เพ็ญสุภา สุขคตะ : “ล้านนาศึกษา” ใน “ไทยศึกษาครั้งที่ 13” (6) เมืองน้อย เมืองเนรเทศกษัตริย์ล้านนา The Romance of Three Kingdoms (1)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

แนวคิดที่ว่า “ล้านนาศึกษา” ควรครอบคลุมเรื่องราวของทุกจังหวัดในเขตภาคเหนือตอนบน สองตอนแรกที่ได้นำเสนอไปแล้ว จึงเปิดพื้นที่ให้แก่จังหวัดเชียงราย (เรื่องพระเกศโมลี) กับจังหวัดลำปาง (เมืองต้องคำสาป)

ในส่วนที่จะสามารถเชื่อมโยงกับจังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้น ขอนำเสนอเรื่อง “เมืองน้อย” แห่งอำเภอปาย เนื่องจากที่แห่งนี้กำลังอยู่ในระหว่างการขุดค้น-ขุดแต่งทางโบราณคดีของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่อยู่พอดี

วิทยากรที่เชิญมาร่วมเปิดประเด็นหัวข้อ “เมืองน้อย เมืองเนรเทศกษัตริย์ล้านนา” ค่อนข้างคึกคักมีถึง 3 คนคือ อ.สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระ อ.ภูเดช แสนสา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และ ยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดี

ส่วนผู้ร่วมวิพากษ์คือ ศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ภาคีราชบัณฑิต ด้านประวัติศาสตร์ล้านนา

 

การเมือง 2 ขั้ว 3 อาณาจักร
The Romance of Three Kingdoms

คําว่า The Romance of Three Kingdoms หมายถึงนวนิยายก้องโลกเรื่อง “สามก๊ก” ซึ่งดิฉันขอยืมชื่อนี้มาตั้งเป็นหัวข้อเสวนาในส่วนของ อ.สมฤทธิ์ ลือชัย ผู้ที่จะมาเปิดประเด็นเรื่อง “การเมืองในเมืองน้อย ว่าด้วย 2 ขั้ว กับความสัมพันธ์ของ 3 อาณาจักร”

อ.สมฤทธิ์มองว่า เมืองน้อย เป็นเมืองเล็กๆ สมชื่อ ตั้งอยู่กลางหุบเขาที่ต้องเดินทางด้วยความยากลำบาก ไม่ว่าเส้นทางจากอำเภอเวียงแหง หรือจากอำเภอปายก็ตาม การไปเก็บข้อมูลแต่ละครั้งต้องใช้รถโฟว์วีล และขออาศัยนอนค้างที่บ้านชาวกะเหรี่ยง เพราะละแวกนั้นไม่มีโรงแรมรีสอร์ต

ก่อนจะไปถึงประเด็นที่ว่า ใครเนรเทศใคร ทำไมต้องเนรเทศ และทำไมต้องเลือกยุทธศาสตร์ที่เมืองน้อย อ.สมฤทธิ์ขอนำเสนอภาพ “การเมืองของราชสำนักล้านนา” ก่อน

โดยมองย้อนไปถึงมหาราชแห่งล้านนาผู้มีพระนามว่า “พระเจ้าติโลกราช” (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1984-2030) ยุคของพระองค์แผ่นดินมีความเป็นปึกแผ่น แต่หลังจากนั้นราชวงศ์มังรายกลับถูกแบ่งเป็น 2 ขั้ว โดยการคานอำนาจจากกลุ่มบุคคลภายนอกถึง 3 อาณาจักร

2 ขั้วที่ว่านั้นคือ ระหว่างกลุ่มคนลุ่มแม่น้ำของ (ภาษาพื้นถิ่น หมายถึงแม่น้ำโขงนั่นเอง รวมสาขาย่อยแม่น้ำโขง เช่น อิง กก) คือแถบเมืองฝาง เชียงของ เชียงเทิง ฯลฯ

กับกลุ่มคนลุ่มแม่น้ำคง (สาละวิน) ที่คนทั่วไปมักเรียกว่าชาวไทใหญ่ แต่ในที่นี้ไม่อยากแบ่งแยกด้านเชื้อชาติ เพราะอาจมีชาติพันธุ์อื่นๆ ปะปนด้วย เช่น ไทลื้อ ไทขึน กะเหรี่ยง ฯลฯ

ล้านนา 2 กลุ่มใหญ่ ต่างผลัดกันช่วงชิงขั้วอำนาจ ฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำมักถูกเนรเทศให้ไปอยู่ทางทิศตะวันตกของเชียงใหม่เสมอ

และมีข้อน่าสังเกตว่า ต้นเหตุแห่งการเนรเทศเจ้านายระดับสูงของล้านนานั้น มักมีส่วนเกี่ยวข้องกับสตรีชั้นสูง หรือฝ่ายใน คือเหล่าอัครมเหสี ชายา หรือพระสนมต่างๆ อยู่เสมอ

ส่วน 3 อาณาจักรที่ถูกดึงเข้ามาสู่เกมการเมืองนั้นไซร้ ได้แก่ กรุงศรีอยุธยา กรุงศรีสัตนาคนหุต (ล้านช้าง) และรัฐฉานของกลุ่มไทใหญ่ ซึ่งจักได้ขยายความต่อไปในสัปดาห์หน้า

 

ระหว่าง “เนรเทศ”
และ “ประหารชีวิต”

อ.สมฤทธิ์กล่าวว่า ใน “กฎหมายมังรายศาสตร์” กำหนดโทษสูงสุดไว้ 3 สถานคือ 1.ประหารชีวิต 2.ตัดมือตัดเท้า และ 3.เนรเทศ

เห็นได้ว่า “เนรเทศ” เป็นการลงโทษขั้นสูงสุดลำดับที่ 3 ของอาณาจักรล้านนา

อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับราชสำนักอยุธยา อ.สมฤทธิ์มองว่า ระยะห้วงเวลาอันยาวนาน 417 ปีนั้น กลับมีการเนรเทศเจ้านายระดับสูงเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น คือ กรมหมื่นเทพพิพิธ ถูกเนรเทศไปลังกา

นอกนั้นแทบไม่อาจเรียกว่าเนรเทศได้เลย อย่างกรณีของพระราเมศวร โอรสพระเจ้าอู่ทอง ก็เรียกว่าเป็นการถูกส่งกลับไปอยู่ลพบุรีเมืองเดิมเท่านั้น

ทว่า การกำจัดกับเจ้านายผู้ไม่พึงประสงค์ของราชสำนักอยุธยาส่วนใหญ่ กลับเป็นไปในลักษณะ “ประหารชีวิต” แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถูกทุบด้วยท่อนจันทน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายสิบพระองค์

ผิดกับราชวงศ์มังราย พบว่ากษัตริย์ที่กระทำการประหารพระโอรสมีเพียง 2 ครั้ง คือพระญามังรายสั่งยิงโอรสองค์โต คือขุนเครื่องด้วยธนู ที่กู่ยิงเมืองพร้าว และพระเจ้าติโลกราช ประหารพ่อท้าวบุญเรือง

ทั้งสองกรณี เกิดจากเหตุผลเดียวกัน คือหวาดระแวงว่าพระราชโอรสจะก่อกบฏแย่งชิงราชบัลลังก์

ส่วนในช่วงปลายราชวงศ์มังราย เริ่มมีกรณีที่กษัตริย์ถูกสำเร็จโทษโดยกลุ่มขุนนางติดๆ กันถึงสองพระองค์คือ พระเมืองเกษเกล้า และท้าวซายคำ

ศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว อธิบายเพิ่มเติมว่า เหตุใดราชวงศ์มังรายจึงเน้นการผลัดเปลี่ยนบัลลังก์ด้วยการเนรเทศมากกว่าการประหาร ทั้งนี้เนื่องมาจากกษัตริย์ล้านนาจักขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติได้ ก็ต่อเมื่อต้องมี “เลือดสีน้ำเงิน” เท่านั้น

บรรดาเสนามาตย์จักตั้งตนเป็นกษัตริย์มิได้ ถึงแม้นว่าเหล่าขุนนางสามารถช่วงชิงอำนาจมาได้แล้ว ก็ต้องถวายราชสมบัตินั้นๆ แด่มหาเทวี หรือพระมเหสีหม้าย ฝ่ายหญิงผู้เป็นหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์อยู่ดี

ฉะนั้น หากไม่มีความจำเป็นจริงๆ แล้ว การประหารเจ้านายระดับสูงจักไม่บังเกิดขึ้นบนแผ่นดินล้านนา

ต่างไปจากกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีราชวงศ์ที่ผลัดเปลี่ยนกันปกครองถึง 5 ราชวงศ์ บางราชวงศ์สามารถปราบดาได้จากกลุ่มขุนนาง

อาจารย์อรุณรัตน์อธิบายต่อไปว่า “กฎหมายมังรายศาสตร์” กับ “คำสอนพระญามังราย” ระบุไว้ชัดเจนว่า มีคนอยู่สองจำพวกที่ถูกสงวนไว้ว่าจะประหารชีวิตไม่ได้เลย ซึ่งสองกลุ่มนั้น ไม่มีกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์?

กลุ่มแรก เรียกว่า “คนผู้รู้สัณฐานประเทศ” หมายความว่าเป็นคนที่เคยเดินทางไปไกลสู่โลกภายนอก รอบรู้ภูมิศาสตร์ของเพื่อนบ้าน อาจเป็นราชทูต หรือพ่อค้าวัวต่าง คือได้ไปสัมผัสกับเมืองต่างๆ มากมาย ถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่หายาก

ดังเช่น “อ้ายฟ้า” หรือ “ขุนฟ้า” ผู้เป็นจารชนหนอนบ่อนไส้ที่พระญามังรายใช้ให้ไปทำลายราชวงศ์หริภุญไชยจนล่มสลาย ถือว่าเป็นบุคคลที่ได้เปรียบคนอื่นๆ เพราะรู้จักสัณฐานประเทศต่างๆ เป็นอย่างดี ทั้งของเมืองเชียงราย (หิรัญนครเงินยาง) และเมืองลำพูน (หริภุญไชย) อ้ายฟ้าจึงอยู่ในข่ายที่จะไม่มีวันถูกสั่งประหารชีวิต ต่อให้ทำอะไรผิด

กลุ่มที่สองคือ “คนผู้รู้จารีต” ได้แก่ พระสงฆ์ผู้ทรงศีล นักบวช ปู่จ๋าน (ปู่อาจารย์) ผู้ประกอบพิธีกรรม

คนสองกลุ่มนี้ จะไม่มีการฆ่า การลงโทษสถานหนักทำแค่เนรเทศ

อาจปล่อยให้ตุหรัดตุเหร่ออกจากเมือง โซซัดโซเซจนถูกเสือขบกลางทาง ก็ยังดีกว่าลงโทษคนสองกลุ่มนี้ด้วยการประหาร

 

เมืองนาย เชียงตุง เมืองยวมใต้

อาจารย์ภูเดช แสนสา นำเสนอว่า การเนรเทศเจ้านายระดับสูงของล้านนาสามารถจำแนกได้เป็นสองช่วง

ช่วงแรก คือตั้งแต่สมัยพระญามังราย ปฐมกษัตริย์ล้านนา มาจนถึงสมัยก่อนพระเจ้าติโลกราช

และช่วงที่สองคือ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชลงมาจนถึงสมัยพระเมืองเกษเกล้า ถือเป็นสมัยปลายราชวงศ์มังรายแล้ว

และมีข้อน่าสังเกตว่า สถานที่เนรเทศทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นฟากตะวันตกของเชียงใหม่มาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งเรียกกันว่า “หลังเมือง” หรือ “วันตกนกนอน” คือทิศตะวันตก อันเป็นรัฐในหุบเขา เป็นป่าดงไพร่พลเบาบาง

ไม่พบว่ามีการเนรเทศใครไปฝั่ง “หน้าเมือง” หรือ “วันออกหมอกขาว” คือทิศตะวันออกเลย เนื่องจากเป็นแผ่นดินเปิด พื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล สมมติว่ามีการเนรเทศใครไปเมืองลอง (แพร่) หรือ เมืองตรอน (อุตรดิตถ์) ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงมาก เพราะเท่ากับเปิดโอกาสให้สามารถหลบหนีไปขอพึ่งบารมีจากรัฐใหญ่คือสุโขทัย และอยุธยาทางใต้ได้

แหล่งเนรเทศและบุคคลผู้ถูกเนรเทศในยุคแรกนั้น เริ่มจาก ขุนเครือ พระราชโอรสองค์สุดท้องของพระญามังราย ถูกเนรเทศไปอยู่ เมืองนาย (ปัจจุบันอยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า) มีการให้เจ้าเมืองปั่น เมืองคอง และอีกหลายเมือง ช่วยกันสอดส่องไม่ให้ขุนเครือเคลื่อนไหวก่อหวอดหลบหนีไปได้

ต่อมา ในสมัยของพระญาไชยสงคราม กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 2 ได้เนรเทศพระโอรสองค์โต คือ ท้าวน้ำท่วม ที่คิดก่อการแย่งราชบัลลังก์จากพระองค์ ให้ไปอยู่ที่เมือง เชียงตุง น่าจะเป็นครั้งเดียวที่เนรเทศเจ้านายระดับสูงไปทางทิศเหนือใกล้ลุ่มน้ำโขง (การเนรเทศครั้งอื่นๆ มักเป็นทิศตะวันตก แถบลุ่มน้ำสาละวินมากกว่า)

การเนรเทศครั้งสำคัญยิ่ง คือ “ท้าวลก” (ลก หมายถึงถูกชายลำดับที่ 6) ผู้ซึ่งต่อมาคือพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 9 ในวัยหนุ่มฉกรรจ์เคยถูกพระราชบิดา พระญาสามฝั่งแกน เนรเทศไปยังเมืองยวมใต้ (ปัจจุบันคือแถบอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน) ตำนานไม่ได้บอกว่าทำความผิดอะไร แต่เข้าใจได้ว่าคงฉายแววความมักใหญ่ใฝ่สูงมาตั้งแต่ยังเยาว์

การมาอยู่เมืองยวมใต้ของท้าวลกครั้งนั้นเอง ทำให้สามารถสั่งสมกองกำลังได้มากมาย เพราะเป็นเมืองที่อยู่ห่างไกลจากการควบคุมดูแลของเชียงใหม่

สุดท้าย ท้าวลกได้ยกกองกำลังมาแย่งชิงราชบัลลังก์จากพระญาสามฝั่งแกน และได้เนรเทศพระราชบิดาไปไว้ที่เมืองสาด เนื่องจากพระเจ้าติโลกราชทรงเรียนรู้ว่า เมืองยวมใต้เป็นเขตที่มีประชากรหนาแน่น เหมาะแก่การสร้างฐานกำลัง ผิดกับเมืองแถบลุ่มน้ำสาละวินตอนบนที่มีประชากรเบาบางกว่า และภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันสลับซับซ้อนมากกว่า

พระญาสามฝั่งแกน ถูกย้ายเมืองเนรเทศสองครั้ง เริ่มจากเมืองสาด จากนั้นนำมาไว้เมืองฝาง และสุดท้ายกลับมาสวรรคตที่เชียงใหม่

ส่วนชนชั้นขุนนาง ก็มีการเนรเทศเหมือนกัน แต่มักส่งไปอยู่หัวเมืองที่ไม่ไกลมากนัก อาจเป็นเพราะสถานะของขุนนางในล้านนามีข้อจำกัดมาก กล่าวคือ จะไม่สามารถตั้งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ได้เลย หากปราศจาก “เลือดสีน้ำเงิน” หรือความเป็น “ขัตติยะมานะ” เพราะประชาชนจะไม่ยอมรับ

แม้กระนั้น ก็มีขุนนางที่พยายามก่อกบฏอยู่ประปรายเช่นกัน ดังเช่นกรณีของ “แสนขาน” ขุนนางคู่ใจผู้เคยช่วยเหลือท้าวลกให้ชิงบัลลังก์จากพระราชบิดาจนสำเร็จ แต่แล้วก็คิดจะแย่งราชสมบัติจากท้าวลกเสียเอง

แสนขานเป็นชาวยวมใต้ เช่นเดียวกับหมื่นด้ามพร้าคด (สล่าเอกคู่ใจพระเจ้าติโลกราช) ที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกับท้าวลกตอนถูกพระราชบิดาเนรเทศ

ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าติโลกราชจึงไม่ฆ่าแสนขาน แต่เนรเทศให้ไปอยู่เชียงแสนแทน ถือเป็นหัวเมืองที่ไม่ห่างไกลมากนัก พอจะควบคุมดูแลได้

จากบทเรียนของพระเจ้าติโลกราช ที่เคยถูกเนรเทศไปอยู่เมืองยวมใต้ จนสามารถรวบรวมผู้คนตั้งกองกำลังขึ้นมาได้นั่นเอง ทำให้พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า

เมืองที่จะต้องถูกกำหนดยุทธศาสตร์ ตั้งให้เป็น “เมืองเนรเทศ” ของเจ้านายระดับสูงในอนาคตต่อไปนั้น ย่อมไม่ใช่เมืองยวมใต้อีกต่อไป แต่ต้องย้ายไปอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเชียงใหม่แทน

“เมืองน้อย” ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอำเภอปาย จึงกลายเป็นเมืองที่ถูกเลือกสรรแล้ว

ฉบับหน้าจักยิ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรายังค้างอยู่อีกหลายเรื่อง ทั้ง The Romance of Three Kingdom ของอาจารย์สมฤทธิ์ และมูลเหตุแห่งการเนรเทศ “ฝ่ายหน้า” อันเกิดมาแต่การชิงรักหักสวาทของ “ฝ่ายใน”