เมือง ‘ฟองน้ำ’ สู้โลกร้อนของจีน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

นักวิจัยจับปรากฏการณ์ “น้ำท่วม” เกิดขึ้นในประเทศไนจีเรีย ประเทศชาด และประเทศไนเจอร์ อยู่ในทวีปแอฟริกาช่วงตั้งแต่ต้นปีนี้มาศึกษาพบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตมีมากกว่า 600 คน ผู้อพยพหนีน้ำไปหาแหล่งที่อยู่ใหม่มากว่า 1.4 ล้านคน บ้านเรือน ทรัพย์สินและพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายอย่างหนัก ความสูญเสียเหล่านี้มีจุดเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนที่มาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยน้ำมือมนุษย์

ทีมวิจัยที่มีชื่อกลุ่มเวิลด์ เวเธอร์ แอตทริบิวชั่น (World Weather Attribution–WWA) นำข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศย้อนหลังเป็น 100 ปี มาวิเคราะห์อย่างละเอียดจนทำให้รู้ว่า ฝนตกในประเทศไนจีเรียมีมากกว่าในอดีตถึง 80 เท่า และอุณหภูมิบนผิวโลกนั้นสูงขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับปี 2393 หรือ 222 ปีที่แล้ว

ปริมาณน้ำฝนมีมากขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์เช่นนี้ ต่อไปจะเป็นความปกติใหม่

แอฟริกาและกลุ่มประเทศยากจนทั่วโลก ที่ย่ำแย่ทั้งทางเศรษฐกิจสังคมอยู่แล้วยิ่งย่ำแย่ลงไปอีกเพราะภาวะ “โลกร้อน” กระหน่ำซ้ำ ส่งเสียงเรียกร้องวิงวอนให้ประเทศร่ำรวยอย่างสหรัฐ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือกู้วิกฤตกำลังเป็นประเด็นหลักในเวทีประชุมนานาชาติ รวมถึงการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลก COP-27 ที่อียิปต์

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วสำนักข่าว “เอพี” นำประเด็นของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศและแนวคิดในการสร้างเมืองใหม่เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ในอนาคตของ “หยู กงเจี๋ยน” สถาปนิกชาวจีนมาเผยแพร่

“หยู” บอกว่า โครงสร้างเมืองของประเทศในภูมิภาคเอเชียนั้น ส่วนใหญ่แล้วไปลอกเลียนแบบตะวันตก ไม่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของเอเชีย เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วม ภัยแล้ง จะเกิดความเสียหายตามมามากมาย

บ้านเรือน อาคาร ถนนหนทางส่วนใหญ่ใช้วัสดุเป็นเหล็ก ปูนซีเมนต์ ทำท่อระบายน้ำ แต่พอถึงเวลาน้ำมา ก็เอาไม่อยู่

สถาปนิก “หยู” บอกกับเอพีว่า ถึงเวลาปรับเปลี่ยนแนวคิดการสร้างเมืองใหม่เพื่อให้คนอยู่กับน้ำและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ต้องเป็นเมืองที่มีโครงสร้างสีเขียว พึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก มีความยืดหยุ่นสูงในการรับมือกับน้ำท่วม

การออกแบบภูมิทัศน์ และวิศวกรรมโยธาต้องเน้นหลักผสมผสานกับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่มีอยู่ ต้องมีพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ที่เป็นสระน้ำหรือสวนสาธารณะจะเป็นศูนย์รับน้ำ เมื่อฝนตกหนัก พายุถล่ม

หยูเรียกแนวคิดนี้ว่า เมืองฟองน้ำ (Spong City) เป็นเมืองที่ช่วยป้องกันน้ำท่วม และเป็นแหล่งน้ำสำรองของเมืองเมื่อเกิดภัยแล้ง

 

แนวคิดดังกล่าว “หยู” บอกว่าได้มาจากปรากฏการณ์น้ำท่วมกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2555 ทำให้เมืองหลวงของจีนได้รับความเสียหายอย่างมาก น้ำเอ่อท่วมทั้งเมือง มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 77 คน

น้ำท่วมใหญ่ในครั้งนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนของชาวปักกิ่งในการตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้อยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

“หยู” ส่งหนังสือไปถึงเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของกรุงปักกิ่งและนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดี เรียกร้องให้รัฐบาลจีนปรับเปลี่ยนโครงสร้างเมืองใหม่

รัฐบาลจีนยอมรับแนวคิดของหยูและจับมือทำงานร่วมกันในการรังสรรค์ “เมืองฟองน้ำ” ให้เป็นจริง รวมทั้งให้เมืองฟองน้ำเป็นยุทธศาสตร์ของชาติ

อีก 2 ปีต่อมา รัฐบาลจีนออกระเบียบว่าด้วยการควบคุมระบบระบายน้ำและจัดเก็บน้ำ กำหนดไว้ว่า ภายในปี 2563 พื้นที่ของเมือง 20 เปอร์เซ็นต์ต้องจับเก็บน้ำฝน และน้ำฝนกลับไปใช้ประโยชน์ให้ได้ 70% เมื่อถึงปี 2573 จะต้องเก็บน้ำฝนให้มากถึง 80%

รัฐบาลจีนเปิดโครงการเมือง “ฟองน้ำ” นำร่อง 16 แห่ง จากนั้นเพิ่มเป็น 14 แห่งในปี 2559 แต่ละปีรัฐบาลจัดสรรเงินราว 3,000 ล้านบาทสนับสนุนเทศบาลที่จัดทำโครงการนี้ ในระดับจังหวัด จัดสรรเงินรวม 19,000 ล้านบาท อีก 15,000 ล้านบาทจัดให้กับระดับเมือง

โครงการเมืองฟองน้ำเกิดขึ้นเป็นจริงแล้วในเมืองใหญ่ เช่น กรุงปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ และเมืองเสินเจิ้น

เมืองฟองน้ำที่หนานซางใช้พื้นที่เก็บเศษผงถ่านหินในอดีตนำมาออกแบบให้สอดคล้องกลมกลืนกับธรรมชาติ เพื่อเป็นที่สำรองและป้องกันน้ำท่วมเมือง รวมถึงเป็นแหล่งพักผ่อนสันทนาการ (ที่มา : เอพี)

เอพีตัดภาพไปที่เมืองหนานซาง จังหวัดเจียงสี ทางตอนใต้ของจีน เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา วิศวกรในโครงการเมืองฟองน้ำเพิ่งปรับแต่งพื้นที่กว่า 300 ไร่เสร็จสิ้น สามารถรับน้ำได้ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร

พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นจุดทิ้งกากถ่านหิน วิศวกรปรับเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่รับน้ำและนำไปใช้ในช่วงภัยแล้ง และคิดวิธีกรองน้ำ นำน้ำที่ไหลซึมของชั้นดินผสมกับผงถ่านหินเก่าไปใช้รดต้นไม้ หรือนำไปกรองใช้ประโยชน์อื่นๆ โดยไม่มีปัญหาเรื่องของความเป็นพิษ

เมืองฟองน้ำของหนานซาง นอกจากจะเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ในยามวิกฤตและรองรับน้ำเมื่อเกิดฝนตกหนักแล้ว ยังเป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า โดยเฉพาะนกหลากหลายสายพันธุ์บินมาใช้บริการบริเวณแหล่งน้ำแห่งนี้

อย่างไรก็ตาม โครงการเมืองฟองน้ำ ใช่ว่าจะเกิดประสิทธิผลในทุกพื้นที่ บางพื้นที่ เช่น เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน เกิดอุทกภัยเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว ฝนตกหนักน้ำท่วมทั้งเมืองมีผู้เสียชีวิตถึง 398 คน พื้นที่บางแห่งเช่นสถานีรถไฟใต้ดินน้ำท่วมมิดมีคนเสียชีวิตในสถานีรถไฟใต้ดิน 14 คน

เมืองเจิ้งโจวได้รับงบประมาณในการลงทุนสร้างโครงการ “เมืองฟองน้ำ” มากกว่า 53.5 ล้านหยวน หรือราว 280,000 ล้านบาท

ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ผู้บริหารเมืองเจิ้งโจวใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน? ทำไมจึงไม่สามารถระบายน้ำในขณะเกิดเหตุวิกฤต?

คำถามนี้นำไปสู่การสอบสวนของสภาแห่งรัฐเหอหนาน จนพบหลักฐานว่า ในจำนวนงบประมาณทั้งหมด ที่ใช้กับโครงการเมืองฟองน้ำ มีแค่ 32% เท่านั้น

“หยู” ตั้งข้อสงสัยว่า โครงการเมืองฟองน้ำในบางพื้นที่ มีการใช้งบฯ ไปกับการโฆษณาชวนเชื่อมากกว่าเอาไปทำจริงๆ

ท้ายสุดมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า การดำเนินโครงการเมืองฟองน้ำใช่ว่าจะประสบความสำเร็จในทุกพื้นที่ เพราะบางพื้นที่ผู้บริหารขาดความตระหนักรู้ และไม่เข้าใจแนวคิดการอยู่รอดภายใต้วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อม •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]