ว่าด้วยเรื่อง ‘ราษฎร’ กับ ‘กกต.’

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
(Photo by Manjunath Kiran / AFP)

พลันที่กฎหมาย 2 ฉบับอย่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรประกาศใช้

นอกจากเหล่าบรรดา “นักการเมือง” ที่ตอนนี้ยังคงต้องวางยุทธศาสตร์วิ่งวุ่นหาพรรคใหม่สังกัดและลงพื้นที่หาเสียงกันอย่างเข้มข้นแล้ว

“คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ในฐานะ “เจ้าภาพหลัก” ในการจัดและควบคุมดูแลการเลือกตั้งที่ (น่า) จะมีขึ้นในไม่ช้านี้ (?) ก็ยุ่งไม่แพ้กัน

“ภารกิจพื้นฐานอันดับแรก” ของ กกต. สำหรับการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเลือกตั้งตามที่ตัวบทกฎหมายกำหนดซึ่งจะต้องรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว นั่นก็คือ การกำหนดจำนวน ส.ส.ของแต่ละจังหวัดและการแบ่งเขตเลือกตั้ง

โดยก่อนหน้านี้ทาง กกต.ได้ทำการประกาศการคิดคำนวณจำนวน ส.ส. 400 คน ของทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่าแต่ละจังหวัดนั้นจะมีโควต้า ส.ส.กี่คน

จะมีก็แต่เพียง… “การแบ่งเขตเลือกตั้ง” นั่นแหละครับที่ดูราวกับว่ากำลังชุลมุนชุลเกกันอยู่เลย

เล่นเอาคนจับปากการอเข้าคูหากากบาทอย่างเราๆ ใจตุ๊มๆ ต่อมๆ เหมือนกันว่าจะได้เลือกตั้งไหมหนอ

 

ที่พูดเช่นนี้ก็เพราะภายหลังจากที่ กกต.ลงมือแบ่งเขตเลือกตั้งเบื้องต้นแล้ว ทว่า กลับถูก “ที่ปรึกษากฎหมายระดับปรมาจารย์ของรัฐบาล” อย่าง “อาจารย์วิษณุ เครืองาม” ออกมาเบรกด้วยความฉงนสงสัยว่า เอ๊ะ! ทำไมการแบ่งเขตเลือกตั้งของคุณมันถึงไปรวมเอาคนต่างด้าวเข้ามานับด้วยแม้ว่าพวกเขาจะไม่มีสิทธิเลือกตั้ง

เมื่อถูกถามมา ทาง กกต.เองก็ออกมาตอบด้วยความมั่นใจเสียงดังฟังชัดว่า ที่ผ่านมาก็ทำแบบนี้ ตอนการเลือกตั้งเมื่อคราวปี 2562 การแบ่งเขตเลือกตั้งก็นับรวมคนต่างด้าวเหมือนกัน ทุกอย่างปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ทุกประการ ก็รัฐธรรมนูญระบุให้การแบ่งเขตเลือกตั้งใช้ “จำนวนราษฎร” ทั้งประเทศตามหลักฐานทะเบียนราษฎร

ในเมื่อทางกระทรวงมหาดไทยจัดทำทะเบียนราษฎรโดยรวมถึงคนต่างด้าวมาด้วย การที่พวกเรา (กกต.) นำเอาข้อมูลนี้มาจัดแบ่งเขตเลือกตั้งก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญระบุแล้ว

ซึ่งก็สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกากรณีการยกสถานะอำเภอแม่สอดเป็นเทศบาล ที่ว่าราษฎรในพื้นที่หมายถึงผู้ที่มีสัญชาติไทยและผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วย

นี่ไงครับ ถูกต้องตามกฎหมายเป๊ะ!

น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน แล้วหัวใจอ่อนๆ ของ กกต.จะทนทานกับคำทัดทานของหลายฝ่ายโดยไม่เงี่ยหูฟังเลยไปได้อย่างไร

แม้ว่าแรกเริ่มเดิมทีจะพกความมั่นใจมาเต็มกระเป๋า ล่าสุด กกต.ได้ตัดสินใจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งที่นับรวมคนต่างด้าวไปด้วยนั้นถูกต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่อย่างไร

นี่ยังไม่ทันได้เข้าคูหาเลือกตั้งเลย ก็มีเรื่องต้องให้ตีความปวดหัวกันอีกแล้วเหรอเนี่ย เฮ้อ…!!!

 

แต่เอาล่ะครับ ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญท่านจะมีความเห็นเช่นไรก็เรื่องหนึ่ง

สำหรับผมเองเท่าที่ติดตามคำอธิบายของ กกต.ในการแบ่งเขตเลือกตั้งนี่ก็เล่นเอา “กรรมการอึ้ง” พอสมควรเลย

คือผมคิดว่าความเข้าใจของ กกต. ต่อคำว่า “ราษฎร” ในความหมายของรัฐธรรมนูญน่าจะคลาดเคลื่อนไปอย่างมาก

วันนี้เลยต้องขอชี้แจงแถลงไขหลักวิชาที่เกี่ยวข้องเสียหน่อย เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชนที่ขณะนี้กำลังเกิดความสับสนอยู่ว่าสรุปแล้วคำว่า “ราษฎร” (สำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้ง) นี้หมายถึงคนต่างด้าวด้วยหรือไม่?

เอาเข้าจริงแล้ว การนำเอาข้อมูลจากทะเบียนราษฎรที่จัดทำโดยกระทรวงมหาดไทยมาใช้สำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้งตาม (มาตรา 86) รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ปี 2650) ไม่ใช่ครั้งแรกหรอกที่ทำเช่นนี้

หากแต่มีการปฏิบัติกันมานานแล้วตั้งแต่สมัยรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492

โดยขณะนั้นใช้คำว่า “สำมะโนประชากร” ไม่ได้ใช้คำว่า “ทะเบียนราษฎร” เพราะยังไม่มีการแยกแยะความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างสำมโนประชากรและทะเบียนราษฎรเหมือนปัจจุบัน

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม หลักใหญ่ใจความอยู่ตรงที่ว่า คำว่า “ราษฎร” ที่รัฐธรรมนูญระบุไว้สำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นไม่ได้มีความหมายเดียวกันกับกฎหมายฉบับอื่นๆ รวมถึงความหมายในทะเบียนราษฎรตามที่ท่าน กกต.เองเข้าใจ

 

คือแบบนี้ครับ พึงต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นเสียก่อนว่า ขณะนี้เรากำลังพูดถึง “การเลือกตั้ง”

โดยในทางรัฐธรรมนูญแล้วเป็นกิจกรรมทางการเมือง คนที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับ “เรื่องทางการเมือง” (ร่วมกำหนดเจตจำนงทางการเมือง) ของประเทศได้ ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องเป็นคนที่มีความใกล้ชิดผูกพันกับประเทศเท่านั้น

ซึ่งจะเป็นใครที่ไหนไปไม่ได้นอกจาก “พลเมืองของรัฐ” (Citizen)

ซึ่งกรณีที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ก็คือผู้ที่มีสัญชาติไทย หาใช่คนต่างชาติแต่อย่างใด

ด้วยเหตุผลข้างต้น การแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. จึงเป็นการทำไปบนวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดจำนวน “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ที่มีสถานะและบทบาทหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมอบหมาย

นั่นคือ “ผู้แทนของพลเมือง” หรือที่ในรัฐธรรมนูญใช้คำว่า “ผู้แทนปวงชนชาวไทย” นั่นแหละครับ ทั้งนี้ เพื่อท่าน ส.ส. ให้เข้าไปนั่งในสภา และใช้อำนาจนิติบัญญัติที่มาจาก “อำนาจอธิปไตยไทย”

พูดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ การแบ่งเขตเลือกตั้งกำลังเข้าไปคิดคำนวณจำนวน ส.ส.เพื่อทำหน้าที่ “ผู้แทนคนไทย” ตามสัดส่วนของ “คนไทยทุกคน” ไม่ว่าจะเป็นลูกเด็กเล็กแดง สูงต่ำดำขาว หญิงชาย LGBT หนุ่มแก่ ฯลฯ ในแต่ละจังหวัด

ส่วนที่ว่าใครจะเป็นผู้มีสิทธิออกไปลงคะแนนหย่อนบัตรในวันเลือกตั้งที่ในทางวิชาการเราเรียกว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” (Elector) ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง (รัฐธรรมนูญมีการกำหนดให้ผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ฯลฯ)

อย่าได้นำมาปะปนคนกันจนเละเป็นโจ๊กเหมือนที่ใครหลายคนออกมาแสดงความคิดความเห็นสาธารณะ

มิฉะนั้นแล้ว จะทำให้พันกันอีรุงตุงตังจนทำให้เข้าใจเรื่อง “สิทธิทางการเมือง” ตามรัฐธรรมนูญผิดกันไปเสียหมด

ดังนั้น การที่มาตรา 86 ของรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้การแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นไป “จำนวนราษฎร” ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรจึงไม่ได้หมายความว่า ให้ กกต.เอาข้อมูลทั้งหมดที่ทางกระทรวงมหาดมหาดไทยทำขึ้นไปใช้แบ่งเขตได้เลย

แต่ท่านต้องคัดกรองเอามาเฉพาะแต่ข้อมูลจำนวน “พลเมือง” คนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นมาใช้จึงจะถูกต้อง

 

พูดมาถึงตรงนี้ก็อาจจะมีหลายท่านโต้แย้งผมว่า อ้าว อาจารย์! ถ้าพูดแบบนี้ละก็ แล้วกระทรวงมหาดไทยจะจัดทำทะเบียนราษฎรโดยรวมคนต่างด้าวมาไว้ทำไมล่ะ

แล้วนี่สรุปว่า ส.ส.นี่เขาคอยดูแลแต่คนไทยไม่ต้องดูแลคนต่างด้าวเลยเหรอเนี่ย เขาก็ทำงานเสียภาษีให้กับประเทศเราเหมือนกันนะ

ประเด็นนี้ผมต้องขอตอบออกไปอย่างเสียงดังฟังชัดว่า เดี๋ยวครับ! คุณกำลังเข้าใจผิดอย่างมาก

คือ เรื่องข้อมูลทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทยที่จัดทำขึ้นตามกฎหมายทะเบียนราษฎรโดยมีการรวมถึงคนต่างด้าว (คนที่ไม่มีสัญชาติไทย) ด้วยนั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่าเหตุผลก็เพราะเขาต้องนำไปเป็นฐานข้อมูลเพื่อการจัดเตรียมและปรับปรุงการให้บริการสาธารณะต่างๆ ของรัฐ

ไม่ว่าจะเป็นการสาธารณสุข การศึกษา การคมนาคม ความปลอดภัยต่างๆ ฯลฯ ให้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพแก่ “ประชากร” (Population) (ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว) ในพื้นที่ต่างๆ

ซึ่งก็เป็นวัตถุประสงค์เดียวกันกับกรณีการยกสถานะอำเภอแม่สอดเป็นเทศบาลที่ทาง กกต.เข้าใจผิดโดยไปอ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาทั้งๆ ที่เป็นเรื่องการพิจารณามุ่งเน้นไปในเรื่อง “ประชากรในพื้นที่” เป็นสำคัญนั่นแหละครับ

ทั้งหมดนี้มีความแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญที่กำลังกล่าวโดยจำเพาะเจาะจงถึงการกำหนดจำนวนของ “ผู้แทนราษฎร” ที่เชื่อมโยงกับ “สิทธิทางการเมือง” อยู่ในขณะนี้

อธิบายง่ายๆ เลยก็คือ วัตถุประสงค์ หรือเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายทะเบียนราษฎรไม่เหมือนกันครับ

นี่เป็นเรื่องปกติของการที่กฎหมายแต่ละฉบับจะมีเป้าหมายที่ต่างกันออกไป การตีความและการบังคับใช้จึงมีความผิดแผกแตกต่างกันออกไปด้วย

 

ส่วนความกังวลที่ว่าการไม่นับรวมคนต่างด้าวเข้ามาในการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.ครั้งนี้ถือว่าไม่แฟร์กับพวกเขาเหล่านี้ กล่าวคือ ทั้งๆ ที่เขาก็เข้ามาสร้างรายได้ให้กับประเทศไทย แต่ทำไม ส.ส.เรากลับไม่ดูแลเขา

นี่ก็เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนทำนอง “ถามว่าไปไหนมา ตอบสามวาสองศอก”

ที่ผมต้องพูดเปรียบเปรยแบบนี้ก็เพราะต้องการชี้ให้เห็นว่าคุณกำลังสับสนโดยเอาสองเรื่องที่แตกต่างอย่างมากมารวมกัน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง กรณีการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยไม่นับรวมเอาคนต่างด้านเข้ามารวมคำนวณเพื่อกำหนดจำนวน ส.ส.ในแต่ละจังหวัด ไม่ได้หมายความว่าเราจะใจไม้ไส้ระกำเพิกเฉยไม่ดูแลคนต่างด้าวหรอก

หากแต่เรื่องนี้อยู่ภายใต้การจัดทำบริการสาธารณะซึ่งเป็นภารกิจพื้นฐานของภาครัฐ (กระทรวงมหาดไทยคอยควบคุมหรือกำกับดูแล) ที่ต้องทำอยู่แล้วครับตามฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรที่ผมอธิบายไปก่อนหน้านี้

แต่ไม่ใช่กรณีที่รัฐจะเข้าดูแลผ่าน “การกำหนดเจตจำนงทางการเมือง” อย่างการเลือกตั้ง

 

จากที่อธิบายขยายความมาเสียเยอะแยะคิดว่าคงพอที่จะทำให้ทุกท่านเข้าใจถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องบ้าง

อย่างไรก็ดี ผมขอสรุปรวมความให้กระชับชัดเจนอีกครั้งนะครับว่า ตามหลักวิชาการแล้ว คำว่า “ราษฎร” สำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ (มาตรา 86) หมายถึง “พลเมือง (ไทย)” เท่านั้น

ไม่ได้มีความหมายเดียวกันกับคำว่า “ราษฎร” ในความหมายของทะเบียนราษฎรที่จะรวมทั้งพลเมือง (ไทย) และชาวต่างชาติซึ่งหมายถึง “ประชากร” ที่ก็มีความผิดแผกแตกต่างจากกรณีของ “บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง”

เราต้องระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่นำเอาคำ 3 คำ ได้แก่ พลเมือง (Citizen) ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (Elector) และประชากร (Population) ที่มีความหมายที่แตกต่างกันไปอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละบริบทและตัวบทกฎหมายมาปะปนกัน

ที่ผมต้องมาเน้นย้ำกันแล้วย้ำกันอีก และอยากให้ทาง กกต.แก้ไขเสียให้ถูกต้องก็เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่การมานั่งเถียงกันเพียงแค่ว่าเราควรนับหรือไม่นับคนต่างด้าว หรือจะเป็นเพียงประเด็นข้อกฎหมายว่าการแบ่งเขตของ กกต.นี้จะขัดหรือไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่แบบที่ใครหลายคนเข้าใจกัน

แต่มันมีประเด็นทางการเมืองรวมอยู่ด้วย

กล่าวคือ มันปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่า เรื่องนี้เข้าไปเกี่ยวข้องกับจำนวน ส.ส.ของแต่ละจังหวัดที่พึงจะมี โดยการนับหรือไม่นับคนต่างด้าวย่อมมีผลต่อการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของจำนวน ส.ส.

และนั่นอาจทำให้พรรคการเมืองหนึ่งๆ แพ้หรือชนะการเลือกตั้งได้

มาถึงตอนนี้ก็คงพูดได้แต่เพียงว่าเบื้องต้นนี้คงต้องรอฟังศาลรัฐธรรมนูญก่อนครับว่า ท่านจะรับหรือไม่รับไว้วินิจฉัย และหากรับไว้

ผลของคำวินิจฉัยจะออกมาเป็นเช่นไร จะมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่

ทั้งหมดนี้คงต้องติดตามกันอย่างประเภทที่ว่าใจจดใจจ่อกันเลยทีเดียวครับ