อาโรคยาส่งท้ายปีเก่า “มะตูม” สมุนไพรมงคล ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ที่ประคองชีวิตรอดพ้นช่วงวิกฤตสุขภาพตลอด 3 ปีเต็มมาจนถึงสิ้นปีนี้ คงเห็นพ้องต้องกันว่า พรเก่าแก่อันประเสริฐสุดสำหรับชีวิตที่จะก้าวสู่ปีใหม่คือ “อาโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรคเป็นโชคดีที่สุด”

แต่ลมฟ้าอากาศยามนี้ไม่เป็นใจให้โรคสงบ เพราะโลกร้อนเป็นเหตุ ทำให้โลกรวนและโรครุม ไม่ใช่เทศกาลลม ลมก็พัด ไม่ใช่เทศกาลฝน ฝนก็อุบัติ กลายเป็นฤดูกาลสามกษัตริย์ คือ ร้อน ฝน หนาว ระคนกัน จนยากที่จะคำนวณอุตุสมุฏฐานแห่งโรคหรือฤดูโรคได้อย่างแม่นยำ

หมอไทยท่านว่าให้ใช้ยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์พิชิตตรีโทษไว้ก่อน คือ โทษทั้ง 3 อันเกิดจากเสมหะ (ธาตุดิน-น้ำ) ปิตตะ (ธาตุไฟ) และวาตะ (ธาตุลม) กำเริบ หย่อน พิการ

พูดแบบหมอแผนปัจจุบันก็คือใช้ยาแบบครอบคลุมทุกอาการหรือบอร์ดสเปกตรัมนั่นเอง

ซึ่งสมุนไพรที่ตอบโจทย์นี้ได้และหาง่ายที่สุดตัวหนึ่งนั่นคือ มะตูม มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Aegle marmelos (L.) Correa ex Roxb.

ขึ้นชื่อว่ามะตูมแล้ว คนไทยย่อมนับถือเป็นไม้มงคลและศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะใบมะตูมมีลักษณะเป็นรูปตรีศูลศัสตราวุธประจำองค์พระศิวเทพ ใบมะตูมใช้ทัดหูผู้เข้าพิธีพราหมณ์เพื่อปัดรังควานสิ่งชั่วร้ายอัปมงคล

ส่วนผลมะตูมนั้นใช้ต้มเป็นเครื่องดื่ม ทำขนมมะตูมเชื่อม ขนมเค้กหน้ามะตูม วุ้นมะตูม เป็นต้น

สำหรับหมอไทย ใช้มะตูมเป็นเภสัชสมุนไพรสำคัญสำหรับ “บำบัดตรีโทษ” ได้ คนไทยบริโภคมะตูมเป็นเครื่องดื่มและขนมหวานมานานแล้ว จึงควรรู้จักใช้มะตูมเป็นยาไทยด้วย

ในพระคัมภีร์สรรพคุณแลมหาพิกัด ได้กล่าวถึงสรรพคุณเฉพาะของผลมะตูมในแต่ละระยะไว้อย่างละเอียด ซึ่งประมวลได้ดังนี้

ผลมะตูมอ่อนยังเล็กนั้น บำบัดตรีโทษ แก้สมุฏฐาน (สาเหตุ) แห่งตรีโทษ แก้ลม โลหิต เสมหะ และบุพโพอันเน่าในท้องให้ตกเสีย

ผลมะตูมอ่อนเกือบจะแก่ แก้เสมหะ แก้ลมทั้งปวง

ผลมะตูมแก่ยังไม่สุก ให้ปิดธาตุ (หยุดอาการท้องเสีย ท้องร่วง บิด) บำบัดเสลดและลม บำรุงซึ่งสุคติธาตุ (ธาตุที่ทำให้มีความสุข) ให้บังเกิดเจริญไฟธาตุ (ไฟย่อยอาหาร) กระทำอาหารในท้องให้งวด

ผลมะตูมสุกนั้น แก้เสมหะ แก้จุกเสียด แก้มูกเลือด เจริญไฟธาตุ กระทำให้อาหารงวด บำรุงซึ่งจตุรกาลเตโช (บำรุงธาตุไฟทั้ง 4 ในร่างกาย) มีรสอันหวานยิ่งให้มีกำลัง แก้กระหายน้ำ แก้ลมทั้งปวงแล

นี่แหละคือภูมิปัญญาสรรพคุณอันเก่าแก่ของผลมะตูมสมุนไพรใกล้ตัว

เสียดายที่ความรู้แพทย์เภสัชสมัยใหม่ยังไม่มีข้อมูลการวิจัยการใช้ผลมะตูมในคน

แต่มีการวิจัยในหลอดทดลองและในหนูทดลองมากมายที่ยืนยันสรรพคุณโบราณของผลมะตูม

เช่น มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งทดลองใช้น้ำต้มผลมะตูมแห้งหยดลงในเซลล์ที่มีเชื้อแบคทีเรียอีโคไล (E.Coli) ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องร่วง ท้องเสียอย่างรุนแรง พบว่าสารสกัดน้ำจากผลมะตูมมีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตเชื้อดังกล่าวได้ชิลๆ

ทั้งนี้ เพราะในน้ำมะตูมมีสารเลคติน (Lectin) ออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อบิดได้หลายชนิด

และยิ่งกว่านั้น การใช้สารสกัดน้ำมะตูมมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ได้ดีเทียบเท่ากับการใช้ยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้ และกรดไหลย้อน อย่างซูคราลเฟต (Sucralfate)

ในด้านการรักษาโรคมะเร็งต่างๆ นั้น พบว่างานวิจัยในหนูทดลองหลายชิ้นชี้ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของมะตูมในการต้านเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งระบบประสาทนิวโรบลาสโตมา และโรคมะเร็งตับ หลังจากหนูได้รับสารสกัดมะตูมในขนาดที่เหมาะสมคือ ผลมะตูมแห้ง 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

ที่น่าสนใจคือ แม้ผลมะตูมสุกจะมีสารรสหวาน แต่กลับมีสรรพคุณในการบรรเทาอาการเบาหวาน พบว่าสารสกัดมะตูมช่วยเพิ่มระดับอินซูลินและควบคุมไขมันในเลือด

สรรพคุณสำคัญของผลมะตูมอยู่ที่สารมาร์เมโลซิน (marmelosin) ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ในชื่อวิทยาศาสตร์ของมะตูม มีคุณสมบัติละลายได้ในน้ำร้อนแต่ไม่ละลายในน้ำเย็น มีฤทธิ์ทางชีวภาพหลากหลาย

ที่สำคัญได้แก่ ต้านการเกิดเนื้องอกในอวัยวะต่างๆ ช่วยขยายหลอดเลือด ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ต้านชัก ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัสเอดส์ HIV และป้องกันไขมันพอกตับซึ่งมิได้มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์

สรรพคุณดีของผลมะตูมที่คนทั่วไปยังไม่รู้คือ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันโดยส่งเสริมให้การทำงานของนิวโทรฟิล ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดที่มีจำนวนมากในร่างกาย ทำหน้าที่ในการดักจับเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมได้ดียิ่งขึ้น

การใช้ผลมะตูมเป็นยาที่ง่ายที่สุด คือ การต้มเป็นน้ำสมุนไพรสำหรับดื่มต่อวันต่อคนในขนาดผลแห้ง 5 กรัม ต่อน้ำ 500 มิลลิลิตร หากต้องการดื่มเพื่อป้องกันตรีโทษก็ใช้มะตูมอ่อน และใช้มะตูมแก่เพื่อบำรุงสุคติธาตุ รักษาท้องไส้ให้เป็นปกติสุข

และหากต้องการบำรุงร่างกาย หายปวดเมื่อย แก้โรคลมทั้งปวง ก็ให้ใช้มะตูมสุกต้มดื่มมีรสหวานแบบน้ำปานะถวายพระ ช่วยให้พระคุณเจ้ามีกำลังนั่งสมาธิได้ คลายกำหนัดไปในตัว

มะตูมเหมาะกับพระจึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “กะทันตาเถร” หรือลูกพุทราของตาเถร (ฮา)

อุบาสกไม่ต้องกังวลที่นกเขาไม่ขันชั่วคราว เพราะเมื่อลมทั้งปวงในร่างกายเป็นปกติ ก็จะไม่มี “โรคร้ายเพราะลมคลุม” แต่จะกลับมีกำลังวังชามากกว่าเดิมเสียอีก

แต่ไม่ควรดื่มน้ำมะตูมมากเกินไป เนื่องจากอาจทำให้มีอาการท้องไส้ปั่นป่วนและท้องผูกได้

มาร่วมดื่มฉลองส่งท้ายปีเก่า ด้วยการชนแก้วน้ำมะตูมอันเป็นน้ำมงคลต้อนรับสุขภาพดีปีใหม่ไร้แอลกอฮอล์กันเถอะ •