2023 : ไทยจะเป็นกระต่ายตื่นตูม หรือกระต่ายหมายจันทร์? | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

2023 : ไทยจะเป็นกระต่ายตื่นตูม

หรือกระต่ายหมายจันทร์?

 

สัปดาห์ก่อน ผมเขียนถึงการวิเคราะห์สิ่งที่เรียกว่า “Quiet Diplomacy” หรือที่ผมเรียกว่า “การทูตแบบเงียบงัน” ที่กระทรวงการต่างประเทศไทยเราอ้างว่านำมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายของไทย

จริงๆ แล้วแนวทางเช่นนี้ได้ผลจริงจังแค่ไหน

ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ บอกว่าถ้าจะได้ประโยชน์ การทูตแบบนี้ต้องมีผลที่จับต้องได้ด้วย

บนเวทีหัวข้อ “อวสานโลกาภิวัตน์” ของ The Standard Economic Forum 2022 เมื่อเร็วๆ นี้ ท่านเสริมว่า “นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้การทูตแบบ Quiet Diplomacy ควบคู่ไปกับการทูตแบบ Megaphone ได้”

ประเด็นด้านมนุษยธรรมเป็นหนึ่งในประเด็นที่เราสามารถใช้การทูตแบบ Megaphone (โทรโข่ง) ได้

อาทิ เมียนมาใช้เครื่องบินเจ็ตยิงถล่มชนกลุ่มน้อย ประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จุดนี้ประเทศไทยสามารถทำการทูตแบบ Megaphone ได้

“เรายกมือเลยว่า เราจะเป็นผู้นำด้านมนุษยธรรม เราจะจับมือกับอาเซียน เราจะจับมือกับกาชาดสากล เราจะจับมือกับชาติตะวันตก เพื่อส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้แก่ทุกกลุ่มในเมียนมา ไม่ใช่เฉพาะแค่รัฐบาล ตรงนี้ต้องไม่ Quiet แต่ต้องทำอย่างเสียงดัง ถ้าเป็นเช่นนั้น ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับนับถือมากยิ่งขึ้น”

ที่บนเวทีพูดถึง “การทูตแบบเงียบงัน” นั้นเพราะการเสวนาไปแตะเรื่องการลงมติของไทยในสหประชาชาติว่าด้วยสงครามยูเครน-รัสเซีย เปรียบเทียบกับท่าทีของไทยในเรื่องเมียนมา

ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นหลังฤดูหนาวผ่านพ้นไป

“วันนี้สงครามเข้าสู่เดือนที่ 9 เข้าสู่สงครามฤดูหนาว แปลว่าหลังจากนี้อากาศจะทำให้ปฏิบัติการทางทหารของทั้งสองฝ่ายช้าลง โอกาสที่ด้านหนึ่งยูเครนเคยเคลื่อนกำลังรบเร็วจะมีเงื่อนไขทางอากาศมาบีบ จะทำให้รู้เลยว่าเส้นทางทหารเหลือมากน้อยแค่ไหน พอเข้าเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน สภาพดินจะกลายเป็นดินโคลน พอกลางเดือนพฤศจิกายนเข้าสู่เดือนธันวาคม หิมะจะมา แปลว่านับจากนี้สงครามอาจจะเบาลงนิดหน่อย แต่หลังจากต้นปีหน้า เมื่อสงครามก้าวเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ จะไม่ต่างจากสงครามในช่วงแรกๆ

“ฟันธงได้เลยว่าหลังฤดูหนาว ปีหน้าสงครามจะหนักขึ้น วันนี้รัสเซียเองก็เริ่มเตรียมพร้อมสำหรับการรบในปีหน้า การถอยกำลังไปอีกฝั่งหนึ่ง ในวันนี้น่าสนใจว่านั่นอาจจะเป็นการถอยในเชิงยุทธศาสตร์ เนื่องจากอาวุธยุทโธปกรณ์ของยูเครนที่ได้รับจากบรรดาชาติตะวันตกมีระยะยิงที่ดูเหมือนจะไกลกว่า หนทางเดียวคือถอยไปอีกฝั่งของแม่น้ำดนีเปอร์ เพียงพอที่จะใช้เป็นระยะกันได้บ้างบางส่วน”

ดร.สุรชาติระบุว่า ปีหน้าสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นสิ่งที่น่าจับตามองมาก

“ผมคิดว่าเลขาธิการ NATO พูดตั้งแต่กลางปีปัจจุบัน (2022) ว่า สงครามจะยาวต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2023 และหนึ่งในประเด็นที่เกี่ยวพันกับความกลัวคือ เรื่องของสงครามนิวเคลียร์ จากทั้งกรณีของการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ รวมถึงในยูเครน

“แต่ผมมองว่าความกลัวในปัจจุบันจริงๆ ที่น่ากังวล คือการใช้ปืนใหญ่ยิงโจมตีโรงไฟฟ้าซาปอริซเซียแล้วจะกลายเป็นหายนะ ไม่ต่างจากเหตุระเบิดที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ซึ่งน่ากลัวมาก ลมได้พัดพากัมมันตภาพรังสีลอยไปไกลถึงสแกนดิเนเวีย”

ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งตั้งคำถามต่อไปว่า นอกจากตัวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว จะมีการใช้ในลักษณะของตัวอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีไหม

บนเวทีนั้นผมถามคุณสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ว่าอาเซียนและจีนจะเล่นบท “ผู้ไกล่เกลี่ย” สงครามยูเครนได้ไหม

คุณสีหศักดิ์คิดว่าอาเซียนอาจจะยังไม่มีศักยภาพพอ แต่ประเทศไทยต้องปรับนโยบายต่างประเทศให้สอดคล้องกับความคาดหวังของคนไทย

และจะต้องเล่นบทที่โดดเด่นในอาเซียนมากกว่านี้

ดร.อาร์มเชื่อว่าจีนอาจมีศักยภาพที่จะเล่นบทคนกลางในสงครามยูเครนได้

แต่ “จีนก็ทิ้งรัสเซียไม่ได้เช่นกัน”

ทั้งสองท่านเห็นพ้องต้องกันว่าบทบาทของไทยจะต้องมีการยกระดับด้วยการปรับยุทธศาสตร์ให้สามารถสร้างความโดดเด่นให้กับประเทศได้

คุณสีหศักดิ์บอกว่า บทบาทในด้านต่างประเทศไทยเราในช่วงหลังลดน้อยถอยลงจน “เราตกจากเรดาร์” ของเวทีสากลไป การที่เราหลุดจากจอเรดาร์ของโลกนั้นย่อมทำให้โลกสนใจเราน้อยลง

และนั่นย่อมหมายความว่าโอกาสที่เราจะได้รับการยอมรับทั้งในแง่ของการลงทุนจากต่างประเทศและการจัดอันดับสำคัญๆ ของประเทศก็จะพลอยตกต่ำลงด้วย

ผมทักคุณสีหศักดิ์ในฐานะนักการทูตที่มีประสบการณ์อย่างกว้างขวางว่า “ถ้าเครื่องบินหลุดจากจอเรดาร์ แปลว่าเครื่องบินหล่นหายไปจากท้องฟ้า และอาจจะดิ่งลงพื้นไปแล้วก็ได้…”

ท่านหัวเราะและเสริมว่าเป็นภาพที่ไม่น่าจะดีงามนักสำหรับประเทศไทย

ดร.อาร์มมองว่าประเด็นช่องแคบไต้หวันก็ยังเป็นเรื่องเปราะบางที่ไม่อาจจะทำนายได้ว่าจีนแผ่นดินใหญ่จะตัดสินใจ “รวมชาติ” ด้วยวิธีสันติหรือใช้กำลังหรือไม่อย่างไร

แต่ก็หนีไม่พ้นว่าบทบาทของจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่เพิ่งได้รับมติเอกฉันท์จากสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนตุลาคมให้อยู่ในตำแหน่งสูงสุดของประเทศต่อไปในสมัยที่ 3 อีก 5 ปีจะมีความโดดเด่นต่อไป

และการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับจีนก็จะเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้ามองต่อไปอย่างใกล้ชิดของทุกฝ่ายอย่างแน่นอน

 

จากการเสวนากว่า 100 นาทีบนเวทีวันนั้นชัดเจนว่า “โลกาภิวัตน์” อย่างที่เคยรู้จักนั้นกำลังจะสลายหายไป

บางคนอาจจะเรียกปรากฏการณ์ขณะนี้ว่าเป็น De-globalization หรือการสลายตัวของโลกาภิวัตน์

แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะเป็นการ “กลายพันธุ์” ของโลกาภิวัตน์ไปสู่รูปแบบใหม่ที่ “ซอยย่อย” ลงไปเพราะปัจจัยหลายด้านที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน

เมื่อ 5 ปีก่อน ใครจะคิดว่าจะเกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อคนทั้งโลกยาวนานถึง 3 ปี

และใครจะพยากรณ์ได้ว่ายังไม่ทันที่โควิดจะหมดไปก็เกิดสงครามยูเครน-รัสเซียมากระหน่ำซ้ำเติมเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ของโลก

จนถึงวันนี้โควิดก็ยังไม่หายไปทั้งหมด และในบางส่วนของโลก ไวรัสร้ายตัวนี้ก็ยังอาละวาดอยู่

ขณะเดียวกันสงครามยูเครนก็ลากยาวกว่าที่คิด อีกทั้งยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไรและจะจบลงอย่างไร

ขณะที่ภัยคุกคาม “เศรษฐกิจถดถอย” ก็ประดังเข้ามาซ้ำเติมสถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้เสื่อมทรุดลงไปอีก

ดังนั้น หัวข้อ “อวสานโลกาภิวัตน์?” ที่มีเครื่องหมายคำถามตามหลังนั้นอาจจะไม่ใช่เพียงแค่ตั้งเป็นประเด็นที่น่าสงสัยเท่านั้น

แต่ยังตอกย้ำว่าเมื่อโลกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่เช่นนี้ คนไทยจะเดินหน้าไปอย่างไร

เป็นเครื่องหมายคำถามที่ใหญ่มาก…ที่คนทั้งประเทศจะต้องช่วยกันแสวงหาคำตอบให้ได้ในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงในสัปดาห์หน้านี้

จะเป็นปี “กระต่ายหมายจันทร์”

หรือ “กระต่ายตื่นตูม”

แต่จะเป็น “กระต่ายที่วิ่งแพ้เต่า” ไปตลอดกาลไม่ได้เป็นอันขาด