กกต.ใส่เกียร์ ‘ถอยหลัง’ พึ่งศาล ‘รธน.’ ตีความปมจำนวน ‘ราษฎร’ เลือกตั้งยืดเยื้อ

บทความในประเทศ

 

กกต.ใส่เกียร์ ‘ถอยหลัง’

พึ่งศาล ‘รธน.’

ตีความปมจำนวน ‘ราษฎร’

เลือกตั้งยืดเยื้อ

 

กลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองขึ้นมาทันที เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มีมติเห็นพ้องตรงกันให้ส่งเรื่องไปยัง “ศาลรัฐธรรมนูญ” เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดว่าการกำหนดจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดพึงมี โดยนำจำนวนราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคิดคำนวณด้วยนั้นสามารถทำได้หรือไม่

โดยสูตรการคิดจำนวน ส.ส. ของ กกต.ครั้งนี้ พิจารณาจากจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามประกาศสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งประกาศในปีสุดท้าย ก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จำนวน 66,090,475 คน จึงมีจำนวนราษฎร โดยเฉลี่ยประมาณ 165,226 คน ต่อจำนวน ส.ส. 1 คน

แต่เมื่อแยกเฉพาะผู้มีสัญชาติไทย พบว่ามีจำนวนราษฎร 65,106,481 คน ส่วนผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย มีจำนวน 983,994 คน

ทว่า นับตั้งแต่ที่ กกต.คลอดประกาศจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด สำหรับใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เป็นเสียงแรกที่ออกมาทักท้วงพร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการที่ กกต.นำคนที่ “ไม่มีสัญชาติไทย” มานับรวมด้วยนั้น จะทำให้การแบ่งเขตเลือกตั้งเกิดความผิดพลาดได้

สุ่มเสี่ยงมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความคำว่า “ราษฎร” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 ว่าหมายถึงราษฎรที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น หรือหมายความรวมถึงราษฎรที่ไม่ได้สัญชาติไทยด้วย

อดีต กกต.ยืนยันว่า กกต.ต้องเร่งปรับแก้ไข เพื่อสต๊อปความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยใช้บุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ไม่เช่นนั้น 3 จังหวัดที่ได้ ส.ส.เกิน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย รวมทั้งตาก และ 3 จังหวัดที่ได้ ส.ส.ขาด คือ อุดรธานี ลพบุรี และปัตตานี จะกำหนดพื้นที่แบ่งเขตผิด มีผลทำให้การเลือกตั้งทั้ง 6 จังหวัดเป็นปัญหา

โดย 6 จังหวัด ซึ่งมีจำนวน ส.ส.รวมกันถึง 40 คน คิดเป็นร้อยละ 8 ของจำนวน ส.ส. หากมีปัญหาขึ้นมาจะไม่สามารถเรียกประชุมรัฐสภาได้ เพราะมี ส.ส.ไม่ถึงร้อยละ 95 ตามที่มาตรา 84 รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้

 

ฟาก “7 เสือ กกต.” เมื่อทราบถึงความห่วงใยและข้อท้วงติงก็รีบออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวตอบโต้ทันควัน พร้อมยืนยันว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 86 กำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่มีการประกาศปีสุดท้าย ก่อนปีที่มีการเลือกตั้งมาเป็นเกณฑ์

ซึ่งการประกาศจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จนถึงปี 2557 จะประกาศจำนวนราษฎรรวม ต่อมาปี 2558 เป็นปีแรกที่สำนักทะเบียนกลาง ประกาศแยกชาย-หญิงของคนที่มีสัญชาติไทย และคนที่ไม่มีสัญชาติไทย และปฏิบัติเรื่อยมาจนถึงการเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนั้นผ่านมาได้โดยไม่เกิดปัญหา แต่ครั้งนี้กลับเกิดปัญหาชวนสงสัย

พร้อมกันนี้ยังได้ยกเคสความเห็นของ “คณะกรรมการกฤษฎีกา” (คณะที่ 1) กรณีอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จะยกสถานะอำเภอแม่สอดเป็นเทศบาล มีเกณฑ์ราษฎรขั้นต่ำ 50,000 คน หากนับเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยจะมีจำนวนไม่ถึงเกณฑ์ยกฐานะเทศบาล

ดังนั้น มีปัญหาว่าจะรวมผู้ไม่มีสัญชาติไทยเป็นราษฎรรวมหรือไม่ ซึ่งความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา สอดคล้องกับ กกต. ว่าการคิดจำนวนราษฎรนั้นต้องคิดรวมทั้งหมดของบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยชอบด้วยกฎหมาย

 

แต่ต่อมาเสียงคัดค้านทั้งจากฝ่ายการเมือง นักวิชาการ ต่างออกมาแสดงความห่วงกังวลจะเริ่มมีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการแบ่งเขต เป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ของการเลือกตั้ง ที่ทุกฝ่ายคาดหวังว่าจะเห็นหน้าตาของ 400 เขต ออกมาเป็นธรรมมากที่สุด

รวมทั้งเนติบริกร “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี มือกฎหมายคนสำคัญของรัฐบาล ออกโรงแสดงความห่วงกังวลเรื่องการนับเอาคนที่ไม่มีสัญชาติไทยรวมไปด้วย ทั้งที่ความจริงมันแยกได้ เป็นคนไทยล้วนกับคนต่างด้าว พร้อมกับชี้ช่องให้ กกต.ถามความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญว่าจะต้องนับรวมหรือไม่รวมกันแน่

ทว่า กกต.ยังยืนยันและมั่นใจว่าสิ่งที่ดำเนินการนั้นถูกต้องแล้ว

โดยเฉพาะ “อิทธิพร บุญประคอง” ประธาน กกต. ออกมาระบุย้ำชัดว่า “กกต.ปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 86 บัญญัติไว้ว่าให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง มาพิจารณา ซึ่ง กกต.ยึดหลักการนี้ในการแบ่งเขตมาโดยตลอด และไม่คิดจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ”

กระทั่งขั้นตอนรับฟังความเห็นรูปแบบการแบ่งเขตทั้ง 400 เขต ครบกำหนดส่งความเห็นไปเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ถัดจากนั้นมาเพียงแค่ 2 วัน กกต.กลับมีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าการกำหนดจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดพึงมี โดยนำจำนวนราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคิดคำนวณด้วยนั้นสามารถทำได้หรือไม่

โดยยกเหตุผลมาอ้างอิงว่านำข้อคิดเห็นจากประชาชน พรรคการเมือง นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา ประกอบกับมีผู้ไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้เกิดความชัดเจนและให้การเลือกตั้ง ส.ส. เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต.ที่เกิดขึ้นแล้ว จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม เมื่อคำร้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องพิจารณา เริ่มจากกระบวนการรับคำร้องหากเห็นว่าอยู่ในอำนาจที่จะวินิจฉัยได้ หากสมมุติมีคำสั่งให้ กกต.หยุดการดำเนินการเพื่อรอผลคำวินิจฉัย แน่นอนว่ากระบวนการต่างๆ ตามปฏิทินที่ กกต.วางไทม์ไลน์ไว้ต้องหยุดชะลอไว้ก่อน

โดยระยะเวลาการพิจารณาของศาล ไม่สามารถก้าวล่วงได้ว่าจะใช้ระยะเวลาเร็วหรือช้าแค่ไหน แม้กรณีนี้จะเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายก็ตาม เพราะตามกระบวนการศาลต้องขอเอกสารชี้แจงจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นต้องให้เวลาอย่างน้อย 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือให้ทำคำชี้แจง

ส่วน กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติ หากศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีคำสั่งให้หยุดการกระทำไว้ แน่นอนว่า การเลือกตั้งรอไม่ได้ กกต.ต้องเดินหน้าแบ่งเขตแบบคู่ขนาน ตามปฏิทินการทำงานที่กำหนดไว้ ที่ตั้งเป้าพิจารณาเลือกรูปแบบที่เหมาะสมของ 400 เขตให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ รวมทั้งต้องเตรียมแผนสำรองไว้รองรับ เพราะโอกาสความเป็นไปได้เกิดขึ้นได้ทั้งสองทาง โดยเฉพาะหากผลออกมาเป็นลบกับ กกต.

ขณะเดียวกัน ทุกขั้นตอนต้องเผื่อระยะเวลา ให้พรรคการเมืองเหลือเวลาเพียงพอที่จะทำไพรมารีด้วย ไม่เช่นนั้นพรรคจะส่งผู้สมัคร ส.ส.ไม่ได้

 

ดังนั้น หากสภาผู้แทนราษฎรอยู่ครบเทอมถึงวันที่ 23 มีนาคม กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน เป็นไปตามไทม์ไลน์ที่ กกต.กำหนดไว้คือ 7 พฤษภาคม 2566 จะขยับออกไปไม่ได้แล้ว ดังนั้น ทำให้เวลาค่อนข้างกระชั้นชิด กกต.ทำงานยากลำบากแน่นอน แต่ถ้ายุบสภา ขึ้นอยู่กับว่าจะยุบสภาช่วงใด ยิ่งใกล้วันที่ 23 มีนาคม 2566 เท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสขยับออกไปได้อีกประมาณ 2 สัปดาห์ เท่ากับว่า กกต.จะทำงานสบายมากขึ้น เนื่องจากกฎหมายกำหนดไว้ว่ากรณียุบสภา ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อ กกต.ยอมตัดสินใจเลือกโยนเผือกร้อนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ชี้ขาดแล้ว ต้องจับตารอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลคำวินิจฉัยออกมาเช่นไร

จะทำให้การเลือกตั้งต่องยืดเยื้อหรือไม่ อย่างไร

แต่กระนั้น อย่างน้อยการตัดสินใจเช่นนี้ดีกว่าปล่อยให้ กกต.เดินหน้าไปจนกระทั่งถึงวันเลือกตั้ง สุดท้ายมีคนไปร้องศาลให้ตีความภายหลัง

ซ้ำร้ายหากศาลระบุว่าผิดขึ้นมา อาจส่งผลให้การเลือกตั้งถึงขั้น “โมฆะ” ได้