ? และที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าเป็นสายสกุลที่สืบมาจากกรมหลวงรักษ์รณเรศนี่แหละ

ท่านหญิงพูนได้เล่าไว้ในบันทึกเล่มเดิมว่า ตามที่บรรดาเจ้านายทรงบอกต่อๆ กันมานั้น กรมหลวงรักษ์รณเรศเป็นคนปราดเปรื่อง และมีอำนาจมากในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยทำหน้าที่ว่าการหลายแผนก ซึ่งรวมๆ แล้วขึ้นอยู่กับกระทรวงวัง และนอกจากจะมีศักดิ์เป็นพระปิตุลา (ลุง) แท้ๆ ของรัชกาลที่ 3 แล้ว ยังถูกนับว่าเป็นผู้รู้พระราชหฤทัยของพระองค์อีกต่างหาก

แต่วันชื่นคืนสุขไม่เคยอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งตลอดไป เพราะตามพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี ได้ระบุเอาไว้ว่า ในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 นั่นเอง ก็มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาว่า กรมหลวงรักษ์รณเรศนั้น พิพากษาคดีของราษฎรอย่างไม่เป็นธรรม ไม่สมกับที่รัชกาลที่ 3 ทรงไว้วางพระราชหฤทัย

นอกจากนี้ กรมหลวงรักษ์รณเรศยังทรงเลี้ยงโขนละครผู้ชายไว้มากมาย บริวารพวกนี้ของท่านรับสินบนทั้งทางฝ่ายโจทก์ และจำเลย

พงศาวดารระบุต่อไปว่า ท่านยังเป็นผู้ที่เกลี้ยกล่อมขุนนาง และพวกพ้องเอาไว้มาก ซ้ำยังมักใหญ่ใฝ่สูงทำเทียมพระเจ้าแผ่นดินหลายประการ

ที่สำคัญก็คือ กรมหลวงรักษ์รณเรศแทบจะไม่บรรทมกับหม่อมห้ามในวังของท่านเลย แต่ชอบมาบรรทมร่วมกับพวกตัวโขนละครผู้ชายทั้งหลายที่ทรงเลี้ยงไว้

รัชกาลที่ 3 จึงทรงมีรับสั่งให้สอบสวนตัวโขนละครเหล่านี้ จนได้ความตรงกันว่า ทรงเป็นสวาทกับบรรดาตัวโขนละคร แต่ไม่ถึงกับชำเรา เพียงแต่เอามือโขนละครและหัตถ์ของท่าน กำคุยหฐานซึ่งกันและกันจนภาวะธาตุเคลื่อน

รัชกาลที่ 3 จึงทรงตัดสินให้ถอดพระยศออก กลายเป็นเพียง “หม่อมไกรสร” และภายหลังยังโปรดเกล้าฯ ให้สำเร็จโทษทุบด้วยท่อนจันทร์ ที่วัดปทุมคงคา เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2391 ซึ่งก็คือช่วงเวลาเพียง 40 ปีนิดๆ ก่อนที่เจ้าพระยารามราฆพจะลืมตาดูโลก

รัชกาลที่ 6 ทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง มีเจ้าพระยารามราฆพ (ซ้าย) อุ้ม “ย่าเหล” สุนัขทรงเลี้ยง (ภาพจาก พระราชวงศ์จักรี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 (สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น สมัยรัชกาลที่ 6))

ผู้เขียนหนังสือ “นายใน สมัยรัชกาลที่ 6” (จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน พ.ศ.2556) อย่าง ชานันท์ ยอดหงษ์ ได้ระบุเอาไว้ในหนังสือเล่มดังกล่าวว่า สายตระกูลของกรมหลวงรักษ์รณเรศที่ต้องโทษจึงต้องอยู่ในราชสำนักอย่างไม่สง่างามนัก

จนกระทั่งรุ่นเหลนคือ เจ้าพระยารามราฆพ และรวมถึงพระยาอนิรุทธ์เทวา (ฟื้น พึ่งบุญ ผู้เป็นน้องชายแท้ๆ ของเจ้าพระยารามราฆพ) เมื่อมีพระราชบัญญัตินามสกุล จึงพระราชทานนามสกุลใหม่ว่า “พึ่งบุญ” เนื่องจากพึ่งบุญบารมีในรัชกาลที่ 6 จนยกระดับทางสังคมให้มีบารมีอีกครั้งหนึ่งได้จนสำเร็จ

ข้อสังเกตของชานันท์น่าสนใจทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่รู้กันในแวดวงผู้สนใจประวัติศาสตร์ด้วยว่า กรมหลวงรักษ์รณเรศเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ในการผลักดันให้รัชกาลที่ 3 ได้เสด็จขึ้นครองราชย์

ซ้ำร้ายยังชอบจองล้างจองผลาญ คอยตามประทุษร้ายพระวชิรญาณภิกขุ ซึ่งก็คือเจ้าฟ้ามงกุฎขณะที่ยังผนวชอยู่

และเมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นรัชกาลที่ 4 แล้ว ก็ถึงกับเคยเรียก “กรมหลวงรักษ์รณเรศ” ว่า “ชาติเวรของพระอค์” เอาไว้ในประกาศฉบับหนึ่งเลยทีเดียว ดังนั้น ทายาทสายสกุลพึ่งบุญ ที่สืบมาจากหม่อมไกรสรคนนั้น ก็คงจะจำทนอยู่ในพระราชวังอย่างไม่สง่างามอย่างที่ชานันท์ว่าไว้ในหนังสือ นายใน สมัยรัชกาลที่ 6 นั่นแหละครับ

ตราธงพระราชทานเป็นธงประจำตัวเจ้าพระยารามราฆพ

อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 6 ที่ทรงสืบหน่อเนื้อเชื้อไขมาจากรัชกาลที่ 4 โดยตรง กลับให้ความสนิทสนมกับทายาทของหม่อมไกรสร ไม่ว่าจะเป็นเจ้าพระยารามราฆพ หรือพระยาอนิรุทธ์เทวา

โดยเฉพาะเจ้าพระยารามราฆพนั้น เมื่อครั้งงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 6 ถึงกับได้เป็นผู้อัญเชิญ “พระแสงขรรค์ชัยศรี” อันเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์องค์ที่มีประวัติยาวนานที่สุดเลยทีเดียว

ต่อมาเมื่อจัดตั้งกองเสือป่า รัชกาลที่ 6 ยังพระราชทานธงพื้นสีแดง รูปมานพยืนเชิญพระขรรค์สีขาว ให้กับเจ้าพระยารามราฆพ โดยท่านก็ได้ใช้เป็นธงประจำตัวนับแต่นั้นเป็นต้นมา โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกองเสือป่าหรือไม่

และก็ยิ่งน่าสนใจด้วยว่า ชื่อ “รามราฆพ” นั้น เป็นชื่อของผู้นั่งช้างชน ที่คอยส่งศาสตราวุธให้กับสมเด็จพระนเรศวร ตามความที่พระราชพงศาวดารที่เขียนขึ้นในยุคกรุงเทพฯ อ้างถึงการทำยุทธหัตถีของพระองค์ ไม่ต่างอะไรกับที่เจ้าพระยารามราฆพถวายพระแสงขรรค์ชัยศรีให้รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

แถมเรื่องนี้ยังดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่ทราบกันดีในสังคมชั้นสูงยุคโน้น ดังที่ท่านหญิงพูนเล่าไว้ในบันทึกเล่มเดิมว่า

“ถึง พ.ศ.2464 ได้เป็นเจ้าพระยารามราฆพ อันเป็นชื่อผู้นั่งกลางช้างชนของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของเรา, และเป็นผู้ส่งสาสตราวุธถวายตามพระราชประสงค์, จนทรงช้างชนะในยุทธหัตถีเมื่อ 300 ปีเศษมาแล้ว” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

“บ้านนรสิงห์” หรือ “ทำเนียบรัฐบาล” ในปัจจุบัน

แต่ดูเหมือนว่าของกำนัลตอบแทนสำหรับความภักดีที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้แก่เจ้าพระยารามราฆพแล้วถูกกล่าวขวัญถึงมากที่สุดจะเป็น คฤหาสน์หลังงามที่เรียกกันว่า “บ้านนรสิงห์”

ปัจจุบัน “บ้านนรสิงห์” ก็คือ “ทำเนียบรัฐบาล” อันหมายถึงขอบเขตของบ้าน หรือคฤหาสน์หลังนี้ทั้งหมด

แต่มักมีผู้เข้าใจผิดกันว่า บ้านนรสิงห์คือ “ตึกไทยคู่ฟ้า” ทั้งที่ความจริงแล้ว ตึกหลังนั้นเคยมีชื่อเมื่อสมัยที่บ้านนรสิงห์ยังเป็นของเจ้าพระยารามราฆพว่า “ตึกไกรสร” ซึ่งก็ชวนให้ระลึกถึงหม่อมไกรสรอย่างจับจิต

แต่ “ไกรสร” นอกจากจะเป็นชื่อต้นวงศ์ของราชสกุล “พึ่งบุญ” แล้ว ในปรัมปราคติเรื่องป่าหิมพานต์ ตามความเชื่อแบบไทย ยังเป็นชื่อพงศ์ของสิงห์สีขาว กินเนื้อสัตว์ ที่มีพละกำลังเข้มแข็ง อย่างที่เรียกว่า “ไกรสรราชสีห์” อันเป็น 1 ในราชสีห์ทั้ง 4 พงศ์ในป่าหิมพานต์ (ส่วนอีก 3 พงศ์ได้แก่ ติณสีหะ มีกายสีแดง กินพืช, บัณฑุราชสีห์ มีกายสีเหลือง กินเนื้อ และกาฬสีหะ กายสีดำ กินพืช)

ที่สำคัญก็คือ ชื่อของตึกทั้งหลายในบ้านนรสิงห์นั้น ก็ดูจะมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับตัวเจ้าพระยารามราฆพเอง

ตัวอย่างเช่น ตึกที่ทุกวันนี้เรียกว่า ตึกนารีสโมสรนั้น ก็เป็นชื่อที่เปลี่ยนใหม่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยแต่เดิมนั้นมีชื่อว่า ตึกพระขรรค์ เป็นต้น

รูปปั้นนรสิงห์ ที่ติดตั้งไว้ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับ “นรสิงห์” อันเป็นชื่อของอาณาบริเวณที่ดินของคฤหาสน์ทั้งหมดนั้น ตามปรัมปราคติของพราหมณ์-ฮินดู เล่าว่า เป็นอวตารตอนหนึ่งของพระนารายณ์ ที่ลงมาปราบอสูรที่ชื่อ หิรัณยกศิปุ

หิรัณยกศิปุนั้นได้รับพรจากพระพรหมว่า จะไม่ตายในเวลากลางวัน และเวลากลางคืน, จะไม่ตายในบ้าน และไม่ตายนอกบ้าน แถมยังจะไม่ตายเพราะน้ำมือของมนุษย์ และสัตว์ จนทำให้เกือบเป็นอมตะ

ดังนั้น พระนารายณ์จึงอวตารลงมาเป็นกึ่งมนุษย์กึ่งสิงห์ ผุดขึ้นมาจากธรณีประตูที่อยู่ระหว่างนอก และในบ้าน ตอนช่วงเวลาโพล้เพล้ ไม่ใช่ทั้งกลางวัน และกลางคืน จนสังหารหิรัณยกศิปุได้ในที่สุด

จะว่าไปแล้ว “นรสิงห์” นั้นก็เป็นสิงห์เช่นเดียวกับ “ไกรสรราชสีห์” เพียงแต่เป็นกึ่งมนุษย์ กึ่งสิงห์ (“นร” แปลว่า “มนุษย์” ส่วน “สิงห์” นั้นแปลตามความหมายได้ตรงตัว) ปรากฏตัวระหว่างนอกและในบ้าน ตอนช่วงเวลาที่ไม่ใช่ทั้งกลางวัน และกลางคืน เป็นสิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างอะไรไปเสียหมดอย่างน่าสนใจ •

 

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ