อุษาวิถี (12) อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

อุษาวิถี (12)

อุษาวิถีจากกระแสอินเดีย (ต่อ)

 

ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นและครอบคลุมทั่วอินเดียในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการเข้ามาของมีอำนาจเหนืออินเดียของนักล่าอาณานิคมอังกฤษในเวลาต่อมา

อาจกล่าวได้ว่า การเข้ามาของชนมุสลิมตลอดห้วงที่กล่าวมานี้ ได้นำการเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมอินเดียครั้งใหญ่ เพราะเป็นการเข้ามาของการใช้กำลังบีบบังคับให้มีการเปลี่ยนแปลงในการนับถือศาสนา หรือลัทธิความเชื่อรวมอยู่ด้วย

ก่อนหน้าการรุกรานดังกล่าว สังคมอินเดียโดยเฉพาะทางตอนเหนือนั้น ศาสนาอิสลามมีพื้นที่ของตนอยู่ก่อนแล้ว แต่ก็เป็นการดำรงอยู่อย่างสงบร่วมกับศาสนาอื่นๆ และไม่ได้ก้าวขึ้นมาเป็นกระแสหลักดังเช่นพราหมณ์กับพุทธเท่านั้น

แต่ครั้นเมื่อเข้ามาในลักษณะที่ใช้กำลัง ผลสะเทือนที่เกิดขึ้นจึงกลายเป็นว่า หลักความเสมอภาคและภราดรภาพของศาสนาอิสลาม ได้ทำลายระบบวรรณะลงจนแทบหมดความหมาย

ผู้ที่รับเอาผลพวงของหลักการดังกล่าวมากที่สุดก็คือ ผู้มีวรรณะต่ำ เพราะหลักการที่ว่านี้สามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อยก็ในแง่อาชีพ ที่ถ้าหากเป็นระบบวรรณะในศาสนาพราหมณ์แล้ว ชนวรรณะต่ำจะไม่มีสิทธิ์ทำอาชีพบางอาชีพ

แต่เมื่อหันมานับถือศาสนาอิสลามแล้ว การกีดกันอาชีพโดยระบบวรรณะจึงมิอาจทำได้อีกต่อไป อีกทั้งการเปลี่ยนศาสนานี้ชนวรรณะต่ำไม่ได้กระทำในเชิงปัจเจก หากเปลี่ยนมานับถือกันเป็นหมู่คณะหรือทั้งหมู่บ้าน

กระนั้นก็ตาม กล่าวสำหรับชนที่อยู่ในวรรณะสูงแล้ว ก็มีส่วนหนึ่งที่หันมานับถือศาสนาอิสลามด้วยเช่นกัน แต่เป็นไปคนละเหตุผลกับชนวรรณะต่ำ นั่นคือ หันมานับถือด้วยเหตุผลทางลาภยศสรรเสริญทางเศรษฐกิจและการเมือง มากกว่าที่จะนับถือด้วยความศรัทธาอย่างแท้จริง

ภายใต้การเปลี่ยนแปลงจากที่กล่าวมานี้ สิ่งที่ยังคงสถานะของตนเอาไว้ไม่เปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนแปลงน้อยมากก็คือ ศาสนาพราหมณ์ ที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ยังทรงอิทธิพลสูงสุดอยู่ในสังคมของชาวอินเดียเอง

 

ในทางตรงกันข้าม การเข้ามาของชนมุสลิมตลอดห้วงเวลาที่กล่าวมานี้ สถานะของศาสนาพุทธกลับแทบไม่หลงเหลือที่ยืนเป็นของตนเองดังเช่นก่อนหน้านี้

ความเสื่อมถอยก่อนหน้าการเข้ามาของชนมุสลิมนับเป็นสาเหตุที่สำคัญยิ่ง เพราะเวลานั้นศาสนาพุทธตกต่ำจนไม่หลงเหลือศรัทธาอยู่ในหมู่พุทธศาสนิกชนอีกต่อไป

ส่วนชนในศาสนาอื่นที่ให้ความเคารพต่อศาสนาพุทธ หรืออย่างน้อยก็ไม่มีปฏิกิริยาต่อต้าน ก็เปลี่ยนมาเป็นรังเกียจเดียดฉันท์ศาสนานี้อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ดังนั้น ครั้นเมื่อมุสลิมกรีธาทัพเข้ามากวาดล้างทำลายศาสนาพุทธ การทำลายนี้ก็ไม่ต่างกับการชำระล้างสิ่งสกปรกเสื่อมถอยของสังคมให้สะอาดหมดจด ในขณะที่ศาสนาพราหมณ์กลับไม่ได้ผลรุนแรงแต่ประการใด

ด้วยเหตุนี้ การล่มสลายของศาสนาพุทธในอินเดียจึงมิอยู่ในความทรงจำของชาวอินเดียมากนัก มีการตั้งข้อสังเกตที่คมคายเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “…พระพุทธศาสนาได้สูญไปอย่างที่ไม่มีผู้ใดหลั่งน้ำตา ไม่มีผู้ใดสรรเสริญ และไม่มีผู้ใดร้องเพลงสดุดีให้เลย…”

ปรากฏการณ์ที่ตกแก่ศาสนาพุทธเช่นนี้ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนไม่มากก็น้อยว่า ปฏิกิริยาที่มีต่อศาสนาพุทธเช่นนั้นของสังคมอินเดีย ได้สะท้อนถึงความเสื่อมที่ศาสนานี้ได้กระทำต่อตนเองว่ามีความหนักหน่วงรุนแรงเพียงใด

 

การปกครองอินเดียโดยชนมุสลิมจากที่กล่าวมาได้ดำเนินมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็ค่อยๆ ประสบกับความเสื่อมถอยลงมาเรื่อยๆ

ชนชาวตะวันตกที่เคยเข้ามายังอินเดียอย่างสงบโดยผ่านการค้าขายก็ดี หรืออย่างผู้รุกรานในบางสมัยก็ดี (แต่ไม่เคยมีอำนาจเหนืออินเดียอย่างเด็ดขาด ดังกรณีพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช) นั้น ก็เริ่มใช้ความอ่อนแออันเนื่องมาจากความแตกแยกเข้าแทรกแซงอินเดียอย่างช้าๆ

การท้าทายทางการทหารเริ่มปรากฏขึ้นอย่างจริงจังจนนำไปสู่สงครามในปี พ.ศ.2308 (ค.ศ.1765) ผลก็คือ กองทัพของจักรพรรดิที่มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเดลฮีเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ

แต่กระนั้น สงครามก็ยังหาได้สิ้นสุดลงไม่

อังกฤษยังต้องทำสงครามกับรัฐบางรัฐที่ยังมีอำนาจทางการทหารอยู่ต่อไป จนถึง พ.ศ.2361 (ค.ศ.1818) สงครามครั้งสุดท้ายระหว่างอังกฤษกับรัฐมาราฐาที่ดำเนินมาเป็นระยะๆ เมื่อก่อนหน้านี้ก็สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของอังกฤษในที่สุด

และนับแต่นั้นมา อินเดียก็ค่อยๆ ถูกอังกฤษกลืนกินไปทีละคำผ่านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการค้า พร้อมกันนั้นอังกฤษก็เริ่มนำระบบการเมืองของตนมาใช้ในอินเดีย จนทำให้อินเดียก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ภายใต้รัฐอาณานิคมของอังกฤษ

และเช่นเดียวกับรัฐอาณานิคมอื่นๆ ที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับต่างชาติผู้ยึดครอง อินเดียก็ได้ผลิตนักชาตินิยมรุ่นแล้วรุ่นเล่าเข้าต่อสู้กับอังกฤษเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราช

จนในปี พ.ศ.2490 (ค.ศ.1947) ภายใต้การนำของมหาตมะคานธี เอกราชก็กลับคืนสู่อินเดียอีกครั้งหนึ่ง หลังจากอยู่ใต้เงานักล่าอาณานิคมอังกฤษมากว่าหนึ่งร้อยปี

 

แต่เอกราชที่ได้กลับคืนมาในครั้งนี้ กลับทำให้อินเดียเปลี่ยนโฉมไปจากอดีต เพราะด้วยอิทธิพลของชนมุสลิมที่ปกครองอินเดียมาช้านาน จนฝังรากวัฒนธรรมอิสลามเข้าไปในบริเวณตอนเหนือนั้น ได้ทำให้อินเดียในปีที่ได้รับเอกราชต้องถูกแบ่งแยกออกไป

นั่นคือ การเกิดประเทศใหม่ขึ้นมาอีกสองประเทศ หนึ่งคือ ปากีสถาน อีกหนึ่งคือ บังกลาเทศ ภาพเมื่อครั้งอดีตจึงถูกเปลี่ยนโฉมมาเป็นอินเดียในทุกวันนี้

อินเดียวิถีจากที่อธิบายผ่านช่วงก่อนพุทธกาล ระหว่างพุทธกาล และหลังพุทธกาลมานี้มีสิ่งที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งคือ กระบวนการเรียนรู้ของสังคมอินเดียเอง

กระบวนการนี้ถูกกระทำผ่านพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ที่สลับกันไปมาระหว่างเอกภาพภายใต้มหาอาณาจักรกับรัฐอิสระใหญ่น้อย พัฒนาการนี้ได้ปรากฏชุดความคิดที่เกิดจากการมุ่งแสวงหา “สัจธรรม” เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาสังคมในแต่ละยุคแต่ละสมัย โดยรวมแล้วยังคงกล่าวได้ว่า ชุดความคิดศาสนาพราหมณ์จัดได้ว่ามีอิทธิพลอยู่ในกระแสหลักของสังคมอินเดียมาโดยตลอด

ชุดความคิดอื่น เช่น พุทธ ชินหรือเชน และอิสลาม ฯลฯ เป็นกระแสที่เบียดแทรกขึ้นมาในแต่ละช่วง บางช่วงบางสมัย ชุดความคิดเหล่านี้ก็ก้าวขึ้นมาในฐานะกระแสหลักก็มี