ใครอยากไปทำงานที่ญี่ปุ่นบ้าง? …ยกมือขึ้น | สุภา ปัทมานันท์

“ใครอยากไปทำงานที่ญี่ปุ่นบ้าง?…”
ยกมือขึ้น

คำถามนี้ ถ้าถามคนเอเชียในช่วงทศวรรษปี 1960 ถึง ทศวรรษปี 1980 ช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุด ก่อนยุคฟองสบู่แตก(バブル崩壊)ไม่ต้องเสียเวลาคิดเลย ใคร ๆ ก็แย่งกันยกมือขึ้น อยากไปกันทั้งนั้น (ถ้ามีโอกาส) ไปทำงานในประเทศเจริญแล้ว หอบ “เงินเยน” ค่าแรงกลับมาบ้านให้ครอบครัว แลกเป็นเงินท้องถิ่นได้เป็นกอบเป็นกำ ยิ้มแย้มแน่นอน

แต่… มีขึ้น ก็มีลง… เหมือนกับ “ค่าเงินเยน” ที่เมื่อเข้าต้นปี 2022 ก็อ่อนตัวลงอย่างมาก นอกจากมีผลต่อต้นทุนราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตที่นำเข้าจากต่างประเทศของญี่ปุ่น ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น “เงินเยนอ่อน”(円安)นี้ยังมีผลกระทบใหญ่อีกประการหนึ่งต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่คนญี่ปุ่นทั่วไปอาจมองไม่เห็นในชีวิตประจำวัน นั่นคือ มีผลต่อแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นรับแรงงานต่างชาติจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในรูปแบบของ “ผู้เข้าฝึกอบรมความชำนาญ”(技能実習生)หรือ “ผู้ฝึกงาน” รับสมัครผู้เข้ารับการฝึกอบรมโดยการปฏิบัติงานจริง ในหลายสาขา ทั้งด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานก่อสร้าง และงานดูแลผู้สูงวัย ซึ่งเป็นสาขาที่ญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงานอย่างยิ่ง

ก่อนเดินทางถึงญี่ปุ่น ผู้ฝึกงานเหล่านี้จะต้องผ่านการอบรม และเรียนภาษาญี่ปุ่นพื้นฐานที่ประเทศต้นทาง เมื่อมาถึงแล้วก็ลงภาคสนาม ปฏิบัติงานจริง โดยมีหัวหน้างานชาวญี่ปุ่นฝึกสอน เป็นแรงงานที่ได้รับค่าตอบแทน แต่แน่นอนว่าเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าการจ้างชาวญี่ปุ่น หรืออีกนัยหนึ่ง คนญี่ปุ่นเองไม่อยากทำงานหนักเหล่านี้เลย

ย้อนกลับไป 30 ปีก่อนหน้านี้ ที่เริ่มระบบการฝึกอบรมความชำนาญแก่คนต่างชาติ ในขณะนั้น มีผู้รับการฝึกอบรมจากจีนมากที่สุด แต่เมื่อจีนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจรุดหน้าไปมาก แรงงานชาวจีนก็เริ่มลดน้อยลงไป กลายเป็นเวียดนามซึ่งยังมีค่าแรงถูก พากันมาสมัครเข้าร่วมโครงการกันมากขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา จนมีจำนวนสูงที่สุดกว่า 8 หมื่นคนในปี 2019 จากนั้นก็ลดฮวบลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งในปี 2020

เหงียน ฉาง ติน ชายชาวเวียดนาม วัย 40 ปี และเพื่อนอีก 6 คน มาญี่ปุ่นเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ฝึกงานโดยทำงานที่บริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่ง ในจังหวัดกิฟุ ทางตอนกลางของญี่ปุ่น ที่ไซต์งานก่อสร้าง เขาทำงานหนักและเสี่ยง ต้องโหนตัวด้วยลวดสลิงไปตามหน้าผา(とび職)ซึ่งแทบจะหาคนญี่ปุ่นทำงานอย่างนี้ไม่ได้เลย เขาได้รับค่าจ้างเดือนละ 2.3 แสนเยน (ประมาณ 5.9 หมื่นบาท) แบ่งเงินกว่าครึ่งหนึ่งส่งให้ภรรยาและลูก 2 คนที่เวียดนามมาตลอด แต่ในปีนี้เงินเยนอ่อนค่าลงถึง 20-30% เมื่อแลกเป็นเงิน dong ทำให้เขาเริ่มส่งเงินไปให้ครอบครัวตามจำนวนเดิมไม่ได้ ต้องประหยัดทุกวิถีทาง จนถึงกับต้องปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง เขาบ่นอย่างเศร้า ๆว่า ตอนที่มาถึงญี่ปุ่นแรก ๆ ไม่คิดเลยว่าจะเป็นอย่างนี้ไปได้

เหลือเวลาฝึกอบรมอีก 2 ปี เหงียนและเพื่อนร่วมรุ่นก็จะกลับประเทศแล้ว ตามแผนเดิม เขาจะกลับบ้านพร้อมกับเงินเก็บอีกก้อนหนึ่ง และทักษะด้านการก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้เขาเป็นแรงงานมีฝีมือและทักษะสูงเป็นที่ต้องการในประเทศ แต่ถ้า “ค่าเงินเยน” ยังคงอ่อนต่อไปอีก เขาคงไปไม่ถึงฝั่งฝันแน่นอน

ส่วนด้านบริษัทก่อสร้างญี่ปุ่น ยอมรับว่าแรงงานชาวเวียดนามช่วยให้งานรุดหน้าไปได้อย่างราบรื่นมากผิดกับเมื่อหลายปีก่อน ถ้าครบกำหนดที่พวกเขาต้องกลับประเทศแล้ว จะมีคนสนใจสมัครมาฝึกอบรมที่ญี่ปุ่นอีกไหม ถ้าไม่มีแรงจูงใจจาก “ค่าเงิน”

ความกังวลของนายจ้างชาวญี่ปุ่น ตรงกับความเป็นจริงทีเดียว “สมาคมแลกเปลี่ยนเยาวชนเอเชีย-ญี่ปุ่น” ที่บริหารโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นให้คนเวียดนามเรียน เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปญี่ปุ่น กำลังประสบปัญหา คือหาคนมาเรียนเพื่อเข้าร่วมโครงการไม่ได้ ถ้าเป็นเมื่อก่อน พอประกาศรับสมัคร ผู้คนจากรอบ ๆ ฮานอยมาสมัครกันมากมาย ทุกคนอยากไปญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันเมื่อ “ค่าเงินเยน” อ่อนลงมาก ต้องประกาศหาผู้สมัครในชนบทห่างไกลขึ้นทุกที

ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า แทนที่ญี่ปุ่นจะต้องมองหาแรงงานที่อยากมาทำงานที่ญี่ปุ่นจากประเทศอื่น ๆ มาทดแทนต่อไปไม่สิ้นสุด ควรหันมาทบทวน “แรงจูงใจ” ต่าง ๆ เพื่อชดเชยกับ “ค่าเงินเยน” ให้มากขึ้นอีกจะดีกว่า ฝ่ายเจ้าของกิจการน่าจะมีส่วนช่วย โดยการขึ้นค่าจ้าง ค่าตอบแทน ค่าล่วงเวลา สวัสดิการต่าง ๆ เป็นต้น

แต่เรื่อง “ค่าเงินเยนอ่อน” สำหรับแรงงาน ไม่ใช่ปัญหาเลยที่เมียนมา

หนุ่มสาววัยทำงานชาวเมียนมาที่ย่างกุ้งสนใจ อยากไปทำงานที่ญี่ปุ่นกันมาก เดือนตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อสมาคม “เมียนมายูนิตี้” เปิดรับสมัครผู้เรียนภาษาญี่ปุ่น เพื่อเตรียมตัวไปทำงานด้านการดูแลผู้สูงวัยที่ญี่ปุ่น มีผู้สมัครเกิน 100 คน ในทันที และผู้ผ่านการคัดเลือกระตือรือร้นตั้งใจเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่อการทำงานในญี่ปุ่น

ขณะนี้มีชาวเมียนมาผู้สนใจสมัครไปทำงานที่ญี่ปุ่น มากกว่าช่วงก่อนเกิดการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 ถึง 6 เท่า “ค่าเงินเยนอ่อน” ไม่มีผลทำให้ผู้สนใจลดน้อยลงเลย

เมียนมาได้รับผลกระทบจากการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการค้าจากสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศ EU เมื่อเกิดการรัฐประหารในประเทศ ค่าเงินจ๊าตอ่อนลงมาก แต่เมื่อเทียบอัตราแลกเปลี่ยนกับเงินเยน 1 เยน = 12 จ๊าต ก่อนการรัฐประหาร กับ ขณะนี้ มีค่า 1 เยน = 15 จ๊าต กลายเป็น “ค่าเงินเยนแข็ง”(円高)เสียอีก ย่อมเป็นผลดีต่อแรงงานที่ไปทำงานที่ญี่ปุ่น

ที่น่าสนใจคือ ผู้สนใจไปฝึกงานที่ญี่ปุ่น เกินกว่าครึ่งเป็นผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ไม่ใช่ผู้ใช้แรงงาน รัฐประหารส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำ คนตกงานเพิ่มมากขึ้น ค่าครองชีพสูงขึ้นจากมาตรการคว่ำบาตรจากนานาประเทศ เมื่อมีโอกาสไปทำงานต่างประเทศ ในประเทศพัฒนาแล้ว คนหนุ่มสาวที่มีการศึกษาจึงสนใจกันมาก

ผู้ฝึกงานจะทำหน้าที่ “ผู้ช่วยพยาบาล” ในโรงพยาบาลเพื่อดูแลผู้สูงวัย ซึ่งเป็นงานที่กำลังขาดแคลนแรงงานอย่างมาก ผู้ฝึกงานชาวเมียนมาต่างตั้งใจทำงาน และมีเป้าหมายคือเพื่อรับวุฒิบัตรผู้มีทักษะพิเศษ(特定技能)หรือ นักสังคมสงเคราะห์ด้านการดูแล(介護福祉士)ซึ่งค่าตอบแทนย่อมสูงขึ้นด้วย

ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานให้ความเห็นว่า ญี่ปุ่นเคยเป็น “ผู้เลือก” แรงงานมีฝีมือมาทำงานในญี่ปุ่น แต่สถานการณ์เปลี่ยนไปจาก “ค่าเงินเยนอ่อน” มีผู้สนใจลดลง หรือได้มาแต่แรงงานคุณภาพต่ำ ในขณะที่สภาพสังคมสูงวัย(高齢化)และเด็กเกิดน้อยลง(少子化)ของญี่ปุ่น เป็นปัญหาหนักขึ้น ไม่มีแนวโน้มดีขึ้นเลย นอกจากนี้ ธุรกิจขนาดกลางและเล็กของญี่ปุ่น ยังขาดแคลนแรงงานอีกมาก จากผลกระทบของโควิด-19 และสถานการณ์ในยูเครน

ญี่ปุ่นยอมรับว่าจำเป็นต้องพึ่งแรงงานชาวต่างชาติ จึงต้องเร่งปรับเงื่อนไขและค่าตอบแทนของผู้ฝึกงาน หรือ ผู้มีทักษะพิเศษ โดยเพิ่ม “แรงจูงใจ” ให้แรงงานมีฝีมือมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นโดยเร็ว

ใครอยากไปทำงานที่ญี่ปุ่นบ้าง ?…ยกมือขึ้น