จรัญ มะลูลีม : อาระเบียก่อนการมาถึงของอิสลาม (4)

จรัญ มะลูลีม

ชาวนะบาตาเอียน (Nabataeans)

ในศตวรรษที่ 6 ก่อน ค.ศ. ได้มีชาวเผ่าอาหรับที่มีชื่อว่าเผ่านะบาตาเอียนอพยพจากทรานส์จอร์แดนมายังปาเลสไตน์เข้ามาครอบครองดินแดนของชาวอีโดมี (Edomites) และตีนครเพตรา (Patra) ได้จึงใช้เป็นนครหลวง

ในไม่ช้านครนี้ก็กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของเส้นทางคาราวานระหว่างเยเมนกับซีเรีย ใน 312 ปีก่อน ค.ศ. กษัตริย์อันติโกนุส (Antigonus) ผู้สืบต่อจากอเล็กซานเดอร์ได้มาโจมตีนะบาตาเอียนแต่ยึดนครเพตราไม่ได้ หลังจากนั้นชาวนะบาตาเอียนก็กลายเป็นสัมพันธมิตรของโรมและร่วมมือกับนายพลกอลลัส (Gallus) ของโรมันเข้ามารุกรานอาระเบียใต้เมื่อ 24 ปีก่อน ค.ศ.

ชาวโรมันเรียกอาณาจักรของชาวนะบาตาเอียนว่าอาระเบียเพตราเอีย (Arabia Patraea) ชาวนะบาตาเอียนมีอำนาจสูงสุดภายใต้กษัตริย์ฮาริษะฮ์ที่ 4 (Harithath IV) 9 ปีก่อน ค.ศ.-ค.ศ.40

ในสมัยของท่านเยซูคริสต์ อาณาจักรนะบาตาเอียนขยายไปไกลถึงนครดามัสกัสทางใต้รวมไปถึงอัลฮิจญร์ (al Hijr) ซึ่งอยู่ในอัลหิยาซตอนเหนือ กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์นี้คือกษัตริย์ รับบิลที่ 2 (Rabbil II) (ค.ศ.70-106)

ใน ค.ศ.106 ชาวโรมันมาตีอาณาจักรนี้ได้จึงตกเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมันไป

 

ปาล์มมีเรนา (Palmyrena)

มีอาณาจักรของอาหรับอีกอาณาจักรหนึ่งมีชื่อว่าปาล์มมีเรนาเกิดขึ้นที่ซีเรียเหนือในคริสต์ศตวรรษแรก มีนครหลวงอยู่ที่นครทัดมอร์ (Tadmore) ซึ่งต่อมาเรียกว่านครปาล์มมีเร (Palmyra) เนื่องจากมีต้นปาล์มอยู่จำนวนมาก

อาณาจักรนี้ตั้งอยู่ตรงชายแดนของจักรวรรดิโรมและเปอร์เซีย นโยบายของอาณาจักรปาล์มมีเรนาคือจะรักษาความสมดุลระหว่างสองมหาอำนาจไว้และหาผลประโยชน์จากความเป็นกลางของตน อาณาจักรนี้มีอำนาจสูงสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 2 และ 3 ได้กลายเป็นศูนย์กลางของการค้าซึ่งขยายไปจนถึงเมืองจีน

ใน ค.ศ.260 กษัตริย์โอเดนาธุส (Odnathus) แห่งปาล์มมีเรนาได้ขับไล่จักรพรรดิชาฮ์ปูรของเปอร์เซียออกไปจากซีเรีย แล้วพระองค์ก็เข้าเป็นสัมพันธมิตรกับโรมและได้รับเกียรติอย่างสูงจากจักรพรรดิแห่งโรม อีก 4 ปีต่อมา ความสัมพันธ์ระหว่างปาล์มมีเรนากับโรมก็ตึงเครียดขึ้น โรมันจึงได้ฆ่าโอเดนาธุสกับพระอนุชาของพระองค์เสียใน ค.ศ.266

ราชินีเซโนเบีย (Zenobia) ของกษัตริย์โอเดนาธุสปกครองประเทศต่อไป พระนางขยายอำนาจต่อไปและท้าทายโรม

ใน ค.ศ.272 จักรพรรดิออเลเรียน (Aulerian) ของโรมเอาชนะกองทัพของปาล์มมีเรนาได้

นี่จึงเป็นจุดยุติของการปกครองของราชวงศ์อาหรับในปาล์มมีเรนาหรือที่เรียกสั้นๆ ว่าปาล์มมีรา

 

ฆ็อสซานิด (Ghassanids)

เมื่อราชวงศืปาล์มมีราหรือปาล์มมีเรนาสิ้นอำนาจลง ชนชาวฆ็อสซานิดซึ่งเป็นเผ่าอาหรับอีกเผ่าหนึ่งก็มามีอำนาจอยู่ในซีเรียทางแถบตะวันออกเฉียงใต้ของนครดามัสกัส โดยมีนครหลวงอยู่ที่นครอัลญาบิยะฮ์ (Al Jabiyah)

ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5 พวกฆ็อสซานิดตกอยู่ใต้อิทธิพลของพวกไบแซนไตน์ และมีหน้าที่ทำตัวเป็นรัฐกันชนเพื่อป้องกันการรุกรานของพวกเบดุอิน จากอิทธิพลของพวกไบแซนไตน์ชาวฆ็อสซานิดจึงเข้ารับคริสต์ศาสนา ในคริสต์ศตวรรษที่ 6 ราชอาณาจักรฆ็อสซานิดมีความสำคัญที่สุด กษัตริย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในระยะนี้คือกษัตริย์อัลฮาริษที่ 2 (Al Harith II – ค.ศ.529-569)

พระองค์ได้ชัยชนะต่อคู่แข่งขันคือกษัตริย์อัลมันษิร ที่ 3 (Al Mundhir II) ของพวกลักห์มิด หลังจากนั้นจักรพรรดิจัสติเนียน (Justinian) แห่งไบแซนไตน์ก็แต่งตั้งให้อัลฮาริษเป็นหัวหน้าเหนือเผ่าอาหรับต่างๆ ในซีเรีย

ในการต่อสู้อีกครั้งหนึ่งกษัตริย์อัลมันษิรที่ 3 ได้จับเอาโอรสของอัลฮาริษไปฆ่าบวงสรวงเจ้าแม่อัล-อุซซา

ใน ค.ศ.544 กษัตริย์อัลฮาริษ จึงแก้แค้นโดยฆ่าอัลมันษิรเสียในการต่อสู้ที่กินิสริน (Qinissrin)

พวกฆ็อสซานิดนั้นถือศาสนาลัทธิโมโนฟีไซต์ (Monophysite) จึงเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างพวกฆ็อสซานิดกับไบแซนไตน์

กษัตริย์องค์สุดท้ายคือ ญะบาละฮ์ อัล อะห์ยัม (Jabalah al Ahyam) พระองค์รบกับพวกมุสลิมโดยเป็นฝ่ายไบแซนไตน์ที่เยอรมุก (Yurmuk) เมื่อฝ่ายมุสลิมเข้าครองซีเรีย การปกครองของพวกฆ็อสซานิดก็สิ้นสุดลง

 

ลักห์มิด (Lakhmids)

ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 3 ได้มีชนเผ่าอาหรับบางเผ่าซึ่งมีเชื้อชาติเยเมน ซึ่งเรียกตัวเองว่าทานุกห์ (Tanukh) ได้มาตั้งหลักแหล่งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำยูเฟรตีส ในตอนปลายศตวรรษที่ 3 ผู้สร้างอาณาจักรลักห์มิดคือ อัมร์ บินอะดีบินนัสร์ บินเราะบีอะฮ์ บินลัคหม์ (Amr b Adi b Nasr b Rabiah b Lakhm) ได้ตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์ที่นครอัลหิรอฮ์ (al Hirah)

ในรัชสมัยของกษัตริย์อิมรออุลก็อยส์ที่ 1 มีอำนาจขึ้น ต่อมาก็ตกเป็นบริวารของราชวงศ์ซัลซานิดและอาณาจักรลักห์มิดก็กลายเป็นประเทศกันชนระหว่างเปอร์เซียกับไบแซนไตน์ไป

กษัตริย์ อัล นุอ์มาน (Al Numan) ได้ประหัตประหารประชาชนที่เป็นคริสเตียน กษัตริย์มันษิรที่ 2 โอรสของนุอ์มานเป็นกษัตริย์อยู่เป็นส่วนใหญ่ของคริสต์ศตวรรษที่ 5 คือใน ค.ศ.418-462

ใน ค.ศ.421 พระองค์ได้ต่อสู้กับพวกไบแซนไตน์ กษัตริย์มันษิรที่ 3 ก็ยกทัพไปรุกรานเขตแดนไบแซนไตน์และทำความพินาศให้แก่ดินแดนนั้นจนถึงนครอันติออซ (Antioch)

กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์นี้คืออัลนุอ์มานที่ 3 ซึ่งเปลี่ยนไปรับคริสต์ศาสนา ในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7 อัลหิรอฮ์กลายเป็นนครในจักรวรรดิเปอร์เซียและการปกครองของราชวงศ์ลักห์มิดก็ยุติลง

 

กินดะฮ์ (Kindah)

รัฐกินดะฮ์ถูกสถาปนาขึ้นในอาระเบียได้ ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 5

ผู้สร้างคืออะกิลอัลมูรอาร์ โดยมีนครหลวงอยู่ที่ฮุจญร์ (Huji)

กษัตริย์ที่สำคัญที่สุดของอาณาจักรนี้คือฮาริษพระองค์ได้ไปโจมตีอัลหิรอฮ์ใน ค.ศ.529 แต่ถูกปลงพระชนม์

หลังจากนั้นราชวงศ์และประเทศก็แตกสลายไปในปลายศตวรรษที่ 6