โอกาสเป็นนายกฯ และตั้งรัฐบาลของแต่ละพรรค | มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

โอกาสเป็นนายกฯ และตั้งรัฐบาลของแต่ละพรรค (1)
ประเมินกระแสการเมืองช่วงใกล้เลือกตั้ง 2566

 

ความรับรู้ของประชาชนว่าการทำรัฐประหารได้ทำลายโอกาสการเจริญเติบโตของประเทศ บัดนี้ได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วทั้งปี 2549 และ 2557 จากนั้นก็ลากยาวมาจนถึงสถานการณ์ปัจจุบัน ชีวิตของประชาชนได้ยากลำบากมากขึ้น เป็นหนี้เป็นสินล้นพ้น

รัฐบาลนี้สร้างหนี้มากที่สุดนับตั้งแต่มีประเทศไทยมา นี่ไม่ใช่เป็นการกู้ชาติ แต่เป็นการนำเอาชาติไปกู้เงิน

ปีใหม่ 2566 นี้คนไทยแบกหนี้ของประเทศประมาณ 10 ล้านล้าน

ผู้นำที่มาจากการรัฐประหารไร้ความสามารถ แต่ก็ยังพยายามสืบทอดอำนาจผ่านระบบเลือกตั้ง ที่พวกเขาร่างรัฐธรรมนูญให้ได้เปรียบ

เมื่อประเทศชาติประสบปัญหาแบบนี้ บุคคลที่ทำให้มีปัญหาจึงกลายเป็นเป้าหมายที่จะถูกโจมตี

กลุ่มแรกคือผู้ทำรัฐประหาร

กลุ่มที่ 2 คือผู้สนับสนุนที่ร่วมมือเกาะเกี่ยวเก็บกินผลประโยชน์ ทั้งที่ได้เป็นรัฐบาลและไม่ได้เป็น แต่ได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือได้ตำแหน่งในวงราชการ

แต่คณะรัฐประหารและผู้นำที่ครองอำนาจมา 8 ปี สุดท้ายจะต้องได้เป็นแพะแน่นอน

เพราะถึงอย่างไรก็เป็นหัวหน้า เป็นผู้ใช้อำนาจมากสุดและได้ประโยชน์สูงสุด ทำให้ประเทศชาติเสียหายมากที่สุด

สถานการณ์สร้างได้ทั้งวีรบุรุษและทรราช
โอกาสของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
จะได้จำนวน ส.ส.ใกล้เคียงกัน

ประเมินว่าการเลือกตั้ง 2566 ในช่วงหาเสียง กระแสต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะถูกสร้างขึ้นมาจนกลบกระแสที่พยายามยกย่อง โดยพรรคฝ่ายค้านและพรรคอื่นที่ร่วมรัฐบาลก็ยังจะผสมโรงโจมตีไปด้วย เพราะต้องแย่งคะแนนจากฐานเสียงเดียวกัน

ผลก็คือพรรคที่ พล.อ.ประยุทธ์ไปเป็นผู้นำ จะได้ได้ ส.ส.ไม่มาก ต่อให้ได้ถึง 25 เสียงและมีสิทธิ์เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเป็นนายกฯ ความเหมาะสมก็ไม่มีแล้ว เพราะจะกลายเป็นพรรคการเมืองอันดับหลังๆ

ถ้าจะเรียงลำดับจำนวน ส.ส.ซึ่งพรรคการเมืองที่ได้มากที่สุด น่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ลำดับถัดมาน่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย จากนั้นก็น่าจะเป็นก้าวไกล หรือพลังประชารัฐ…ถัดมาคือประชาธิปัตย์

ถ้าประยุทธ์ไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ต้องมาลุ้นแย่งอันดับ 5 กับพรรคประชาธิปัตย์ และถ้ากระแสตกต่ำมาก โอกาสจะได้ ส.ส.ถึง 25 คนคงไม่มี

นั่นคือสาเหตุที่ทีมวิเคราะห์เคยประเมินไว้ว่าประยุทธ์ลงแล้วไปลับ

หมากการเมืองตานี้ชี้ขาดกันตอนที่ตั้งรัฐบาล จำนวน ส.ส.ของฝ่ายค้านและรัฐบาลเดิมถ้ามองแบบไม่มีการเปลี่ยนขั้วยังประเมินได้ยากเพราะจำนวนสูสีกัน

ต่อให้ฝ่ายรัฐบาลมี ส.ว.มาหนุนเกิน 200 คนรวมกันเลือกนายกฯ ได้เกิน 375 เสียง แต่ถ้าได้ ส.ส.ไม่ถึง 250 ก็จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ถ้าได้ 250 พอดี หรือเกินไป 2-3 เสียงก็ยังมีความเสี่ยงที่รัฐบาลจะล้มได้ตลอดเวลา

บางคนอาจจะบอกว่าถ้าเป็นแบบนั้นพวกเขาก็จะซื้อ ส.ส.ไปเพิ่มเพื่อให้ปลอดภัยมากขึ้น

แน่นอนว่าการเล่นนอกเกมแบบนี้เราห้ามไม่ได้ ดังนั้น การคัดเลือกคนของแต่ละพรรคจึงมีความสำคัญ

โอกาสของพรรคเพื่อไทย
ในการตั้งรัฐบาล

ถ้าพรรคเพื่อไทย ต้องหวังทำแลนด์สไลด์ ได้เกิน 250 ถ้าไม่ถึงก็ควรจะได้เกิน 200 เมื่อรวมกับก้าวไกล เสรีรวมไทย และพรรคประชาชาติ ต้องได้ 235-250 คน จึงจะมีกำลังพอ

กองเชียร์ของฝ่ายค้านหวังว่าทุกพรรคจะร่วมกันอย่างเหนียวแน่น

พรรคไหนหรือบุคคลใดที่ฉีกตัวออกไปร่วมกับฝ่ายรัฐบาลเดิมก็จะกลายเป็นผู้ทรยศ…นี่คือการที่ประชาชนล็อกทางการเมืองฝ่ายค้านด้วยความหวังที่หนุนฝ่ายค้านให้สู้ แม้ตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็จะกลายเป็นฝ่ายค้านที่มีพลัง

สภาพจริงแม้เพื่อไทยได้เสียงประมาณ 200 และเมื่อรวมกับฝ่ายค้านอื่นๆ ได้คะแนน 250-260 ก็คงยังไม่มีโอกาสได้เป็นนายกฯ มีแต่จะต้องคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้ได้

ดึงพลังประชารัฐมาร่วมรัฐบาลเพื่อหวังคะแนน ส.ส.เพิ่ม และดึงคะแนนจาก ส.ว.สายประวิตรมาประมาณ 100 เสียง

ถ้าทำแบบนี้ได้จะเป็นการฉีกฝ่ายรัฐบาลเดิมออก ทำให้การเดินเกมการเมืองในอนาคตง่ายขึ้น แม้จะขัดใจกองเชียร์อยู่บ้าง

การตั้งรัฐบาลที่แข็งแรงขึ้นโดยฝ่ายค้านเดิมเป็นนายกฯ และเป็นพรรครัฐบาลหลัก ประชาชนก็ยังรับได้ แต่ถ้าพรรคไหนฉีกตัวไปเป็นตัวประกอบในรัฐบาลชุดใหม่ที่ผู้นำรัฐบาลจะเป็นประยุทธ์ หรืออนุทิน หรือประวิตร ก็คงถูกกองเชียร์ด่า

แต่ปัญหาที่สำคัญคือ ประวิตรและอนุทิน ชาญวีรกูล ก็อยากเป็นนายกฯ เหมือนกัน

พรรคพลังประชารัฐ
และโอกาสของ พล.อ.ประวิตร
ในการเป็นนายกฯ

เมื่อพรรคพลังประชารัฐแตกกันออกไปอยู่กับพรรคอื่น จํานวน ส.ส.ก็จะต้องลดลงจาก 97 เขต อาจจะชนะเขตได้ประมาณ 50-60 เท่านั้น และคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ก็จะลดลงด้วย คาดว่า ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น่าจะได้ 10-12 คน

โอกาสเป็นนายกฯ แบบแรกถ้าพรรคฝ่ายรัฐบาลเดิมรวมกันได้ถึง 250 คน

พรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตรได้ประมาณ 70 เสียง และยืนยันเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ คนเดียว

พรรคของ พล.อ.ประยุทธ์ และประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 40+40 เสียง

ต้องดึงพรรคตั้งใหม่และพรรคเล็กอื่นๆ ประมาณ 20 เสียง

พรรคภูมิใจไทยได้ประมาณ 90 เสียง และ พล.อ.ประวิตรสามารถคุยกับพรรคภูมิใจไทยโดยเสนอให้กระทรวงดีๆ

พล.อ.ประวิตรต้องดึงเสียง ส.ว มาโหวตให้ตัวเองได้ 150

แบบที่สอง ถ้าพรรคฝ่ายรัฐบาลเดิมรวมกันได้ประมาณ 220-250 แม้ฝ่ายค้านรวมกันได้ 250 แต่ไม่มี ส.ว.มาหนุนมากพอ ก็ไม่สามารถหาคะแนนได้ถึง 376 เพื่อจะได้รับเลือกเป็นนายกฯ

แต่มีความขัดแย้งในฝ่ายรัฐบาลเดิม มีคนอยากเป็นนายกฯ เกิน 1 คน ต้องเลือกประยุทธ์ ประวิตร หรืออนุทิน

กรณีนี้ พล.อ.ประวิตรจะต้องติดต่อพรรคเพื่อไทยให้เข้าร่วมรัฐบาล แม้ พปชร.กับเพื่อไทยรวมกัน 2 พรรคไม่ถึง 250 แต่ก็สามารถหาอีก 1-2 พรรคเข้ามาร่วม เพื่อให้ได้เสียงประมาณ 280 จากนั้น พล.อ.ประวิตรจะต้องดึงเสียง ส.ว.มาสนับสนุนอีกประมาณ 100 ถึง 150 เสียง จะได้เกิน 376

การตกลงว่าจะดึงพรรคใดมาร่วมต้องเป็นข้อตกลงร่วมกัน พร้อมกับการแบ่งสรรการบริหารกระทรวงต่างๆ

ถ้าเพื่อไทยยอมร่วม พรรครัฐบาลเดิมก็จะถูกตัดออกไปหลายพรรค เพราะจำนวน ส.ส.เพื่อไทยมีมาก เท่ากับฉีกแนวร่วมรัฐบาลออก แต่ขณะเดียวกันแนวร่วมฝ่ายค้านก็แตกด้วย

กองเชียร์เพื่อไทยบางส่วนคงไม่พอใจ เพราะมี ส.ส.มากกว่าแต่ไม่ได้เป็นนายกฯ และจะถูกกล่าวหาว่าอยากเป็นรัฐบาลจนยอมร่วมกับกลุ่ม 3 ป.

พรรคประชาธิปัตย์
แค่มีโอกาสได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล

โอกาสที่จะเป็นนายกฯ ของ ปชป.ดูแล้วคงไม่มีเลย แต่โอกาสจะร่วมรัฐบาลยังมีถ้าฝ่ายรัฐบาลเดิมได้เป็นนายกฯ เพราะยังต้องการเสียง ส.ส.สนับสนุนให้เกิน 250

การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์น่าจะได้ ส.ส.น้อยกว่าเดิม เพราะจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่ใช้หลักการหารด้วยร้อยจะทำให้ ปชป.ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพียง 10-12 คน จากเดิมปี 2562 เคยได้ 20 คน

ในขณะเดียวกัน ส.ส.เขตก็ไม่น่าจะได้มากกว่าเดิมเพราะพื้นที่ทางภาคใต้ก็ถูกบุกด้วยภูมิใจไทยและรวมไทยสร้างชาติ ในขณะเดียวกันพื้นที่ใน กทม.แม้กระแสประยุทธ์จะลดลง แต่ทุกพรรคก็ต้องหาเสียงแข่งกับ ปชป. ทั้งพลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ ดังนั้น ต่อให้การตัดคะแนนเสียงของเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลเกิดขึ้นทุกเขต ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ต้องตัดคะแนนกันเอง

เช่นเดียวกัน โอกาสที่ ปชป.ใน กทม.ทำได้เก่งที่สุดอาจจะดีขึ้นได้ ส.ส.ไม่เกิน 2 คน รวมได้ ส.ส.ทั้งหมด 30 หรือ 40 คน

ตัวเลขนี้มีความแตกต่างมากเพราะในการแข่งขันระดับเขตมีโอกาสที่คะแนนแพ้ชนะจะไม่มากนัก หลายเขตชนะ 2,000 คะแนน ได้เป็น ส.ส. แต่แพ้แค่ 2,000 คะแนนก็สอบตก ความสูสีของคะแนนครั้งนี้ในหลายเขตจะไม่ได้นอนมาแบบเก่า จึงทำให้แม้แต่การทำโพลจนถึงก่อนการลงคะแนนก็ยังไม่อาจประเมินจำนวน ส.ส.ได้แน่นอน

แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีโอกาสร่วมรัฐบาล ถ้าสายอนุรักษนิยมได้รับเลือกเป็นนายกฯ

แต่เรื่องนี้ก็ไม่ใช่แน่นอน 100% เพราะจำนวนพรรคที่อยากเข้าร่วมอาจมีมากเกิน

ยังมีพรรคสำคัญที่จะต้องพูดถึงคือ พรรคก้าวไกล ซึ่งมีนโยบายชนทุกอย่างที่เป็นปัญหา และพรรคภูมิใจไทยซึ่งกำลังจะแปลงหนูให้เป็นราชสีห์ นอกจากนี้ ยังต้องพูดถึงชะตากรรมของพรรคตั้งใหม่อีกหลายพรรค ทั้งหมดจะขอนำเสนอในตอนหน้า