เกี่ยวข้าว | ล้านนาคำเมือง

กยฯ่วเขั้า

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เก่วเข้า”

หมายถึง เกี่ยวข้าว

การเก็บเกี่ยวข้าวในนาเป็นเรื่องปกติของชนชาติที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก

อุปกรณ์ในการเก็บเกี่ยวและวิธีการอาจแตกต่างกันไป เช่น ภาคกลางใช้ เคียว เป็นอุปกรณ์เกี่ยวเอาต้นช่วงปลาย

ภาคใต้ใช้ แกระ ตัดเอาเฉพาะรวง

ส่วนล้านนาจะใช้เคียวเกี่ยวข้าวเกือบทั้งต้น เหลือตอไว้ไม่มาก เพราะต้องการฟางข้าวไว้ให้วัวควายกินในหน้าแล้ง หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่น

เมื่อข้าวในนาสุกเหลืองอร่ามเต็มท้องทุ่ง พ่อนาต้องหาวันที่เป็นฤกษ์มงคลเพื่อแรกเกี่ยว วันที่เป็นมงคลสำหรับการเกี่ยว ได้แก่ วันจันทร์-วันศุกร์ โดยเว้นวันที่ไม่เป็นมงคล เช่น วันม้วยข้าว วันเกตุตกนา และวันเสีย

วันม้วยข้าว คือ วันขึ้น 6 ค่ำ

วันเกตุตกนา คือ วันเสาร์

และวันเสียประจำเดือน ได้แก่

เดือน 1 5 9 วันอาทิตย์ วันจันทร์

เดือน 2 6 10 วันอังคาร

เดือน 3 7 11 วันพฤหัสบดี วันเสาร์

เดือน 4 8 12 วันพุธ วันศุกร์

 

เมื่อพ่อนาหาวันได้แล้ว ต้องรีบไปเกี่ยวตามวันที่หาได้ หากยังไม่พร้อมก็ต้อง แรกเกี่ยว ไว้ก่อน ซึ่งจะเลือกเกี่ยวข้าวในนากระทงแรกที่รับน้ำเข้านานั้น เรียกว่า “แฮกเกี่ยว” โดยจะเลือกเกี่ยวต้นข้าวที่เคยแรกปลูกไว้ เมื่อครั้งที่ทำพิธีแรกปลูก

ก่อนที่จะเกี่ยวข้าวต้องนำกระทงใบตองขนาดเล็กใส่อาหารไปบูชาบอกกล่าวแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าที่เจ้านา เจ้าเขาเจ้าป่า พระแม่คงคา พระแม่ธรณี และพระแม่โพสพเพื่อแสดงความนอบน้อม และขอความคุ้มครองป้องกันมิให้เกิดอันตรายใดๆ ว่า

“เจ้าที่เจ้านา เจ้าป่าเจ้าดง

พระพงเจ้าไพร เจ้าอยู่ฤๅยัง

สังฆะภัททัง โลกะวิทู

พระคงคาเฮย เจ้าอยู่ฤๅยัง

สังฆะภัททัง โลกะวิทู

พระธรณีเฮย เจ้าอยู่ฤๅยัง

สังฆะภัททัง โลกะวิทู

พระโพสพเฮย เจ้าอยู่ฤๅยัง

สังฆะภัททัง โลกะวิทู”

จากนั้นจึงจะเกี่ยวเอาฤกษ์ จำนวน 9 กอ โดยใช้บทสวดไตรสรณคมน์ที่เรียกว่า “สรณาคมน์เก้าบั้ง” เป็นคำโฉลกกำกับการเกี่ยวแต่ละกอตั้งแต่ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ จนถึง ตติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็สามารถเกี่ยวข้าวได้ตามปกติ

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่น่าสนใจคือ ข้าวที่ได้จากการแรกเกี่ยวนี้ บางท้องที่มีการมัดรวบไว้สำหรับเป็นข้าวขวัญประจำยุ้งฉางต่อไป

 

อูามื้กยฯ่วเขั้า เอามื้อเก่วเข้า แปลว่า ลงแขกเกี่ยวข้าว

ถึงเวลาเกี่ยวจะมีคนมาช่วยตามประเพณีลงแขก ซึ่งกิจกรรมในท้องนามักเป็นไปตามวิถีชาวบ้าน กล่าวคือเกี่ยวไปพูดคุยหยอกล้อกันไปอย่างสนุกสนาน พร้อมจับตั๊กแตน จับกบ ดักนกคุ่ม ขุดหนูพุกเป็นของแถมไปด้วย

ตั๊กแตนสีเขียวหัวแหลมเป็นตั๊กแตนข้าว ปกติเกาะตามต้นข้าว ชาวบ้านเกี่ยวข้าวไปก็จับตั๊กแตนไปฝากลูกหลานไปคั่วกิน

กบที่จำศีลในนา เมื่อพบเจอก็จับไปเป็นอาหาร

นกคุ่มที่อาศัยในดงข้าวถูกเอาไซดักปลาดัก โดยดักตามช่องระบายในแต่ละกระทงนา

เฉพาะหนูพุกซึ่งเป็นหนูนาชนิดหนึ่ง ช่วงที่ข้าวเขียวขจีในนาก็มักจะขุดรูอยู่และออกลูกในรูนั้น

เมื่อต้นข้าวถูกเกี่ยวชาวบ้านจึงขุดแล้วจับไปกินเป็นอาหาร

ปัจจุบันการเกี่ยวข้าวแบบวิถีชาวบ้านเกือบจะไม่มีให้เห็น เพราะการทำนาส่วนใหญ่ทำเพื่อค้าข้าว ผลผลิตถูกเกี่ยวเก็บโดยรถเกี่ยวข้าวที่พ่อค้าจ้างมาเกี่ยวถึงที่นา

วัฒนธรรมที่เคยปฏิบัติจึงเลือนหายไปจนไม่มีให้พบเห็นอีกต่อไป •