ลี้-บ้านโฮ่ง : ปริศนาอารยธรรมอินเดียในลุ่มแม่ระมิงค์ยุคสุวรรณภูมิ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ลี้-บ้านโฮ่ง : แหล่งโลหกรรมทำเหล็กยุคเริ่มแรกในอุษาคเนย์ (ตอนจบ ปริศนาอารยธรรมอินเดียในลุ่มแม่ระมิงค์ยุคสุวรรณภูมิ)

 

ฉบับนี้จักได้กล่าวถึงเรื่องบ่อเหล็กลี้-บ้านโฮ่ง เป็นตอนสุดท้าย กับการเฉลยคำตอบที่ทิ้งคำถามไว้ในฉบับก่อนว่า กรรมวิธีการถลุงเหล็กด้วยเตาไซโคลน จนได้วัตถุออกมาเป็นรูป Ring Shape นั้น ชาวลี้-บ้านโฮ่งรับอิทธิพลจากใครเป็นต้นแบบ?

คงไม่ต้องมองไกลไปถึงอียิปต์ เมโสโปเตเมีย หรือกรีกโรมันหรอก

พุ่งตรงไปแค่สองอารยธรรมใหญ่ใกล้ตัว คือจีนกับอินเดียก็พอ

จีนตื่นเต้น กับข่าวบ่อเหล็กลี้-บ้านโฮ่ง

ระหว่างปี 2561-2563 ช่วงที่สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ได้เผยแพร่ข่าวการค้นพบแหล่งโลหกรรมทำเหล็กที่ อ.ลี้ และ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ออกไปสู่สาธารณะในวงกว้าง

ปรากฏว่าประเทศที่ตื่นเต้นและให้ความสนใจแก่ประเด็นนี้มากที่สุดก็คือ จีน

จนถึงขั้นที่ว่าคุณยอดดนัย สุขเกษม นักโบราณคดีผู้รับผิดชอบโครงการศึกษาเรื่องบ่อเหล็กลี้-บ้านโฮ่ง ได้รับเชิญให้ไปประชุมสัมมนาทางวิชาการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องดังกล่าวนี้ถึงสองครั้งสองแห่งคือ ทั้งที่มหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่ง กับที่มหาวิทยาลัยเมืองเฉิงตู

อะไรเป็นปัจจัยให้นักโบราณคดีจีนกระตือรือร้นได้ถึงเพียงนี้ คุณยอดดนัยอธิบายว่า

“เพราะเมื่อก่อนนั้น จีนเคยภาคภูมิใจว่าสมัยราชวงศ์ฮั่นราว 2,200 ปีที่ผ่านมา สามารถคิดค้นนวัตกรรมการหลอมเหล็กออกมาเป็นน้ำลาวาสีแดง (กรรมวิธีนี้สยามเพิ่งรับมาใช้ในสมัยอยุธยาราว 400 กว่าปีเท่านั้น) ได้ก่อนใครๆ เหล็กของจีนมีคุณภาพดีที่สุด จีนจึงเป็นแหล่งโลหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดและเก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ จนถึงขั้นส่งออกไปจำหน่ายทั่วเอเชียและอุษาคเนย์

แต่แล้วจู่ๆ ก็มีรายงานว่าแหล่งเตาที่ลี้มีการถลุงเหล็กมาก่อนราชวงศ์ฮั่นแล้วตั้งแต่ 2,500 ปีร่วมสมัยกับยุคพุทธกาลพอดี ถือว่าเก่าแก่ก่อนหน้าราชวงศ์ฮั่นถึง 300 ปี จีนย่อมต้องสงสัยเป็นธรรมดาพร้อมกับคำถามตามมามากมาย

เช่น ค่าตรวจอายุวัสดุที่ติดกับเตาเหล็กนั้นมีความคลาดเคลื่อนหรือไม่

กับอีกหลายคำถามที่เรายังตอบไม่ได้คือ ลี้ผลิตเหล็กส่งขายใครหรือมีหลักฐานยืนยันหรือไม่?

แล้วที่ลี้นั้นมีราชวงศ์อะไรที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อนราชวงศ์ฮั่นล่ะหรือ ในเมื่อราชวงศ์หริภุญไชยก็อายุแค่ 1,400 ปี?

บ้านเมืองขนาดใหญ่ที่มีความสามารถในการผลิตเหล็กได้นั้นตั้งอยู่ตรงไหนในเมืองลี้ อย่าลืมว่าการที่กลุ่มคนจะถลุงเหล็กได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็ก้าวกระโดดจากสังคมบุรพกาลยุคก่อนประวัติศาสตร์ แล้วมาทำเหล็กได้ทันที”

นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายองค์ความรู้นักโบราณคดีอย่างคุณยอดดนัยยิ่งนัก แต่บางทีจีนอาจลืมไปว่า ยังมีประเทศที่เจริญอย่างสูงสุดอีกดินแดนหนึ่ง ที่เป็นแม่แห่งอารยธรรมทั้งปวงในเอเชียและอุษาคเนย์ มีความยิ่งใหญ่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจีน นั่นคือ อินเดีย

อินเดียเข้ามาที่ลุ่มแม่ระมิงค์จริงหรือ?

ในเมื่อกรรมวิธีการหล่อเหล็กที่ลี้-บ้านโฮ่ง แตกต่างไปจากจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น ทั้งยังไม่เหมือนกับการถลุงเหล็กในกลุ่มรัฐพยู่ ฟูนัน เจนละ หรือเมืองโบราณแถบภาคอีสานของไทย กล่าวคือ รัฐเพื่อนบ้านทั้งหมดนี้ ไม่มีใครใช้กระบวนการให้ความร้อนที่ถูกลมเป่าหมุนวนอยู่ภายในเตา ที่เรียกกันแบบลำลองว่าเตาไซโคลนเลย

ในที่สุดทีมนักวิชาการของสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ก็ได้คำตอบว่า การถลุงเหล็กแบบเตาไซโคลนนี้มีประเทศต้นแบบอยู่ในอินเดีย แถมยังทำในระยะเวลาไล่เลี่ยกันกับที่ลี้อีกด้วย กล่าวคือทำระหว่าง 2,400-2,700 ปีมาแล้ว (เตาที่ลี้อายุ 2,000-2,500 ปี)

จากการศึกษาเรื่องการทำเหล็กในอินเดียยุคโบราณ พบว่ามีการทำมานานมากไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีแล้ว อินเดียรู้จักเทคโนโลยีในการทำเหล็กมายาวนาน ข้อสำคัญเตาถลุงเหล็กในอินเดียที่มีลักษณะคล้ายเตาไซโคลนที่ลี้ ถือเป็นพัฒนาการในระยะที่ 3 แล้ว

เตายุคแรกสุดของอินเดียเป็นทรงอ่าง ขุดไปในดินแล้วถลุง ต่อมาเตาระยะที่สอง มีการก่อเป็นทรงประทุนคว่ำคล้ายฝาชีโค้ง สะท้อนว่าอินเดียมีความก้าวหน้ามากขึ้น พยายามหามุมหาโค้งที่จะปรับองศาความร้อนให้ลงตัวยิ่งกว่าเดิม

เข้าสู่เตาระยะที่ 3 ต้องถือว่าเป็นยุคทองของการถลุงเหล็กในอินเดียเลยทีเดียว เพราะหลังจากที่คิดค้นเตารูปแบบใหม่นี้ได้แล้ว ก็เกิดการขยายอุตสาหกรรม ตลาดส่งออกเหล็กอย่างเป็นล่ำเป็นสัน นั่นคือการใช้เตาปล่องตรงยกสูงขึ้นแบบทรงกระบอก แล้วเจาะช่องให้ลมเข้าเป็นระยะๆ

เตารูปแบบนี้มีศักยภาพในการแยกแร่เหล็กออกมาได้มากที่สุด เพราะแร่ต้องผ่านกระบวนการบ่มความร้อนที่พวยพุ่งถึงจุดสูงสุดจากบนลงล่าง ในขณะเดียวกันเตารูปแบบอื่น ควบคุมความร้อนได้ไม่ดีเท่าเตาแบบไซโคลน ส่งผลให้การหลอมแร่ก็ไม่ดีตามไปด้วย ผลผลิตจึงได้ตามมาในปริมาณที่น้อย

เตาถลุงเหล็กในระยะที่ 3 ของอินเดียนี้ค่อนข้างสอดคล้องกับเตาที่ลี้อย่างมาก ทั้งอายุสมัย ทั้งกรรมวิธีการหลอมแร่ หากเป็นเช่นนี้แล้ว เราสามารถตั้งคำถามต่อไปได้อีกหรือไม่ว่า “เตาที่ลี้รับเทคโนโลยีขั้นสูงนี้มาจากอินเดีย?”

ส่วนคำถามที่ว่า จริงล่ะหรือ? ทำไมชาวอินเดียต้องเลือกเมืองลี้? ลี้อยู่ลึกและไกลเกินไปไหม?

คำถามเหล่านี้ น่าจะเป็นการมองด้วยสายตาปัจจุบัน ที่เราเอา อ.เมืองลำพูน อ.เมืองเชียงใหม่เป็นตัวตั้ง ว่าเมืองเหล่านี้เป็นศูนย์กลางความเจริญ ส่วนลี้ บ้านโฮ่งอยู่ไกลปืนเที่ยง โดยเราไม่ได้มองย้อนไปว่าในยุคพุทธกาลถึงยุคสุวรรณภูมินั้น เมืองทุกแห่งในอุษาคเนย์ ล้วนเป็นดินแดนที่ยังไม่มีศาสนาทั้งพุทธ-พราหมณ์ ไร้อารยะไม่ต่างกัน

หากชาวอินเดียจะเข้ามาเปิดแหล่งเตาแถวลี้ คำอธิบายก็คือพวกเขาต้องเลือกดินแดนที่อุดมด้วยสินแร่คุณภาพดี มีทำเลที่เหมาะสมแก่การขนส่งสินค้าออกสู่แม่น้ำสายใหญ่ได้ แม้ว่าดินแดนที่ถูกเลือกนั้นจะอยู่ในหุบเขาแสนไกลเพียงใดก็ตาม

ในเมื่อลี้ บ้านโฮ่งคือดินแดนที่ถูกเลือกให้เป็นแหล่งผลิตโลหกรรมขนาดใหญ่ เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนในพื้นที่ย่อมมีปฏิสัมพันธ์กับคนจากภายนอกแล้ว ไม่ว่าคนคุมการผลิตทั้งหมดจะเป็นชาวอินเดีย แล้วคนพื้นเมืองเป็นแค่ลูกมือ ช่วยแบกหามขนแร่เหล็กก็แล้วแต่

ทว่า ทั้งหมดนี้สังคมได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกันแบบเน็ตเวิร์ก จากดินแดนที่มีอารยธรรมสูงสุดคืออินเดีย ถ่ายเทองค์ความรู้มาสู่คนในดินแดนลุ่มแม่น้ำปิง

วิธีการทางวิทยาศาสตร์ จะช่วยไขปริศนาทางประวัติศาสตร์ ได้หรือไม่?

คุณยอดดนัย สุขเกษม เปิดประเด็นต่อไปว่า โชคดีที่ดินแดนในแถบล้านนามีตำนานหลายเรื่องที่รองรับการเข้ามาของชาวต่างถิ่น ไม่ว่าชาวกลิงครัฐ ชาวโยนวกะ เข้ามาแถบลุ่มน้ำกก น้ำโขง แถวเชียงราย เชียงแสน ตามตำนานสิงหนวัติก็ดี

และยิ่งชัดเจนมากขึ้นคือตำนานการเคลื่อนพลของพระนางจามเทวีจากละโว้สู่ลำพูน เป็นการพาประชากรอพยพมากันนับพันๆ คน โดยตำนานหน้านี้มีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับฤษีตนต่างๆ เป็นผู้วางรากฐานในการสร้างเมืองอีกด้วย

ผู้นำฤษีกลุ่มนี้ ไม่ว่าวาสุเทพ สุกกทันตะ พุทธชฎิล สุพรหม อนุสิสสะ บางท่านตีความว่าอาจเป็นชาวพื้นเมือง แต่หลายท่านก็เริ่มเห็นคล้อยว่าน่าจะเป็นชาวภารตะมากกว่า คำว่า “ฤษี” จะหมายถึงผู้นำเอาเทคโนโลยีจากอินเดียมาวางรากฐานให้แก่สุวรรณภูมิได้หรือไม่ คงต้องช่วยกันตีความต่อไป

บางทีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อาจช่วยคลี่คลายปมปริศนาที่ติดค้างทางด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งเรายังขบไม่แตก และติดกับดักของตำนานพื้นถิ่นที่ฟันธงว่า ษ ฤษี หนวดยาวเหล่านี้เป็นชาวลัวะ และเป็นลูกของปู่แสะย่าแสะ มานานหลายปีดีดักก็เป็นได้

ย้อนกลับไปพินิจในมุมของพระนางจามเทวีแห่งกรุงละโว้ดูบ้าง การที่ตัดสินพระทัยแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดพาคนจำนวนมากเคลื่อนตัวขึ้นมาสู่ดินแดนในหุบเขานั้น ตำนานอธิบายเพียงแค่ว่า เกิดจากความต้องการของฤษีวาสุเทพที่ทูลเชิญเหตุเพราะเมืองเดิมนั้นถล่มด้วยผู้ปกครองไร้ศีลธรรม

ทว่า ลึกๆ แล้วไม่มีใครทราบถึงแรงบันดาลใจที่แท้จริงว่าทำไมพระนางจามเทวีจึงต้องรับคำเชิญนั้นด้วย พระนางขึ้นมาเมืองเหนือเพื่อสิ่งใดกันแน่

บ้างก็มองว่าเป็นเพราะพระนางประสูติที่ลำพูนมาก่อน มาอยู่ที่ละโว้ก็ด้วยในฐานะธิดาสะใภ้ หรือธิดาบุญธรรมของพระเจ้ากรุงละโว้เท่านั้น ครั้นเมื่อเรียนรู้ศาสตร์และศิลป์จนครบถ้วนกระบวนความจากละโว้แล้วก็สมควรแก่เวลากลับถิ่นมาตุคาม ประจวบเหมาะกับเมืองลำพูนเก่ามีปัญหาล่มสลาย ถึงคราวที่ต้องกลับไปช่วยพัฒนา นี่ก็อาจเป็นมุมมองหนึ่งที่ชวนให้เข้าใจเช่นนั้นได้

ดอยกาน แหล่งที่เรียกกันว่า ป่าช้าลัวะ เป็นจุดที่อยู่ใกล้บ่อเหล็กเมืองบ้านโฮ่ง

กับอีกทัศนะหนึ่งที่นักวิชาการยุคหลังๆ วางน้ำหนักถึงประเด็นนี้กันค่อนข้างมากว่า การขึ้นมาของธิดาพระเจ้ากรุงละโว้นั้น น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการมาเอาทรัพยากรเหล็กไปส่งส่วยให้แก่กรุงละโว้มากกว่า เพราะละโว้เป็นอีกเมืองที่พัฒนามาได้บนพื้นฐานของการถลุงเหล็กมาก่อน

บริเวณเขาวงพระจันทร์ เขาทับควาย ทางตอนเหนือของลพบุรี พบว่ามีการทำเหล็กมาอย่างยาวนานอายุเทียบเท่ากับเตาที่ลี้ สะท้อนว่าบรรพชนของชาวละโว้ก็มีรากฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งมาจากการค้าเหล็ก มีเครื่องไม้เครื่องมือทำเกษตรกรรมเลี้ยงดูประชากรอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง มีอาวุธป้องกันนครจนกรุงละโว้มีความมั่นคง ขยายตัวเติบโตอย่างเกรียงไกรมายืนแถวหน้าในยุคทวารวดีได้

ดังนั้น อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่พระเจ้ากรุงละโว้ยินดีส่งพระนางจามเทวีไปบุกเบิกเมืองลำพูน เพราะรู้ว่าบริเวณนั้นเคยมีภูมิปัญญาในด้านการถลุงเหล็กที่กลุ่มนักพรตอินเดียวางรากฐานมาให้ก่อนแล้วตั้งแต่ยุคพุทธกาลจนถึงยุคสุวรรณภูมิ

ปัญหาที่เราต้องช่วยกันหาคำตอบยังมีอีกหลายประเด็น เพราะไม่มีบทสรุปในเวทีเสวนาวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา อาทิ ชุมชนเมืองที่เจริญระดับหนึ่งในลี้ตั้งอยู่แถวไหนยุคที่มีการถลุงเหล็ก ไกลหรือใกล้กับบริเวณที่พบแหล่งเตา?

เหล็กรูป Ring Shape นั้นถูกส่งไปจำหน่าย ณ แว่นแคว้นแดนใดกันบ้าง? ละโว้จะเป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ที่รับซื้อวัตถุเหล็กจากเตาเมืองลี้ด้วยหรือไม่?

เหล็กเมืองลี้คุณภาพดีระดับนี้น่าจะมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในละแวกอุษาคเนย์ตั้งแต่ยุคพุทธกาลจนถึงยุคสุวรรณภูมิ ละโว้ย่อมรับรู้มาโดยตลอดว่าลำพูนนั้นคือคู่แข่ง มีแหล่งทรัพยากรเหล็กอันอุดม จนในที่สุดต้องส่งคนขึ้นไปครอบครอง

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไป •

 

ปริศนาโบราณคดี  | เพ็ญสุภา สุขคตะ