แนวโน้มผลการเลือกตั้ง 2566 | ประจักษ์ ก้องกีรติ

ประจักษ์ ก้องกีรติ

เมื่อฤดูการเลือกตั้งใกล้มาถึง ย่อมเป็นธรรมดาที่คอการเมืองและประชาชนทั่วไปจะสนใจคาดเดาถึงผลการเลือกตั้งว่าจะออกมาเช่นใด ใครจะแพ้ ใครจะชนะ

หน้าตารัฐบาลใหม่จะเป็นอย่างไร

รวมถึงคำถามสำคัญว่าสังคมไทยจะมีโอกาสได้มีนายกฯ คนใหม่หรือไม่

น่าเสียดายว่าประเทศไทยไม่ค่อยมีสำนักโพลที่มีมาตรฐาน ในประเทศอื่นที่โพลเชื่อถือได้ คำถามข้างต้นคงตอบได้ไม่ยากเท่าใดนัก

แต่ในการเมืองไทย ดูจากแค่การเลือกตั้งในปี 2562 โพลทุกสำนักทำนายผลการเลือกตั้งคลาดเคลื่อนไปค่อนข้างมาก

การคาดการณ์ผลการเลือกตั้งในไทยจึงอิงโพลได้แค่ส่วนหนึ่ง

ที่เหลือต้องอาศัยการเทียบเคียงกับผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา การหยั่งกระแสสังคม ประเมินจากการพูดคุยกับผู้คนในหลายแวดวง รวมถึงการลงพื้นที่รวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

สําหรับคำถามที่ว่าพรรคใดจะเข้าวินมาเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในปีหน้า (หากไม่มี “อุบัติเหตุ”)

ดูเหมือนเกือบทุกฝ่ายประเมินตรงกันว่าคำตอบคือเพื่อไทย ซึ่งก็ไม่น่าจะผิดจากความจริงเท่าใดนัก เพราะเพื่อไทย (พลังประชาชน และไทยรักไทย) ชนะการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องทุกครั้งในสนามการเลือกตั้งหลังปี 2540 เป็นต้นมา แม้แต่การเลือกตั้งปี 2550 และ 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งหลังการรัฐประหารที่มีการเปลี่ยนแปลงกติกาใหม่ และการกดดันจากอำนาจรัฐ เพื่อไทยก็ยังสามารถคว้าชัยชนะมาเป็นอับดับที่หนึ่งได้

เมื่อดูจากสถิติเดิม บวกกับการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งกลับไปใช้บัตร 2 ใบและการคำนวณคะแนนเขตกับบัญชีรายชื่อแยกกันแบบปี 2540 ซึ่งเป็นระบบเลือกตั้งที่เพื่อไทยถนัด จึงไม่ยากที่นักวิเคราะห์ทุกคนบอกว่าเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง

ผมเองก็เชื่อเช่นนั้น และคิดว่าคงไม่ยากที่จะได้เกิน 200 ที่นั่งขึ้นไป (ปรกติอัตราการชนะของผู้แทนในระบบเขตของเพื่อไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 45-50 คือ หากส่งผู้สมัคร 400 เขต มีโอกาสชนะเกือบครึ่งของที่ส่ง)

จะมากน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับกระแสความนิยมในตัวแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ทีเด็ดในเชิงนโยบายและแคมเปญหาเสียงโค้งสุดท้าย และความแตกแยกของพรรคร่วมรัฐบาล ณ ขณะนี้ว่าจะมีมากน้อยเพียงใด

สําหรับพรรคอันดับสองนั้น เดิมตำแหน่งนี้เป็นของพรรคพลังประชารัฐ แต่ถ้าดูจากสภาพความขัดแย้งในพรรคตอนนี้ และความตึงเครียดระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่มีแนวโน้มจะแยกทางกันเดิน คงยากเสียแล้วที่พรรคที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อสนับสนุนอดีตกลุ่มผู้นำทหาร คสช.จะสามารถรักษาสถานะเดิมในฐานะพรรคใหญ่อันดับ 2 เอาไว้ได้

แล้วถ้าอย่างนั้นพรรคใดจะเบียดเข้ามานั่งแทนที่

หลายคนมองไปที่ภูมิใจไทย ซึ่งครั้งที่แล้วชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 5 พร้อมกับ 51 เก้าอี้ผู้แทนฯ แต่เมื่อได้เข้าร่วมรัฐบาลทำให้มีทรัพยากรทั้งอำนาจรัฐในการคุมกระทรวงสำคัญ เครือข่ายท้องถิ่น และทรัพยากรหรือ “กระสุน” ที่ค่อนข้างเพียบพร้อมในการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า

ก่อเกิดเป็นพลังดึง-ดูด ที่ทำให้นักการเมืองทั้งจากซีกฝ่ายค้านและซีกรัฐบาลย้ายเข้ามาอยู่กับพรรคภูมิใจไทยอย่างคึกคัก

พรรคภูมิใจไทยนั้นในทางวิชาการ ต้องถือว่าเป็นพรรคแนวท้องถิ่นอุปถัมภ์ (local patronage party) แบบคลาสสิคโดยแท้ คือไม่เน้นนโยบายระดับชาติ หลีกเลี่ยงการเมืองเชิงอุดมการณ์ เน้นการสร้างระบบหัวคะแนนและเครือข่ายท้องถิ่นอุปถัมภ์เพื่อหล่อเลี้ยงความนิยมที่แข็งแรงในพื้นที่

อัดฉีดงบประมาณและสร้างความเจริญในระดับจังหวัด สำทับด้วยการเมืองระบบ “บ้านใหญ่” หรือตระกูลการเมืองที่สืบทอดกันมายาวนาน

พรรคแนวท้องถิ่นอุปถัมภ์นี้ ที่โดดเด่นที่สุดในสมัยอดีตคือ พรรคชาติไทยในสมัยคุณบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งปัจจุบันเมื่อมีการเปลี่ยนรุ่น อิทธิพลของพรรคก็ร่วงโรยลง

อันที่จริงกระแสการปฏิรูปการเมืองในรัฐธรรมนูญปี 2540 ตั้งใจรื้อโครงสร้างการเมืองเพื่อลดบทบาทของพรรคแนวท้องถิ่นอุปถัมภ์เช่นนี้ เพราะต้องการเปลี่ยนการเมืองไทยไปสู่ระบบพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ขายนโยบายระดับชาติ (ที่ไม่ใช่แค่การพัฒนาจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง)

น่าเสียดายว่า การเมืองเชิงอุปถัมภ์ถูกรื้อฟื้นกลับมาอีกครั้งผ่านการออกแบบกติกาการเลือกตั้งและพรรคการเมืองในรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560 เพราะชนชั้นนำอนุรักษนิยมหวาดกลัวพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีฐานเสียงครอบคลุมทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม พรรคเช่นนี้แม้จะกลับมาเป็นที่นิยมในหลายจังหวัด แต่ยังคงไม่สามารถสร้างกระแสการตอบรับจากคนกรุงเทพฯ ได้ เราจึงเห็นว่าแม้ภูมิใจไทยจะกระแสดีในแถบอีสานใต้ ภาคกลาง และภาคใต้บางจังหวัด แต่ในกรุงเทพฯ กลับไม่มีกระแสเสียเลยทั้งตัวพรรคและแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค

อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจจะไม่เอื้อต่อภูมิใจไทยเท่าไหร่นัก คือ ระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบแบบปี 2540 เพราะถ้าย้อนกลับไปดูพฤติกรรมการลงคะแนนของคนไทย แม้จะเลือก ส.ส.เขตจากพรรคท้องถิ่นอุปถัมภ์ แต่จะไม่ค่อยเลือกพรรคแนวนี้ในบัตรบัญชีรายชื่อ (ตามกฎหมาย ประชาชนสามารถ “เลือกคนที่รักกับพรรคที่ชอบ” แยกจากกันได้) ที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยจึงได้คะแนนจากระบบบัญชีรายชื่อค่อนข้างน้อย

อย่างไรก็ตาม บวกลบคูณหารแล้ว พรรคภูมิใจไทยมีโอกาสสูงที่จะเข้าวินมาเป็นอันดับ 2 ได้

แต่ที่นักวิเคราะห์บางคนประเมินตัวเลขไว้ที่ 100 กว่าที่นั่งนั้น ยังต้องกล่าวว่าไม่ง่ายนัก เพราะต้องตัดคะแนนกับทั้งเพื่อไทยในอีสาน และพรรคในขั้วเดียวกันอย่างพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และรวมไทยสร้างชาติในภูมิภาคอื่นๆ

ยังไม่ต้องพูดถึงประเด็น “งูเห่า” หรือ ส.ส.ที่ดูดไป ไม่ใช่ว่าทุกคนจะกำชัยชนะมาให้พรรคได้

เพราะงูเห่าจำนวนไม่น้อยได้เป็น ส.ส.ตอนการเลือกตั้ง 2562 ไม่ใช่เพราะคะแนนนิยมส่วนตัว แต่เพราะประชาชนนิยมพรรคที่พวกเขาสังกัด กลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะสอบตกในการเลือกตั้งครั้งหน้า

แล้วใครจะมาเป็นอันดับ 3?

คำตอบไม่มีความชัดเจน โอกาสเปิดกว้างให้หลายพรรคจับจองตำแหน่งนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นพลังประชารัฐ ก้าวไกล ประชาธิปัตย์ รวมถึงพรรครวมไทยสร้างชาติ

เมื่อครั้งเลือกตั้งปี 2562 พรรคน้องใหม่อย่างอนาคตใหม่ทำผลงานได้ดีเกินคาด กลายเป็นม้ามืดที่เบียดแทรกพรรคเก่าอย่างประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยมาครอง สถานะพรรคใหญ่อันดับ 3 ได้อย่างหักปากกาเซียน จนกลายเป็นผู้เล่นสำคัญที่มาเขย่าระบบการเมืองไทยจนถูกยุบไปในที่สุด

ก้าวไกลในฐานะผู้สืบทอดอุดมการณ์ของอนาคตใหม่เผชิญกับปัญหางูเห่า แกนนำคนสำคัญของพรรคหลายคนโดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง และระบบเลือกตั้งที่แก้ไขใหม่ ทำให้การรักษาอันดับ 3 ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ครั้งที่แล้วมาเป็นอันดับ 4 ถือว่าเป็นจุดตกต่ำของพรรคที่ถูกลดสถานะจากพรรคใหญ่กลายมาเป็นพรรคขนาดกลาง ส่วนเวลานี้ก็กำลังเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรง จนเลือดไหลออกไม่หยุด นโยบายและภาวะการนำที่ไม่โดดเด่น ลำพังการประคับประคองให้พรรคได้ที่นั่งไม่ลดลงจากเดิมก็ดูจะเป็นโจทย์ที่หนักพอสมควร

เช่นเดียวกับพลังประชารัฐ ที่หาก พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร แยกทางกันเดิน พรรคก็คงอ่อนยวบลง ปัญหาใหญ่สุดคือ การเป็นรัฐบาลจนครบวาระแต่ผลงานไม่เข้าตาประชาชนมากนักโดยเฉพาะการบริหารจัดการโควิดและเศรษฐกิจ

พล.อ.ประวิตรเองแม้จะมีบารมีมากในหมู่นักการเมืองและข้าราชการ แต่ไม่ใช่ไอดอลของประชาชนทั่วไปในตำแหน่งนายกฯ ทั้งหมดนี้น่าจะทำให้ที่นั่งลดลงจากเดิม (116 ที่นั่ง) อย่างมาก ดีไม่ดีอาจจะลดลงเกินครึ่ง

รวมไทยสร้างชาติ

ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ หากได้ พล.อ.ประยุทธ์ย้ายไปร่วมพรรคจริง คงหวังคะแนนนิยมจากคนกรุงเทพฯ และคนใต้ที่ยังพอสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อยู่บ้าง ที่เหลือคงหวังจากฐานเสียง กปปส.เก่า ชนชั้นกลางตามหัวเมืองต่างๆ และฐานเสียงของนักการเมืองจากพลังประชารัฐที่ย้ายมาซบ แต่คงยากที่จะได้ที่นั่งเป็นกอบเป็นกำ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่จุดขายที่แข็งแรงเหมือนเดิม โดยเฉพาะการเหลือวาระแค่ 2 ปีที่จะเป็นนายกฯ ต่อได้ ที่ผู้เขียนเคยเปรียบเปรยไว้ว่าสภาพเหมือน “ม้าขาหัก 2 ข้าง” ตั้งแต่ก่อนลงแข่ง

หมากเกมการแยกกันเดินของพี่น้องสองนายพล คสช. จึงเป็นความพยายามดิ้นรนหาทางรอดเฉพาะหน้า มากกว่าที่จะเป็นยุทธศาสตร์การครองอำนาจที่วางแผนมาอย่างแยบยล

สุดท้ายจะเกิดสภาพที่พรรคฝ่ายอนุรักษนิยม คือ พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และประชาธิปัตย์ (และอาจจะรวมถึงสร้างอนาคตไทย) แย่งคะแนนกันเองในฐานเสียงที่แคบลง คล้ายคลึงกับสนามการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมาตอนกลางปีที่ผู้สมัครอย่างคุณอัศวิน ขวัญเมือง คุณสกลธี ภัททิยกุล คุณสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และคุณรสนา โตสิตระกูล มาตัดคะแนนกันเอง

พรรคอันดับ 3, 4, 5 น่าจะเบียดขับกันสูสี ที่นั่งน่าจะอยู่ที่ประมาณ 45-60 ที่นั่ง

สูตรการตั้งรัฐบาลจึงสามารถออกได้หลายหน้า หากพรรคอันดับ 1 ชนะเลือกตั้งทิ้งห่างคู่แข่งมาก ก็จะมีอำนาจต่อรองสูงและมีทางเลือกในการจับมือกับพรรคอื่นๆ ได้หลายแบบ ทั้งพรรคในขั้วเดียวกันและต่างขั้ว

จนอาจจะเกิดหน้าตารัฐบาลผสมในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน

(Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นการประเมินจากสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน เมื่อการเลือกตั้งใกล้เข้ามามากขึ้น อาจจะมีหลายปัจจัยเปลี่ยนแปลงซึ่งทำให้ต้องประเมินใหม่

ที่สำคัญ มันเป็นการวิเคราะห์เฉพาะตัวละครที่เป็นพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ในการเมืองที่ไม่ปรกติที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” การเลือกตั้งไม่ได้ถูกกำหนดโดยพรรคการเมืองในสนามการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ถูกกำหนดจากองค์กรอิสระ วุฒิสภาแต่งตั้ง กองทัพ และเครือข่ายชนชั้นนำรอยัลลิสต์-อนุรักษนิยม

ซึ่งคงต้องวิเคราะห์ให้ผู้อ่านเห็นภาพในโอกาสอื่นต่อไป