เมื่อเชียงใหม่ กลายเป็นเมืองอันตราย

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

เชียงใหม่ ไม่เพียงเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งสำหรับคนไทย แต่ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก นักท่องเที่ยวต่างชาติหลายต่อหลายคนติดใจ มาท่องเที่ยวแล้วอยากกลับมาซ้ำอีก

ครั้งหนึ่ง เมื่อไม่ช้าไม่นาน เชียงใหม่เคยถูกจัดให้เป็น great wellness centres ศูนย์การพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ ที่จัดอยู่ในระดับสุดยอดของโลก ควบคู่ไปกับบาหลี, กัว และฤๅษีเกศ (เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็น “ประตูสู่หิมาลัย” ทางตอนเหนือของอินเดีย)

แต่เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา ลี โคบาจ ผู้สื่อข่าวของ เดอะ เทเลกราฟ สื่อดังของอังกฤษ เพิ่งเผยแพร่บทความเตือนบรรดานักท่องเที่ยวทั้งหลายว่า เชียงใหม่ไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป

เขาบอกว่า ในยามนี้ ทุกอย่างยังคงหาได้ไม่ลำบากที่เชียงใหม่ ร้านนวดแผนไทยยังคงมีเป็นร้อย เช่นเดียวกับสปาแหล่งพักผ่อนเชิงสุขภาพ รวมทั้งคลินิกแพทย์แผนไทย บริการเดินป่า ล่องแพ และแหล่งพักผ่อนกับธรรมชาติในปางช้าง

ทั้งหมดยังพบได้ไม่ลำบาก มีลำบากอยู่เพียงอย่างเดียวที่เชียงใหม่คือ “หายใจลำบาก”

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

เชียงใหม่วันนี้ เต็มไปด้วยมลพิษทางอากาศ ที่อยู่ในระดับสูงเกินกว่าระดับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า “ปลอดภัย” ถึงกว่า 20 เท่าตัว ข้อเขียนใน เดอะ เทเลกราฟ ระบุว่า ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เชียงใหม่ผลุบโผล่อยู่ในอันดับต้นๆ ของอันดับเมืองที่มีมลพิษสูงที่สุดในโลกของเว็บไซต์ IQAir หลายครั้งถึงกับกลายเป็นอันดับ 1 สลับกับเมืองอย่างเดลี, กัลกัตตา และ ละฮอร์ ไปแล้ว

“ปริมาณของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่เป็นอันตรายในอากาศเคยขึ้นสูงสุดถึง 136.2 ไมโครกรัมต่อคิวบิกเมตร เมื่อต้นเดือนนี้” เดอะ เทเลกราฟ ระบุ พร้อมกับให้ข้อมูลเปรียบเทียบไว้ว่า ปริมาณฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในลอนดอนในขณะนี้อยู่ที่ 6.2 และระดับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าเป็นระดับสูงสุดที่ปลอดภัยในระหว่างวัน ก็อยู่ที่เพียงแค่ 25 เท่านั้นเอง

ลี โคบาจ ระบุเอาไว้ในข้อเขียนว่า นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า การใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษในระดับเดียวกับที่เชียงใหม่นั้น อันตรายพอๆ กับการสูบบุหรี่ 2 ซองต่อวัน

ทำไมเชียงใหม่ถึงกลายเป็นแบบนี้ไปได้?

 

โคบาจได้รับคำตอบว่า ในช่วงเวลานี้ของปีเป็น “ฤดูกาลของการเผา” ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์เรื่อยไปจนถึงปลายเดือนเมษายน เมื่อเกษตรกรใช้วิธีเผาไร่ นา เพื่อปรับพื้นที่สำหรับฤดูกาลเพาะปลูกรอบใหม่

ผู้เชี่ยวชาญบอกกับเขาว่า “ฤดูกาลเผา” ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกปีต่อเนื่องกันเป็นเวลายาวนาน และยิ่งนับวันก็ยิ่งเผากันมากขึ้น และยาวนานขึ้นทุกที

จอห์น เฮอร์เบิร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บอกกับ เดอะ เทเลกราฟ ไว้ว่า ถ้าหากคนเราสูดอากาศหายใจเอาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในระดับนี้เข้าไปเป็นระยะเวลานาน หรืออาจจะแค่ 2-3 เดือน ก็จะเกิดปัญหากับระบบทางเดินหายใจ เป็นไปได้ว่าอาจถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาล

นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก็สามารถได้รับผลกระทบ ตั้งแต่คัน เคืองตา แสบจมูก ผิวหนังเป็นผื่น และหายใจลำบาก

“ผมแนะนำว่า อย่ามาท่องเที่ยววันหยุดที่เชียงใหม่ในช่วงเวลานี้ของปี” เฮอร์เบิร์ตบอกกับโคบาจไว้อย่างนั้น สำทับต่อมาด้วยว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาเด็กๆ ซึ่งมีอันตรายมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 10 เท่า รวมไปถึงใครก็ตามที่มีปัญหากับระบบภูมิคุ้มกันในตัวเอง หรือป่วยเป็นโรคหอบ หืด หรือโรคในระบบทางเดินหายใจอื่นๆ

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

แน่นอนว่า สภาวะเช่นนี้ เป็นปัญหาต่อธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัด ยิ่งกลายเป็นเมืองที่มีมลพิษในอากาศมากที่สุดในโลก เหมือนอย่างที่เคยเป็นเมื่อไม่นานมานี้ ผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวทั้งหลายก็ยิ่งร้ายแรงมากขึ้น

เจ้าของกิจการบางคนบอกกับ เดอะ เทเลกราฟ ว่า ในฐานะที่เป็นเจ้าของกิจการพักผ่อนหย่อนใจเพื่อสุขภาพ ก็ต้องลงทุนถึงกับแจ้งโดยตรงต่อบรรดาลูกค้าและนักท่องเที่ยวว่า ขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมาในช่วงระยะนี้ของปี รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ฟอกอากาศ ทั้งที่สปา ยิม รวมทั้งที่บาร์ จัดหาหน้ากากอนามัยให้ทั้งกับแขกที่มาพักและพนักงาน เป็นต้น

ปัญหาก็คือ เหล่านี้ล้วนเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นตรงกันว่า จำเป็นต้องมีการดำเนินการที่เด็ดขาดทั้งในแง่ของการให้การสนับสนุนช่วยเหลือ และยับยั้งไม่ให้บรรดาเกษตรกร หันมาใช้วิธีการเผาพืชในไร่นาอีกต่อไป

ไม่เช่นนั้น เมืองท่องเที่ยวสำคัญของไทยและของโลกอย่างเชียงใหม่ ก็จะกลายเป็นเมืองอันตรายสำหรับนักท่องเที่ยวในช่วงเวลานี้ไปเช่นนี้ทุกปีนั่นเอง