Virtual Bank ใครได้ประโยชน์กันแน่?

เมื่อกล่าวถึงใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย และไม่ใช่บริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศใบล่าสุด คงต้องนั่งนึกอยู่นานว่าธนาคารใดเป็นผู้โชคดีได้รับใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารเป็นธนาคารสุดท้าย

เท่าที่ผู้เขียนจำความได้ตั้งแต่สมัยป๋าเปรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปัจจุบัน ไม่มีการออกใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เลย

จนเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าประเทศไทยจะไม่มีการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติม

คงมีแต่การจัดตั้งธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย เพื่อยกระดับบริษัทเงินทุนและบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ที่ดำเนินกิจการอยู่เท่านั้น ซึ่งหากธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยมีความพร้อมก็สามารถเลื่อนสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์ได้

ไม่คิดไม่ฝันว่าวันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของธนาคารแห่งประเทศไทยจะเปิดคัดเลือกผู้รับใบอนุญาตธนาคารในรูปแบบ Virtual Bank หรือธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา จำนวน 3 ใบ หลักจากที่เว้นวรรคมาร่วม 40 ปี

ยิ่งมาเปิดตัวในช่วงท้ายของรัฐบาล ยิ่งอดคิดไม่ได้ว่ามีอะไรในกอไผ่หรือไม่

 

ธนาคารพาณิชย์พิเศษกว่าสถาบันการเงินอื่นอย่างไร

กลไกของธนาคารพาณิชย์ในระบบเศรษฐกิจ ธนาคารทำหน้าที่เปลี่ยนเงินฝากจากผู้ฝากเงินเป็นสินเชื่อให้แก่ธุรกิจ โดยสร้างกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ ด้วยเหตุนี้ธนาคารพาณิชย์จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพราะทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ออมเงินภาคครัวเรือนสู่บริษัทในภาคธุรกิจ

ธนาคารพาณิชย์เป็นสถาบันการเงินเพียงรูปแบบเดียวที่สามารถรับฝากเงินจากประชาชนโดยตรงได้ จึงเป็นสถาบันการเงินที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำที่สุด คือมีเพียงดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งมีอัตราที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ

แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อธนาคารพาณิชย์รับฝากเงินจากประชาชนโดยตรง ย่อมข้องเกี่ยวกับประชาชนเป็นจำนวนมาก หากขาดการกำกับดูแลที่ดีและเข้มงวดอาจสร้างวิกฤตเศรษฐกิจเป็นวงกว้างได้เช่นกัน

ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงวางมาตรการในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์เข้มงวดที่สุดมากกว่าสถาบันการเงินอื่นๆ

 

ในอดีตมีบทเรียนทางเศรษฐกิจหลายๆ ครั้งที่วิกฤตเศรษฐกิจเกิดจากธนาคารพาณิชย์เสียเอง

เช่น ธนาคาร ก. แทนที่จะนำเงินฝากปล่อยกู้ในรูปแบบสินเชื่อ กลับหวังรวยทางลัดนำเงินฝากไปเก็งกำไรใบยาสูบในตลาดสินค้าล่วงหน้า

หรือธนาคาร น. แทนที่จะปล่อยกู้สินเชื่อจากเงินฝากของธนาคารกลับกู้ยืมเงินตราต่างประเทศมาปล่อยสินเชื่อแทน

แน่นอนว่าทั้งสองธนาคารที่กล่าวมาข้างต้นล้มไปเรียบร้อยแล้ว

ถ้าเหตุการณ์จบลงเพียงผู้ถือหุ้นของธนาคารเจ๊ง คงไม่มีใครเดือดร้อน

แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ประชาชนที่ฝากเงินกับธนาคารไม่สามารถถอนเงินฝากของตนเองได้

ก่อให้เกิดปัญหาคนแห่ถอนเงิน (Bank run) แก่ธนาคารอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ลุกลามเหมือนไฟลามทุ่งแผ่กระจายเป็นวงกว้าง ลามไปธนาคารพาณิชย์อื่นๆ จนรัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาช่วยด้วยการรับประกันเงินฝากทุกบาททุกสตางค์ที่ประชาชนฝากไว้กับธนาคาร วิกฤตจึงบรรเทาลง

และเมื่อธนาคารที่ล้มลง รัฐบาลก็ต้องใช้ภาษีอากรในการคืนเงินฝากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

บทเรียนต่อมา คือสถาบันการเงินอื่นๆ ที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ จึงไม่สามารถรับฝากเงินจากประชาชนโดยตรงได้ แต่อาศัยเครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่า ตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory note) แทนการรับฝากเงินจากประชาชน ซึ่งเป็นการเลี่ยงบาลีเพราะเมื่อวิเคราะห์ถึงรูปแบบก็เป็นการรับฝากเงินรูปแบบหนึ่งนั่นเอง

และเมื่อสถาบันการเงินเหล่านี้ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ จึงอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ในการกำกับที่เข้มงวดน้อยกว่าธนาคารพาณิชย์ แต่ดำเนินกิจกรรมเหมือนธนาคารพาณิชย์ แถมให้ดอกเบี้ยฝั่งผู้ฝากสูงกว่าธนาคารพาณิชย์เพื่อดึงดูดให้ฝากเงิน

ในยามเศรษฐกิจดีทุกฝ่ายแฮปปี้ กิจการรุ่งเรือง แต่เมื่อเศรษฐกิจแย่ ปัญหาก็แสดงอาการออกมาให้เห็น ผลสุดท้ายอย่างที่หลายๆ ท่านคงจำกันได้ คือ ทรัสต์ 56 แห่ง ปิดตัวลงไล่เลี่ยกันในปี 2540 จากวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ลุกลามไปถึงธนาคารพาณิชย์หลายธนาคารปิดตัวลง ซึ่งผลกระทบจากเหตุการณ์วันนั้นยังมีผลกระทบถึงประชาชนทุกคนในวันนี้ หนี้สินของกองทุนฟื้นฟูยังคงอยู่ในหนี้สาธารณะของประเทศ

ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยมีการกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้น และมีนโยบายส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ขาดเล็กควบรวมกิจการเข้าด้วยกันเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง ดั่งที่เห็นได้จากธนาคารทหารไทย และธนาคารธนชาต ควบรวมกันเป็นธนาคารทหารไทยธนชาต

จากตรงนี้จะเห็นได้ว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันกันสูงและต้องอาศัยเงินทุนเพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา ซึ่งแนวโน้มในอนาคตจะมีธนาคารพาณิชย์อยู่รอดน้อยลงเรื่อยๆ

 

แต่วันนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับส่งสัญญาณแปลกประหลาด อยากแจกใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติม ในรูปแบบ Virtual bank หรือธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ทั้งๆ ที่อายุรัฐบาลเหลือเพียงประมาณ 3 เดือน ก่อนเทศกาลเลือกตั้งจะมาถึง

แถมให้เหตุผลกับประชาชนว่า เพื่อเพิ่มการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะได้ลดลง ประชาชนจะได้รับประโยชน์

ฟังดูดีจัง จนต้องหยิกแก้มตนเองให้ตื่น

ลำพังธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ 13 แห่ง บวกธนาคารเพื่อรายย่อย 1 แห่ง รวมเป็น 14 แห่ง และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐอีก 7 สถาบัน รวมเป็น 21 แห่ง ก็ทำท่าจะลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ

หากมีธนาคารพาณิชย์ใหม่เพิ่มขึ้นอีก 3 แห่ง แล้วธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่เดิมล้มลง ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

สุดท้ายคงหนีไม่พ้นภาษีอากรของประชาชนอีกตามเคย ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยคงไม่รับผิดชอบเหมือนตอนสมัยต้มยำกุ้ง ปี 2540 ที่โยนภาระให้รัฐบาลและประชาชน

แล้วใครบ้างที่จะได้ประโยชน์จากกว่าออกใบอนุญาต Virtual bank ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่ประชาชนอย่างที่เขาอ้าง เพราะปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ก็ปรับเข้าสู่ยุคดิจิตอลเต็มตัวแล้ว

คงมีเพียง 3 กลุ่มที่ได้ประโยชน์ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 กลุ่มบริษัทบริหารสินทรัพย์และสถานบันการเงินที่มีการปล่อยสินเชื่ออยู่แล้ว ซึ่งกลุ่มนี้ใช้การระดมทุนผ่านตราสารหนี้ เช่น ออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุน แล้วนำเงินเหล่านั้นมาปล่อยสินเชื่อในรูปแบบบัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อที่มีทะเบียนรถยนต์เป็นหลักประกัน ตลอดจนการซื้อหนี้จากธนาคารพาณิชย์เพื่อบริหารสินทรัพย์ต่อจากธนาคาร กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อรายย่อยเหมือนธนาคาร แต่ไม่สามารถรับฝากเงินจากประประชาชนได้โดยตรง ทำได้เพียงออกหุ้นกู้ซึ่งมีต้นทุนทางการเงินสูงการการรับฝากเงินจากประชาชน

กลุ่มที่ 2 กลุ่มบริษัทโทรคมนาคมและบริษัทด้านเทคโนโลยี กลุ่มนี้มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งเนื่องจากมีความคุ้นชินด้านเทคโนโลยีมากกว่าธุรกิจอื่นๆ สามารถปรับใช้เทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีข้อมูลผู้ใช้งานอยู่ในมือ สร้างความได้เปรียบในการสร้างฐานลูกค้าใหม่

กลุ่มที่ 3 กลุ่มบริษัทที่มีเครือข่ายลูกค้าจำนวนมาก เช่น กลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ข้อได้เปรียบของกลุ่มนี้คือ มีเครือข่ายลูกค้าที่เหนียวแน่น เข้าถึงประชาชนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว การต่อยอดธุรกิจด้วยธุรกิจธนาคารยิ่งเพิ่มความแข็งแกร่งของเครือข่ายลูกค้าของธุรกิจที่มีอยู่ให้แข็งแกร่งเพิ่มขึ้น ครอบคลุมทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวัน กินรวบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำหยดสุดท้าย

ทั้ง 3 กลุ่ม ถ้าเอ่ยชื่อคงร้องอ๋ออย่างแน่นอน

เมื่อร้องอ๋อแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่ทั้ง 3 กลุ่มจะเลือกรับฝากเงินจากประชาชนเพื่อปล่อยกู้รายย่อยในอัตราดอกเบี้ยสูง มากกว่ารับฝากเงินเพื่อปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจตามกลไกของธนาคารพาณิชย์ที่ควรจะเป็น

ซึ่งการปล่อยสินเชื่อรายย่อยในอัตราสูงเป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่าเป็นประโยชน์

คำสอนของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ลอยเข้ามาในหัวผมเลย ท่านเปรียบเทียบ กระทรวงการคลังเปรียบเสมือนสามี ธนาคารแห่งประเทศไทยเปรียบเสมือนภรรยา ส่วนธนาคารพาณิชย์เปรียบเสมือนลูกๆ

ไม่รู้ว่าฟีโรโมนแรงขนาดไหน ถึงได้ดลใจให้สามี-ภรรยาวัยทองคู่นี้อยากตั้งครรภ์ลูกเพิ่มอีกครั้ง