จับตา กกต. อาการน่าเป็นห่วง เสียงเตือนกระหึ่ม แบ่งเขตเลือกตั้งส่อโมฆะ เดินหน้าสู่ความเสี่ยง ล้มละลาย?

ยิ่งใกล้เลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยิ่งถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด

คำถามจากปีกพรรคการเมือง และนักวิชาการ คือ กกต.จะรักษาความเป็นกลางได้หรือไม่?

พรรคการเมืองจับตาดูว่า กกต.จะแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 เขต เอื้อประโยชน์พรรครัฐบาลที่คุมอำนาจรัฐ หรือไม่อย่างไร?

นักวิชาการ และสื่อมวลชนเรียกร้องการรายผลการเลือกตั้งของ กกต.แบบเรียลไทม์ อย่างรวดเร็วหลังการปิดหีบเลือกตั้ง เพื่อรายงานผลการเลือกตั้งในทันทีแบบนาทีต่อนาที อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ใช่ลับๆ ล่อๆ เปิดผลคะแนนแพ้ชนะตอนดึกๆ หลัง 22.00 น. แบบช็อกคนทั้งประเทศ

ขณะที่ภาคประชาชนตามตรวจสอบว่า กกต.จะใช้งบประมาณ หรือภาษีประชาชน เกือบ 6,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการควบคุมและการจัดการเลือกตั้ง อย่างคุ้มค่า สมราคา หรือไม่?

เพราะบทเรียนจากการเลือกตั้ง ปี 2562 ทำให้เกิดภาพหลอน วิตกไปล่วงหน้าว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยการจัดการเลือกตั้งที่ล้มเหลว

โทนี่ วู้ดซัม หรือนายทักษิณ ชินวัตร พูดผ่านเฟซบุ๊ก CARE • แคร์ คิด เคลื่อน ไทย (7 กุมภาพันธ์ 2566) ย้อนอดีต กกต.ในการเลือกตั้งครั้งก่อน (ปี 2562) ด้วยคำพูดสั้นๆ ว่า ล้มละลาย โดยวิจารณ์ว่า เลือกตั้งปี 2562 มีภาพการนำบัตรเลือกตั้งมานับคะแนนนอกคูหา และใส่กลับไปในหีบเลือกตั้งอีกครั้ง ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น และมีกรณีเครื่องคิดเลขไฟดับ ไม่สามารถคำนวณได้ จึงเรียกได้ว่าล้มละลายอย่างสิ้นเชิง

“วันนี้แทนที่จะปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น แต่กลับไม่มีการเตรียมการอะไรเลย นั่งเตรียมรอเอาความได้เปรียบเสียเปรียบให้กับพรรครัฐบาล ฝ่ายค้านถูกเอาเปรียบตลอดเวลา เอาเปรียบเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่า แต่อย่าโกงก็แล้วกัน แต่ถ้าตั้งหน้าตั้งตาโกงคงยุ่ง ทุกวันนี้ที่ กกต.ไม่พร้อม เพราะต้องการประวิงเวลาให้รัฐบาล ที่ตอนนี้ยังไม่พร้อม” โทนี่ วู้ดซัม กล่าว

 

เอาเข้าจริง บทเรียนและปัญหาการเลือกตั้งปี 2562 กลายเป็นภาพจำของผู้คนในสังคมถึงความไม่ไว้วางใจ ในการทำหน้าที่ของ กกต.ในหลายกรณีและหลายคดี

หนึ่งในนั้นคือ คดีแจกใบส้ม ที่กลายเป็นประเด็นที่ กกต.ถูกโจมตีจนถึงวันนี้

ครั้งนั้น กกต.ได้แจก ‘ใบส้ม’ ให้นายสุรพล เกียรติไชยากร ผู้สมัคร ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคเพื่อไทย ส่งผลให้ระงับสิทธิเลือกตั้ง 1 ปี และให้จัดการเลือกตั้งใหม่ (เลือกตั้งซ่อม) จากเรื่องร้องเรียนใส่ซองทำบุญพระสงฆ์ 2,000 บาท เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 73 (2) ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้เงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิวัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด

ต่อมา ปี 2563 ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำพิพากษา ได้ยกคำร้องกรณีที่ กกต.ให้ใบส้มหรือเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของนายสุรพลไว้เป็นการชั่วคราว 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2562 ซึ่งนายสุรพลได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก กกต. พร้อมให้คืนสิทธิ ส.ส.จากผู้ชนะเลือกตั้งซ่อม คือนางศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ เขต 8 พรรคภูมิใจไทย ที่ขณะนั้นลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคอนาคตใหม่

ปลายปีที่แล้ว ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ กกต.ชดใช้ค่าเสียหาย โดยลดค่าเสียหายจาก 70 ล้านบาท เหลือ 56.7 ล้านบาท รวมดอกเบี้ย เป็นเงินประมาณ 62 ล้านบาท ให้แก่นายสุรพล

คดีนี้รอเพียงคำตัดสินจากศาลฎีกาเท่านั้น ถ้า กกต.แพ้คดี จะไล่เบี้ยเอาเงิน 62 ล้านคืนจากใคร? หรือจะต้องฟ้องล้มละลาย?

 

จากการเลือกตั้ง ปี 2562 ที่โทนี่ วู้ดซัม กล่าวหาว่าล้มละลายในความเชื่อถือ จนถึงการเลือกตั้งปี 2566 ทำให้ทุกสายตาจับจ้องการทำหน้าที่ของ กกต. ตั้งแต่ยังไม่ทันยุบสภา โดยเฉพาะการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ส่อจะเป็นปัญหาใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งนี้

ประเด็นสำคัญที่ถูกตั้งคำถามอย่างหนักคือ การที่ กกต.ประกาศยืนยันและเดินหน้าต่อ ในเรื่องการนำราษฎรที่ไม่ได้สัญชาติไทยมาคำนวณจำนวน ส.ส.ของแต่ละจังหวัด

ประเด็นนี้ ทั้งนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ต่างแสดงความเป็นห่วง พร้อมเสนอทางออกให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก่อนจะกลายเป็นระเบิดเวลาในอนาคต

แม้เสียงเตือนจะดังก้อง นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาแถลงยืนยันและเดินหน้าต่อ โดยไม่เห็นความจำเป็นต้องยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยบอกว่า “กกต.เห็นว่าสิ่งที่พิจารณาเป็นไปตามข้อกฎหมายแล้ว” (8 กุมภาพันธ์ 2566)

อดีต กกต. อย่างนายสมชัย เชื่อว่า การที่ กกต.ยืนกรานกระต่ายขาเดียว ไม่ยอมทบทวน เพราะหากยอมรับว่าผิด หมายถึงยอมรับในความบกพร่องไม่รอบคอบในการทำงาน และนำไปสู่การรื้อผลการคำนวณจำนวน ส.ส.ของแต่ละจังหวัดใหม่ทั้งประเทศ และส่งผลต่อไปยังการแบ่งเขตในแต่ละจังหวัด ที่ต้องทำใหม่อีกหลายจังหวัด

นายสมชัยชี้ประเด็นว่า การเดินหน้าไปก่อนของ กกต.เพื่อให้งานบรรลุ แต่ไปเสี่ยงกันภายหลังอีกที เพราะหากภายหลังมีประชาชนใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า การคำนวณแบบที่ กกต.ตัดสินใจเอาคนไม่มีสัญชาติไทยมารวม เป็นการตีความกฎหมายเพื่อลิดรอนสิทธิในการได้จำนวนผู้แทนที่เหมาะสมของจังหวัดเขา และศาลมาชี้ภายหลังเลือกตั้งว่า กกต.ทำไม่ถูก

งานเข้านี้จะไม่ใช่แค่งานช้าง แต่เป็นระดับงานไดโนเสาร์เลยทีเดียว

 

เช่นเดียวกับ ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ชี้ประเด็นว่า ความไม่ชัดเจนของการแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้ อาจเป็นเงื่อนไขในการนำไปสู่การเลือกตั้งโมฆะ แบบที่เคยเกิดเมื่อปี 2549 ที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างเหตุผลเรื่องการจัดคูหาเลือกตั้ง ในการล้มผลการเลือกตั้ง เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ

“ถ้า กกต.ฝืนทำแล้วทำให้มีคนยื่นร้องว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ คนที่ต้องรับผิดชอบแต่ผู้เดียวคือ กกต. ไม่ใช่ไปล้มผลการเลือกตั้งเพราะไม่ใช่ความผิดของประชาชน และคนที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง” ชัยธวัชกล่าว

คำถามคือ อะไรทำให้ กกต.เดินหน้าสู่ความเสี่ยง ถ้ามองแบบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทักษิณ ชินวัตร เขาเชื่อว่า “องค์กรอิสระบ้านเรามันไม่อิสระ เหมือนที่เขาตั้งกันในทุกประเทศ ที่เขาก็หวังให้เป็นองค์กรอิสระมีความเป็นอิสระในตัวเอง ในการวางกฎกติกา บังคับใช้กติกา แต่ของเรานั้นมีนักล็อบบี้ นักจัดการให้เอาคนนั้นไปอยู่ตรงนี้ คนนี้ไปอยู่ตรงนู้น เพื่อประโยชน์ของกลุ่มของพวก ด้วยสังคมไทยเป็นสังคมที่ถึงกันหมด จึงทำให้การรักษากติกาแย่มากๆ”

แต่ถ้ามองแบบนักบริหาร อดีต กกต.ท่านหนึ่งชี้ว่า กกต.ชุดนี้คุณสมบัติมหาเทพ ทำให้ได้คนตำแหน่งสูงในระบบราชการ แต่พวกเขาไม่รู้เรื่องเลือกตั้งอย่างแท้จริง กรณีปัญหาเรื่องคนต่างด้าว เป็นเรื่อง กกต. 7 คนไม่เฉลียว สำนักงานฯ เสนออะไรมาก็เอาตามนั้น จนอาจกลายเป็นปัญหาในอนาคต

 

เมื่อย้อนมาดูสเปกของ กกต.ชุดปัจจุบัน จากการตรวจสอบพบว่า 7 กกต.ชุดปัจจุบัน ประกอบด้วย นายอิทธิพล บุญประคอง ประธาน กกต. อดีตเป็นเอกอัครราชทูต, นายปกรณ์ มหรรณพ อดีตผู้พิพากษา, ศ. สันทัด ศิริอนันตไพบูลย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย, นายฉัตรชัย จันทร์พรายศรี อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯ นายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฎ อดีตที่ปรึกษาประธานศาลรัฐธรรมนูญ (นายนุรักษ์ มาประณีต) ขณะที่นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด เพิ่งพ้นตำแหน่งเพราะอายุครบ 70 ปี อยู่ระหว่างการสรรหา กกต.คนที่ 7

หากเปรียบเทียบ กกต.ชุดปัจจุบันกับ กกต.ในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น สดศรี สัตยธรรม, ยุวรัตน์ กมลเวชช, ประพันธ์ นัยโกวิท, โคทม อารียา, สมชัย จึงประเสริฐ, สมชัย ศรีสุทธิยากร, ศุภชัย สมเจริญ ซึ่งคนส่วนใหญ่จะมีภาพจำของอดีต กกต.ได้ชัดเจน มากกว่า กกต.ชุดปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่แทบไม่รู้จักแม้แต่ชื่อ

นับเป็นโชคดีของ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา อดีตเลขาธิการ กกต. ที่ชิงยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งต่อประธาน กกต. เพื่อไปดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ว่างอยู่ เพื่อไปทำหน้าที่เลือกนายกฯ อย่างสบายๆ กลายเป็นหน้าที่ของนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ที่ต้องรับศึกหนักในการเลือกตั้งอย่างปฏิเสธไม่ได้

จากนี้ไป ทัวร์จะลง กกต.อย่างหนักและต่อเนื่อง เพราะเดิมพันการเลือกตั้งปี 2566 สูงยิ่ง